รายงานสถานการณ์การค้าฮังการี ณ กรุงบูดาเปสต์ เดือนเมษายน 2565

สถานการณ์ความเปลี่ยนแปลงไม่แน่นอนของหลายพื้นที่ในโลก รวมทั้งสถานการณ์สงครามระหว่างยูเครนกับรัสเซียส่งผลกระทบทางเศรษฐกิจต่อหลายประเทศ โดยเฉพาะประเทศเพื่อนบ้านในทวีปยุโรปมากที่สุดรวมถึงฮังการี โดยแสดงออกเป็นผลกระทบทางเศรษฐกิจและสังคม ดังนี้

อัตราเงินเฟ้อพุ่งสูงสุดในรอบ 15 ปี

อัตราเงินเฟ้อประจำเดือนมีนาคม 2565 พุ่งขึ้นสูงถึง 8.5% เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อนหน้า ซึ่งเป็นตัวเลขที่สูงที่สุดในรอบ 15 ปี มีความเป็นไปได้ว่าอัตราเงินเฟ้ออาจแตะระดับ 9% ภายในกลางปีนี้ ทั้งนี้ ภาวะเงินเฟ้อในฮังการีเป็นผลมาจากหลายปัจจัย แต่ปัจจัยที่สำคัญที่สุด คือ การปรับขึ้นของราคาสินค้าพลังงานที่นำเข้าจากรัสเซีย ส่งผลกระทบโดยตรงต่อการปรับขึ้นราคาสินค้าอาหาร บริการ และสินค้าอุปโภคบริโภค

ธนาคารกลางฮังการีปรับการคาดการณ์อัตราเงินเฟ้อ โดยกล่าวว่าอัตราเงินเฟ้อเฉลี่ยทั้งปี 2565 ของฮังการีอาจสูงได้ถึง 7.5-9.8% จากที่คาดการณ์เดิมในปีที่แล้ว 4.7-5.1% และในปี 2566 อัตราเงินเฟ้ออาจปรับตัวลงอยู่ในช่วง 3.7-5.1% ส่วนในปี 2567 คาดว่าจะอยู่ที่ 2.7-3.3% ซึ่งอยู่ในกรอบเป้าหมายที่ธนาคารกลางกำหนดไว้

ก่อนหน้านี้ นักวิเคราะห์หลายรายลงความเห็นว่า อัตราเงินเฟ้อทั่วไป (Headline Inflation) ประจำเดือนกุมภาพันธ์ 2565 อาจอยู่ที่ 8.2% แต่ข้อมูลจากสำนักงานสถิติแห่งชาติเปิดเผยว่า ในความเป็นจริงแล้ว อัตราเงินเฟ้อประจำเดือนกุมภาพันธ์ 2565 กลับสูงกว่าตัวเลขที่คาดการณ์ไว้ 0.1% นอกจากนั้น กองวิเคราะห์เศรษฐกิจ หนังสือพิมพ์ Világgazdaság ซึ่งเป็นหนังสือพิมพ์รายวันด้านเศรษฐกิจของฮังการี ยังคาดว่าอัตราเงินเฟ้อพื้นฐาน (Core Inflation) ที่ไม่รวมอาหารสดและพลังงาน ประจำปี 2565 อาจพุ่งสูงถึง 9.1% จากเดิมคาดการณ์ที่ 7.8% และปรับการคาดการณ์อัตราเงินเฟ้อเฉลี่ย ปี 2566 จากเดิมที่ 4.6% เป็น 6% อีกด้วย

การขาดดุลงบประมาณ

กระทรวงการคลังฮังการีเปิดเผยข้อมูลฐานะการคลังของรัฐบาลตามระบบกระแสเงินสด ระบุว่าไตรมาสแรกของปี 2565 มีการขาดดุลงบประมาณสูงถึง 2.3094 ล้านล้านโฟรินท์ ตามการใช้จ่ายภาครัฐที่สูงขึ้น เช่น มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจต่างๆ และการจัดซื้อวัคซีนป้องกันโรคโควิด-19 และรายรับภาครัฐที่ลดลงจากมาตรการยกเว้นการเก็บภาษีจากผู้ที่อายุน้อยกว่า 25 ปี และคืนภาษีเงินได้สำหรับผู้ที่มีครอบครัว อีกทั้งคาดการณ์ว่าในสิ้นปี 2565 งบประมาณแผ่นดินอาจขาดดุลได้ถึง 3.1527 ล้านล้านโฟรินท์ ทั้งนี้ ปี 2564 ฮังการีขาดดุลงบประมาณถึง 3.736 ล้านล้านโฟรินท์ คิดเป็น 6.8% ของ GDP

การขาดดุลระหว่างการค้าระหว่างประเทศ

เศรษฐกิจของฮังการีขับเคลื่อนโดยการส่งออกเป็นหลัก ทำให้ฮังการีมีการได้ดุลการค้ามาโดยตลอด ทว่าในสถานการณ์ปัจจุบัน ฮังการีขาดดุลระหว่างการค้าระหว่างประเทศ 8 เดือนต่อเนื่อง ในเดือนกุมภาพันธ์ 2565 ฮังการีขาดดุลการค้า 91 ล้านยูโร เป็นผลจากราคาพลังงานที่สูงขึ้น และค่าเงินโฟรินท์ที่อ่อนตัวลง แม้ว่ามูลค่าการนำเข้าและส่งออกจะเพิ่มขึ้นก็ตาม

ปรับลดตัวเลขคาดการณ์ GDP

สถาบันวิเคราะห์เศรษฐกิจ Kopint-Tárki ปรับลดการคาดการณ์ GDP ปี 2565 จากเดิม 5% เหลือ 4% ด้านธนาคารกลางฮังการีมองว่า GDP ปี 2565 จะอยู่ในช่วง 2.5-4.5% จากเดิมที่เคยคาดไว้ที่ช่วง 4-5% ส่วน GDP ปี 2566 คาดว่าจะอยู่ในช่วง 3-4%

ล่าสุด นักวิเคราะห์ธนาคาร ING เปิดเผยเมื่อวันที่ 13 เมษายน 2565 ว่าได้ปรับลดคาดการณ์ GDP ปี 2565 อยู่ที่ 4.5% จาก 6.2% เมื่อเดือนมีนาคม เนื่องจากภาวะสงครามมีแนวโน้มยืดเยื้อ และฮังการีต้องคอยรับมือกับมาตรการคว่ำบาตรทางเศรษฐกิจของ EU ต่อรัสเซีย ซึ่งจะส่งผลต่อการขาดตอนของห่วงโซ่อุปทานและการขนส่งวัตถุดิบในอุตสาหกรรมการผลิตของฮังการี

สรุปภาพรวมเศรษฐกิจของฮังการี ไตรมาสที่ 1/2565

กล่าวได้ว่าในปีนี้ เศรษฐกิจในภาพรวมของฮังการีได้รับผลกระทบอย่างรุนแรงจากสงครามระหว่างยูเครนและรัสเซีย รวมถึงการคว่ำบาตรต่อรัสเซีย ทำให้เกิดภาวะเงินเฟ้ออย่างรุนแรง ตัวเลขการส่งออกสินค้าและบริการไปรัสเซียและยูเครนลดลง ส่งผลต่อการขาดดุลการค้าระหว่างประเทศ ซึ่งสอดคล้องกับทิศทางแนวโน้มเศรษฐกิจโลก โดยเฉพาะประเทศในทวีปยุโรป โดยธนาคารโลกคาดการณ์ว่า การขยายตัวของ GDP ภูมิภาคยุโรปกลาง (บัลแกเรีย โครเอเชีย ฮังการี โปแลนด์ และโรมาเนีย) ปี 2565 จะอยู่เพียงที่ 3.5% จากเดิมที่คาดการณ์ไว้ที่ 4.7% เนื่องจากได้รับผลกระทบจากภาวะผู้อพยพหลั่งไหลเข้าประเทศ การเพิ่มขึ้นของราคาสินค้าอุปโภคบริโภค และการปรับตัวลงของความเชื่อมั่นนักลงทุนในตลาดยุโรปกลาง โดยเฉพาะในฮังการีและโปแลนด์ ที่ความเชื่อมั่นนักลงทุนลดลง จากการที่ EU เตรียมใช้กลไกการกำหนดเงื่อนไข (Conditionality Mechanism) กับฮังการีและโปแลนด์ ในการพิจารณาอนุมัติจัดสรรวงเงินงบประมาณการช่วยเหลือประเทศสมาชิกเป็นครั้งแรก โดยอ้างว่าฮังการีและโปแลนด์ละเมิดหลักนิติธรรมอันเป็นคุณค่าหลักของ EU ในขณะที่ธนาคารกลางยุโรปยังไม่ได้ประกาศมาตรการช่วยเหลือทางเศรษฐกิจและการเงินใดๆ ส่งผลต่อค่าเงินโฟรินท์ของฮังการี และสว็อตตี้ของโปแลนด์อ่อนตัวลง

ปัจจุบัน รัฐบาลฮังการียังคงดำเนินนโยบายการคลังที่เข้มงวด เพื่อรักษาเป้าหมายการขาดดุล ตัดรายจ่ายในงบประมาณแผ่นดินบางประการ เช่น เลื่อนการลงทุนขนาดใหญ่ของภาครัฐออกไปก่อน และพยายามควบคุมระดับราคาพลังงานในประเทศให้ได้มากที่สุด ทั้งนี้ ธนาคารกลางและนักวิเคราะห์มองว่า เศรษฐกิจฮังการีจะกลับมาสู่ภาวะปกติอย่างเร็วที่สุดภายในปี 2567

ข้อคิดเห็นของ สคต.

ผลการเลือกตั้งอย่างเป็นทางการโดยคณะกรรมการการเลือกตั้งของฮังการี ณ วันที่ 14 เมษายน 2565 พรรครัฐบาล Fidesz-KDNP ได้จำนวน ส.ส. ในรัฐสภาทั้งหมด 135 ที่จาก 199 ที่ (ทั้งส.ส. เขตและ Party List) นับเป็นสัดส่วน 2 ใน 3 จากที่นั่งในสภา ในขณะที่กลุ่มพันธมิตรพรรคฝ่ายค้านได้ที่นั่งในรัฐสภา 57 ที่ (ทั้งส.ส. เขตและ Party List) พรรค Our Homeland (Mi Hazánk) ได้ที่นั่งในรัฐสภาเป็นจำนวน 6 ที่ (เฉพาะส.ส. Party List) ส่วนผู้แทนชนกลุ่มน้อยชาติพันธุ์เยอรมัน ได้ ส.ส. 1 คน ทั้งนี้ กำหนดให้วันที่ 2 พฤษภาคม 2565 เป็นวันประชุมสภาสมัยสามัญสมัยแรก ซึ่งจะเป็นวันที่ ส.ส. ลงคะแนนเสียงเลือกนายกรัฐมนตรี

สคต. บูดาเปสต์มองว่า เมื่อพรรคร่วมรัฐบาลครองเสียงข้างมากในสภา นาย Viktor Orbán จึงจะได้รับเลือกให้ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีฮังการีสมัยต่อไป ปี 2565-2569 เป็นสมัยที่ 4 ติดต่อกันนับตั้งแต่ปี 2555 อย่างแน่นอน ฉะนั้นนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจหลายประการที่กำหนดไว้ในรัฐบาลชุดก่อนหน้านี้จะยังดำเนินต่อไปได้ เช่น การเพิ่มดุลการค้าระหว่างประเทศที่อาจจะเป็นประโยชน์ต่อประเทศไทยที่ให้ความสำคัญกับการส่งออก อีกทั้งสานต่อนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจสำคัญ ได้แก่ การควบคุมค่าสาธารณูปโภค นโยบายสนับสนุนครอบครัวที่มีบุตร การยกเว้นภาษีเงินได้สำหรับผู้ที่อายุต่ำกว่า 25 ปี เงินบำนาญเดือนที่ 13 ของผู้เกษียณอายุ และการปรับฐานค่าแรงขั้นต่ำทุกปีทว่าความสัมพันธ์กับ EU ในอนาคตอาจจะยังไม่เป็นปกติดี เนื่องจากรัฐบาลฮังการีชุดปัจจุบันที่มีแนวคิดเคลือบแคลง EU และยังจะต้องต่อสู้ในสภายุโรปต่อไป ซึ่งอาจส่งผลต่อมูลค่าเงินงบประมาณและโครงการสนับสนุนการบริหารราชการจาก EU ให้ฮังการีที่ลดลง

ข้อมูลสรุปภาวะเศรษฐกิจไตรมาสแรกของปี ชี้ว่ารัฐบาลชุดใหม่จะเผชิญกับอุปสรรคทางเศรษฐกิจหลายประการในปีนี้ ได้แก่ การสู้รบระหว่างรัสเซียและยูเครน ค่าสาธารณูปโภคที่เพิ่มสูงขึ้นตามราคาพลังงานในตลาดโลก ความขัดแย้งระหว่างรัฐบาลฮังการีและคณะกรรมาธิการยุโรปที่จะส่งผลต่อการอนุมัติงบประมาณจาก EU และการควบคุมดุลงบประมาณแผ่นดินและการค้าระหว่างประเทศ ซึ่งอาจส่งผลต่อการตัดสินใจระงับหรือชะลอโครงการกระตุ้นเศรษฐกิจบางประการ เช่น การอนุมัติเงินอุดหนุนหรือเงินกู้ดอกเบี้ยต่ำสำหรับการลงทุนของเอกชน นอกจากนี้ยังมีความท้าทายด้านอื่นๆ
ที่รัฐบาลต้องตัดสินใจต่อไป เช่น การอุ้มค่าเงินโฟรินท์ที่อ่อนตัวลง การควบคุมอัตราดอกเบี้ยนโยบาย รวมถึงการตรึงระดับราคาสินค้าอุปโภคบริโภคและพลังงานเชื้อเพลิง ปัจจัยทั้งปวงนี้อาจส่งผลต่อการเกิดภาวะเศรษฐกิจถดถอยในฮังการีได้

ฉะนั้น ปัจจัยเสี่ยงด้านภาวะเงินเฟ้อ ค่าเงินโฟรินท์อ่อนตัว และน้ำมันเชื้อเพลิงราคาแพง จึงเป็นเหตุผลสำคัญ ที่อาจส่งผลต่อการชะลอตัวของกิจกรรมทางเศรษฐกิจ และการชะลอการตัดสินใจเดินทางไปเจรจาธุรกิจในต่างประเทศ นำเข้าสินค้า/บริการจากต่างประเทศของผู้น้าเข้าในฮังการีในช่วงไตรมาสที่ 2/2565 นี้ รวมถึงการนำเข้าจากสินค้าจากไทยด้วย

Leave a Comment

Your email address will not be published. Required fields are marked *

OMD KM

FREE
VIEW