รายงานสถานการณ์การค้าสหราชอาณาจักร กรุงลอนดอน เดือน พฤศจิกายน 2564

รายงานตลาดข้าวไทยในสหราชอาณาจักร

1. ตลาดข้าวในสหราชอาณาจักร

1.1) ภาพรวม
ชาวอังกฤษบริโภคข้าวเฉลี่ยต่อคนประมาณ 4.4 กิโลกรัม/ปี  โดยส่วนใหญ่เป็นข้าวบาสมาติ เนื่องจากกลุ่มชาวต่างชาติที่อาศัยในสหราชอาณาจักรส่วนใหญ่ คือ ชาวอินเดีย ปากีสถาน และบังกลาเทศ ซึ่งมีจำนวนประมาณ 3 ล้านคน โดยจำนวนประมาณ 9 แสนคน อาศัยในกรุงลอนดอน
สหราชอาณาจักรไม่ปลูกข้าว การนำเข้าส่วนใหญ่เป็นการนำเข้าข้าวเปลือกและข้าวกล้องไปสีเป็นข้าวสาร ส่วนการนำเข้าในรูปของข้าวสารส่วนใหญ่เป็นข้าวคุณภาพดี โดยผู้นำเข้าข้าวรายใหญ่ในสหราชอาณาจักรส่วนใหญ่เป็นบริษัทของชาวอินเดียและจีน ข้าวที่มีส่วนแบ่งตลาดรองจากข้าวบาสมาติได้แก่ ข้าวเมล็ดสั้น ของอิตาลีและสเปน ข้าวเมล็ดยาว ได้แก่ ข้าวหอมมะลิจากประเทศไทย และข้าวขาวจากอเมริกา ตามลำดับ ส่วนที่เหลือเป็นข้าวชนิดอื่นๆ เช่น ข้าวเมล็ดสั้นของญี่ปุ่น และข้าวเมล็ดสั้นที่นำเข้าจากประเทศอื่นๆในยุโรป รวมทั้งข้าวหัก และ ข้าวเหนียว ซึ่งยังมีสัดส่วนไม่มากนัก

1.2) ผลกระทบจากสถานการณ์ COVID-19
การแพร่ระบาดของไวรัส COVID-19 ได้ส่งผลต่อพฤติกรรมของผู้บริโภคชาวอังกฤษ ทั้งธุรกิจร้านอาหารไทยซึ่งได้รับผลกระทบจากการปิดบริการในช่วงล็อคดาวน์เป็นระยะเวลานานจากช่วงกลางปี 2563 จนถึงต้นปี 2564 นอกจากนี้จากการที่ชาวอังกฤษอยู่บ้านมากขึ้นทำให้หันไปปรุงอาหารเองที่บ้านมากขึ้น และประเด็นที่สำคัญคือชาวอังกฤษหันไปให้ความสำคัญต่อการดูแลสุขภาพมากขึ้น ซึ่งส่งผลให้รูปแบบการตลาดและการจำหน่ายข้าวจำเป็นต้องปรับตัวตามการเปลี่ยนแปลงทั้งสามด้าน เช่น ข้าวหลายแบรนด์มีการเปิดตัวสินค้าข้าวพร้อมรับประทานแบบที่อุ่นในไมโครเวฟ ของ Tilda และ Le Stagioni รวมถึง Tilda เริ่มจำหน่ายข้าวกล้องเพื่อสุขภาพ เป็นต้น

Japanese Teriyaki
Italia Arborio

1.3) ผลกระทบจาก Brexit
นับตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2564 สหราชอาณาจักรได้ประกาศอัตราภาษีนำเข้า UK Global Tariff (UKGT) ซึ่งเป็นอัตราภาษีนำเข้าที่ใช้เรียกเก็บ (applied rate) กับสินค้าที่มาจากประเทศอื่นๆ ตามหลักการ Most Favoured Nation (MFN) ตามพันธกรณีขององค์การการค้าโลกที่สหราชอาณาจักรเป็นสมาชิก ดังอัตราภาษีเดิมและใหม่ รายละเอียดในตารางอัตราภาษี

2. สถิติการนำเข้า-ส่งออก

ในปี 2563 สหราชอาณาจักรมีการนำเข้าข้าวรวมมูลค่า 610.57 ล้านเหรียญสหรัฐฯ เพิ่มขึ้นร้อยละ 14.86 เมื่อเปรียบเทียบกับปีก่อน โดยเป็นการนำเข้าข้าวขาวขัดสี (Semi/Wholly Milled) คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 46.71 ข้าวกล้อง/ข้าวที่เอาเปลือกออกแต่ยังไม่ได้ขัดสี (Brown, Husked) คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 44.61ข้าวหัก (Broken) คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 7.84 และ ข้าวเปลือก (Paddy) คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 0.83 ตามลำดับ

ขณะที่ในช่วง 8 เดือนแรกของปี 2564 (มกราคม – สิงหาคม) สหราชอาณาจักรนำเข้าข้าวมูลค่า 388.0 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ลดลงร้อยละ 11.6 เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันในปี 2563 คิดเป็นปริมาณ 447,852 ตัน ลดลงร้อยละ 20.3 โดยแหล่งนำเข้าสำคัญ ได้แก่ (1) อินเดีย ส่วนแบ่งตลาดร้อยละ 27.0 (2) ปากีสถาน ส่วนแบ่งตลาดร้อยละ 21.6 (3) อิตาลี ส่วนแบ่งตลาดร้อยละ 10.8 (4) เนเธอร์แลนด์ ส่วนแบ่งตลาดร้อยละ 6.8 และ ไทยเป็นลำดับ 7  ส่วนแบ่งตลาดร้อยละ 5.5

ในช่วง 8 เดือนแรกของปี 2564 ไทยส่งออกข้าวไปยังสหราชอาณาจักรมูลค่า 13.3 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ลดลงร้อยละ 57.0 เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันในปี 2563 แบ่งเป็นข้าวขัดสีร้อยละ 85.8 ข้าวกล้องร้อยละ 11.9 และข้าวหักร้อยละ 2.1

เมื่อดูจากปริมาณในช่วง 8 เดือนแรกของปี 2564 ไทยส่งออกข้าวไปยังสหราชอาณาจักรปริมาณ 16,588 ตันลดลงร้อยละ 59.4 เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันในปี 2563 แบ่งเป็นข้าวขัดสีร้อยละ 79.5 ข้าวกล้องร้อยละ 17.7 และข้าวหักร้อยละ 2.7

3. ระบบโควต้าการนำเข้าข้าวของสหราชอาณาจักร

สินค้าข้าวจัดเป็นสินค้าที่มีโควตาประเภท Licensed Quotas โดยมีขั้นตอนในการขอใบอนุญาตในการนำเข้าแตกต่างกันไปตามประเภทโควตา หน่วยงาน Rural Payments Agency จะเป็นผู้รับผิดชอบการพิจารณาออกใบอนุญาตนำเข้าสินค้า TRQ และเป็นผู้บริหารการนำเข้าสินค้า TRQ โดยผู้นำเข้าสามารถตรวจสอบประกาศรายละเอียดการบริหารโควตา และปริมาณโควตาได้ที่ https://www.gov.uk/government/collections/notice-to-traders

สามารถตรวจสอบอัตราภาษีเพิ่มเติมได้จาก https://www.trade-tariff.service.gov.uk/sections ทั้งนี้ อัตราภาษีภายใต้ UK Global Tariff นั้น จะเป็นผลดีต่อประเทศคู่ค้านอกอียูในการเข้าถึงตลาด สหราชอาณาจักร เนื่องจากมีมาตรการกีดกันทางการค้า (Trade Barriers) ที่น้อยกว่าอัตราภาษีภายใต้ EU ขณะที่กรมการค้าต่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์ จะเป็นหน่วยงานราชการของไทยที่กำกับดูแลเรื่องโควตาข้าว (www.dft.go.th)

4. หลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขในการนำเข้าข้าวมายังสหราชอาณาจักร

หลักเกณฑ์ในการขอโควตานำเข้าข้าว
1. บริษัทจะต้องมีการจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่ม (VAT) ในสหราชอาณาจักร
2. บริษัทจะต้องแจ้งหมายเลขจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่ม (VAT registration number) ในใบฟอร์ม quota licence application
3. ในกรณีที่เป็นบริษัทภายใต้กลุ่มบริษัท (Group) ที่มีการจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่มแบบกลุ่ม บริษัทจะต้องส่งเอกสารจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่มตัวจริงมาด้วยก่อนที่โควตาเดิมจะหมดอายุ
4. หากเป็นการขอโควตาครั้งแรก บริษัทต้องส่งหลักฐานว่าบริษัทมีการนำเข้าอย่างน้อย 25 ตัน ภายในระยะเวลา 12 เดือนก่อนเวลา 2 เดือนของวันเริ่มต้นปีโควตา (เช่น ปีโควตาเริ่มต้นเดือนมกราคม 64 กรณีนี้ใช้ข้อมูลการนำเข้าของเดือน 1 พ.ย.62 – 31 ต.ค. 63) และ 12 เดือนก่อนหน้านั้น (กรณีตัวอย่าง 1 พ.ย. 61 – 31 ต.ค 62)
5. การสมัครขอรับโควต้าสำหรับข้าว และข้าวหักที่มาจากไทยภายใต้ Imports of Rice under Statutory Instrument 2020 No. 1432 (order No. 05.4128) จะต้องส่งใบอนุญาตส่งออก (export licence) ตัวจริงที่ออกโดยหน่วยงานที่มีอำนาจจากประเทศไทยด้วย
6. บริษัทจะต้องไม่ยื่นขอใบอนุญาตนำเข้ามากกว่า 1 ครั้ง สำหรับหมายเลขขอโควตาเดียวกันในคราวเดียวกัน ยกเว้นจะส่งมาพร้อมกับใบอนุญาตส่งออก หากยื่นขอใบอนุญาตนำเข้ามากกว่า 1 ครั้ง สำหรับหมายเลขขอโควตาเดียวกันนั้น ใบสมัครทั้งหมดจะถูกปฎิเสธ
7. ผู้นำเข้าจะต้องมีการวางเงินประกัน (security) ในการยื่นขอโควตา ซึ่งมูลค่าการวางเงินประกันมีความแตกต่างกันไปตามแต่ละพิกัดสินค้า (1006 30 ราคา £40 per tonne; 1006 20 ราคา £30 per tonne; 1006 4000 ราคา £5 per tonne)

5. รูปแบบการค้าข้าว
จากข้อมูล UK Rice Association พบว่าตลาดข้าวในสหราชอาณาจักรมีมูลค่าประมาณ 400 ล้านปอนด์ สหราชอาณาจักรมีการกระจายสินค้าข้าวในช่องทางหลักดังนี้ ร้านค้าปลีก (Retail) ร้อยละ 32 กลุ่มธุรกิจ Catering ร้อยละ 25 โรงงานผลิตอาหาร ร้อยละ 29 (นำข้าวที่ได้จากโรงสีข้าวหรือผู้นำเข้าข้าว มาผลิตเป็นอาหารพร้อมรับประทาน อาหารพร้อมปรุง รวมไปถึงอาหารสำหรับทารก) และการส่งออก ร้อยละ 13

ช่องทางการกระจายสินค้าข้าว

ที่มา: UK Rice Association

ข้าวที่จำหน่ายในสหราชอาณาจักร จำนวนร้อยละ 37 เป็น Private label โดยแบรนด์ข้าวระดับบน (Upmarket) เช่น Uncle Ben’s, Tilda และห้างซุปเปอร์มาร์เก็ตมีการนำเข้าข้าวชนิดต่างๆ จากต่างประเทศมาสีและบรรจุลงใน packaging ของตน (In House Brand) โดยสหราชอาณาจักรมีโรงสีข้าวทั้งหมดจำนวน 11 โรง

บริษัท Mars UK Ltd’s เจ้าของแบรนด์ข้าว Uncle Ben’s เป็นแบรนด์อันดับ 1 มีส่วนแบ่งตลาด ร้อยละ 26.2 ข้าวแบรนด์ Tilda เป็นแบรนด์ข้าวบรรจุถุงที่ใหญ่เป็นอันดับ 2 ในสหราชอาณาจักร คิดเป็น ร้อยละ 10.3 ของตลาดข้าวบรรจุถุงในสหราชอาณาจักร (มูลค่า 570.5 ล้านปอนด์ ในปี 2013) ทั้งนี้ แบรนด์ Tilda ยังเป็นแบรนด์ที่อยู่ในตลาดระดับบน (Upmarket) และมีแนวโน้มที่จะได้รับความนิยมเพิ่มขึ้น โดยอันดับ 3 คือ แบรนด์ Veetee

ส่วนผู้ค้าส่ง/ค้าปลีก ที่เป็นห้างซุปเปอร์มาเก็ตเอเชีย (Oriental Supermarket) ส่วนใหญ่จะจำหน่ายข้าวที่เป็นแบรนด์ของผู้ส่งออกจากประเทศนั้นๆ ใน packaging เดิม รวมถึงการสร้าง In House Brand ของตนเองด้วย เช่น Tesco, Sainsbury’s, Asda, Morrisons และ Waitrose

รูปแบบธุรกิจของ retail ซึ่งเป็น mainstream supermarket ในสหราชอาณาจักร จะพยายามสร้างและขาย house brand ของซุปเปอร์มาร์เก็ตเอง เพราะจะได้กำไรต่อหน่วยมากกว่าที่ซุปเปอร์มาร์เก็ตจะนำแบรนด์อื่นมาจำหน่าย โดยจะมีการนำแบรนด์อื่นมาจำหน่ายก็ต่อเมื่อเป็นแบรนด์ที่ติดตลาด และลูกค้าส่วนใหญ่นิยมหารับประทาน ซึ่งลูกค้าส่วนใหญ่ของซุปเปอร์มาร์เก็ตอาจหาซื้อข้าวหอมมะลิไทย แต่อาจไม่ทราบหรือไม่ได้เจาะจงว่าต้องเป็นแบรนด์ไทย เนื่องจากแบรนด์ไทยเข้ามาลุงทุนทำการตลาดในกลุ่มนี้น้อย แต่ไปเจาะทำโฆษณาทำการตลาดในกลุ่มซุปเปอร์มาร์เก็ตเอเชียมากกว่า จึงทำให้ลูกค้าส่วนใหญ่ของซุปเปอร์มาร์เก็ตเอเชียจะรู้จัก brand และคุณภาพของสินค้าข้าวไทยได้ดีกว่าลูกค้าของ mainstream supermarket

ทั้งนี้ ที่ผ่านมา สำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ ณ กรุงลอนดอน (สคต.) ก็ได้รับ enquiry จากผู้ผลิต/ผู้ส่งออกข้าวไทยอยู่เสมอ และได้ตอบทั้งข้อมูลตลาดและส่งรายชื่อผู้นำเข้ารวมถึงรายละเอียดการติดต่อซุปเปอร์มาร์เก็ตให้ แต่ สคต. เห็นว่าผู้ส่งออกไทยยังอาจเจรจาประสานธุรกิจกับ mainstream ได้ยาก เพราะซุปเปอร์มาร์เก็ตส่วนใหญ่หรือเกือบทั้งหมดจะเน้น House brand คือนำเข้าสินค้ามาสร้างแบรนด์และทำการตลาดเอง ซึ่งจะทำให้ margin ของผู้ส่งออกไทยต่ำมาก แต่หากผู้ส่งออกไทยต้องการที่จะส่งออกข้าว brand ไทยมาจำหน่าย ก็จะต้องลงทุนสูงมากในการทำการตลาด และต้องคำนึงถึงความคุ้มค่าในการลงทุนเมื่อเทียบกับปริมาณและมูลค่าการจำหน่ายสินค้า โดยแบรนด์ข้าวหอมมะลิจากไทยที่วางจำหน่ายในห้าง mainstream supermarket ได้แก่ Royal Umbrella

จากการสำรวจตลาดข้าวโดยรวมทุกประเภทใน mainstream supermarket พบว่า section กลุ่มสินค้าข้าวที่เป็นชนิด ready-to-cook หรือ ready-to-eat (ข้าวพร้อมปรุง หรือข้าวพร้อมรับประทาน) จะมีสัดส่วนที่ใหญ่กว่ากลุ่มสินค้าข้าวที่จำหน่ายเป็นเมล็ดข้าวที่ต้องนำไปหุง (grain) เนื่องจากผู้บริโภคสหราชอาณาจักรยังเป็นกลุ่มผู้ที่บริโภคขนมปังและมันฝรั่งเป็นอาหารหลัก มิได้บริโภคข้าวเป็นอาหารหลัก ส่วนใหญ่จึงไม่ทราบวิธีการเตรียม/การหุง ไม่มีอุปกรณ์หุงข้าวที่สะดวก เช่น หม้อหุงข้าวไฟฟ้า เพราะไม่ใช่อาหารหลักที่บริโภคบ่อยครั้ง ผู้บริโภคส่วนใหญ่จึงนิยมซื้อหาข้าวชนิดที่เป็น ready-to-cook หรือ ready-to-eat ซึ่งสินค้าในกลุ่มนี้ ที่พบเห็นในทุกซุปเปอร์มาร์เก็ตคือ แบรนด์ Uncle Bens (ของสหรัฐฯ) แบรนด์ Tilda และแบรนด์ Veetee ซึ่งเป็น 3 แบรนด์ที่ครองตลาดหลัก

สำหรับข้าวที่จำหน่ายเป็นเมล็ดข้าวที่ต้องนำไปหุง (grain) นั้น section ที่ใหญ่มากเป็นข้าวบาสมาติ (Basmati rice) เนื่องจากผู้บริโภคชาวสหราชอาณาจักรมีความสัมพันธ์ใกล้ชิดกับภูมิภาคเอเชียใต้ โดยเฉพาะกับประเทศอินเดียเนื่องจากประวัติศาสตร์การเข้าครองอินเดียเป็นประเทศอาณานิคมของสหราชอาณาจักร ทำให้คุ้นเคยกับการบริโภคข้าวบาสมาติ กอปรกับในสหราชอาณาจักรนั้นมีประชากรซึ่งมีเชื้อสายอินเดียอยู่เป็นจำนวนมาก รวมถึงชาวมุสลิมซึ่งบางกลุ่มก็บริโภคข้าวบาสมาติ ทำให้ข้าวบาสมาติในตลาดนี้มีส่วนแบ่งตลาดในส่วนของ grain ที่ใหญ่มาก โดยเฉพาะเมื่อเทียบกับข้าวขาวเมล็ดยาว (long grain white rice)

ในกลุ่มของข้าวขาวเมล็ดยาว หากเป็นข้าวคุณภาพในกลุ่มของข้าวหอมมะลิ (Hom Mali Rice) หรือ Fragrant rice แล้ว จากการสำรวจตลาดในกลุ่ม Mainstream Supermarket จะเห็นว่าเป็นข้าวจากประเทศไทยทั้งหมด แต่สำหรับข้าวขาวเมล็ดยาวที่ไม่ใช่ข้าวหอมมะลิ (long grain white rice) คู่แข่งสำคัญคือ ข้าวจากสหรัฐอเมริกา ทั้งนี้จากการตรวจสอบจากถุงหรือบรรจุภัณฑ์ของข้าวในกลุ่มข้าวขาวเมล็ดยาวนั้น ส่วนใหญ่จะระบุเป็นสินค้าที่มาจากหลายประเทศ (Product of more than one country) ซึ่งหมายความว่าเป็นสินค้าข้าวจากหลายประเทศหรือหลายแหล่งแล้วนำมาผสมและบรรจุถุง โดยจะไม่ใช่ข้าวที่คุณภาพสูงและราคาจะต่ำกว่าข้าวหอมมะลิของไทยมาก

6.2 ซุปเปอร์มาร์เก็ตเอเชียน
ในส่วนของซุปเปอร์มาร์เก็ตเอเชียนในสหราชอาณาจักร เช่น Wing Yip, See Woo, Hoo Hing, New Loon Moon บางแห่งก็จะมีข้าวแบรนด์ไทยจำหน่าย เช่น ข้าวตราฉัตรที่ New Loon Moon และจะมีข้าวหอมมะลิจากไทยที่นำมาบรรจุถุงในแบรนด์ที่ซุปเปอร์มาร์เก็ตทำแบรนด์เองด้วย เช่น Three Elephant ของ See Woo ยี่ห้อ ฮกลกซิ่ว ของห้าง Loon Fung เป็นต้น ทั้งนี้ ข้าวถุงคู่แข่งสำคัญของไทยในซุปเปอร์มาร์เก็ตเอเชียนคือ ข้าวจากกัมพูชา ได้แก่ แบรนด์ Royal Mongkut Cambodian Jasmine Rice และ Golden Swan Cambodian Scented Rice

6.3 ช่องทางการค้าออนไลน์
ห้างซุปเปอร์มาร์เก็ต/ร้านค้าปลีกในสหราชอาณาจักรส่วนใหญ่มีช่องทางการจำหน่ายสินค้าผ่านทางออนไลน์ของตน  เช่น  Tesco, Sainsbury’s, Waitrose, Morrison, ASDA, Wing Yip, Hoohing  เป็นต้น โดยสินค้าข้าวเป็นหนึ่งในสินค้าที่มีการจำหน่ายผ่านช่องทางออนไลน์ดังกล่าว รวมถึงช่องทางออนไลน์อื่นๆ เช่น ร้านจำหน่ายสินค้าไทยออนไลน์ และ amazon.co.uk โดยราคาสินค้าข้าวที่จำหน่ายในช่องทางออนไลน์มีราคาเดียวกันกับที่จำหน่ายในห้างซุปเปอร์มาร์เก็ต/ห้างค้าปลีก ทั้งนี้ การซื้อสินค้าผ่านช่องทางออนไลน์จะมีค่าจัดส่งสินค้า หรือบางร้านค้าปลีกมีการจัดส่งสินค้าฟรีถึงบ้าน แต่จะต้องซื้อสินค้าให้ได้มูลค่าขั้นต่ำตามที่ร้านค้ากำหนด

ปัจจัยที่มีผลในการตัดสินใจของผู้บริโภค (ราคา คุณภาพมาตรฐาน บรรจุภัณฑ์)
ราคาและคุณภาพของสินค้าข้าวเป็นปัจจัยสำคัญในการตัดสินใจของผู้บริโภค อย่างไรก็ดี ผู้บริโภคบางส่วนให้ความสำคัญกับที่มาของสินค้า โดยต้องมาจากแหล่งเพาะปลูกที่น่าเชื่อถือ ให้ความสำคัญกับการเพาะปลูกที่ยั่งยืน (Sustainable) รวมไปถึง บรรจุภัณฑ์ที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม

7.  โอกาสและอุปสรรคในการขยายตลาดข้าวไทย

อุปสรรคในการขยายตลาดข้าวไทย
(1) ร้านอาหารและธุรกิจ Catering เป็นหนึ่งในช่องทางหลักในการกระจายสินค้าข้าวของไทย ดังนั้น   จากสถานกาณ์การแพร่ระบาดของไวรัส COVID-19 ได้ส่งผลกระทบต่อกิจการร้านอาหารและธุรกิจ Catering ในสหราชอาณาจักรที่ต้องปิดกิจการชั่วคราว ทำให้ร้านอาหาร โดยเฉพาะร้านอาหารไทยมีการสั่งซื้อข้าวจากไทยลดลง ซึ่งส่งผลต่อการขยายตลาดข้าวจากไทยมายังสหราชอาณาจักร
(2) การออกจากสมาชิกอียูของสหราชอาณาจักร (Brexit) ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงตารางผูกพันภาษี (โควตาภาษี) ของสหภาพยุโรปภายใต้องค์การการค้าโลก (WTO) ซึ่งอาจส่งผลกระทบต่อการส่งออกสินค้าข้าวของไทยไปยังสหราชอาณาจักร
(3) ข้าวไทยมีราคาสูงเมื่อเทียบกับประเทศคู่แข่ง เช่น ข้าวจากกัมพูชาซึ่งมีคุณภาพระดับสูงใกล้เคียงกับข้าวไทย

โอกาส

(1) การออกจากสมาชิกอียูของสหราชอาณาจักรนั้น ทำให้สหราชอาณาจักรสามารถมีอิสระในการกำหนดนโยบายการค้าของตนได้ ถือเป็นโอกาสที่ไทยจะขอเจรจากับสหราชอาณาจักร เพื่อขยายตลาดสินค้าส่งออกที่สำคัญของไทย ซึ่งรวมถึงสินค้าข้าว 
(2) ชาวสหราชอาณาจักรนิยมบริโภคข้าวกล้องมากขึ้นเนื่องจากมีคุณค่าทางอาหารมากกว่าข้าวขัดสี ดังนั้นจึงเป็นโอกาสสำหรับข้าวตลาดเฉพาะ ประเภทข้าวสีต่างๆ ได้แก่ ข้าวกล้อง Red Rice และ Black Rice ในการขยายตลาดในสหราชอาณาจักร

8. กิจกรรมและช่องทางส่งเสริมประชาสัมพันธ์ข้าวไทยที่เหมาะสม

8.1 การออกคูหาในงานเทศกาลอาหารที่มีชื่อเสียงในสหราชอาณาจักร โดยการเชิญผู้นำเข้าสินค้าข้าวไทยในสหราชอาณาจักรร่วมจัดแสดงและจำหน่ายสินค้าข้าวหอมมะลิ ข้าวสีต่างๆ และผลิตภัณฑ์อาหารอื่นๆ พร้อมทั้งการสาธิตการปรุงอาหารโดยใช้ข้าวเป็นส่วนประกอบ โดยเชฟอาหารไทยที่มีชื่อเสียงในสหราชอาณาจักร


8.2 การประชาสัมพันธ์ข้าวไทยผ่านทางโซเชียลมีเดีย พร้อมทั้งการพัฒนาและจัดทำเมนูอาหารไทย (Recipe) ที่ใช้ข้าวไทยเป็นส่วนประกอบ โดย Celebrity Chef อาหารไทยที่มีชื่อเสียงในสหราชอาณาจักร เพื่อนำมาประชาสัมพันธ์ในโซเชียลมีเดีย ได้แก่ Facebook และ Instagram พร้อมทั้งประชาสัมพันธ์วัตถุดิบในการปรุงอาหารที่ใช้ และสถานที่จำหน่ายสินค้าดังกล่าวในสหราชอาณาจักร

9. ประเด็นที่น่าสนใจอื่น ๆ

9.1 แม้ว่าข้าวจะไม่ใช่อาหารหลักของผู้บริโภคในสหราชอาณาจักร แต่ข้าวก็มีแนวโน้มได้รับความนิยมในการบริโภคมากขึ้น เนื่องจากสหราชอาณาจักรมีกลุ่มชาวต่างชาติอาศัยอยู่เป็นจำนวนมาก โดยเฉพาะชาวเอเชีย นอกจากนี้ ชาวสหราชอาณาจักรมีความชื่นชอบในการบริโภคอาหารต่างชาติ (Ethnic Cuisine) โดยเฉพาะอาหารจีน ญี่ปุ่น อินเดีย และไทย ซึ่งมีข้าวเป็นองค์ประกอบสำคัญในการรับประทานร่วมกับอาหารดังกล่าว

9.2 ปัจจุบันชาวสหราชอาณาจักรมีแนวโน้มการรับประทาน และใช้เวลาในการปรุงน้อย มากขึ้น จึงทำให้ผลิตภัณฑ์ข้าวในรูปแบบปรุงสุกแบบซองพร้อมรับประทานมีแนวโน้มขยายตัวเพิ่มขึ้นทั้งในด้านปริมาณและมูลค่า จากการสำรวจของ Kantar Worldpanel  พบว่า ในปี 2558 ปริมาณการขายข้าวประเภทปรุงสุกแบบซองพร้อมรับประทาน เพิ่มขึ้น 1 ใน 6 ทุกปี เป็นปริมาณ 45 ล้านกิโลกรัม ในขณะที่มูลค่าการขาย เพิ่มขึ้น ร้อยละ 10 (เป็นมูลค่า 171.9 ล้านปอนด์) โดยข้าวที่ยังไม่ผ่านการปรุงสุก มีมูลค่าการขายเพิ่มขึ้น ร้อยละ 2.7 (เป็นมูลค่า 161.8 ล้านปอนด์) และปริมาณการขายเพิ่มขึ้น ร้อยละ 2.2 (เป็น 99.4 ล้านกิโลกรัม) ซึ่งปริมาณและมูลค่าการขายขยายตัวในอัตราที่ต่ำกว่าข้าวประเภทปรุงสุกพร้อมรับประทาน
จากความนิยมที่เพิ่มขึ้นในเรื่องความสะดวกและรวดเร็วในการปรุงอาหาร จึงทำให้แบรนด์ข้าวชั้นนำ เช่น Uncle Ben’s, Tilda และ Vee Tee พัฒนาผลิตภัณฑ์ข้าวในรูปแบบปรุงสุกแบบซองพร้อมรับประทาน (Pre-Steamed Rice Pouch) ออกมาวางจำหน่ายในห้างซุปเปอร์มาเก็ต Mainstream และร้านค้าทั่วไป เพื่อตอบสนองความต้องการของผู้บริโภคที่ต้องการรับประทานอาหารที่มีคุณค่าทางโภชนาการสูงแต่ประหยัดระยะเวลาในการปรุง ซึ่งปัจจุบันได้รับความนิยมสูงขึ้นในสหราชอาณาจักร

9.3 ผู้บริโภคชาวสหราชอาณาจักรยังให้ความสนใจกับอาหารเพื่อสุขภาพมากขึ้น โดยเฉพาะผลิตภัณฑ์ที่ทำจากธัญพืชต่างๆ และข้าว รวมทั้งผลิตภัณฑ์อาหารไร้สารกลูเตน (Gluten-Free) ซึ่งได้รับความนิยมเป็นอย่างมาก

9.4 สคต. เห็นว่าจากความต้องการผลิตภัณฑ์อาหารไร้สารกลูเตน (Gluten-free) และอาหารที่ปราศจากสิ่งที่ทำให้เกิดการแพ้ (Free From) ที่สูงขึ้นในสหราชอาณาจักร จะเป็นโอกาสหนึ่งของประเทศไทยในการพัฒนาและเพิ่มมูลค่าให้แก่ข้าว ซึ่งเป็นส่วนประกอบหลักของอาหารที่ทำจากแป้งเพื่อทดแทนการใช้ข้าวสาลี ข้าวบาร์เลย์ ข้าวโอ๊ต และข้าวไรย์ เพื่อตอบสนองความต้องการที่เพิ่มขึ้นในการบริโภคผลิตภัณฑ์ดังกล่าว ดังนั้น การให้ความรู้และเสริมสร้างความเข้าใจเกี่ยวกับการพัฒนาผลิตภัณฑ์อาหารไร้สารกลูเตน แก่ผู้ประกอบการอุตสาหกรรมอาหารของไทย รวมถึงการสนับสนุนการสร้างเครือข่าย และความร่วมมือระหว่างนักวิจัยและภาคอุตสาหกรรม จะช่วยให้เกิดการพัฒนาผลิตภัณฑ์จากข้าวของไทย ซึ่งจะเป็นการเพิ่มมูลค่าผลิตภัณฑ์ (Value Added) ให้แก่ข้าวไทย อีกทั้งยังเป็นการขยายโอกาสในการส่งออกข้าว และผลิตภัณฑ์จากข้าวของไทยเพิ่มขึ้นในตลาดสหราชอาณาจักรอีกด้วย

Leave a Comment

Your email address will not be published. Required fields are marked *

OMD KM

FREE
VIEW