รายงานสถานการณ์การค้าสหรัฐอเมริกา ณ ไมอามี เดือนมีนาคม 2565

ประเมินสถานการณ์ทางเศรษฐกิจและภาวะการค้า ระหว่างวันที่ 1 – 31 มีนาคม 2565

1. อัตราการขยายตัวเศรษฐกิจ (GDP Growth) กระทรวงพาณิชย์สหรัฐฯ (U.S. Department of Commerce) รายงานประมาณการอัตราการขยายตัวผลิตภัณฑ์มวลรวมประชาชาติไตรมาสที่ 4 ปี 2564 (ครั้งที่ 3) เพิ่มขึ้นเป็นร้อยละ 6.9 โดยมีปัจจัยที่สนับสนุนการขยายตัวมาจากการลงทุนคงคลังภาคเอกชน การส่งออก การใช้จ่ายภาคประชาชน และการลงทุนที่ไม่ใช่ที่อยู่อาศัยของภาคเอกชน ในขณะการลงทุนภาครัฐบาลกลางและรัฐบาลท้องถิ่นกลับลดลงซึ่งส่งผลต่อการขยายตัวทางเศรษฐกิจโดยรวมของสหรัฐฯ

สถิติอัตราการขยายตัวเศรษฐกิจสหรัฐฯ ปี 2561 – 2564)

2. อัตราการว่างงาน

กระทรวงแรงงานสหรัฐฯ (U.S. Department of Labor) รายงานอัตราการว่างงานในสหรัฐฯ ประจำเดือน กุมภาพันธ์ 2565 ปรับตัวลดลงร้อยละ 0.2 จากเดือนที่ผ่านมาเหลือร้อยละ 3.8 มีผู้ว่างงานในระบบเศรษฐกิจลดลงเหลือทั้งสิ้นประมาณ 6.3 ล้านคน โดยมีการจ้างงานที่ไม่ใช่การเกษตร (Nonfarm Payroll Employment) เพิ่มขึ้นทั้งสิ้น 678,000 ตำแหน่ง กลุ่มอุตสาหกรรมที่มีการจ้างงานเพิ่ม ได้แก่ อุตสาหกรรมการโรงแรมและการท่องเที่ยว 179,000 ตำแหน่ง อุตสาหกรรมการบริการทางธุรกิจ 95,000 ตำแหน่ง อุตสาหกรรมบริการด้านสุขภาพ 64,000 ตำแหน่ง อุตสาหกรรมการก่อสร้าง 60,000 ตำแหน่ง  อุตสาหกรรมการขนส่งและคงคลังสินค้า 48,000 ตำแหน่ง อุตสาหกรรมค้าปลีก 37,000 ตำแหน่ง อุตสาหกรรมการผลิต 36,000 ตำแหน่ง อุตสาหกรรมการเงิน 35,000 ตำแหน่ง อุตสาหกรรมการสังคมสงเคราะห์ 31,000 ตำแหน่ง อุตสาหกรรมการบริการอื่น ๆ 25,000 ตำแหน่งอุตสาหกรรมค้าส่ง 18,000 ตำแหน่ง อุตสาหกรรมเหมืองแร่ 9,000 ตำแหน่ง ส่วนอุตสาหกรรมสารสนเทศ และกลุ่มรัฐวิสาหกิจไม่เปลี่ยนแปลงมากนัก

สถิติอัตราการว่างงานสหรัฐฯ ย้อนหลัง 12 เดือน

3. ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภค (Consumer Confidence Index: CCI)

ผู้บริโภคชาวอเมริกันมีความเชื่อมั่นในสภาวะเศรษฐกิจของสหรัฐฯ ในเดือนมีนาคม 2565 ปรับตัวดีขึ้นในภาพรวมเมื่อเทียบกับเดือนที่ผ่านมา โดยดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภค (Consumer Confidence Index) ปรับตัวเพิ่มขึ้นจากเดิม 105.7 ในเดือนกุมภาพันธ์ 2565 (ปีฐาน: ปี 2528 = 100) เป็น 107.2 ในเดือนมีนาคม 2565 ดัชนีความเชื่อมั่นในภาวะปัจจุบัน (Present Situation Index) ปรับตัวดีเพิ่มขึ้นจากเดิม 143.0 ในเดือนกุมภาพันธ์ 2565 เป็น 153.0 ในเดือนมีนาคม 2565 อย่างไรก็ตาม ดัชนีความคาดหวังของผู้บริโภค (Expectations Index) กลับปรับตัวลดลงจากเดิม 80.8 ในเดือนกุมภาพันธ์ 2565 เหลือเพียง 76.6 ในเดือนมีนาคม 2565

ทั้งนี้ แนวโน้มความเชื่อมั่นของผู้บริโภคที่ปรับตัวดีขึ้นในเดือนมีนาคม 2565 ส่วนหนึ่งมาจากปัจจัยด้านภาวะการจ้างงานในสหรัฐฯ ที่ปรับตัวดีขึ้นแม้ว่าจะมีปัจจัยลบส่งผลกระทบในตลาดหลายปัจจัย เช่น ปัจจัยด้านแนวโน้มอัตราดอกเบี้ย ปัจจัยด้านสถานการณ์ราคาน้ำมัน และปัจจัยด้านการบุกรุกรานยูเครนของรัสเซีย เป็นต้น อย่างไรก็ตาม เชื่อว่าผลกระทบจากปัจจัยดังกล่าวจะเริ่มส่งผลชัดเจนขึ้นในอนาคตอันใกล้

ที่มา:  www.conference-board.org/data/consumerconfidence.cfm

4. ภาวะการค้าสินค้าและบริการ

สำนักสำมะโนประชากร (The Census Bureau) กระทรวงพาณิชย์ สหรัฐฯ รายงานสถิติดุลการค้า (ส่งออก – นำเข้า) สหรัฐฯ ประจำเดือนมกราคม 2565 (ข้อมูลล่าสุด) สรุปได้ ดังนี้

สหรัฐฯ ขาดดุลการค้า ในเดือนมกราคม 2565 สุทธิ 89,692 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือขาดดุลเพิ่มขึ้นร้อยละ 9.44 เมื่อเทียบกับเดือนที่ผ่านมา เป็นมูลค่าทั้งสิ้น 7,735 ล้านดอลลาร์สหรัฐ

สหรัฐฯ มีมูลค่าการส่งออกสินค้าและบริการในเดือนมกราคม 2565 ทั้งสิ้น 224,400 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ลดลงร้อยละ 1.73 เป็นมูลค่าทั้งสิ้น 3,947 ล้านดอลลาร์สหรัฐ โดยแบ่งเป็นมูลค่าการส่งออกสินค้าลดลงร้อยละ 1.47 เป็นมูลค่าทั้งสิ้น 2,318 ล้านดอลลาร์สหรัฐ และมูลค่าการส่งออกบริการลดลงร้อยละ 2.32 เป็นมูลค่าทั้งสิ้น 1,628 ล้านดอลลาร์สหรัฐ กลุ่มสินค้าทุน ได้แก่ เครื่องบิน อุปกรณ์โทรคมนาคม และการบริการทางธุรกิจและการเงิน เป็นต้น

สหรัฐฯ มีมูลค่าการนำเข้าสินค้าและบริการในเดือนมกราคม 2565 ทั้งสิ้น 314,093 ล้านดอลลาร์สหรัฐ เพิ่มขึ้นร้อยละ 1.22 เป็นมูลค่าทั้งสิ้น 3,789 ล้านดอลลาร์สหรัฐ  โดยแบ่งเป็นมูลค่าการนำเข้าสินค้าเพิ่มขึ้นร้อยละ 1.84 เป็นมูลค่าทั้งสิ้น 4,795 ล้านดอลลาร์สหรัฐ และมูลค่าการนำเข้าบริการลดลงร้อยละ 2.00 เป็นมูลค่าทั้งสิ้น 1,006 ล้านดอลลาร์สหรัฐ กลุ่มสินค้าและบริการที่สหรัฐฯ นำเข้าเพิ่มขึ้น ได้แก่ รถยนต์และชิ้นส่วนยานยนต์ พลังงานงาน ชิ้นส่วนและอุปกรณ์สำหรับอุตสาหกรรม อาหารและเครื่องดื่ม สินค้ากลุ่มทุน และการบริการทางธุรกิจ เป็นต้น

5. ภาวะการค้าปลีกของสหรัฐฯ

สำนักสำมะโนประชากร (The Census Bureau) กระทรวงพาณิชย์ สหรัฐฯ รายงานภาวะการค้าปลีกและการบริการอาหารรายเดือนล่วงหน้า (Advance Monthly Sales for Retail and Food Services) สหรัฐฯ ประจำเดือนกุมภาพันธ์ 2565 สามารถสรุปได้ ดังนี้

– มูลค่าการค้าปลีกสินค้าและการบริการอาหาร (Retail & Food Services) ขยายตัวเพิ่มขึ้นเล็กน้อยร้อยละ 0.3 เมื่อเทียบกับเดือนที่ผ่านมาเป็นมูลค่าทั้งสิ้น 658,128 ล้านดอลลาร์สหรัฐ

– มูลค่าการค้าปลีก (Retail Trade Sales) ไม่เปลี่ยนแปลงมากนักมีมูลค่าทั้งสิ้น 584,197 ล้านดอลลาร์สหรัฐ

– มูลค่าการค้าปลีกไม่ผ่านร้านค้า(Nonstore Retailers) หดตัวลงร้อยละ 3.7 หลังจากที่ขยายตัวเพิ่มขึ้นสูงในเดือนที่ผ่านมาเป็นมูลค่าทั้งสิ้น 95,849 ล้านดอลลาร์สหรัฐ

กลุ่มสินค้และบริการที่มียอดค้าปลีกปรับตัวเพิ่มขึ้น ได้แก่ สินค้าน้ำมันเชื้อเพลิง (+ร้อยละ 5.3) สินค้าอุปกรณ์กีฬา (+ร้อยละ 1.7) สินค้าเสื้อผ้าเครื่องนุ่งห่ม (+ร้อยละ 1.1) สินค้ารถยนต์และชิ้นส่วนยานยนต์ (+ร้อยละ 0.8) และสินค้าวัสดุอุปกรณ์ก่อสร้าง (+ร้อยละ 0.9) ตามลำดับ

กลุ่มสินค้าและบริการที่มียอดค้าปลีกปรับตัวลดลงได้แก่  สินค้าเพื่อสุขภาพและสุขอนามัยส่วนบุคคล (ร้อยละ 1.8) สินค้าเฟอร์นิเจอร์และของแต่งบ้าน (-ร้อยละ 1.0) สินค้าเครื่องใช้ไฟฟ้าและอุปกรณ์อิเล็คทรอนิกส์ (-ร้อยละ 0.6) สินค้าอาหารและเครื่องดื่ม (-ร้อยละ 0.5) และสินค้าปลีกทั่วไป (ร้อยละ 0.2) ตามลำดับ

ที่มา:   www.census.gov/retail

6. ภาวะการค้าระหว่างไทยและสหรัฐฯ

ในเดือนมกราคม 2565 (ข้อมูลล่าสุด) ไทยและสหรัฐฯ มีมูลค่าการค้ารวมระหว่างกันเป็นมูลค่าทั้งสิ้น 4.75 พันล้านดอลลาร์สหรัฐขยายตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 20.50 เมื่อเทียบกับปีที่ผ่านมา โดยไทยมีดุลการค้าเกินดุลทั้งสิ้น 2.41 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ ขยายตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 35.95.37 เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันกับปีที่ผ่านมา

– ไทยส่งออกไปสหรัฐฯ เป็นมูลค่าทั้งสิ้น 3.58 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ ขยายตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 25.30 เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันในปีที่ผ่านมา โดยสินค้าส่งออกหลัก ได้แก่ สินค้าเครื่องประมวลผลข้อมูล (HS Code 8471) ขยายตัวร้อยละ 32.04 สินค้ายางรถยนต์ (HS Code 4011) ขยายตัวร้อยละ 25.26 สินค้าอุปกรณ์โทรศัพท์ (HS Code 8517) ขยายตัวร้อยละ 86.33 สินค้าเครื่องปรับอากาศ (HS Code 8415) ขยายตัวร้อยละ 107.72 และสินค้าชิ้นส่วนยานยนต์ (HS Code 8708) ขยายตัวร้อยละ 4.27

– ไทยนำเข้าจากสหรัฐฯ เป็นมูลค่าทั้งสิ้น 1.17 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ ขยายตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 7.84 เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันในปีที่ผ่านมา โดยสินค้านำเข้าหลัก ได้แก่  สินค้าแผงวงจรไฟฟ้า (HS Code 8542) ขยายตัวร้อยละ 17.68 วัคซีน (HS Code 3002) ขยายตัวร้อยละ 1,137.65 สินค้าถั่วเหลือง (HS Code 1201) หดตัวลงร้อยละ 16.11 สินค้าน้ำมันปิโตรเลียม (HS Code 2709) หดตัวลงร้อยละ 59.99 สินค้าเครื่องยนต์เครื่องบิน (HS Code 8411) ขยายตัวร้อยละ 35.32

ที่มา: Global Trade Atlas

Leave a Comment

Your email address will not be published. Required fields are marked *

OMD KM

FREE
VIEW