รายงานสถานการณ์การค้าสาธารณรัฐบัลแกเรีย ณ กรุงบูดาเปสต์ เดือนกรกฎาคม 2565

กรีซเชื่อมท่อส่งก๊าซกับบัลแกเรียสำเร็จ เตรียมเปิดใช้สิงหาคมนี้

เมื่อวันที่ 8 กรกฎาคม 2565 นายกรัฐมนตรีกรีซ นาย Kyriakos Mitsotakis และนายกรัฐมนตรีบัลแกเรีย นาย Kiril Petkov แถลงความสำเร็จร่วมกันในโครงการก่อสร้างท่อขนส่งก๊าซธรรมชาติระหว่างกรีซและบัลแกเรีย (The Interconnector Greece-Bulgaria-IGB) และคาดว่าจะเริ่มเปิดใช้งานได้ภายในต้นเดือนสิงหาคมนี้ IGB จะขนส่งก๊าซธรรมชาติจากอาเซอร์ไบจานสู่ทวีปยุโรปผ่านกรีซ ผ่านเมือง Komotini ไปสู่เมือง Stara Zagora ในบัลแกเรีย หรือคิดเป็นระยะทาง 182 กิโลเมตร โดยสามารถขนส่งก๊าซธรรมชาติได้ 3 พันล้านลูกบาศก์เมตร/ปี อีกทั้งยังคาดการณ์ว่าภายใน 3-4 ปี ท่อส่งก๊าซนี้จะเพิ่มปริมาตรการขนส่งไปสู่ 5 พันล้านลูกบาศก์เมตร/ปี ตามความต้องการใช้งานก๊าซธรรมชาติที่มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นทุกปี นอกจากนี้ โครงการฯ ยังได้ออกแบบให้ท่อส่งก๊าซสามารถลำเลียงก๊าซธรรมชาติ ส่งกลับจากบัลแกเรียสู่กรีซได้ เพื่อตอบสนองต่อความต้องการของตลาดและความสามารถของระบบขนส่งก๊าซในแต่ละประเทศที่อาจเปลี่ยนไปในอนาคต

รูปภาพที่ 1: เส้นทางการลำเลียงก๊าซธรรมชาติผ่านเครือข่ายท่อ IGB ที่มาของข้อมูล: Euractiv

โครงการ IGB ริเริ่มขึ้นภายใต้การทำบันทึกความเข้าใจ (MoU) ระหว่างรัฐบาลบัลแกเรียและกรีซในปี 2552 และเมื่อ
ปี 2554 ต่อมาบริษัทซึ่งจดทะเบียนจัดตั้งในบัลแกเรีย ภายใต้ชื่อ IGB AD ได้เริ่มดำเนินโครงการในลักษณะของกิจการร่วมค้า (Joint Venture) หรือการร่วมกันประกอบกิจการทางการค้าระหว่างบริษัทอีกทั้ง IGB ยังได้รับการสนับสนุนจากสหภาพยุโรปในฐานะส่วนหนึ่งของโครงการที่ประเทศสมาชิกสหภาพฯ จะได้รับผลประโยชน์ร่วมกัน (Project of Common Interest-PCI) โดยงบประมาณของทั้งโครงการฯ ซึ่งรวมไปถึงการสร้างสถานีควบคุมและวัดปริมาตรก๊าซธรรมชาติ หรือสถานีก๊าซธรรมชาติ (Metering and Regulation Station-MRS) เครื่องอัดก๊าซธรรมชาติ และศูนย์ปฏิบัติการ อยู่ที่ 240 ล้านยูโร แบ่งออกเป็นเงินสนับสนุนจากรัฐบาลบัลแกเรีย 149 ล้านยูโร สินเชื่อดอกเบี้ยต่ำจากธนาคารเพื่อการลงทุนของยุโรป (European Investment Bank-EIB) 110 ล้านยูโร และเงินทุนให้เปล่าจากสหภาพยุโรป 39 ล้านยูโร

โครงการนี้มีความสำคัญในแง่ของการสร้างความมั่นคงทางพลังงาน และการกระจายแหล่งพลังงาน ของทั้งบัลแกเรีย และประเทศอื่น ๆ ในภูมิภาคยุโรปตะวันออกเฉียงใต้ เนื่องจาก IGB จะช่วยบูรณาการตลาดก๊าซธรรมชาติ ทั้งระหว่างบัลแกเรีย-กรีซ บัลแกเรีย-โรมาเนีย และ โรมาเนีย-ฮังการี โดยเฉพาะอย่างยิ่งในปัจจุบันที่รัสเซียระงับการส่งก๊าซธรรมชาติจากรัสเซียให้แก่บัลแกเรียและโปแลนด์ ตั้งแต่วันที่ 27 เมษายน2565 เพื่อตอบโต้ที่ทั้งสองประเทศปฏิเสธไม่ชำระค่าก๊าซเป็นเงินสกุลรูเบิลของรัสเซีย หลังเหตุการณ์การบุกยูเครน เป็นเหตุให้บัลแกเรียซึ่งมีความต้องการใช้ก๊าซธรรมชาติภายในประเทศทั้งหมด 3 พันล้านลูกบาศก์เมตร/ปี และต้องนำเข้าก๊าซธรรมชาติจากรัสเซียสูงถึง 90% แต่มีปริมาณสำรองก๊าซธรรมชาติน้อยมาก ต้องรีบแสวงหาแหล่งพลังงานทางเลือกใหม่ และเริ่มนำเข้าก๊าซธรรมชาติจากกรีซมากขึ้นในช่วงที่ผ่านมา ดังนั้น IGB ในฐานะโครงการที่จะช่วยปฏิรูปแผนที่พลังงานของภูมิภาคยุโรปตะวันตกเฉียงใต้ จึงจะมีส่วนสำคัญอย่างยิ่งต่อการบรรลุเป้าหมายการเลิกพึ่งพาพลังงานจากรัสเซียของสหภาพยุโรป

โรมาเนียเป็นอีกหนึ่งประเทศที่มีส่วนสำคัญในการบรรลุเป้าหมายการสร้างความมั่นคงทางพลังงานให้แก่ภูมิภาคยุโรป เนื่องจากปัจจุบันโรมาเนียมีศักยภาพในการผลิตก๊าซธรรมชาติที่เพียงพอต่อทั้งความต้องการภายในประเทศ และการส่งออกไปยังประเทศเพื่อนบ้าน เช่น มอลโดวา บัลแกเรีย กรีซ และฮังการี ตลอดจนประเทศอื่น ๆ ในสหภาพยุโรป หากสามารถส่งออกก๊าซธรรมชาติที่สกัดจากแหล่ง Neptune Deep ในพื้นที่นอกชายฝั่งทะเลดำ (Black Sea) ซึ่งคาดการณ์ว่าจะเริ่มส่งออกได้ภายในปี 2570 และจะมีปริมาณก๊าซที่ผลิตได้จากแหล่งดังกล่าวเกินกว่า 100 ล้านลูกบาศก์เมตร ดังนั้น IGB จึงจะช่วยเชื่อมต่อและกระจายก๊าซธรรมชาติจากโรมาเนียสู่ประเทศต่าง ๆ ในภูมิภาคได้

นอกจากนี้ นายกรัฐมนตรีโรมาเนีย นาย Nicolae Ciucă ยังได้เรียกร้องให้สหภาพยุโรปสนับสนุนงบประมาณลงทุนก่อสร้างและปรับปรุงเส้นทางขนส่งก๊าซธรรมชาติ Vertical Gas Corridor ซึ่งเชื่อมต่อระหว่างกรีซ โรมาเนีย ฮังการี และบัลแกเรีย และเครือข่าย Trans-Balkan ซึ่งเชื่อมต่อระหว่างตุรกี ยูเครน และเส้นทางสาขาในกรีซ และมาซิโดเนียเหนือ เพื่อให้การกระจายทรัพยากรก๊าซธรรมชาติเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ ซึ่งจะทำให้โรมาเนียก้าวสู่การเป็นศูนย์กลางแหล่งพลังงานทางเลือกของสหภาพยุโรปเพื่อทดแทนการพึ่งพาพลังงานจากรัสเซียได้อย่างแท้จริง

ข้อคิดเห็นของ สคต.

สคต. บูดาเปสต์ คาดการณ์ว่าการเปิดใช้โครงการท่อส่งก๊าซดังกล่าวจะเป็นผลดีต่อเศรษฐกิจบัลแกเรีย เนื่องจากการนำเข้าก๊าซธรรมชาติจากโรมาเนียผ่าน IGB จะช่วยลดต้นทุนราคาพลังงานของสินค้าและบริการภายในประเทศ ซึ่งอาจนำไปสู่การบรรเทาปัญหาเงินเฟ้อที่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องสู่ระดับ 15.6% ในเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา โดยมีปัจจัยขับเคลื่อนสำคัญจากราคาพลังงานที่เพิ่มสูงขึ้น หลังสหภาพยุโรปออกมาตรการการคว่ำบาตรรัสเซีย ซึ่งเคยเป็นแหล่งนำเข้าพลังงานหลักของบัลแกเรีย ทั้งนี้ ราคาพลังงานที่ลดลงไม่เพียงแต่จะช่วยเพิ่มความเชื่อมั่นให้แก่นักลงทุนจากเศรษฐกิจที่มีเสถียรภาพมากขึ้นเท่านั้น แต่ยังช่วยเพิ่มความเชื่อมั่นในการใช้จ่าย และกำลังซื้อของผู้บริโภคจากราคาสินค้าและบริการด้วย อันจะช่วยส่งเสริมให้เศรษฐกิจภายในประเทศกลับมาฟื้นตัวได้อีกครั้งในอนาคต

ที่มาของข้อมูล: Balkan Insight, Euractiv, Financial Mirror, IGB Project, Reuters, SEE News, Trading Economics

OMD KM

FREE
VIEW