รายงานสถานการณ์การค้าสาธารณรัฐฟิลิปปินส์ ณ กรุงมะนิลา เดือนธันวาคม 2565

เม็ดเงินโอนกลับประเทศของแรงงานพลัดถิ่นตากาล็อกขยายตัวสูงสุดในรอบ 6 ปี

ตามรายงานการอพยพและการพัฒนาล่าสุดของธนาคารโลก (World Bank) คาดการณ์ว่าฟิลิปปินส์จะเป็นหนึ่งในประเทศผู้รับการโอนเงินกลับประเทศจากแรงงานที่ทำงานอยู่ในต่างประเทศรายใหญ่ที่สุดในปี 2565 โดยอินเดียจะเป็นประเทศผู้รับโอนเงินสูงสุดในปี 2565 มีมูลค่า 1 แสนล้านเหรียญสหรัฐฯ รองลงมาได้แก่ เม็กซิโก มูลค่า 6 หมื่นล้านเหรียญสหรัฐฯ (แซงหน้าประเทศจีนที่ครองอันดับ 2 ในปี 2564) จีน มูลค่า 5.1 หมื่นล้านเหรียญสหรัฐฯ ฟิลิปปินส์ มูลค่า 3.8 หมื่นล้านเหรียญสหรัฐฯ และสาธารณรัฐอียิปต์ มูลค่า 3.2 หมื่นล้านเหรียญสหรัฐฯ สำหรับประเทศฟิลิปปินส์มูลค่าการโอนเงินกลับประเทศในปี 2565 ดังกล่าวเพิ่มขึ้นร้อยละ 4 จากปี 2564 ที่มีมูลค่า 3.67 หมื่นล้านเหรียญสหรัฐฯ คิดเป็นประมาณร้อยละ 9.5 ของผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ ทั้งนี้ ธนาคารโลกระบุว่าการส่งเงินกลับที่คาดการณ์ว่าจะเพิ่มขึ้นของแรงงานชาวฟิลิปปินส์ในปีนี้ เนื่องจากได้รับประโยชน์จากข้อตกลงกับรัฐบาลปลายทาง ซึ่งรวมถึงประเทศซาอุดีอาระเบียที่ได้ให้การปฏิบัติที่ดีขึ้นต่อแรงงานฟิลิปปินส์ในต่างประเทศ ทำให้การสั่งห้ามอพยพไปยังประเทศซาอุดีอาระเบียจากการปฏิบัติต่อแรงงานฟิลิปปินส์อย่างไม่เหมาะสมถูกยกเลิกในปี 2565 รวมทั้งมีความต้องการแรงงานฟิลิปปินส์ที่มีทักษะในภาคสุขภาพและการบริการจากประเทศสมาชิกองค์การเพื่อความร่วมมือทางเศรษฐกิจและการพัฒนา (Organization for Economic Cooperation and Development: OECD) ช่วยกระตุ้นให้มีการส่งเงินกลับมากขึ้น นอกจากนี้ ธนาคารโลกกล่าวว่าฟิลิปปินส์ได้รับประโยชน์จากการขึ้นค่าแรงและการขาดแคลนแรงงานในสหรัฐอเมริกาและสหราชอาณาจักร ท่ามกลางสถานการณ์เงินเฟ้อที่สูงเป็นประวัติการณ์ที่บั่นทอนความสามารถในการส่งเงินกลับประเทศ โดยเกือบร้อยละ 40 ถึง 60 ของแรงงานชาวฟิลิปปินส์ในต่างประเทศทำงานในประเทศดังกล่าว

สำหรับในปี 2566 ธนาคารโลกคาดการณ์ว่าการส่งเงินกลับประเทศของแรงงานจากประประเทศที่มีรายได้ปานกลาง-ต่ำ จะเพิ่มขึ้นเป็น 6.39 แสนล้านเหรียญสหรัฐฯ ในขณะที่สำหรับการโอนส่งเงินกลับทั่วโลกคาดว่าจะมีมูลค่าสูงถึง 7.94 แสนล้านเหรียญสหรัฐฯ ในปี 2565 เพิ่มขึ้นจากปี 2564 ที่มีมูลค่า 7.81 แสนล้านเหรียญสหรัฐฯ และในปี 2566 คาดว่าจะเพิ่มขึ้นเป็น 8.15แสนล้านเหรียญสหรัฐฯ ทั้งนี้ นาย Michal Rutkowski ผู้อํานวยการด้านการคุ้มครองทางสังคมและงานของธนาคารโลกกล่าวว่า แรงงานข้ามชาติจะช่วยบรรเทาตลาดแรงงานที่ตึงตัว ในขณะเดียวกันก็ช่วยสนับสนุนครอบครัวผ่านการส่งเงินกลับ รวมทั้งนโยบายการคุ้มครองทางสังคมที่ครอบคลุมจะช่วยให้แรงงานสามารถรับมือกับความไม่แน่นอนของรายได้และการจ้างงานที่เกิดจากการแพร่ระบาดใหญ่ของโควิด-19

ข้อเสนอแนะ/ความคิดเห็นของ สคต.

รายได้จากส่งเงินกลับประเทศของแรงงานข้ามชาติฟิลิปปินส์ในต่างประเทศถือเป็นแหล่งเงินหมุนเวียนช่วยขับเคลื่อนเศรษฐกิจฟิลิปปินส์เติบโตอย่างต่อเนื่อง โดยในแต่ละปีจะมีเม็ดเงินกว่า 3 หมื่นล้านเหรียญสหรัฐฯหรือเกือบครึ่งหนึ่งของมูลค่าการส่งออกของฟิลิปปินส์ที่แรงงานฟิลิปปินส์ในต่างประเทศส่งกลับมาให้คนในครอบครัวและเครือญาติซึ่งช่วยกระตุ้นกำลังซื้อและการบริโภคภายในประเทศที่แข็งแกร่ง รวมทั้งยังช่วยบรรเทาภาวะขาดดุลและภาวะเงินไหลออกประเทศได้ด้วย ทั้งนี้ ชาวฟิลิปปินส์มีวัฒนธรรมนิยมออกไปทำงานในต่างประเทศ เนื่องจากประชากรในประเทศมีจำนวนมากทําให้แหล่งงานในประเทศมีจำกัดส่งผลให้อัตราว่างงานสูง โดยรายงานของธนาคารโลกระบุว่ามีแรงงานชาวฟิลิปปินส์ที่อพยพไปทำงานในต่างประเทศประมาณ 12.6 ล้านคน คิดเป็นประมาณร้อยละ 10 ของจำนวนประชากรทั้งหมดส่งผลให้ฟิลิปปินส์เป็นหนึ่งในประเทศที่มี การส่งออกแรงงานมากที่สุดในโลก รองจากประเทศจีนและอินเดีย และเป็นประเทศที่มีแรงงานย้ายถิ่นฐานมากที่สุดในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

สําหรับในช่วงวิกฤติโควิด-19 ที่ผ่านมาพบว่ายอดโอนเงินกลับประเทศของแรงงานชาวฟิลิปปินส์ที่ทํางานในต่างประเทศยังคงขยายตัวได้อย่างต่อเนื่อง ประกอบกับสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 คลี่คลายลงทําให้หลายประเทศที่แหล่งทํางานของแรงงานชาวฟิลิปปินส์มีการผ่อนคลายมาตรการและข้อจํากัดต่างๆ จนเกือบกลับมาเป็นปกติและมีการเปิดพรมแดนรับแรงงานต่างชาติอีกครั้ง ส่งผลให้แนวโน้มการส่งเงินกลับประเทศของแรงงานชาวฟิลิปปินส์เพิ่มสูงขึ้นในระยะต่อไป ทั้งนี้ หากยอดการส่งเงินกลับประเทศของแรงงานชาวฟิลิปปินส์ยังคงเติบโตได้อย่างต่อเนื่องก็จะเป็นปัจจัยสนับสนุนสําคัญต่อการฟื้นตัวของอุปสงค์ในประเทศฟิลิปปินส์โดยเฉพาะการบริโภคภาคครัวเรือนที่ประสบกับภาวะการชะลอตัวอย่างมากในช่วงการแพร่ระบาดของโควิด-19 และจะส่งผลดีต่อการส่งออกสินค้าไทยมายังฟิลิปปินส์เพื่อรองรับกับความต้องการของตลาดที่เพิ่มขึ้น

OMD KM

FREE
VIEW