รายงานสถานการณ์การค้าสาธารณรัฐฟิลิปปินส์ ณ กรุงมะนิลา เดือนธันวาคม 2565

อัตราการว่างงานฟิลิปปินส์ส่งสัญญาณดี ลดลงสู่ระดับก่อนเกิดโควิด-19

สำนักงานสถิติแห่งชาติฟิลิปปินส์ (Philippine Statistic Authority: PSA) รายงานข้อมูลเบื้องต้นเกี่ยวกับการสำรวจภาวะการทำงานของประชากร (LFS) ในเดือนตุลาคม 2565 พบว่าอัตราการว่างงานลดลงเหลือร้อยละ 4.5 กลับสู่ระดับก่อนเกิดการแพร่ระบาดของโควิด-19 และเป็นระดับที่ต่ำสุดเป็นประวัติการณ์

นาย Nicholas Antonio T. Mapa นักเศรษฐศาสตร์อาวุโสของ ING Bank NV ระบุว่าจำนวนผู้ว่างงานชาวฟิลิปปินส์ที่ลดลงเป็นผลมาจากกิจกรรมทางเศรษฐกิจที่ดีขึ้นเมื่อเศรษฐกิจกลับมาเปิดทำการอีกครั้ง อย่างไรก็ตาม เมื่อพิจารณาจำนวนแรงงานที่ต้องการมองหางานเพิ่มหรือเพิ่มชั่วโมงการทำงานกลับลดลงซึ่งชี้ให้เห็นว่าส่วนหนึ่งของอัตราการว่างงานที่ลดลงอาจเชื่อมโยงไปถึงแรงงานที่กำลังมองหางานน้อยลง นอกจากนี้ นาย Josua T. Mata เลขาธิการ Sentro ng mga Nagkaisa กล่าวว่าตัวเลขการจ้างงานมักจะเพิ่มขึ้นในช่วงไตรมาสที่สี่ เมื่อกิจกรรมทางเศรษฐกิจเพิ่มขึ้นก่อนช่วงเทศกาลวันหยุด ทั้งนี้ แม้คุณภาพของงานจะมีการปรับปรุงที่เป็นไปได้บางประการ แต่การใช้แรงงานต่ำกว่ามาตรฐานยังคงมีอยู่เกือบร้อยละ 20 ของกำลังแรงงาน ซึ่งหมายถึงแรงงานชาวฟิลิปปินส์เกือบหนึ่งในห้าว่างงานและ/หรือมีการจ้างงานต่ำ อย่างไรก็ตาม นาย Josue T. Mata ตั้งข้อสังเกตว่าการเติบโตของงานอาจชะลอตัวลงในปี 2566 ในขณะที่นาย John Paolo R. Rivera นักเศรษฐศาสตร์จากสถาบัน Asian Institute of Management ระบุว่าจะมีการสร้างงานเพิ่มขึ้นในอีกไม่กี่เดือนข้างหน้า หากมีการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศมากขึ้น ซึ่งจะอำนวยความสะดวกทางธุรกิจใหม่และโอกาสการจ้างงาน และชาวฟิลิปปินส์จำนวนมากขึ้นจะสามารถรักษาโอกาสในการทำงานไว้ได้

ข้อเสนอแนะ/ความคิดเห็นของ สคต.

เศรษฐกิจฟิลิปปินส์ฟื้นตัวดีขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยกิจกรรมทางเศรษฐกิจกลับมาดำเนินการอย่างเต็มประสิทธิภาพช่วยกระตุ้นให้เกิดการจ้างงานและส่งผลให้ตลาดแรงงานกลับมาฟื้นตัวดีขึ้น ส่งผลให้ตัวเลขการว่างงานของคนฟิลิปปินส์ลดลงตามรายงานผลการสำรวจกำลังแรงงานในเดือนตุลาคม 2565 ดังกล่าวข้างต้น อย่างไรก็ตามขณะนี้ฟิลิปปินส์กำลังเผชิญกับความเสี่ยงจากภาวะเงินเฟ้อที่เพิ่มสูงขึ้น ซึ่งคาดว่าจะส่งผลกระทบต่อทุกภาคส่วนรวมถึงตลาดแรงงานและประชาชนที่ต้องรับภาระค่าใช้จ่ายที่สูงขึ้น และมีแนวโน้มที่ผู้บริโภคชาวฟิลิปปินส์อาจชะลอการใช้จ่ายลงในระยะต่อไป ดังนั้น สถานการณ์ตลาดแรงงานของฟิลิปปินส์เป็นเรื่องที่ผู้ประกอบการควรให้การติดตามอย่างใกล้ชิดด้วย เนื่องจากมีผลต่อความต้องการและกําลังซื้อของผู้บริโภคชาวฟิลิปปินส์ซึ่งจะส่งผลต่อเนื่องต่อความต้องการนำเข้าสินค้าต่างๆ ทั้งนี้ในช่วงที่ผ่านมา การส่งออกสินค้าไทยมายังตลาดฟิลิปปินส์ขยายตัวอย่างเนื่องตามการฟื้นตัวของเศรษฐกิจฟิลิปปินส์ โดยล่าสุดในปี 2565 (เดือนมกราคม-ตุลาคม) ไทยส่งออกมาฟิลิปปินส์มูลค่า 6,299.86 ล้านเหรียญสหรัฐฯ เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปี 2564 ที่มีมูลค่าส่งออก 5,732.02 ล้านเหรียญสหรัฐฯ โดยสินค้าส่งออก 5 อันดับแรก ได้แก่ รถยนต์อุปกรณ์และส่วนประกอบ มูลค่า 1,540.16 ล้านเหรียญสหรัฐฯ (+ร้อยละ 15.29) แผงวงจรไฟฟ้า มูลค่า 593.66 ล้านเหรียญสหรัฐฯ (+ร้อยละ 22.99) เหล็ก เหล็กกล้าและผลิตภัณฑ์มีมูลค่า 278.66 ล้านเหรียญสหรัฐฯ (+ร้อยละ 47.66) เม็ดพลาสติก มูลค่า 266.00 ล้านเหรียญสหรัฐฯ (-ร้อยละ 5.76) และน้ำมันสําเร็จรูป มูลค่า 256.38 ล้านเหรียญสหรัฐฯ (-ร้อยละ 36.46)

OMD KM

FREE
VIEW