รายงานสถานการณ์การค้าสหรัฐอเมริกา ณ นครลอสแอนเจลิส เดือนเมษายน 2565

ผลการเข้าชมงาน SIAL America และหารือร่วมกับผู้จัดงาน

1. ภาพรวมการจัดงาน

1.1 ผู้จัดงาน SIAL (Comexposium) แจ้งให้ทราบว่าได้ร่วมกับบริษัทจัดงานแสดงสินค้าของสหรัฐอเมริกา (Emerald X, LLC) จัดงาน SIAL America ขึ้นเป็นปีแรก เนื่องจากเล็งเห็นถึงโอกาสและศักยภาพการเติบโตของอุตสาหกรรมอาหารในตลาดอเมริกา นอกจากนี้ งานแสดงสินค้าอาหารส่วนใหญ่ในสหรัฐฯ เน้นกลุ่มตลาดเฉพาะ เช่น งาน Natural Product Expo เน้นสินค้าออร์แกนิกส์และสินค้าจากธรรมชาติ งาน Fancy Food Show เน้นกลุ่มอาหาร Gourment ขณะที่งาน National Restaurant Association Show (NRA) เน้นตลาด hospitality โดยยังไม่มีงานแสดงสินค้าอาหารนานาชาติที่มีลักษณะคล้ายงาน ANUGA, SIAL ในสหรัฐฯ ทั้งนี้งาน SIAL America จัดขึ้นช่วงเวลาเดียวกับงาน International Pizza Expo & Conference (West Hall) ทั้งยังมีพื้นที่เชื่อมต่อกัน และงาน World Tea Conference + Expo (South Hall) อย่างไรก็ดี งาน SIAL America เป็นงานขนาดเล็ก จำนวนคูหาและบริษัทที่เข้าร่วมงาน มีไม่มากนัก (ประมาณ 30 บริษัท ร่วมด้วยคูหาประเทศจากทั้งจากแคนาดา บราซิล อาร์เจนตินา อิตาลี โปแลนด์ภายใต้คูหา Bio Europe ตุรกี โมร็อกโก และตูนิเชีย รวมทั้งหมดไม่เกิน 200 คูหา)

1.2 ผู้แทนบริษัท Comexposium ให้ข้อมูลว่าการจัดงานในปีแรกค่อนข้างน่าพอใจ แม้จำนวน Exhibitors ยังไม่มากนักและส่วนมากเป็นคูหาประเทศซึ่งเป็น counterpart กับงาน SIAL อยู่แล้ว แต่จำนวนผู้เข้าชมงานมีต่อเนื่องโดยได้อานิสงส์จากความคึกคักของงาน International Pizza Expo & Conference สาเหตุที่เลือกลาสเวกัสเป็นที่จัดงานคือค่าเช่าสถานที่จัดงานถูกกว่าเมืองใหญ่อย่างชิคาโก นิวยอร์ก และลอสแอนเจลิส

1.3 ภายในงานมีการจัดสัมมนา มี business lounge สำหรับเจรจาการค้า และมีบริการนัดหมายเจรจาการค้าระหว่างผู้ซื้อที่มีศักยภาพและ Exhibitors ที่เข้าร่วมงาน

2. แนวทางความร่วมมือ

2.1 สคต. ณ นครลอสแอนเจลิส สอบถามถึงสิทธิประโยชน์ของการเข้าร่วมงานในรูปแบบคูหาประเทศ ทางผู้แทนบริษัท Comexposium แจ้งว่ากรณีที่เป็นบริษัทไทยสมัครเข้าร่วมงานจะเป็นบริษัท Comexposium สาขาเซี่ยงไฮ้ ประเทศจีน เป็นผู้ดูแลแทนเกี่ยวกับกระบวนการรับสมัครและการเข้าร่วมงาน

2.2 เมื่อสอบถามถึงความเป็นไปได้ในการร่วมกิจกรรมนัดหมายเจรจาการค้า ผู้แทนบริษัทยังไม่สามารถให้รายละเอียดได้มากนัก จึงแจ้งว่าจะส่งข้อมูลและรายละเอียดค่าใช้จ่ายการเข้าร่วมงานในปี 2023 ให้แก่ สคต. เมื่อทางบริษัทมีข้อมูลราคาที่แน่ชัด

3. ข้อคิดเห็นและข้อเสนอแนะ

3.1 ด้วยขนาดของาน SIAL America ยังมีขนาดเล็ก ทั้งยังไม่เป็นที่รู้จักในหมู่ผู้นำเข้าสินค้าอาหารเท่าที่ควร สคต. ณ นครลอสแอนเจลิส เห็นว่าหากผู้ประกอบการไทยสนใจที่จะสมัครเข้าร่วมงานควรพิจารณาสมัครกับโครงการ SMEs Pro-active ในช่วง 1 – 3 ปีแรก ก่อนพิจารณาถึงศักยภาพของงานและกลุ่มเป้าหมายของผู้เข้าชมงาน เพื่อเข้าร่วมงานในรูปแบบคูหาประเทศในปีต่อๆ ไป

3.2 จากการหารือกับบริษัท Sunlee ผู้นำเข้าอาหารไทยรายใหญ่ในนครลอสแอนเจลิส (มีโรงงานและบริษัทตั้งอยู่ในไทย) ซึ่งเดินทางมาเข้าชมงาน SIAL America ทราบว่าทางบริษัทได้พบผู้ส่งออกจากประเทศโมร็อกโกภายในงาน 2 – 3 ราย ซึ่งเป็นรายใหม่ที่จะต่อยอดธุรกิจต่อไป

Leave a Comment

Your email address will not be published. Required fields are marked *

OMD KM

FREE
VIEW