รายงานสถานการณ์การค้าราชอาณาจักรฮังการี ณ กรุงบูดาเปสต์ เดือนกรกฎาคม 2565

รัฐบาลฮังการีประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินเนื่องจากวิกฤตขาดแคลนพลังงาน เตรียมขึ้นค่าสาธารณูปโภค เสี่ยงกระทบเศรษฐกิจปีนี้

เมื่อวันที่ 13 กรกฎาคม 2565 นาย Gergely Gulyás รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรีฮังการีแถลงว่า รัฐบาลฮังการีประกาศสถานการณ์ฉุกเฉิน อันเนื่องมาจากวิกฤติขาดแคลนพลังงาน ซึ่งเป็นผลจากสงครามรัสเซียและยูเครนที่ส่งผลให้เกิดการขาดตอนของห่วงโซ่อุปทานและราคาพลังงานที่เพิ่มขึ้น รัฐบาลฮังการีจึงวางแนวทาง 7 ข้อเพื่อรับมือกับวิกฤติพลังงาน ซึ่งจะเริ่มมีผลบังคับใช้ตั้งแต่เดือนสิงหาคมนี้เป็นต้นไป ประกอบด้วย

  1. เพิ่มกำลังการผลิตก๊าซธรรมชาติภายในประเทศจาก 1.5 ล้านลูกบาศก์เมตร เป็น 2 ล้านลูกบาศก์เมตร
  2. เพิ่มปริมาณก๊าซธรรมชาติสำรอง ซึ่งปัจจุบันอยู่ที่ 44% จากความจุทั้งหมด 6.33 ล้านลูกบาศก์เมตร ซึ่งเพียงพอต่อความต้องการการบริโภคภายในประเทศเพียงแค่ 3 เดือน ทั้งนี้ ข้อมูลจาก Hungarian Energy & Utilities Regulatory Agency (MEKH) รายงานว่าปริมาณก๊าซธรรมชาติสำรองของฮังการี ณ กลางเดือนกรกฎาคม ต่ำที่สุดในรอบ 4 ปี โดยอยู่ที่ 2.74 ล้านลูกบาศก์เมตร ในการนี้ กระทรวงการต่างประเทศและการค้าได้รับมอบหมายให้เร่งเจรจาขอซื้อก๊าซธรรมชาติกับคู่ค้าทั่วโลกที่มีศักยภาพ แม้ว่าปัจจุบันสหภาพยุโรปได้ตั้งเป้าหมาย เมื่อวันที่ 21 กรกฎาคม 2565 รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศและการค้า นาย Péter Szijjártó จึงได้เดินทางไปเยือนกรุงมอสโคว์ ประเทศรัสเซีย เพื่อเจรจาขอซื้อก๊าซธรรมชาติเพิ่มจากรัสเซียอีกราว 1 ล้านลูกบาศก์เมตรจากเดิมที่เคยลงนามสัญญาซื้อขายเมื่อปีที่ผ่านมาที่รัสเซียจะจัดส่งก๊าซธรรมชาติให้ฮังการี 3.5 ล้านลูกบาศก์เมตรต่อปี เป็นระยะเวลา 15 ปี (2564-2579)
  3. ห้ามส่งออกพลังงานและไม้ฟืนเพื่อการพาณิชย์ ยกเว้นกรณีที่ต่างชาติซื้อพลังงานส่วนเกินแล้วฝากเก็บไว้ในโรงกักเก็บก๊าซในประเทศ
  4. เพิ่มการขุดและผลิตถ่านหินลิกไนต์ในประเทศ ปัจจุบันมีเหมืองถ่านหินที่ยังดำเนินการอยู่ 2 แห่งในฮังการี ได้แก่ เหมืองถ่านหิน ณ เมือง Visonta และเมือง Bükkábrány ทางตะวันออกของประเทศ
  5. กลับมาเปิดใช้โรงไฟฟ้าถ่านหินลิกไนต์ Mátra ณ เมือง Visonta ซึ่งเป็นโรงผลิตไฟฟ้าขนาดใหญ่เป็นอันดับสองของประเทศอีกครั้ง และเร่งให้กลับมาดำเนินการผลิตไฟฟ้าเต็มรูปแบบได้โดยเร็วที่สุด เพื่อเพิ่มกำลังการผลิตและการเก็บสำรองพลังงานไฟฟ้าของประเทศ ทั้งนี้ เมื่อเดือนมกราคม 2564 รัฐบาลฮังการีได้สั่งให้โรงไฟฟ้า Mátra เลิกผลิตไฟฟ้า เพื่อลดปริมาณการใช้พลังงานจากถ่านหินตามนโยบายของสหภาพยุโรป
  6. ต่ออายุการดำเนินการของโรงไฟฟ้าพลังงานนิวเคลียร์ ณ เมือง Paks ออกไปอีก 20 ปี ทั้งนี้ โรงไฟฟ้านิวเคลียร์เมือง Paks เป็นโรงไฟฟ้าพลังงานนิวเคลียร์แห่งแรกของประเทศ และเป็นโรงไฟฟ้าที่มีขนาดใหญ่ที่สุดในประเทศ ที่ร่วมทุนวิจัยกับรัฐบาลรัสเซีย
  7. ลดปริมาณการบริโภคพลังงานของภาคครัวเรือน ด้วยการกำหนดให้ครัวเรือนที่ใช้ก๊าซให้ความอบอุ่นและไฟฟ้าเกินระดับการใช้งานทั่วไปต้องจ่ายเงินค่าไฟฟ้าและก๊าซตามราคาในตลาดโลก แทนที่จะเป็นระดับที่รัฐบาลฮังการีเคยควบคุมไว้ด้วยการลดค่าก๊าซและค่าไฟตามบ้านลง 20% นับตั้งแต่ปี 2556 โดยรายได้ในส่วนนี้จะนำเข้ากองทุนปกป้องพลังงานต่อไป 

การไฟฟ้าฮังการี (MVM Group) ซึ่งมีสถานะเป็นรัฐวิสาหกิจ ได้เผยแพร่หน้าเว็บเพจใช้ช่วยคำนวณค่าสาธารณูปโภคโดยคร่าวๆ ผู้ที่สนใจสามารถกรอกข้อมูลการใช้งานไฟฟ้าหรือก๊าซตามหน้าใบแจ้งหนี้เพื่อคาดการณ์ว่าจะต้องจ่ายเงินเพิ่มในอัตราใหม่ตามปริมาณการใช้งานลงเท่าไหร่ ณ เว็บไซต์ของ MVM

ตัวอย่างหน้าการคำนวณอัตราค่าสาธารณูปโภคใหม่
ที่มาของข้อมูล: MVM Next

ร่างกฎหมายนี้ก่อให้เกิดความวิตกกังวลในวงกว้างเกิดขึ้นว่าจะทำให้ค่าสาธารณูปโภคสูงขึ้นจากเดิมหลายเท่าตัว ส่งผลต่อการเพิ่มขึ้นของค่าส่วนกลางของอาคารต่างๆ เช่น อาคารอยู่อาศัยรวม อาคารพาณิชย์ อาคารสำนักงาน และอาจกระทบต่อระดับค่าเช่าห้องชุดและอาคารในตลาดอสังหาริมทรัพย์ได้

นาย Gergely Gulyás รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรีฮังการีชี้แจงว่า ผู้ใช้ไฟฟ้าในครัวเรือนราว 3 ใน 4 จะไม่ได้รับผลกระทบจากแนวทางดังกล่าว เนื่องจากปัจจุบัน มีจำนวนครัวเรือนเพียง 1 ใน 4 ที่ใช้ไฟฟ้าและก๊าซเกินกว่าค่าเฉลี่ยที่กำหนด อีกทั้งการให้ความอบอุ่นจากระบบ District Heating ในชุมชนจะไม่ได้รับผลกระทบจากการปรับโครงสร้างค่าสาธารณูปโภคนี้ เจ้าของอาคารที่มีห้องชุดสำหรับอยู่อาศัยประกอบอยู่ด้วยยังสามารถขอสมัครเข้าโครงการลดค่าสาธารณูปโภคได้ นอกจากนี้ รัฐบาลยังกล่าวว่าจะมีนโยบายช่วยเหลือค่าสาธารณูปโภคของครอบครัวขนาดใหญ่ที่ขอรับเงินช่วยเหลือบุตรและมีบุตรอย่างน้อย 3 คน ตามรัฐบัญญัติฉบับที่ 84 ว่าด้วยการสนับสนุนครอบครัว (Family Support) ปี พ.ศ. 2541 (ค.ศ. 1998) ดังนี้

จำนวนบุตรในครอบครัวเพดานปริมาณการบริโภคก๊าซสูงสุดต่อปี (หน่วย: ลูกบาศก์เมตร)
32,329
42,629
52,929

ทว่าข้อมูลดังกล่าวไม่สอดคล้องกับการคาดการณ์ของนักวิเคราะห์เศรษฐกิจประจำหนังสือพิมพ์ G7 ที่ใช้ข้อมูลสำมะโนประชากรและเคหะของสำนักงานสถิติแห่งชาติฮังการีอ้างอิง ระบุว่าครัวเรือนในฮังการีอย่างน้อย 1 ใน 3 บริโภคก๊าซทำความอบอุ่นเกินค่าเฉลี่ยที่รัฐบาลกำหนดไว้ ส่วนใหญ่เป็นบ้านเดี่ยว ทั้งนี้ บ้านเรือนหรืออาคารที่มีระบบทำความอบอุ่นแบบเก่าและใช้ฉนวนกันความร้อนแบบเก่าจะได้รับผลกระทบมาก เนื่องจากจะมีประสิทธิภาพการใช้พลังงาน (Energy Efficiency) น้อย หรือเรียกได้ว่าประหยัดพลังงานน้อย กินไฟมาก ทำให้ค่าสาธารณูปโภคสูงขึ้นโดยไม่จำเป็น

หลายฝ่ายมองว่าการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินทำให้รัฐบาลสามารถใช้อำนาจอธิปไตยออกกฎหมายได้อย่างรวดเร็ว ไม่ต้องผ่านกระบวนการตรวจสอบและถ่วงดุลว่ากฎหมายนั้นชอบด้วยรัฐธรรมนูญหรือไม่ รวมถึงการทำประชาพิจารณ์ตามปกติ จึงอาจนำมาสู่การจำกัดสิทธิและเสรีภาพของประชาชน ดังเช่นในกรณีของการเปลี่ยนแปลงระบบภาษีสําหรับวิสาหกิจรายเล็ก หรือผู้ประกอบการบุคคลธรรมดาที่ขึ้นทะเบียนเสียภาษีรายย่อย (KATA) ซึ่งนำมาสู่การประท้วงในกรุงบูดาเปสต์และหัวเมืองใหญ่ในปัจจุบัน นอกจากนี้ประเด็นดังกล่าวยังอาจเข้าข่ายการบริหารงานโดยขาดหลักนิติธรรม (Rule of Law) ซึ่งเป็นหนึ่งในเงื่อนไขที่คณะกรรมาธิการยุโรป (European Commission) ใช้ในการพิจารณาอนุมัติการให้กองทุนฟื้นฟูผลกระทบจากวิกฤติ COVID-19 (Recovery and Resilience Facility หรือ EU Recovery Fund) แก่ฮังการีด้วยเช่นกัน 

อีกทั้งการดำเนินงานตามแนวทางห้ามส่งออกพลังงานและไม้ฟืนเพื่อการพาณิชย์ ยังขัดต่อหลักในการดำเนินงานของประเทศสมาชิกสหภาพยุโรปในฐานะการบูรณาการทางเศรษฐกิจในรูปแบบของตลาดเดียว (Single Market) เนื่องจากเป็นการสร้างอุปสรรคทางการค้าระหว่างประเทศสมาชิก ด้วยเหตุนี้ คณะกรรมาธิการยุโรปจึงออกแถลงการณ์ตอบโต้ต่อการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินของฮังการีอีกครั้ง และจะเข้าตรวจสอบข้อเท็จจริงว่าเป็นการดำเนินงานที่เหมาะสมตามความจำเป็นที่เกี่ยวข้องกับสภาวะความั่นคงของประเทศหรือไม่ ทั้งนี้ คณะกรรมาธิการยุโรปยืนยันว่าภาวะความไม่มั่นคงทางเศรษฐกิจไม่เข้าข่ายเหตุที่นำมาสู่ข้อยกเว้นในลักษณะดังกล่าวได้ อีกทั้งให้ความเห็นว่าการห้ามส่งออกพลังงานและไม้ฟืนเพื่อการพาณิชย์ของฮังการีอาจส่งผลเสียต่อตลาดพลังงานของสหภาพยุโรปได้

ทั้งนี้ เมื่อวันที่ 26 กรกฎาคม 2565 ประเทศสมาชิกสหภาพยุโรปทั้ง 27 ประเทศบรรลุข้อตกลงอนุมัติแผนการฉุกเฉินเพื่อควบคุมความต้องการบริโภคก๊าซธรรมชาติในภูมิภาค โดยนอกจากจะเร่งหาแหล่งพลังงานสำรองแล้ว จะช่วยกันลดการบริโภคก๊าซธรรมชาติของตนลงให้ได้ราว 15% ตั้งแต่เดือนสิงหาคม 2565 – มีนาคม 2566 เพื่อสำรองปริมาณก๊าซไว้ใช้ในช่วงฤดูหนาว หลังจากบรรลุข้อตกลงประนีประนอมกับบางประเทศที่ไม่มีระบบท่อส่งก๊าซเชื่อมกับประเทศสมาชิกอื่น มาตรการนี้ใช้เพื่อเตรียมความพร้อมรับมือในกรณีที่รัสเซียปรับลดการส่งก๊าซธรรมชาติลง ตอบโต้มาตรการคว่ำบาตรทางเศรษฐกิจของสหภาพยุโรป อย่างไรก็ดี คณะกรรมาธิการยุโรปยอมรับว่าการลดการบริโภคก๊าซธรรมชาตินี้จะส่งผลกระทบครั้งใหญ่ต่อระบบเศรษฐกิจของสหภาพยุโรป จึงได้เสนอมาตรการที่รัฐบาลประเทศสมาชิกใช้เพื่อส่งเสริมการลดการใช้ก๊าซธรรมชาติ อาทิ การอุดหนุนเงินชดเชยให้แก่อุตสาหกรรมที่ใช้ก๊าซน้อย การจำกัดอุณหภูมิการปรับความร้อนและความเย็นในอาคารสาธารณะ และการคุ้มครองการบริโภคพลังงานในภาคครัวเรือน เหตุการณ์นี้จึงแสดงให้เห็นว่าสหภาพยุโรปตระหนักถึงปัญหาการขาดแคลนพลังงานเช่นกัน

ข้อคิดเห็น

จากกรณีดังกล่าว สคต. บูดาเปสต์มีความเห็นว่าการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินของฮังการีอาจเป็นอุปสรรค ต่อการขอรับงบประมาณจากกองทุนฟื้นฟูผลกระทบจากวิกฤติ COVID-19 ซึ่งกำลังจะเข้าสู่กระบวนการพิจารณาอีกครั้งในเดือนตุลาคมนี้ หลังฮังการีเคยยื่นขอและไม่ได้รับการอนุมัติในปี 2563 เนื่องจากรัฐบาลฮังการีประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินที่มีแนวทางขัดต่อหลักความร่วมมือของสหภาพยุโรปโดยปราศจากการหารือจากคณะกรรมาธิการสหภาพฯ ล่วงหน้า อีกทั้ง การประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินยังเป็นการเพิ่มอำนาจให้รัฐบาลดำเนินงานได้ตามอำเภอใจโดยขาดหลักนิติธรรม ซึ่งขัดต่อการที่รัฐบาลฮังการีได้ให้สัญญาว่าจะปฏิบัติตามเงื่อนไขที่คณะกรรมาธิการยุโรปตั้งไว้ เพื่อให้เข้าถึงงบประมาณฟื้นฟูเศรษฐกิจจากสหภาพยุโรป 

นอกจากนี้ การประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินยังอาจบั่นทอนต่อความสัมพันธ์ระหว่างฮังการีและสหภาพยุโรปในระยะยาว เนื่องจากการเลือกแนวทางการห้ามส่งออกพลังงานและไม้ฟืน ซึ่งขัดต่อหลักการสำคัญของสหภาพฯ อย่างการเป็นตลาดเดียวที่ปราศจากอุปสรรคทางการค้า สะท้อนให้เห็นถึงลักษณะการดำเนินงานของรัฐบาลฮังการีที่ยึดในผลประโยชน์ของประเทศเหนือผลประโยชน์ของสหภาพฯ ซึ่งเป็นท่าทีที่ปรากฏให้เห็นอย่างบ่อยครั้งในปัจจุบัน เช่น ในกรณีการลงมติไม่รับรองการดำเนินตามมาตรการคว่ำบาตรการเลิกนำเข้าพลังงานจากรัสเซีย ด้วยเหตุผลว่าจะกระทบต่อความมั่นคงของเศรษฐกิจในประเทศ เนื่องจากฮังการีเป็นประเทศที่พึ่งพาการนำเข้าพลังงานจากรัสเซียในปริมาณมาก แม้ในปัจจุบันฮังการีจะสามารถต่อรองกับสหภาพยุโรปจนได้รับข้อยกเว้น แต่กรณีดังกล่าวก็ได้รับการวิจารณ์จากประเทศสมาชิกว่าว่ารัฐบาลฮังการีดำเนินงานโดยมองแต่ผลประโยชน์แห่งชาติตนเองในระยะสั้น แต่ไม่ได้เล็งเห็นถึงประเด็นเรื่องความมั่นคงทางพลังงานซึ่งเป็นผลประโยชน์ส่วนร่วมของสหภาพฯ ที่จะส่งผลดีต่อฮังการีด้วยเช่นกันในระยะยาว 

ด้วยเหตุนี้ สคต.บูดาเปสต์ จึงคาดว่ากรณีดังกล่าวจะเป็นอีกหนึ่งปัจจัยที่ขัดขวางการขยายตัวทางเศรษฐกิจของฮังการีเนื่องจากประชาชนขาดความเชื่อมั่นในการใช้จ่าย และต้องประหยัดอย่างมากเนื่องจากราคาค่าสาธารณูปโภคและค่าเช่าอาคารพาณิชย์และห้องชุดสำหรับอยู่อาศัยจะแพงขึ้น และนักลงทุนจากต่างชาติขาดความเชื่อมั่นในการลงทุน จากภาวะความไม่แน่นอนทางการเมือง ตลอดจนภาวะความไม่มั่นคงทางเศรษฐกิจ โดยเฉพาะอย่างยิ่งหากความขัดแย้งระหว่างฮังการีและสหภาพฯ จากการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินนำไปสู่การระงับการให้งบประมาณจากกองทุนฟื้นฟูผลกระทบจากวิกฤติ COVID-19 ซึ่งจะทำให้รัฐบาลขาดงบประมาณในการแก้ปัญหาเศรษฐกิจอย่างภาวะเงินเฟ้อ และค่าเงินอ่อนตัวที่ฮังการีกำลังเผชิญในปัจจุบัน ทั้งหมดนี้ จึงอาจส่งผลถึงการทำธุรกิจระหว่างประเทศ รวมทั้งผู้ประกอบการไทยด้วย ผู้นำเข้าอาจพิจารณาชะลอการนำเข้าสินค้า/บริการ เช่นเดียวกันกับในภาคการท่องเที่ยวที่นักท่องเที่ยวฮังการีอาจลดการเดินทางไปต่างประเทศเพื่อประหยัดค่าใช้จ่าย

OMD KM

FREE
VIEW