ตลาดปูนซีเมนต์ในชิลี

1. ภาพรวมตลาดปูนซีเมนต์ในภูมิภาคลาตินอเมริกา

การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) ส่งผลกระทบอย่างรุนแรงต่ออุตสากรรมก่อสร้างของภูมิภาคลาตินอเมริกา และอุตสาหกรรมเริ่มมีการฟื้นตัวตั้งแต่ครึ่งหลังของปี 2563 จนถึงต้นปี 2564 เนื่องจากการผ่อนคลายมาตรการด้านสาธารณสุขในช่วงสถานการณ์โควิด-19 และการกระจายการฉีดวัคซีน (ชิลี และอุรุกวัยมีการฉีดวัคซีนที่รวดเร็วและครอบคลุมมากที่สุดใรภูมิภาคลาตินอเมริกา) กิจกรรมก่อสร้างเพิ่มสูงขึ้นกว่าที่คาดการณ์ไว้ตั้งแต่ช่วงแรกของปีนี้ สืบเนื่องจากผลพลอยได้จากมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของสหรัฐอเมริกา และการเติบโตทางเศรษฐกิจของจีน  โดยคาดการณ์ว่าอุตสาหกรรมก่อสร้างของลาตินอเมริกาจะมีการขยายตัวร้อยละ 9.7 ในปีนี้ และร้อยละ 5.6 ในปี 2565 (เพิ่มขึ้นร้อยละ 7.7 และ 5.1 จากปีก่อนหน้าตามลำดับ) อย่างไรก็ดี ความยากลําบากในการขอใบอนุญาตก่อสร้าง ความล่าช้าในการอนุมัติงบประมาณและในการดําเนินการของงานหน่วยงานภาครัฐยังคงเป็นอุปสรรคที่ท้าทายหนึ่งต่อแนวโน้มการขยายตัวของอุตสาหกรรมก่อสร้างในภูมิภาคลาตินอเมริกา

2. ตลาดปูนซีเมนต์ในชิลี

ที่ผ่านมา จนถึงปี 2010 ชิลีมีผู้ผลิตปูนซีเมนต์หลัก 3 ราย ได้แก่ Melón S.A., Cemento Polpaico S.A. and Cbb. มีการดำเนินธุรกิจแบบดั้งเดิม ตั้งแต่การจัดหาวัตถุดิบจากเหมืองแร่ที่ได้รับสัมปทาน จนถึงการผลิตปูนซีเมนต์เพื่อจำหน่าย ทั้งนี้ ในปี 2011 มีทั้งการผลิตและนำเข้าปูนซีเมนต์จากต่างประเทศ เนื่องจากราคาและค่าขนส่งปูนซีเมนต์ที่ต่ำ กอปรกับปริมาณปูนซิเมนต์ล้นตลาดจากการผลิตของเกาหลี จีน และญี่ปุ่น ซึ่งเป็นโอกาสให้ผู้ประกอบการปูนซีเมนต์เข้ามาแข่งขันในตลาดชิลีเพิ่มขึ้น เพื่อดำเนินธุรกิจ อาทิ การผลิตคอนกรีต การนำเข้าปูนเม็ด การติดตั้งโรงงานบดปูนซีเมนต์ เป็นต้น โดยปูนเม็ดที่ได้จากการเผาหินปูนเป็นหนึ่งในวัตถุดิบสำคัญในช่วงกลางของห่วงโซ่การผลิตปูนซีเมนต์ ปัจจุบัน ชิลีนำเข้าปูนเม็ดทดแทนจากการทำเหมืองหินปูน

ในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา เศรษฐกิจชิลีมีการเติบโตแบบชะลอตัว เนื่องจากปัญหาทางการเมือง ความไม่สงบทางสังคมในปี  2562 รวมทั้ง การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) ทำให้ภาคการก่อสร้างหดตัวอย่างรุนแรง (รวมถึงปูนซีเมนต์) อย่างไรก็ดี กระบวนการฉีดวัคซีนที่รวดเร็วและครอบคลุมของชิลี และนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐบาล ส่งผลให้สถานการณ์โควิด-19 ภายในประเทศดีขึ้น และการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจเป็นไปอย่างรวดเร็ว โดยการก่อสร้างมีการขยายตัวเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ซึ่งจะเห็นได้จากตัวเลขการนำเข้าปูนซีเมนต์ช่วงเดือนมกราคม – กันยายน 2564 มีปริมาณใกล้เคียงกับการนำเข้าปูนซีเมนต์ทั้งปีของปี 2563   

หอการค้าด้านการก่อสร้างของชิลี (Chile’s Construction Chamber) คาดการณ์การว่าในอีก 8 ไตรมาสข้างหน้า ชีลีจะมีการขยายตัวด้านการก่อสร้างที่อยู่อาศัย อาคารพาณิชย์ อุตสาหกรรม เนื่องจากการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ โดยในระยะสั้น การลงทุนในอุตสาหกรรมก่อสร้างจะได้รับการสนุบสนุนจากการใช้จ่ายของภาครัฐในการลงทุนด้านโครงสร้างพื้นฐาน ทั้งนี้ จากรายงานของ Business Wire ระบุว่าอุตสาหกรรมก่อสร้างในชิลีจะมีการขยายตัวด้วยอัตราร้อยละ 8.5 หรือคิดเป็นมูลค่า 22, 974.6 พันล้านเปโซชิลี ภายในปี 2567

ผู้ประกอบการรายสำคัญ ตลาดปูนซีเมนต์ของชิลีมีขนาด 6 ล้านตัน โดยชิลีเป็นทั้งผู้นำเข้าและผู้ผลิตปูนซีเมนต์ ดังต่อไปนี้

Cementos Polpaico S.A. and Cementos Bicentenario S.A (Polpaico-BSA): ควบรวมกิจการในนามกลุ่ม Polpaico ดำเนินธุรกิจโรงงานผลิตปูนซีเมนต์ครบวงจร และมีโรงงานปูนเม็ดจำนวน 3 แห่ง ทั่วประเทศ

Cementos Bío-Bío S.A (CBB).: ดำเนินธุรกิจผลิตปูนซีเมนต์ครบวงจร โดยมีโรงาน 3 แห่ง และโรงงานบดปูนซีเมนต์จำนวน 1 แห่ง

Cementos Melón S.A (Melón).: ดำเนินธุรกิจโรงงานผลิตปูนซีเมนต์แบบบูรณาการ มีโรงงานตั้งอยู่ในเขต Valparaíso มีโรงงานบดปูนซีเมนต์จำนวน 2 แห่งในเขต Ventanas และ Puerto Montt

Cementos Transex Limitada (Transex): เป็นผู้ผลิตรายย่อยดำเนินการเฉพาะบดปูนซีเมนต์

Cementos La Unión S.A.: เป็นผู้ผลิตรายย่อยดำเนินการบดปูนซีเมนต์ ในเขต San Antonio และ Valparaíso

โดยในปี 2563 ที่ผ่านมา บริษัท Polpaico มีส่วนแบ่งการตลาดสูงสุด รองลงไปคือบริษัท Cementos Bío Bío และ Melón ตามลำดับ ตามตารางที่ 1

ตารางที่ 1 : ส่วนแบ่งตลาดของผู้ประกอบการรายสำคัญของชิลี

บริษัท25592563
Cementos Bío Bío36%30%
Polpaíco30%42%
Melón34%28%

จากสถานการณ์โควิด-19 ส่งผลกระทบโดยตรงต่อการนำเข้าปูนซีเมนต์และการก่อสร้างที่มีปริมาณลดลงอย่างมาก โดยเฉพาะธุรกิจคอนกรีตผสมเสร็จในพื้นที่ที่มีการล็อกดาวน์ ทั้งนี้ การผ่อนคลายการมาตรการต่าง ๆ เนื่องจากสถานการณ์โควิด-19 ที่มีทิศทางที่ดีขึ้น และหากเศรฐกิจของชิลีสามารถฟื้นตัวในทิศทางบวกต่อเนื่อง จะส่งผลดีต่อการก่อสร้างโดยรวมของชิลีในระยะยาวด้วย ทั้งนี้ การอุปโภคปูนซีเมนต์ของชิลีในช่วงเดือนมกราคม – กันยายน ปีนี้ มีแนวโน้มขยายตัวอย่างต่อเนื่อง เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปี 2563 ที่เป็นช่วงที่ชิลียังคงได้รับผลกระทบจากสถานการณ์โควิด-19 และทำให้ความต้องการปูนซีเมนต์ลดลง

3. การนำเข้าปูนซีเมนต์ของชิลี  

แบ่งตามพิกัดศุลกากร ได้แก่

– HS 2535: ปูนซีเมนต์พอร์ตแลนด์ ปูนซีเมนต์อลูมินัส ปูนซีเมนต์ตะกรัน ปูนซีเมนต์ซูเปอร์ซัลเฟตและปูนซีเมนต์คล้ายไฮดรอลิกทั้งสีหรือในรูปแบบของปูนเม็ด

– HS 3816: ปูนซีเมนต์ทนไฟ คอนกรีต และองค์ประกอบที่คล้ายกัน รวมทั้งผลิตภัณฑ์ที่นอกเหนือจากหัวข้อ 3801

ตารางที่ 2 : การนำเข้าปูนซีเมนต์ของชิลีในช่วงปี 2561 – 2564  (มูลค่า CIF เหรียญสหรัฐ)

HS Codes2561256225632564 (ม.ค.-ก.ย.)
2523125,508,931125,286,801102,206,754102,141,888
381612,809,99912,815,8759,269,01211,935,047

การนำเข้าปูนซีเมนต์ (HS Code 2523) ในช่วงเดือนมกราคม – กันยายน 2564 ของชิลีจาก 22 ประเทศ คิดเป็นมูลค่า 102,141,888 เหรียญสหรัฐ โดยนำเข้าหลักจากเปรู (32.72%) ญี่ปุ่น (22.28%) เกาหลีใต้ (16.82%) เอกวาดอร์ (14.15%) เวียดนาม (6.78%) และไทย (3.38%) ตามแผนภูมิที่ 1 โดยการนำเข้าในปีนี้เพิ่มขึ้น 38.4% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปี 2563 (หรือคิดเป็นมูลค่า 73,807,078 เหรียญสหรัฐ)  

แผนภูมิที่ 1 : ส่วนแบ่งตลาดตามประเทศถิ่นกำเนิด (HS Code 2523)

การนำเข้าปูนซีเมนต์ (HS Code 3816) ในช่วงเดือนมกราคม – กันยายน 2564 ของชิลีจาก 22 ประเทศ คิดเป็นมูลค่า 11,935,047 เหรียญสหรัฐ โดยนำเข้าหลักจากบราซิล (28.28%) อาร์เจนตินา (22.68%) สเปน (15.67%)  สหรัฐอเมริกา (8.23%) สวีเดน (5.92%) ตามแผนภูมิที่ 2 โดยการนำเข้าในปีนี้เพิ่มขึ้น 76.5% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปี 2563 (หรือคิดเป็นมูลค่า 6,760,876 เหรียญสหรัฐ) ทั้งนี้ ไทยไม่การส่งออกปูนซีเมนต์ภายใต้พิกัด HS นี้

แผนภูมิที่ 2 : ส่วนแบ่งตลาดตามประเทศถิ่นกำเนิด (HS Code 3816)

ที่มา: Veritrade www.veritradecorp.com

4. ช่องทางการจัดจำหน่าย

แผนภาพที่ 1: ช่องทางการจัดจำหน่ายปูนซีเมนต์ของชิลี

บริษัทก่อสร้างส่วนใหญ่ดำเนินการประกวดราคาเพื่อจัดซื้อวัสดุก่อสร้าง ซึ่งสินค้าจะถูกส่งตรงโดยผู้ผลิตหรือตัวแทนภายใต้ข้อกำหนด ราคา ปริมาณ และเวลา ที่ได้ตกลงกันไว้แล้ว ทั้งนี้ ในโครงการใหญ่ ๆ บริษัทก่อสร้างดำเนินการต่อรองราคารโดยตรงกับผู้ผลิตหรือตัวแทนในท้องถิ่นจะมีการต่อรองราคา โดยนส่วนของผู้บริโภคและผู้รับเหมาก่อสร้างรายย่อยจะซื้อวัสดุก่อสร้างจากผู้จัดจำหน่ายในร้านฮาร์ดแวร์ หรือร้านวัสดุก่อสร้าง

ตัวแทนและผู้จัดจำหน่าย ประกอบด้วย บริษัทท้องถิ่นที่นำเข้าและจัดจำหน่ายวัสดุก่อสร้าง ซึ่งดำเนินกระบวนการจัดหาผลิตภัณฑ์ทั้งหมดจากผู้ผลิตทั้งในและต่างประเทศ รวมทั้งทำหน้าที่ในการนำเข้าและดำเนินพิธีการศุลกากร       การจัดเก็บ การขนส่ง การส่งเสริมการขาย และการบริการลูกค้า อย่างไรก็ดี บางกิจกรรม อาทิ การจัดเก็บหรือการจัดจำหน่าย จะดำเนินการโดยการให้บุคคลที่สามดำเนินการแทน ทั้งนี้ เงื่อนไขสำคัญของการเป็นตัวแทนฯ ส่วนใหญ่จะไม่อนุญาตให้บริษัทท้องถิ่นเป็นตัวแทนของแบรนด์คู่แข่งสินค้าในหมวดเดียวกันในห่วงโซ่การจัดจำหน่ายสินค้าฮาร์ดแวร์

ผู้จัดจำหน่ายอุปกรณ์ปรับปรุงบ้านและวัสดุก่อสร้างรายสำคัญในชิลี จะขายสินค้าให้กับบริษัทรับเหมาก่อสร้างรายย่อยและผู้บริโภค ได้แก่

1) ห้าง EASY ดำเนินธุรกิจภายใต้เครือบริษัท Cencosud โดยมีบริษัทย่อยในชิลี อาร์เจนตินา และโคลอมเบีย ซึ่งห้าง EASY มีสาขา 89 แห่ง โดย 37 แห่งอยู่ในชิลี มีพนักงานประมาณ 6,500 คน ซึ่งห้าง EASY เป็นผู้ประกอบการหลักในอุตสาหกรรมด้านการปรับปรุงบ้าน/ที่อยู่อาศัย และมีส่วนแบ่งตลาดคิดเป็นอัตราร้อยละ 25.3 ในปี 2563

2) SODIMAC ดำเนินธุรกิจเกี่ยวกับอุปกรณ์ปรับปรุงบ้านสำหรับผู้บริโภค (Homecenter) ธุรกิจร้านค้าส่ง (Sodimac Constructor) ขายสินค้าให้กับสำหรับคู่สัญญา และบริษัทรับเหมาก่อสร้างตั้งแต่ขนาดเล็กไปจนถึงขนาดใหญ่ และมีสาขาในเปรู โคลอมเบีย อาร์เจนติน่า อุรุกวัย บราซิล และเม็กซิโก มีห้าง/สาขา 197 แห่ง โดย 37 แห่งอยู่ในชิลี  มีพนักงานทั้งหมดประมาณ 40,000 คน  ส่วนแบ่งตลาดคิดเป็นอัตราร้อยละ 24.3 ในปี 2563

3) CONSTRUMART บริษัทฯ ดำเนินธุรกิจภายใต้เครือบริษัท SMU มีห้าง/สาขา 29 แห่งในชิลี ทั้งนี้ บริษัทฯ เน้นการขายและจัดจำหน่ายวัสดุก่อสร้างให้กับผู้รับเหมาก่อสร้างและบริษัทก่อสร้างขนาดเล็ก 

ผู้จำหน่ายวัสดุก่อสร้าง (ที่ไม่มีหน้าร้านเป็นของตนเอง) นอกจากผู้จัดจำหน่ายอุปกรณ์ปรับปรุงบ้านและวัสดุก่อสร้างข้างต้น ซึ่งเป็นผู้จัดจำหน่ายฯ ที่มีห้าง/สาขาสำหรับจำหน่ายสินค้าให้แก่ผู้บริโภคทั่วไปแล้ว ในตลาดยังมีผู้ประกอบการค้าวัสดุก่อสร้างที่ไม่มีห้าง/สาขาเป็นของตนเอง แต่จะขายสินค้าโดยตรงให้แก่กลุ่มร้านค้าอุปกรณ์ก่อสร้าง (กว่า 90 ร้านค้า) ได้แก่ บริษัท MTS และบริษัท CHILE MAT  โดยมีจุดขายและกระจายสินค้าให้แก่กลุ่มร้านค้าต่าง ๆ รวมกันกว่า 250 จุด ทั่วประเทศ

5. กระบวนการนำเข้า และการเก็บภาษี

สินค้าที่นำเข้าส่วนใหญ่ของชิลี ได้รับสิทธิพิเศษทางภาษีจากการจัดทำความตกลงเขตการค้าเสรี (Free Trade Agreement: FTA) โดยชิลีมี FTA ที่มีผลใช้บังคับแล้วจำนวน 30 ฉบับ กับ 67 ประเทศ

5.1 กระบวนการนำเข้า หน่วยงานศุลกากรของชิลีกำหนดให้การนำเข้าสินค้า จะต้องมีเอกสารประกอบการนำเข้า ดังต่อไปนี้

– เอกสารการขนสินค้า อาทิ ใบส่งสินค้าตัวจริง ใบส่งสินค้าระหว่างประเทศ ใบส่งสินค้าทางอากาศ
– ใบแจ้งราคาสินค้าตัวจริง
– ใบรับรองถิ่นกำเนิดสินค้า
– ใบรับประกันการส่งสินค้า
– เอกสารแสดงรายการการบรรจุหีบห่อ (หากจำเป็น)
– ใบสำแดงราคา
– เอกสารอื่น ๆ (เช่น การรับรองความปลอดภัย การรับรองคุณภาพ)

การนำเข้าที่มีมูลค่ารวมเกินกว่า 1,000 เหรียญสหรัฐ (FOB) จะต้องมีบริษัทตัวแทนนำเข้าสินค้าดำเนินการนำสินค้าออก ในขณะที่สินค้าที่มีมูลค่าต่ำกว่า 1,000 เหรียญสหรัฐ (FOB) ผู้นำเข้าสามารถดำเนินการนำสินค้าออกได้เอง ทั้งนี้ ปัจจุบัน หน่วยงายของชิลีไม่มีการเรียกเก็บใบอนุญาตนำเข้าในสินค้าทุกประเภทแล้ว

 5.2 การเก็บภาษี ตามข้อมูลทั่วไป ภาษีศุลกากรที่เรียกเก็บตามมูลค่าของสินค้า (ad-valorem customs duty) มีอัตราร้อยละ 6 และภาษีมูลค่าเพิ่ม มีอัตราร้อยละ 19 อย่างไรก็ดี สินค้าที่มีถิ่นกำเนิดในประเทศหรือภูมิภาคใด ๆ ที่มีการจัดทำ FTA กับชิลี จะได้รับการยกเว้นการเก็บภาษีดังกล่าว โดยสามารถใช้ใบรับรองถิ่นกำเนิดสินค้าเพื่อขอรับการยกเว้นภาษี

ความตกลงเขตการค้าเสรีไทย-ชิลี มีผลใช้บังคับ ตั้งแต่วันที่ 5 พฤศจิกายน 2558 โดยสินค้าปูนซีเมนต์ไทยที่ส่งออกไปยังชิลีภายใต้พิกัดศุกลกากรที่กำหนด จะได้รับการยกเว้นภาษีนำเข้า ตามตารางที่ 3

ตารางที่ 3 : สินค้าปูนซีเมนต์ที่ได้รับการยกเว้นภาษีนำเข้าจากชิลี

พิกัดรายละเอียดหมายเหตุ
3816ปูนซีเมนต์ทนไฟ ปูนคอนกรีต และองค์ประกอบที่คล้ายกันนอกเหนือจากพิกัด 3801ได้รับการยกเว้นภาษี ตามเงื่อนไขความตกลงฯ ที่มีผลใช้บังคับตั้งแต่ปี 2558
25231000ปูนซีเมนต์เม็ดและปูนซีเมนต์พอร์ตแลนด์ได้รับการยกเว้นภาษีตั้งแต่ปี 2561
25232100ปูนซีเมนต์สีขาวได้รับการยกเว้นภาษีตั้งแต่ปี 2561
25232900อื่น ๆได้รับการยกเว้นภาษีตั้งแต่ปี 2561
25233000ปูนซีเมนต์อะลูมินัสได้รับการยกเว้นภาษีตั้งแต่ปี 2563
25239000ปูนซีเมนต์ไฮดรอลิกอื่น ๆได้รับการยกเว้นภาษีตั้งแต่ปี 2563

5.3 ใบรับรองและการติดฉลาก

1) ใบรับรอง (certifications) วัสดุก่อสร้างจะต้องได้รับการรับรองก่อนการค้าและใช้งานในโครงการก่อสร้าง โดยวัสดุต้องเป็นไปตามมาตรฐานทางเทคนิคที่กำหนดไว้สำหรับแต่ละผลิตภัณฑ์ที่มีการทดสอบในห้องปฏิบัติการตามที่รัฐบาลกำหนด ซึ่งมาตรฐานทางเทคนิคดังกล่าวได้รับการพัฒนาและอนุมัติโดยสถาบันมาตรฐานแห่งชาติ National Institute for Standardization (INN) ทั้งนี้ หน่วยงานท้องถิ่นที่ได้รับการรับรองจาก INN สามารถดำเนินการออกใบรับรองมาตรฐานฯ ได้

2) การติดฉลาก (labelling requirements) สำหรับสินค้าปูนซีเมนต์จะต้องมีการติดฉลากเพื่อให้ข้อมูลเกี่ยวกับ ผู้ผลิตและ/หรือผู้นำเข้า ประเภทของปูนซีเมนต์ ประเทศถิ่นกำเนิด มาตรฐานทางเทคนิค วันที่บรรจุ และข้อมูลอื่น ๆ ที่จะเป็น

บทสรุปและความเห็น สคต.

ที่ผ่านมา อุตสาหกรรมก่อสร้างของชิลีได้รับผลกระทบอย่างหนักจากการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) และเหตุการณ์ความไม่สงบทางสังคมเมื่อเดือนตุลาคม 2562 ส่งผลกระทบทางลบต่อความเชื่อมั่นของภาคธุรกิจ อย่างไรก็ดี อุตสาหกรรมก่อสร้างของชิลีเริ่มกลับมาฟื้นตัวอีกครั้ง ปริมาณความต้องการปูนซีเมนต์ของชิลีมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น ตามทิศทางการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจอย่างรวดเร็ว เนื่องจากการบริหารจัดการการฉีดวัคซีนอย่างรวดเร็วและครอบคลุม รวมทั้งแผนโครงการก่อสร้างโครงสร้างพื้นฐานกว่า 2,130 โครงการของรัฐบาล ระหว่างปี 2563 – 2565 อาทิ การเชื่อมต่อเส้นทางคมนาคมทางถนน การสร้างสนามบิน ท่าเรือ ฯลฯ โดยปัจจุบันกระทรวงโยธาธิการของชิลีอยู่ระหว่างการเร่งรัดการประมูลก่อสร้างโครงการต่าง ๆ จำนวน 31 โครงการ มูลค่าประมาณ 4.1 พันล้านเหรียญสหรัฐ สำหรับปี 2565 – 2565 ทั้งนี้ มูลค่าการก่อสร้างที่ผ่านมาในช่วงต้นปี 2564 มากกว่าการใช้จ่ายทั้งปีของปี 2563 และคิดเป็น 3.5 เท่า ของการใช้จ่ายด้านการก่อสร้างของรัฐบาลในปี 2562 โดยในส่วนของโครงการก่อสร้างที่อยู่อาศัยที่รัฐดำเนินการตั้งแต่ปี 2563 ถึงต้นปี 2564 มีมูลค่ารวมกว่า 834 ล้านเหรียญสหรัฐ หรือคิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 59 ที่เพิ่มขึ้นจากมูลค่าการลงทุนเฉลี่ยในช่วงปี 2560 – 2562 นอกจากนี้ ภาครัฐบาลของชิลีมีการลงทุนด้านการก่อสร้างโครงสร้างพื้นฐานในปี 2563 – 2564 เพิ่มขึ้นกว่า 3 เท่า เมื่อเปรียบเทียบกับปี 2562 ซึ่งการลงทุนดังกล่าวส่งผลให้เกิดการจ้างงานเพิ่มขึ้นกว่า 100,000 คน ในโครงการก่อสร้างงานสาธารณะในแต่ละเดือน

สคต. ซันติอาโกเห็นว่าปริมาณการความต้องการปูนซีเมนต์ของชิลีในช่วงปี 2564 – 2566 ยังคงขยายตัวอย่างต่อเนื่องตามภาวะการก่อสร้างที่เพิ่มขึ้นทั้งของภาครัฐและเอกชน อย่างไรก็ดี ทิศทางความต้องการการก่อสร้างที่เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วส่งผลให้เกิดการขาดแคลนวัสดุก่อสร้าง และราคาวัสดุก่อสร้างที่เพิ่มสูงขึ้นเนื่องจากปัญหาห่วงโซ่อุปทานโลกและค่าขนส่งสินค้าที่เพิ่มขึ้น โดยอาจส่งผลให้ค่าใช้จ่ายด้านโครงสร้างพื้นฐานของชิลีมีมูลค่าเพิ่มขึ้นจากที่คาดการณ์ไว้ และยังอาจส่งผลให้โครงการก่อสร้างต่าง ๆ ไม่สามารถดำเนินการให้เสร็จสิ้นตามเป้าหมายที่กำหนด  

ตารางที่ 4 : มูลค่าการนำเข้าปูนซีเมนต์ของชิลีช่วงเดือนมกราคม – กันยายน ปี 2561 – 2564

2561 (เดือนมกราคม – กันยายน) 2562 (เดือนมกราคม – กันยายน)2563 (เดือนมกราคม – กันยายน)2564 (เดือนมกราคม – กันยายน)
มูลค่าการนำเข้าปูนซีเมนต์ทั้งหมด138,318,930138,102,676111,475,766114,076,935
สัดส่วนของการนำเข้าจากไทย15.248.215.973.38

ที่ผ่านมา ไทยติดอันดับ 5 ประเทศแรกที่ชิลีนำเข้าปูนซีเมนต์สูงสุด จากตารางที่ 4 ชิลีมีแนวโน้มการนำเข้าปูนซีเมนต์จากไทยลดลงตั้งแต่ปี 2560 เนื่องจากราคาที่ปูนซีเมนต์ไทยที่มีราคาค่อนข้างสูงเมื่อเปรียบเทียบกับประเทศคู่แข่ง และไทยไม่สามารถตอบสนองต่อความต้องการด้านปริมาณปูนซีเมนต์ของผู้นำเข้าของชิลีได้ (ปริมาณปูนซีเมนต์ที่ไม่เพียงพอต่อความต้องการของผู้นำเข้า) โดยเพิ่มการนำเข้าจากประเทศเพื่อนบ้าน อาทิ บราซิล และอาร์เจนติน่า เนื่องจากปัจจัยด้านการราคาและค่าขนส่ง โดยอุตสาหกรรมการผลิตปูนซีเมนต์ของไทยได้รับผลกระทบจากสถานกาณ์โควิด-19 ที่ส่งผลให้การผลิตปูนซีเมนต์ลดลงในปี 2563 โดยช่วงเดือนมกราคม – กรกฎาคม 2563 มีการหดตัวลงร้อยละ 9.5 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปี 2562 สอดคล้องกับมูลค่าการส่งออกปูนซีเมนต์รวมของโลกตั้งแต่เดือน มกราคม – กรกฎาคม 2563 หดตัวลดลงร้อยละ 13.16 เทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปี 2562 นอกจากนี้ ปัจจัยปัญหาวิกฤตห่วงโซ่อุปทาน ส่งผลกระทบอย่างมากต่อการนำเข้าวัสดุก่อสร้างจากต่างประเทศ ทำให้เกิดการขาดแคลนปูนซีเมนต์  การเพิ่มขึ้นของราคาวัสดุก่อสร้าง ยังคงเป็นอุปสรรคหนึ่งต่อแนวโน้มการขยายตัวของอุตสาหกรรมก่อสร้างในชิลี ซึ่งคาดว่ารัฐบาลชิลีจะสามารถแก้ไขปัญหาดังกล่าวได้ในระยะเวลาอันสั้น ทั้งนี้ หากผู้ประกอบการไทยต้องการขยายการส่งออกมายังชิลี จำเป็นต้องปฏิบัติตามมาตรฐานทางเทคนิคของชิลีอย่างเคร่งครัด วางแผนการผลิตสำหรับการส่งออกเพื่อให้สามารถตอบสนองต่อความต้องการของผู้นำเข้าชิลีได้ และราคาที่สามารถแข่งขันกับคู่แข่งรายอื่นได้ในช่วงของวิกฤตห่วงโซ่อุปทานโลก ซึ่งหากปัญหาดังกล่าวคลี่คลายได้ภายในปี 2565 ไทยก็มีโอกาสในการส่งออกปูนซีเมนต์เพิ่มขึ้นและรักษาส่วนแบ่งการตลาดชิลีได้ดังเช่นก่อนการสถานการณ์โควิด-19 และวิกฤตห่วงโซ่อุปทานโลก

Leave a Comment

Your email address will not be published. Required fields are marked *

OMD KM

FREE
VIEW