รายงานสถานการณ์การค้าสาธารณรัฐอินเดีย ณ เมืองมุมไบ เดือนตุลาคม 2565

อินเดียเตรียมยกระดับการค้าและการผลิตเข้าสู่ยุคอุตสาหกรรมใหม่

ภาครัฐและเอกชนของอินเดียเร่งปรับตัวเพื่อเตรียมรับโอกาสและความท้าทายจากการค้ารูปแบบใหม่ที่อยู่ในโลกเสมือนจริง หรือเมตาเวิร์ส (Metaverse) โดยคาดการณ์ว่าภายในปี 2026 ประมาณ 1 ใน 4 ของประชากรโลก หรือ 1.5 พันล้านคนจะใช้เวลาอย่างน้อยวันละ 1 ชั่วโมงอยู่ในโลกของเมตาเวิร์ส   

ในขณะเดียวกัน อินเดียกำลังเร่งพัฒนาสภาพแวดล้อมด้านการผลิตให้เอื้อต่อการสร้างสรรค์นวัตกรรมเชิงพาณิชย์ โดยในปี 2565 อินเดียได้รับการประเมินจากองค์การทรัพย์สินทางปัญญาโลก (World Intellectual Property Organization) อันดับที่ 40 ของดัชนีด้านนวัตกรรมโลก (Global Innovation Index) จากอันดับที่ 81 ในปี 2558 จากการที่สามารถยกระดับการพัฒนาทักษะแรงงานให้พร้อมรับการผลิตสินค้าที่ใช้เทคโนโลยีที่สูงขึ้น และการสร้างสตาร์ทอัปสาขาต่าง ๆ รวมทั้งการระดมทุนและดึงดูดการลงทุนจากต่างชาติให้เกิดการพัฒนาอุตสาหกรรมพร้อม ๆ กับการถ่ายทอดเทคโนโลยีสมัยใหม่

ข้อคิดเห็นของ สคต.

ความเคลื่อนไหวของอินเดียสะท้อนว่า ธุรกิจการค้าและการส่งออกจะต้องปรับตัวให้เข้ากับ เมตาเวิร์ส โดยผู้ประกอบการสินค้าและธุรกิจบริการต่าง ๆ อาจเข้าไปซื้อพื้นที่เพื่อสร้างโชว์รูมแบบสามมิติบนแพลตฟอร์มของเมตาเวิร์ส  ตลอดจนการจัดงานพบปะสังสรรค์ของคนในแวดวงและวัยต่าง ๆ เพื่อทดลองเรียนรู้และใช้ประโยชน์จากช่องทางการค้าระหว่างประเทศสมัยใหม่

ในส่วนของภาครัฐ นอกจากการเตรียมความพร้อมให้กับผู้ประกอบการแล้ว ควรมีมาตรการอำนวยความสะดวกและกำกับดูแลสำหรับการค้าผ่านเมตาเวิร์สด้วย นอกจากนี้ ไทยอาจเรียนรู้จากประสบการณ์ของอินเดียในการดึงดูดการลงทุนเพื่อยกระดับการผลิตของอุตสาหกรรมสมัยใหม่ และการเจรจาความตกลง เป็นหุ้นส่วนการผลิตกับประเทศพันธมิตรต่าง ๆ อาทิ สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ ออสเตรเลีย สหราชอาณาจักร สหภาพยุโรป และแคนาดา เป็นต้น โดยสอดแทรกประเด็นความตกลงใหม่ ๆ เข้าไป เช่น การส่งผ่านข้อมูลและการชำระเงินข้ามพรมแดน การถ่ายทอดเทคโนโลยีและนำเข้าสินค้าขั้นกลางไปต่อยอดเพื่อส่งออกไปยังประเทศที่สามและตลาดโลก การให้ประเทศคู่เจรจาเข้าไปลงทุนพัฒนาอุตสาหกรรมไฮเทคเพื่อการส่งออก โดยให้สิทธิพิเศษดึงดูดการลงทุนในอุตสาหกรรมเป้าหมาย รวมถึงมาตรการดึงดูดแรงงานทักษะและผู้ประกอบการด้านเทคโนโลยีขั้นสูงให้เข้าไปทำธุรกิจในอินเดีย ซึ่งการเจรจาหุ้นส่วนเศรษฐกิจในลักษณะนี้จะช่วยยกระดับการผลิตของไทยให้สามารถคงอยู่ในห่วงโซ่การผลิตของโลกได้อย่างยั่งยืนต่อไป       

Leave a Comment

Your email address will not be published. Required fields are marked *

OMD KM

FREE
VIEW