รายงานสถานการณ์การค้าสหรัฐอเมริกา ณ นครนิวยอร์ก เดือนสิงหาคม 2565

อัพเดตสถานการณ์ตลาดในสหรัฐฯ และแนวโน้มค่าระวางเรือช่วงครึ่งปีหลัง 2565

สถานการณ์โควิดและปัญหาการขาดแคลนตู้คอนเทนเนอร์ในช่วงที่ผ่านมา ได้ทำให้ค่าระวางเรือทั่วโลกสูงขึ้นอย่างมาก โดยค่าระวางเรือของสหรัฐฯ ในเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมาเพิ่มขึ้นจากปีก่อนถึงร้อยละ 35 อย่างไรก็ตาม จากรายงาน Cass Freight Index ซึ่งเป็นดัชนีในการวัดค่าระวางสินค้าของภูมิภาคอเมริกาเหนือ แสดงให้เห็นว่า ค่าระวางสินค้าได้ผ่านพ้นจุดสูงสุดไปแล้ว และกำลังส่งสัญญานลดลงอย่างต่อเนื่อง โดยลดลงแล้วกว่าร้อยละ 0.4 จากปีก่อน หรือประมาณร้อยละ 2 จากเดือนที่ผ่านมา โดยในปัจจุบันค่าระวางสินค้าเฉลี่ยจากเอเชียไปยังท่าเรือฝั่งตะวันตก ของสหรัฐฯ อยู่ที่ 6,159 เหรียญสหรัฐฯ ลดลงแล้วถึงร้อยละ 55 จากเมื่อต้นปีหรือกว่าร้อยละ 64 จากเมื่อเดือนกรกฎาคมของปีที่แล้ว ซึ่งเป็นช่วงที่ราคาพุ่งขึ้นไปสู่จุดสูงสุด ในด้านระยะเวลาขนส่งสินค้านั้น ก็ได้ลดลงมาเหลือเฉลี่ย 24 วัน ซึ่งนับว่ากลับมาสู่ระดับเดียวกับช่วงก่อนวิกฤตการณ์โควิด

สำหรับท่าเรือในชายฝั่งตะวันออกของสหรัฐฯ ราคาค่าระวางเรือยังนับว่าสูงอยู่มาก ทั้งนี้ เนื่องจากปริมาณการขนส่งจากจีนมายังท่าเรือชายฝั่งตะวันออกของสหรัฐฯ เพิ่มมากขึ้นถึงร้อยละ 18.9 จากการที่ผู้ประกอบการส่วนมากย้ายการขนส่งไปยังท่าเรือชายฝั่งตะวันออกเพื่อเลี่ยงปัญหาหยุดงานประท้วงของพนักงานท่าเรือชายฝั่งตะวันตก ในช่วงสามเดือนที่ผ่านมา การย้ายการขนส่งไปยังชายฝั่งตะวันออก ได้เพิ่มความแออัดและเพิ่มความล่าช้าในการขนส่งขึ้นอย่างมีนัยสำคัญจากการรายงานของ Sea-Intelligence ระยะเวลาการขนส่งสินค้าของท่าเรือในชายฝั่งตะวันออกติดขัดอย่างมาก โดยในปัจจุบันมีตู้คอนเทนเนอร์ที่ขนส่งมายังท่าเรือชายฝั่งตะวันออกเพียงร้อยละ 18.7 เท่านั้นที่ระบายสินค้าได้ตามเวลา
อย่างไรก็ตาม หากท่าเรือทางชายฝั่งตะวันออกสามารถจัดการปัญหาด้านการจัดการการระบายสินค้าได้ ค่าระวางสินค้าเฉลี่ยโดยรวมมายังสหรัฐฯ ก็มีแนวโน้มที่จะลดลง ประกอบกับปัจจัยต่างๆ ที่เกื้อหนุน เช่น ราคาน้ำมันดิบซึ่งลดลงสู่ระดับ 90 เหรียญต่อบาร์เรล และอุปสงค์ของสินค้าในสหรัฐฯ เริ่มลดน้อยลง จากการใช้จ่ายในภาคบริการที่เริ่มกลับมาขยายตัว ภายหลังจากสถานการณ์โควิดคลี่คลาย

จากรายงานของ Flexport ซึ่งเป็นบริษัทให้คำปรึกษาเกี่ยวกับการจัดการห่วงโซ่อุปทานและระบบการขนส่ง พบว่าดัชนี PCI ซึ่งวัดการใช้จ่ายในการซื้อสินค้าของชาวอเมริกัน (Goods) เทียบกับการใช้จ่ายในภาคบริการ (Services) ในช่วงสองไตรมาสแรกของปี 2565 นั้นสูงกว่าช่วงก่อนเกิดวิกฤตการณ์โควิด แต่มีแนวโน้มจะลดลงในไตรมาสที่สาม ซึ่งหากปรับตามอัตราเงินเฟ้อที่เพิ่มสูงขึ้นแล้ว คาดว่าอุปสงค์ของสินค้าเมื่อเทียบกับภาคบริการจะลดลงอีกในเดือนกันยายน

นอกจากนี้ หากแยกประเภทของสินค้า งานวิจัยของ Flexport พบว่า ในช่วงครึ่งปีหลังของปี 2565 ผู้บริโภคในสหรัฐฯ จะลดอุปสงค์ของสินค้าเพื่อไปใช้จ่ายในภาคบริการ โดยอุปสงค์ของสินค้าแบบไม่คงทน (Nondurable Goods) เช่นเสื้อผ้า และครีมดูแลผิว จะลดลงมากกว่าการบริโภคสินค้าคงทน (Durable Goods) เช่น เฟอร์นิเจอร์ และอุปกรณ์

โดยอุปสงค์ของสินค้าคงทนในไตรมาสที่ 3 นี้จะสูงกว่าช่วงก่อนสถานการณ์โควิดร้อยละ 20 ขณะที่อุปสงค์ของสินค้าคงทนจะอยู่ที่ร้อยละ 90 เมื่อเทียบกับก่อนเกิดสถานการณ์โควิดจากข้อมูลจาก US Census Bureau แสดงให้เห็นว่า ยอดขายของร้านค้าปลีกโดยรวมในสหรัฐฯ ในเดือนกรกฎาคม เพิ่มขึ้นร้อยละ 0.7 จากเดือนมิถุนายน ซึ่งสูงขึ้นจากที่คาดการณ์ไว้ โดยหมวดหมู่สินค้าที่ยอดขายเพิ่มขึ้น เช่น เฟอร์นิเจอร์และของแต่งบ้าน ซี่งเพิ่มขึ้นร้อยละ 0.2 จากเดือนก่อน หรือร้อยละ 8.4 จากเดือนกรกฎาคมปีที่แล้ว อย่างไรก็ตาม ยอดขายของเสื้อผ้าในเดือนกรกฎาคมลดลงร้อยละ 0.6 จากเดือนก่อน ทั้งนี้ จากข้อมูลการระบายสินค้าของร้านค้าปลีก พบว่าในเดือนกรกฎาคม สัดส่วนของสินค้าคงคลังของร้านค้าปลีกต่อยอดขายของสินค้าสูงถึง 1.16 มากกว่าในช่วงเดือนกรกฎาคมของปีที่แล้วที่อยู่ที่ 1.07 และในช่วงต้นปีที่สัดส่วนดังกล่าวสูงเพียง 1.11 ซึ่งแสดงให้เห็นถึงการระบายสินค้าของร้านค้าปลีกในสหรัฐฯ ที่ช้าลง

รายงานจาก Walmart ห้างค้าปลีกรายใหญ่ของสหรัฐฯ ซึ่งมีสาขากว่า 4,735 สาขาทั่วสหรัฐฯ พบว่าปริมาณสินค้าคงคลังของบริษัทในไตรมาสสองเพิ่มขึ้นมากกว่าร้อยละ 25.6 เมื่อเทียบกับปีที่แล้ว โดยสำหรับสินค้าประเภทเสื้อผ้านั้นยอดขายลดลงอย่างมีนัยสำคัญในช่วง 6 เดือนที่ผ่านมา แบรนด์เสื้อผ้าชื่อดังของสหรัฐฯ GAP Abercombie & Fitch และ American Eagle Outfitters ได้ออกมากล่าวในเชิงเดียวกันว่าการระบายสินค้าในช่วงนี้ช้าลง และสินค้าคงคลังเพิ่มขึ้นถึง ร้อยละ 35-45 โดย GAP ได้กล่าวว่าผู้บริโภคในช่วงนี้ มองหาสินค้าประเภทชุดเดรสสำหรับไปเที่ยว และชุดทำงาน มากกว่าชุดฮูดดี้และชุดลำลองทั่วไปซึ่งเป็นจุดขายของบริษัท เนื่องจากสถานการณ์โควิดเริ่มคลี่คลายและการใช้ชีวิตของชาวอเมริกันเริ่มกลับเข้าสู่สภาวะปกติ

อย่างไรก็ตาม สำหรับสินค้าประเภทอาหาร พบว่าการระบายสินค้าของร้านค้าปลีกอยู่ในระดับคงที่ และยอดขายของสินค้าในหมวดหมู่อาหารในช่วง 7 เดือนแรกของปี 2565 ได้เพิ่มขึ้นแล้วร้อยละ 8.4 เทียบกับยอดขายในปีที่แล้ว นอกจากนี้ จากการคาดการณ์ของ the National Restaurant Association ยอดขายของธุรกิจร้านอาหารในสหรัฐฯในปี 2565 จะสูงถึง 8.98 แสนล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้นจากปี 2564 ถึงร้อยละ 12 ส่งผลดีต่อร้านอาหารไทยในสหรัฐฯ และธุรกิจส่งออกสินค้าประเภทวัตถุดิบ เครื่องปรุงรส เครื่องเทศ และข้าวไทย โดยมูลค่าการนำเข้าสินค้าประเภทซอสและผงปรุงรส (HS Code 2103) ของสหรัฐฯ จากไทย เฉพาะในครึ่งปีแรกของปี 2565 เพิ่มขึ้นแล้วกว่าร้อยละ 42.1 และสหรัฐฯ นำเข้าข้าว (HS Code 1006) จากไทย เพิ่มขึ้นร้อยละ 29.6 เมื่อเทียบกับช่วงครึ่งปีแรกของปีที่แล้ว

สถานการณ์ที่ดีขึ้นของระบบการขนส่งมายังสหรัฐฯ จากราคาค่าระวางเฉลี่ยที่เริ่มลดลง และราคาน้ำมันดิบโลกที่ส่งสัญญาณที่ดีขึ้น นับว่าเป็นข่าวดีสำหรับผู้ประกอบการไทยที่จะสามารถลดต้นทุนการส่งออกสินค้ามายังสหรัฐฯ อนึ่ง การลดอุปสงค์ของสินค้าและการขยายตัวอีกครั้งของภาคบริการในสหรัฐฯ อาจทำให้การส่งออกสินค้าจากไทยบางประเภทลดลงผู้ประกอบการไทยควรติดตามสถานการณ์ตลาดของสหรัฐฯ อย่างใกล้ชิด และปรับกลยุทธ์ในการขายสินค้าให้เข้ากับสถานการณ์และความต้องการของตลาดในปัจจุบัน นอกจากนี้ อาจเพิ่มการโปรโมทและขายสินค้าให้กับผู้บริโภคโดยตรงทางออนไลน์ และโซเชียลมีเดีย อย่างไรก็ตาม สำหรับธุรกิจส่งออกสินค้าอาหาร เช่น ข้าว วัตถุดิบ และเครื่องปรุง นับว่ายังคงมีโอกาสอย่างมากในตลาดสหรัฐฯ จากการที่การดำเนินชีวิตของชาวอเมริกันกลับสู่สภาวะปกติ และธุรกิจร้านอาหารฟื้นตัว

Leave a Comment

Your email address will not be published. Required fields are marked *

OMD KM

FREE
VIEW