รายงานสถานการณ์การค้าอาร์เจนตินา ณ กรุงบัวโนสไอเรส เดือนเมษายน 2565

ตลาดถั่วเหลืองในอาร์เจนตินา

ข้อมูลอาร์เจนตินา
ประชากร:
42.4 ล้านคน
จีดีพี (PPP): 915.1 พันล้านเหรียญสหรัฐฯ 22,537 เหรียญสหรัฐฯ ต่อหัว
อัตราเงินเฟ้อ (CPI): 36.1%
FDI Inflow: 12.2 พันล้านเหรียญสหรัฐฯ

ตลาดถั่วเหลืองในอาร์เจนตินา

ในปี 2564 เศรษฐกิจอาร์เจนตินาเติบโตถึงร้อยละ 10 ซึ่งเติบโตมากเป็นสองเท่าเมื่อเทียบจากการคาดการณ์ไว้โดยที่ปรึกษาและผู้เชี่ยวชาญทางด้านเศรษฐกิจในช่วงต้นปี 2564 ตลอดจนองค์กรนานาชาติต่างๆ อาทิ กองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) และธนาคารโลกได้คาดการณ์การเติบโตของเศรษฐกิจอาร์เจนตินาในปี 2564 อยู่ที่ร้อยละ 4.9 โดยในเดือนกรกฎาคม 2564 IMF ยืนยันว่าเศรษฐกิจอาร์เจนตินาจะขยายตัวร้อยละ 6.4 ในเดือนตุลาคม 2564 ร้อยละ 7.5 ทั้งนี้ จากรายงานแนวโน้มเศรษฐกิจโลกล่าสุด ของกองทุนการเงินระหว่างประเทศเกี่ยวกับการประเมินเศรษฐกิจอาร์เจนตินาในช่วงปี 2565 คาดการณ์การเติบโตว่าจะเติบโตร้อยละ 3 ซึ่งมากกว่าที่คาดการณ์ไว้ในเดือนตุลาคมปี 2564 อยู่ที่ 0.5 จุด สำหรับปี 2566 คาดการณ์ว่าจะเติบโตอีกร้อยละ 2.5 ซึ่งหมายถึงการปรับตัวดีขึ้นร้อยละ 2

นอกเหนือจากนี้ การบริหารงานของประธานาธิบดี นาย Alberto Fernandez มีนโยบายที่ปกป้องสินค้าอุตสาหกรรมในประเทศ เพื่อควบคุมและกีดกันภาคอุตสาหกรรมต่างๆ จากการแข่งขันกับต่างประเทศ ผ่านการกำหนดใบอนุญาตที่ไม่อัตโนมัติ (Non-Automatic Licenses: LNA) ซึ่งหมายถึงต้องขอใบอนุญาตก่อนนำเข้า โดยมีวัตถุประสงค์ในการใช้กลไกที่จะหลีกเลี่ยงการแข่งขันจากภายนอกทั้งทางด้านราคาและข้อบังคับด้านคุณภาพของสินค้า ซึ่งจะส่งผลให้สามารถควบคุมการนำเข้าได้มากขึ้น และเพื่อปกป้องอุตสาหกรรมและการจ้างงานในประเทศอีกด้วย เหตุผลข้างต้นทำให้ผู้ประกอบการอุตสาหกรรมจำนวนมากอยู่ในช่วงของการปรับตัว เนื่องจากนโยบายการขอใบอนุญาตก่อนนำเข้า (Non-Automatic Licenses: LNA) ของรัฐบาลทำให้เกิดปัญหาในการนำเข้าผลิตภัณฑ์สำเร็จรูป ส่งผลให้บริษัทผู้นำเข้าต่างๆ มุ่งเน้นไปที่การป้อนปัจจัยในการผลิตและชิ้นส่วนเพื่อพัฒนาการผลิตในประเทศ และคากว่าจะมีการจำกัดการนำเข้าจนถึงปี 2567 โดยที่รัฐบาลสนับสนุนการผลิตผลิตภัณฑ์ในท้องถิ่นผ่านการจำกัดการนำเข้าเพื่อเพิ่มการประกอบสินค้าในประเทศมากขึ้น เป็นวิธีหนึ่งที่รัฐบาลต้องการรักษาระดับการจ้างงานและเพิ่มมูลค่ากิจกรรมทางอุตสาหกรรมของอาร์เจนตินา เช่น เครื่องซักผ้า ไมโครเวฟ และเครื่องปรับอากาศ ซึ่งเป็นผลิตภัณฑ์สำเร็จรูปที่สามารถผลิตเองได้ในประเทศ แต่บริษัทต่างๆ ยังคงต้องพึ่งส่วนประกอบและชิ้นส่วนจากต่างประเทศเพื่อการผลิต เนื่องจากปัจจัยการผลิตและชิ้นส่วนไม่สามารถผลิตในประเทศได้ในระยะสั้น และอาร์เจนตินาจะยังคงต้องพึ่งพาการนำเข้าเพื่อคงสภาวะเศรษฐกิจโดยรวม และรักษากิจกรรมของอุตสาหกรรม

แม้ว่าสถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ในอาร์เจนตินาจะมีความผันผวน มีช่วงเวลาที่สถานการณ์ปรับตัวดีขึ้น แต่ในช่วงสิ้นปี 2564 มีจำนวนผู้ติดเชื้อสูงสุดเป็นประวัติการณ์ เนื่องมาจากมาตรการกักตัวสำหรับทุกคน (Total Quarantine) ที่ดำเนินการในตอนแรกเริ่มได้ผ่อนคลายลง หลังจากที่ประชากรจำนวนมากได้รับการฉีดวัคซีนครบถ้วนตามกำหนด ประกอบกับการฉีดยากระตุ้นเข็มที่สามทำให้การบริโภคกลับมาฟื้นตัวและกระตุ้นเศรษฐกิจให้ดีขึ้นอีกครั้งเมื่อเปรียบเทียบกับปี 2563 ทั้งนี้ ผู้เชี่ยวชาญตั้งข้อสังเกตว่าแม้จะมีสถานการณ์ที่ยากลำบากในช่วงต้นปี 2564 แต่การลงทุนจริงในอาร์เจนตินาเติบโตอย่างรวดเร็ว ซึ่งสูงสุดในช่วงสามปีที่ผ่านมา อยู่ที่ร้อยละ 41.9 เมื่อเทียบเป็นรายปี อย่างไรก็ตาม สาเหตุที่ส่งผลกระทบต่อการเติบโตของเศรษฐกิจอาร์เจนตินา อาทิ การไม่สามารถควบคุมอัตราเงินเฟ้อที่สูงอย่างต่อเนื่องได้ อยู่ที่ร้อยละ 50.5 ต่อปี และการขาดสินเชื่อจากภายนอกประเทศ เป็นต้นปัจจัยสำคัญอีกประการหนึ่งที่ส่งผลกระทบต่อ GDP อาทิ เงินเหรียญสหรัฐฯ ที่ไหลเข้ามาในประเทศในปี 2564 ลดลง เนื่องจากการเติบโตของการส่งออกของอาร์เจนตินาอยู่ที่ประมาณ 75,000 ล้านเหรียญสหรัฐฯ แม้ว่าจะเป็นมูลค่าที่ต่ำกว่าในปี 2553 – 2555 ซึ่งการส่งออกที่ดีที่สุดเป็นประวัติศาสตร์

ในส่วนของหนี้ต่างประเทศ รัฐบาลได้สรุปกระบวนการปรับโครงสร้างหนี้ทั้งในประเทศและต่างประเทศเป็นสกุลเงินตราต่างประเทศ ซึ่งจะช่วยผ่อนคลายสถานการณ์ในการชำระหนี้ในอีกแปดปีข้างหน้าได้ และทิศทางเศรษฐกิจอาร์เจนตินาในปี 2565 ขึ้นอยู่กับการเจรจาต่อรองหนี้กับกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) ภายหลังจากการเจรจาต่อรองหนี้ต่างประเทศและกับเจ้าหนี้เอกชนต่างประเทศในช่วงปี 2563 ที่ผ่านมา ทั้งนี้ ในสิ้นเดือนกุมภาพันธ์ 2565 รัฐบาลได้ประกาศข้อตกลงกับ (IMF) หลังจากการเจรจาเป็นเวลานาน โดยที่กองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) และเจ้าหนี้เอกชนต่างประเทศรายต่างๆ ได้ยอมรับข้อตกลงที่อาร์เจนตินาเสนอจะลดค่าใช้จ่ายลงภายในปี 2568 เพื่อไม่ก่อให้เกิดผลกระทบต่อการฟื้นตัวของเศรษฐกิจในปัจจุบัน ซึ่งต้องผ่านการอนุมัติจากสภาคองเกรสแห่งชาติอาร์เจนตินาก่อน และขณะนี้อยู่ในช่วงของการดำเนินการ

ภาพรวมทางการค้าและอุตสาหกรรมของอาร์เจนตินา

กิจกรรมทางอุตสาหกรรมอาร์เจนตินาในปี 2564 ฟื้นตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 12.9 เมื่อเทียบกับปี 2563 ร้อยละ 7 และฟื้นตัวดีขึ้นกว่าในช่วงสามปีที่ผ่านมา โดยหนึ่งในปัจจัยที่สำคัญที่สุดในการฟื้นตัวนี้คือ ภาคอุตสาหกรรมยานยนต์ เนื่องจากการผลิตในเดือนธันวาคม 2564 เพิ่มขึ้นร้อยละ 32.1 และเป็นตัวขับเคลื่อนที่ดีที่สุดของอุตสาหกรรมอาร์เจนตินาในปี 2564 ยอดสะสมเพิ่มขึ้นร้อยละ 69

ในปี 2564 อาร์เจนตินาได้ดุลการค้าระหว่างประเทศเกินดุลมูลค่า 15,000 ล้านเหรียญสหรัฐฯ แต่นักวิเคราะห์เศรษฐกิจและที่ปรึกษาด้านเศรษฐศาสตร์คาดการณ์ว่าในปี 2565 สถานการณ์การค้าของอาร์เจนตินาจะมีแนวโน้มลดลง และการส่งออกของอาร์เจนตินาจะไม่ดีเท่ากับปี 2564 ซึ่งการคาดการณ์ดังกล่าวเป็นการคาดการณ์ก่อนเกิดความขัดแย้งระหว่างยูเครน-รัสเซีย และไม่รวมถึงสถานการณ์ทั่วโลกในปัจจุบัน ที่อาจส่งผลกระทบต่อสถานการณ์การค้าของอาร์เจนตินาให้แย่ลงกว่าเดิม

ทั้งนี้จากการประเมินผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (GDP) อาร์เจนตินาเป็นหนึ่งในประเทศที่มีการบริโภคสินค้าน้อยที่สุดเมื่อเทียบกับทั่วโลกเฉลี่ยอยู่ที่ร้อยละ 14.7 เท่านั้น ซึ่งถูกจัดอยู่ในอันดับท้ายๆ ของโลก รองลงมาจากประเทศซูดาน เติร์กเมนิสถาน คิวบา และบราซิล อีกทั้งปัจจุบันรัฐบาลได้ออกมาตรการเพื่อควบคุมการนำเข้าเพิ่มเติมอีกด้วย

ตลาดถั่วเหลืองในอาร์เจนตินา

การผลิต การบริโภค และการส่งออก

อาร์เจนตินาเป็นหนึ่งในประเทศผู้ผลิตและผู้ส่งออกถั่วเหลืองและผลิตภัณฑ์ที่เกี่ยวข้องรายใหญ่ของโลก โดยภาคกลางและภาคตะวันออกเฉียงเหนือของประเทศเป็นศูนย์กลางทางเศรษฐกิจของกิจกรรมดังกล่าว โดยจังหวัดที่กิจกรรมการผลิตถั่วเหลือง ข้าวโพด และข้าวสาลี มีความสำคัญ ได้แก่ Buenos Aires Santa Fe Córdobaและ Santiago del Estero เป็นต้น

โครงการส่งเสริมการเพาะปลูกสินค้าการเกษตร ระหว่างปี 2563 – 2564 มีการผลิตถั่วเหลืองถึง 45 ล้านตัน และพื้นที่ปลูกถั่วเหลืองในอาร์เจนตินาอยู่ที่ประมาณ 17 ล้านเฮกตาร์ ในส่วนที่สัมพันธ์กับโครงการส่งเสริมการเพาะปลูกสินค้าการเกษตร ปัจจุบันในปี 2564 – 2565 การผลิตถั่วเหลืองจะสูงถึง 40 ล้านตัน โดยมีพื้นที่ปลูก 16.1 ล้านเฮกตาร์ ซึ่งน้อยกว่าการรณรงค์ครั้งก่อน โดยมีสาเหตุเนื่องมาจากช่วงภัยแล้งในประเทศ

อย่างไรก็ดี ประมาณร้อยละ 85 ของการผลิตถั่วเหลืองในอาร์เจนตินา เพื่อการส่งออก สำหรับถั่วเหลืองบางส่วนและผลิตภัณฑ์จากถั่วเหลืองที่เกี่ยวข้องอื่นๆ อาทิ น้ำมันถั่วเหลือง แป้ง เม็ดจากการสกัดน้ำมันถั่วเหลือง และไบโอดีเซล จัดเป็นผลิตภัณฑ์ส่งออกหลักของอาร์เจนตินา และส่วนที่เหลือสำหรับใช้ในตลาดภายในประเทศ

สถิติการส่งออกถั่วเหลืองของอาร์เจนตินาไปไทยและทั่วโลก (HS CODE 1201.90)

การส่งออกถั่วเหลืองของอาร์เจนตินาแยกรายประเทศ ปี 2563 (HS CODE 1201.90)

ประเทศไทยไม่ได้จัดอยู่ในตำแหน่งที่ดีในฐานะผู้นำเข้าถั่วเหลืองจากอาร์เจนตินา จากสถิติไม่พบการนำเข้าถั่วเหลืองของไทยจากอาร์เจนตินา โดยจีนจัดอยู่ในตำแหน่งแรก และอียิปต์จัดอยู่ในตำแหน่งที่สอง ผู้นำเข้าถั่วเหลืองหลักจากอาร์เจนตินา และเป็นประเทศผู้นำเข้าถั่วเหลืองที่มีความสำคัญมากที่สุด

ระเบียบการนำเข้า

รัฐบาลชุด นาย Alberto Fernández ดำเนินการใช้นโยบายกีดกันทางการค้าที่ไม่เพียงแค่ส่งผลกระทบต่อการนำเข้าเท่านั้น แต่ยังดำเนินการจัดเก็บภาษีและกำหนดข้อจำกัดต่างๆ ในการส่งออกอีกด้วย ในกรณีของเนื้อวัว ในช่วงเดือนพฤษภาคม 2564 มีกฎระเบียบห้ามส่งออกเนื้อสัตว์ แต่เป็นเพียงมาตรการชั่วคราวเท่านั้น เพื่อป้องกันราคาสินค้าในตลาดภายในประเทศ แม้ว่าจะมีการอนุญาตให้ส่งออกเนื้อวัวได้ แต่มีการจำกัดการจำหน่ายชิ้นส่วนเนื้อวัว 7 ส่วน ที่เป็นที่นิยมในตลาดท้องถิ่น ยังคงไม่ได้รับอนุญาตให้วางจำหน่ายในอาร์เจนตินาจนถึงปี 2566

ภาษีส่งออกเป็นแหล่งรายได้ที่สำคัญสำหรับรัฐบาลอาร์เจนตินา และภาคอุตสาหกรรมการเกษตรโดยทั่วไป โดยเฉพาะภาคธัญพืชและถั่วเหลืองเป็นภาคส่วนที่สร้างรายได้ในรูปเงินเหรียญสหรัฐฯ ให้แก่ประเทศอาร์เจนตินา ซึ่งมีความสำคัญต่อการซื้อปัจจัยการผลิตและชิ้นส่วนสำหรับอุตสาหกรรม แต่เนื่องจากในอาร์เจนตินาขาดแคลนเงินเหรียญสหรัฐฯ จึงไม่ได้มีเพียงภาษีนำเข้าเท่านั้น แต่ในปัจจุบันยังมีภาษีสำหรับการส่งออกผลิตภัณฑ์ส่งออกสำคัญของประเทศอีกด้วย ได้แก่ ภาษีส่งออกถั่วเหลือง ร้อยละ 33 สำหรับน้ำมันและแป้ง ร้อยละ 31 เป็นต้น

บริษัทอาร์เจนตินาที่ส่งออกถั่วเหลืองหลัก (HS CODE 1201.90)

โอกาสสินค้าจากประเทศไทย – ความคิดเห็นของสำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ ณ กรุงบัวโนสไอเรส

อาร์เจนตินาไม่ได้เป็นเพียงหนึ่งในผู้ผลิตและผู้ส่งออกถั่วเหลืองในโลกเท่านั้น แต่ยังรวมถึงเป็นผู้ผลิตและผู้ส่งออกผลิตภัณฑ์จากถั่วเหลืองอีกด้วย อาร์เจนตินาส่งออกถั่วเหลืองไปต่างประเทศ ร้อยละ 85 ซึ่งขึ้นอยู่ในแต่ละปี โดยประเทศที่นำเข้าถั่วเหลืองจากอาร์เจนตินาหลักคือ จีน และอียิปต์

ควรสังเกตว่าจากความขัดแย้งระหว่างรัสเซียและยูเครนในปัจจุบัน ส่งผลให้เกิดการเปลี่ยนแปลงของตลาดธัญพืชโลก และส่งผลกระทบให้เกิดความไม่แน่นอน สถานการณ์นี้จะเป็นผลดีต่อการส่งออกของอาร์เจนตินา เนื่องจากการเพิ่มขึ้นของราคาสินค้าโภคภัณฑ์จะทำให้มีเงินในรูปสกุลเงินเหรียญสหรัฐฯ เข้าประเทศเพิ่มขึ้น จากการส่งออกสินค้าถั่วเหลือง ตลอดจนมีการจัดเก็บภาษีของรัฐบาลอาร์เจนตินาสำหรับการส่งออกเพิ่มขึ้น ในขณะเดียวกัน มูลค่าการนำเข้าเชื้อเพลิงและสินค้าเกษตรก็จะเพิ่มขึ้นเช่นเดียวกัน ซึ่งอาจส่งผลกระทบเชิงลบต่อดุลการค้าของอาร์เจนตินา และผู้ผลิตจะได้รับผลกำไรจำกัดจากการเพิ่มขึ้นของราคาสินค้าโภคภัณฑ์

เมื่อพิจารณาถึงสถานการณ์ความไม่แน่นอนทั่วโลกสำหรับห่วงโซ่อุปทานอาหารโดยทั่วไป โดยเฉพาะถั่วเหลือง ประเทศไทยอาจพิจารณาการนำเข้าถั่วเหลือง จากอาร์เจนตินาในปริมาณที่มากขึ้น ถึงแม้ว่าจะไม่พบสถิติที่ไทยมีการนำเข้าถั่วเหลืองจากอาร์เจนตินา แต่ผลิตภัณฑ์จากอาร์เจนตินามีความโดดเด่นในด้านความเป็นเลิศ ดังนั้น ไทยจึงสามารถพิจารณาเพิ่มการนำเข้าถั่วเหลืองได้ ถึงแม้ในขณะนี้ ไทยยังไม่ได้จัดอยู่ในตำแหน่งที่ดีในฐานะผู้นำเข้าถั่วเหลืองจากอาร์เจนตินา

Leave a Comment

Your email address will not be published. Required fields are marked *

OMD KM

FREE
VIEW