รายงานสถานการณ์การค้าราชอาณาจักรโรมาเนีย ณ กรุงบูดาเปสต์ เดือนกรกฎาคม 2565

รัฐบาลโรมาเนียเตรียมขึ้นภาษีบุหรี่ เครื่องดื่มผสมน้ำตาล วิสาหกิจรายย่อย และบริการ HoReCa ชดเชยการขาดดุลงบประมาณ มีผล 1 ม.ค. 66

เมื่อวันที่ 15 กรกฎาคม 2565 คณะรัฐมนตรีโรมาเนียมีมติอนุมัติหลักการร่างพระราชกฤษฎีกา ว่าด้วยการปรับปรุงอัตราภาษีสรรพสามิตและมูลค่าเพิ่มสำหรับสินค้าและบริการต่างๆ ให้มีผลบังคับใช้ตั้งแต่ 1 มกราคม 2566 เป็นต้นไป

1. ปรับปรุงโครงสร้างภาษีสรรพสามิตของบุหรี่ ตามที่สหภาพยุโรปกำหนดอัตราภาษีขั้นต่ำ เพื่อลดความแตกต่างของราคาขายผลิตภัณฑ์ยาสูบในตลาด EU (Directive 2011/64/EU) ปัจจุบัน อัตราภาษีสรรพสามิตสำหรับบุหรี่ในโรมาเนีย ณ เดือนกรกฎาคม 2565 อยู่ที่ 54.0745% (ยังไม่รวม VAT) ของราคาขายปลีกหน้าร้านถัวเฉลี่ยถ่วงนํ้าหนัก (Weighted Average Retail Selling Price หรือ WAP) แต่กฎหมาย EU กำหนดให้อัตราภาษีสรรพสามิตของบุหรี่ที่ในประเทศสมาชิกอยู่ที่อย่างน้อย 60% ของ WAP เฉพาะรายการนี้ ให้มีผลบังคับใช้ตั้งแต่ 1 สิงหาคม 2565

รูปภาพที่ 1: โครงสร้างภาษีสรรพสามิตของบุหรี่ในโรมาเนีย
ที่มาของข้อมูล: European Commission
รูปภาพที่ 2: โครงสร้างภาษีสรรพสามิตของบุหรี่ที่จำหน่ายในตลาดสหภาพยุโรป
ที่มาของข้อมูล: European Commission

2. ปรับขึ้นอัตราภาษีเงินปันผล (Divident Tax) จาก 5% เป็น 8%

3. ปรับขึ้นภาษีมูลค่าเพิ่ม (VAT) ที่เก็บจากสินค้าเครื่องดื่มที่มีรสหวาน หรือภาษีน้ำตาล จาก 9% เป็น 19% เท่ากับ VAT สำหรับสินค้า/บริการทั่วไปในโรมาเนีย

4. ปรับปรุงเงื่อนไขและโครงสร้างอัตราภาษีนิติบุคคล กล่าวคือวิสาหกิจรายย่อย (Micro Enterprise) ที่จ้างแรงงานสัญชาติโรมาเนียอย่างน้อย 1 คน และมีรายได้ประจำปีเกิน 500,000 ยูโร เดิมที่เคยเสียภาษีรายได้นิติบุคคล (คิดจากรายได้ที่ยังไม่หักค่าใช้จ่าย) ในช่วง 1-3% จะไม่สามารถเสียภาษีในอัตราเดิมอีกต่อไป แต่ต้องเสียภาษีที่อัตรา 16% ตามอัตราภาษีเงินได้นิติบุคคลปกติ

โดยรัฐบาลลดเพดานยอดขายสำหรับวิสาหกิจรายย่อยลง จาก 1 ล้านยูโรเป็น 500,000 ยูโร และยกเลิกการเสียภาษีกำไรสุทธิในอัตรา 3% สำหรับกิจการที่ไม่มีลูกจ้าง (Sole Entrepreneur)

กล่าวคือ ตามอัตราภาษีใหม่นี้ ผู้ประกอบการที่มีรายได้ประจำปีไม่ถึง 500,000 ยูโร ไม่ว่าจะประกอบกิจการคนเดียวหรือมีลูกจ้าง จะยังคงได้รับประโยชน์จากอัตราภาษี 1% ของรายได้ประจำปี ส่วนผู้ประกอบการที่มีรายได้ประจำปีมากกว่า 500,000 ยูโร ไม่ว่าจะประกอบกิจการคนเดียวหรือมีลูกจ้าง จะต้องไปใช้อัตราภาษีเงินได้นิติบุคคลดังเช่นบริษัทอื่นๆ ที่ 16%

5. ปรับขึ้นภาษี e-service ที่เก็บจากผู้ให้บริการการ Online Streaming ที่ทำธุรกิจในโรมาเนีย (“Netflix Fee”) จาก 2% เป็น 4% ของรายได้ประจำปีที่เก็บจากค่าบริการรายเดือนของผู้ชมในโรมาเนีย ตัวอย่างแพลตฟอร์มที่จะได้รับผลกระทบ เช่น Netflix, HBO GO, Amazon Prime Video, Voyo เป็นต้น โดยรายได้ส่วนนี้เก็บเข้ากองทุนของ Romanian National Center of Cinematography เพื่อสนับสนุนอุตสาหกรรมการถ่ายทำภาพยนตร์ในโรมาเนีย

6. ปรับขึ้น VAT สำหรับกลุ่มธุรกิจ HoReCa เช่น โรงแรม ร้านอาหาร คาเฟ่ และธุรกิจจัดเลี้ยง จาก 5% เป็น 9% ทั้งนี้ ธุรกิจ HoReCa ได้รับสิทธิพิเศษยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคล จากมาตรการเยียวยาธุรกิจจากภาวะโรคระบาดในปี 2563 ทว่าในปีนี้ เมื่อการท่องเที่ยวเริ่มฟื้นตัวแล้ว ธุรกิจบริการเริ่มกลับมาเปิดทำการได้ใกล้เคียงปกติ รัฐบาลจึงมองว่าธุรกิจ HoReCa ควรกลับมาเสียภาษีตามเดิม นับตั้งแต่ 1 มกราคม 2566 เป็นต้นไป

รัฐบาลโรมาเนียคาดว่า มาตรการดังกล่าวจะช่วยเก็บรายได้เข้าแผ่นดินได้ราว 0.9% ของ GDP หรือประมาณ 2.2 พันล้านเลย์ (ประมาณ 1.656 หมื่นล้านบาท) ในปี 2565 เป็นอย่างน้อย และคาดว่าจะเก็บรายได้ได้ประมาณ 1.34 หมื่นล้านเลย์ (ประมาณ 1 แสนล้านบาท) ในปี 2566 เนื่องจากในปัจจุบัน รัฐบาลโรมาเนียกำลังประสบปัญหาขาดดุลงบประมาณอย่างหนัก จากภาวะเงินเฟ้อโลกและสงครามในยูเครน แต่เดิมได้ตั้งเป้าหมายการขาดดุลงบประมาณปี 2565 ไว้ที่ 5.8% ของ GDP ทว่าช่วงเดือนมกราคม-พฤษภาคม 2565 รัฐบาลโรมาเนียขาดดุลงบประมาณไปแล้วถึง 2.09 หมื่นล้านเลย์ หรือ 1.6% ของ GDP โดยขาดดุลเพิ่มขึ้นจากช่วงเวลาเดียวกันของปีที่แล้วถึง 20%

อย่างไรก็ดี รัฐบาลโรมาเนียก็ได้มีแนวนโยบายช่วยเหลือประชาชน อาทิ การอุดหนุนราคาน้ำมันเชื้อเพลิงที่ลิตรละ 0.5 เลย์ (ประมาณ 3.75 บาท) ระหว่างช่วงเดือนกรกฎาคม – กันยายน 2565 และประกาศช่วงเวลาพักชำระหนี้เงินกู้ (Loan Moratorium) สำหรับผู้ประกอบการรายย่อยที่มีรายรับลดลงอย่างน้อย 25% และบุคคลทั่วไปที่มียอดค่าใช้จ่ายในครัวเรือนสูงขึ้นอย่างน้อย 25% ในช่วงไตรมาสที่ 1/2565 เป็นเวลา 9 เดือนนับตั้งแต่ 1 กรกฎาคม 2565

ทั้งนี้ รัฐบาลโรมาเนียต้องดำเนินนโยบายรัดเข็มขัด ตัดงบประมาณหลายส่วน เช่น งดสรรหาและบรรจุพนักงานราชการใหม่ตั้งแต่เดือนกรกฎาคมเป็นต้นไป จนกว่าจะมีคำสั่งเปลี่ยนแปลง เพื่อลดงบประมาณค่าใช้จ่ายบุคลากรภาครัฐลง ซึ่งมีสัดส่วนถึง 22% ของงบประมาณแผ่นดิน โดยจากข้อมูล ณ เดือนมิถุนายน 2565 เปิดเผยว่า จำนวนพนักงานราชการในรัฐบาลโรมาเนียอยู่ที่ 1,267,973 คน ทั้งจากหน่วยงานส่วนกลางและหน่วยงานท้องถิ่น จากจำนวนประชากรทั้งประเทศประมาณ 19.29 ล้านคน อีกทั้งยังประสบปัญหาเชิงโครงสร้างที่สำคัญของโรมาเนีย คือระบบราชการโรมาเนียที่เชื่องช้าและมีขนาดใหญ่เกินความจำเป็น

ด้านภาวะเงินเฟ้อในโรมาเนีย ดัชนีราคาผู้บริโภคในโรมาเนีย (CPI) ประจำเดือนมิถุนายน 2565 พุ่งสูงถึง 15% เมื่อเทียบกับเดือนมิถุนายน 2564 เพิ่มขึ้น 0.8% จากเดือนพฤษภาคม 2565 ที่อยู่ที่ 14.5% YOY โดยหมวดสินค้าที่มีอัตราการเติบโตของราคาสูงสุดเมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อนหน้า ได้แก่ น้ำมันรถยนต์ (41%) พลังงาน (41%) และอาหารสด (15%) ธนาคารแห่งชาติโรมาเนียคาดว่าอัตราเงินเฟ้อจะยังทรงตัวในระดับสูงต่อเนื่องไปถึงอย่างน้อยช่วงไตรมาสที่ 3/2565 และปรับขึ้นการคาดการณ์อัตราเงินเฟ้อเฉลี่ยทั้งปี 2565 เป็น 12.5% ตลอดจนขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบาย 100 bps สู่ระดับ 4.75% เมื่อวันที่ 6 กรกฎาคม 2565 ส่วนคณะกรรมาธิการยุโรปคาดว่าอัตราเงินเฟ้อเฉลี่ยทั้งปีนี้ของโรมาเนียจะอยู่ที่ 11.1%

ข้อคิดเห็นของ สคต.

การปรับขึ้นภาษีและระงับการจ้างงานภาครัฐครั้งนี้ มีวัตถุประสงค์เพื่อสร้างความแข็งแกร่งให้กับสถานะทางการคลังของโรมาเนียที่กำลังมีปัญหาหนัก เสริมเสถียรภาพทางเศรษฐกิจ และจำกัดการขาดดุลงบประมาณ อย่างไรก็ตาม การขึ้นภาษีครั้งนี้ คาดว่าทั้งผู้บริโภคและภาคธุรกิจจะได้รับผลกระทบหนัก โดยเฉพาะธุรกิจ HoReCa ที่เพิ่งจะฟื้นตัวได้จากภาวะโรคระบาด แต่ก็มีภาวะสงครามในยูเครนมาซ้ำเติม เนื่องจากค่าครองชีพและราคาสินค้าอุปโภคบริโภคยังคงปรับตัวสูงขึ้น ตามราคาพลังงานและต้นทุนวัตถุดิบการผลิตเพื่อลดผลกระทบจากการขึ้นอัตราภาษีดังกล่าว และช่วยให้เศรษฐกิจไม่ชะลอตัว สคต. บูดาเปสต์คาดว่ารัฐบาลโรมาเนียน่าจะประกาศมาตรการช่วยเหลือเพิ่มเติม โดยอาจใช้ประโยชน์จากงบประมาณจาก EU Coronavirus Recovery Fund ที่คาดว่ารัฐบาลโรมาเนียจะได้รับภายในปีนี้ประมาณ 1 หมื่นล้านยูโร จากวงเงินทั้งหมดที่ขอไป 2.92 หมื่นล้านยูโร

ทั้งนี้ ผู้ส่งออกไทยที่ส่งออกสินค้าไปยังโรมาเนีย โดยเฉพาะสินค้าเครื่องดื่มที่ผสมน้ำตาล และผู้

ประกอบการไทยที่ดำเนินธุรกิจในโรมาเนีย โดยเฉพาะในกลุ่ม HoReCa ควรติดตามสถานการณ์การบังคับใช้กฎหมายและอัตราภาษีใหม่นี้ต่อไปอย่างใกล้ชิด เพื่อประเมินผลกระทบต่างๆ ที่อาจเกิดขึ้น ทั้งด้านต้นทุนการผลิตการขนส่งสินค้า การจัดจำหน่ายสินค้า และการตั้งราคาขาย เพื่อปรับกลยุทธ์การดำเนินธุรกิจได้ทันท่วงทีอีกทั้ง อาจต้องคำนึงว่าปริมาณการนำเข้าสินค้าจากต่างประเทศและกำลังซื้อของผู้บริโภคชาวโรมาเนียอาจลดลงตามภาวะเศรษฐกิจปัจจุบันที่มีเงินเฟ้อเป็นปัจจัยขัดขวางสำคัญ

ที่มาของข้อมูล: Euractiv, Hot News, Play Tech, Profit, Romania Insider (1, 2, 3), SEE News (1, 2, 3)

OMD KM

FREE
VIEW