รายงานสถานการณ์การค้าอิตาลี ณ เมืองมิลาน เดือนมีนาคม 2565

สถานการณ์เด่นในอิตาลี

  • ยอดจดทะเบียนเว็บไซต์ปี 2564 ในอิตาลีเพิ่มขึ้นกว่า 4,000 เว็บไซต์ สถาบันสารสนเทศและเทเลมาติกส์ (Institute for Infomartics and Telematics: IIT) ของอิตาลีเปิดเผยว่า ในปี 2564 มีเว็บไซต์ที่จดโดเมนเนมใหม่ภายใต้ .it เพิ่มขึ้นกว่า 4,000 เว็บไซต์ โดยในจำนวนนี้ มีการจดโดเมนเนมที่เกี่ยวข้องกับสาขาเกษตรกรรมและอาหารถึง 3,834 เว็บไซต์ โดยคิดเป็นสัดส่วนของเว็บไซต์ร้านอาหาร 41.94% เว็บไซต์เกี่ยวกับอาหารจำพวกแป้ง 12% เว็บไซต์เกี่ยวกับไวน์ 10.17% เว็บไซต์ในสาขาภาคเกษตร 9.05% เว็บไซต์ภาคท่องเที่ยวเกษตร 5.63% และเว็บไซต์ด้านพืชผลทางการเกษตร 4.90% สอดคล้องกับจำนวนเว็บไซต์ที่จดทะเบียนทั้งหมดในปัจจุบันภายใต้ .it จำนวน 101,605 เว็บไซต์ ที่คิดเป็นภาคบริการอาหาร 37.8% ไวน์ 12.3% และอาหารจำพวกแป้ง 11.3%
  • อิตาลีปรับเวลาเข้าสู่ฤดูใบไม้ผลิ เริ่ม 27 มีนาคม – 31 ตุลาคม 2565 (Daylight Saving Time: DST) เพื่อใช้ประโยชน์จากช่วงเวลากลางวัน และประหยัดพลังงานมากขึ้น ทำให้ช่วงดังกล่าวอิตาลีและประเทศในยุโรปมีเวลาห่างจากประเทศไทย 5 ชั่วโมง นอกจากนี้ ยังมีรายงานถึงประสิทธิภาพของการประหยัดพลังงานในช่วงเวลา DST  ระหว่างปี 2547 – 2564  โดยในช่วงฤดูร้อนของช่วงเวลาดังกล่าว มีปริมาณการใช้ไฟฟ้าลดลงประมาณ 10.5 พันล้านกิโลวัตต์ต่อชั่วโมง ส่งผลทางด้านเศรษฐกิจที่ช่วยให้ภาคครัวเรือนของอิตาลีสามารถประหยัดเงินได้ถึง 1.8 พันล้านยูโร สำหรับในปี 2565 มีประมาณการว่าช่วงเวลา DST หากคิดค่าใช้จ่ายเป็นรายชั่วโมง สามารถช่วยให้ประชาชนประหยัดเงินได้ประมาณ 46.03 เซ็นต์ (ยังไม่รวมภาษี) โดยปริมาณการใช้ไฟฟ้าที่ลดลงกว่า 420 ล้านกิโลวัตต์ต่อชั่วโมง จะเทียบเท่ากับความต้องการใช้ไฟฟ้าเฉลี่ยของครัวเรือนประมาณ 150,000 ครัวเรือน
  • อิตาลียกเลิกประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินตั้งแต่วันที่ 1 เมษายน 2565 หลังจากเผชิญกับสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิดมา 2 ปี นับตั้งแต่การระบาดครั้งแรกเมื่อเดือนมีนาคม 2563 โดยอิตาลีมีจำนวนผู้ได้รับวัคซีนครบโดสแล้วเฉลี่ย 89.83% ของจำนวนประชากรที่ต้องได้รับวัคซีน และมีผู้ได้รับวัคซีนเข็มกระตุ้น (Booster) แล้ว 83.24% ของกลุ่มผู้ที่ต้องได้รับเข็มกระตุ้น (ณ วันที่ 31 มีนาคม 2565) ทั้งนี้ เพื่อให้ประชาชนได้ค่อยๆ กลับมาใช้ ชีวิตประจำวันอย่างเป็นปกติ และเปิดโอกาสให้มีนักท่องเที่ยวเดินทางมายังอิตาลีเพิ่มขึ้นในช่วงฤดูกาลท่องเที่ยวที่กำลังจะมาถึง เพื่อผลักดันให้เกิดการใช้จ่ายในทุกภาคธุรกิจ โดยเฉพาะธุรกิจการท่องเที่ยวที่ได้รับผลกระทบอย่างหนักในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา โดยมาตรการสำคัญที่ยังคงมีอยู่ ได้แก่ การสวมใส่หน้ากากอนามัยแบบ FFP2 ในสถานที่ปิด/ขนส่งสาธารณะ/สถานที่ชุมนุม (1-30 เมษายน 2565) / ประชาชนที่เข้าใช้บริการร้านอาหารในที่แจ้ง โรงแรม รถโดยสารสาธารณะ พิพิธภัณฑ์ ร้านค้า ร้านทำผม ไม่ต้องแสดง Green Pass (1-30 เมษายน 2565) / ประชาชนเข้าใช้บริการสระว่ายน้ำ ฟิตเนต คาสิโน โรง ละคร โรงภาพยนต์ งานฉลองในที่ปิด ต้อง แสดง Super Green Pass (1-30 เมษายน 2565) และตั้งแต่ 1 พฤษภาคม 2565 จะยกเลิกมาตรการแสดง Green Pass ทั้งหมด
  • อิตาลีเปิดเผยสินค้า 10 รายการที่มีการปรับราคาขึ้นมากที่สุด จากรายงานสถานการณ์เงินเฟ้อเดือนมีนาคม 2565 ที่ปรับตัวพุ่งสูง 6.7% ซึ่งสูงสุดนับตั้งแต่เดือนกรกฎาคม 2534 หรือเรียกได้ว่าสูงสุดในรอบ 30 ปี มีรายการสินค้า 10 อันดับ ที่มีการปรับราคาสูงขึ้น ได้แก่ น้ำมันอื่นๆ ที่ไม่ใช่น้ำมันมะกอก (+23.3%) ซึ่งมีราคาสูงกว่าเดือนมีนาคม 2564 ผักสด (+17.8%) เนย (+17.4%) พาสต้า (+13%) อาหารทะเล (+10.8%) แป้ง (+10%) ไก่ (+8.4%) ผลไม้สด (+8.1%) ปลาสด (+7.6%) และไอศครีม (+6.2%) ซึ่งโดยภาพรวม กลุ่มสินค้าอาหารและเครื่องดื่มไม่มีแอลกอฮอล์ ปรับราคาเพิ่มขึ้น 5.8% เป็นอันดับสามในกลุ่มการใช้จ่ายบริโภคของประชาชน โดยราคาที่เกี่ยวข้องกับที่อยู่อาศัย น้ำ และไฟฟ้า ราคาเพิ่มขึ้นสูงสุดเป็นดับหนึ่ง +28.3% และการขนส่ง ราคาเพิ่มขึ้นสูงสุดเป็นอันดับสอง +12.1% ซึ่งหากพิจารณาเฉพาะค่าครองชีพในกลุ่มสินค้าอาหารและเครื่องดื่มที่ราคาปรับเพิ่มสูงขึ้น จะทำให้แต่ละครอบครัวมีค่าใช้จ่ายเฉลี่ยเพิ่มขึ้น 323 ยูโรต่อปี โดยครอบครัวที่มีลูก 1 คน จะเพิ่มขึ้น 391 ยูโรต่อปี ครอบครัวที่มีลูก 2 คน จะเพิ่มขึ้น 434 ยูโรต่อปี และ ครอบครัวที่มีลูก 3 คน จะเพิ่มขึ้น 475 ยูโรต่อปี

เครื่องชี้วัดเศรษฐกิจที่สำคัญของอิตาลี

ภาวะเศรษฐกิจของสหภาพยุโรป (EU27) และ อิตาลี

การค้าระหว่างไทย-สหภาพยุโรป – เดือนมกราคม 2565 สหภาพฯ นำเข้าสินค้าจากไทย มูลค่า 1,941.5 ล้านยูโร เพิ่มขึ้น 33.1% เมื่อเทียบกับปีก่อนหน้า (ม.ค. 64) ส่งออกไปไทย 1,103.8 ล้านยูโร (+26.9%) ทำให้สหภาพฯ ขาดดุลการค้าต่อไทยมูลค่า 837.7 ล้านยูโร ขาดดุลเพิ่มขึ้น 42.1% โดยประเทศสมาชิก EU ที่นำเข้าสินค้าจากไทย ได้แก่ เบลเยียม (+61.4%) สเปน (+58.0%) โปแลนด์ (+40.3%) สาธารณรัฐเช็ก (+35.6%) ออสเตรีย (+32.4%) อิตาลี (+30.9%) เยอรมนี (+29.0%)  เนเธอร์แลนด์ (+28.4%) ฝรั่งเศส (+21.9%) และฮังการี (+7.3%)

PMI ด้านการผลิต (Manufacturing PMI) – เดือนกุมภาพันธ์ 2565 เนเธอร์แลนด์ มีการเติบโตของภาคการผลิตในระดับสูงสุด (ระดับ 60.6 เพิ่มขึ้นจาก 60.1 ในเดือน ม.ค. 65) รองลงมา คือ เยอรมนีและออสเตรีย ขยายตัวอย่างมากในระดับที่เท่ากัน (ระดับ 58.4 ลดลงจาก 59.8 และ ระดับ 58.4 ลดลงจาก 61.5 ตามลำดับ) อิตาลี ไอร์แลนด์ และกรีซ มีการเติบโตอย่างแข็งแกร่ง แม้ว่าจะชะลอตัวลงในไอร์แลนด์และกรีซ (ระดับ 58.3 เท่ากับเดือนม.ค. 65 ระดับ 57.8 ลดลงจาก 59.4 และระดับ 57.8 ลดลงจาก 57.9 ตามลำดับ) ฝรั่งเศส (ระดับ 57.2 เพิ่มขึ้นจาก 55.5) และสเปน (ระดับ 56.9 เพิ่มขึ้นจาก 56.2)

การค้าระหว่างประเทศของไทยกับอิตาลี ประจำเดือนกุมภาพันธ์ 2565

เนื่องจากมีการเปลี่ยนแปลงพิกัดศุลกากรของกรมศุลกากรจากฉบับ 2017 เป็นฉบับ 2022 ศูนย์เทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร สำนักงานปลัดกระทรวงพาณิชย์ จึงอยู่ในระหว่างการปรับปรุงระบบรายงานตัวเลขพิกัดกรมศุลกากรตามโครงสร้างสินค้าของกระทรวงพาณิชย์ จึงส่งผลให้ตัวเลขการค้าระหว่างไทย – อิตาลี ระหว่างมกราคม – กุมภาพันธ์ 2565 ยังไม่มีข้อมูลรายสินค้า

กฎระเบียบด้านการค้าน่ารู้ของอิตาลี/สหภาพยุโรป (EU)

การส่งออกผัก/ผลไม้สดมายังสหภาพยุโรป/อิตาลี

พืชควบคุมเฉพาะ 34 ชนิด สำหรับการส่งออกมายังสหภาพยุโรป ได้แก่ ทุเรียน ลำไย ลิ้นจี่ มังคุด ส้มโอ มะม่วง ขิง กระเจี๊ยบเขียว หน่อไม้ฝรั่ง ถั่วฝักยาว พริก ผักชีไทย คะน้า กวางตุ้ง มะเขือ ผักชีฝรั่ง กะเพราะ โหระพา สะระแหน่ ขึ้นฉ่าย ผักคะแยง ผักแพรว ต้นหอม กุยช่าย ชะอม ตะไคร้ ผักบุ้ง ผักแว่น ผักกระเฉด ใบบัวบก ใบชะพลู ผักโขม ผักปลัง มะละกอ โดยผักผลไม้ที่ส่งออกมายังสหภาพยุโรป จะต้องมีหนังสือรับรองสุขอนามัย รวมทั้งผ่านกระบวนการตรวจสอบสุขภาพพืช (Plant health inspection) และต้องมีการกำหนดการรับรองคุณภาพสินค้าที่ตรงตามข้อมูลบนฉลาก เพื่อปกป้องผู้บริโภค สนับสนุนความโปร่งใสและการแข่งขันที่เป็นธรรม

ข้อกำหนดสำคัญในการส่งออก ได้แก่ ผู้ส่งออกต้องจดทะเบียนผู้ส่งออก (หมายเลขทะเบียน EU-XX-XXX) โดยยื่นคำร้องของหนังสือสำคัญแสดงการจดทะเบียนเป็นผู้ส่งออกผักและผลไม้ (แบบ สมพ.4) / ต้องใช้ผลผลิตจากแปลง GAP ที่ได้รับการรับรองจากกรมวิชาการเกษตร / ต้องใช้โรงคัดบรรจุสินค้าที่ได้รับการรับรอง GMP และ HACCP และเป็นโรงคัดบรรจุที่ได้ขึ้นทะเบียนโรงงานผลิตสินค้าพืชกับกรมวิชาการเกษตรแล้ว / ต้องขอใบรับรองสุขอนามัย (Health Certificate) ก่อนส่งออก

สำหรับการนำเข้าสินค้าเกษตรอินทรีย์จากประเทศที่สามในอิตาลี อยู่ภายใต้กฎระเบียบของสหภาพยุโรป Reg. EU 834/2007, 889/2008 และ 1235/2008 ซึ่งกำหนดให้การนำเข้าสามารถทำได้สองวิธีคือการนำเข้าจากประเทศที่สามซึ่งมีมาตรฐานการผลิตและระบบการควบคุมเทียบเท่ากับข้อกำหนดของสหภาพยุโรปที่กำหนดโดยคณะกรรมาธิการสหภาพยุโรปตามระบุในภาคผนวกของกฎ Reg. EU 1235/2008 และการนำเข้าจากผู้ประกอบการประเทศที่สามที่วิธีการผลิตได้รับการประเมินว่าเทียบเท่าโดยหน่วยงานควบคุมที่ได้รับอนุญาตให้ดำเนินการในบางประเทศและสำหรับบางกลุ่มสินค้า รายชื่อ หน่วยงานแสดงในภาคผนวก IV ของ Reg. EU 1235/2008

Leave a Comment

Your email address will not be published. Required fields are marked *

OMD KM

FREE
VIEW