รายงานสถานการณ์การค้า รัสเซีย ณ กรุงมอสโก เดือน สิงหาคม 2564

การส่งออกของไทยไปยังตลาดรัสเซียเดือนสิงหาคม 2564 มีมูลค่า 82.2 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หากเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่ผ่านมา เพิ่มขึ้นร้อยละ 55.73 เดือนนี้ถือเป็นเดือนที่มีการปรับตัวดีขึ้นค่อนข้างสูงต่อเนื่องเป็นเดือนที่ห้า สาเหตุเนื่องจากสถิติของปีก่อนที่ใช้เป็นฐานเปรียบเทียบนั้นมีมูลค่าต่ำมากในช่วงที่รัสเซียประกาศใช้มาตรการป้องกันในภาวะวิกฤตโควิด -19 ที่ภาคธุรกิจการค้าไม่สามารถดำเนินการได้ตามปกติ ขณะนี้มีมูลค่าการส่งออกสะสม 8 เดือนแรก 619.92 ล้านดอลลาร์สหรัฐ เพิ่มขึ้นร้อยละ 29.53 แต่ยังคงได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของ COVID-19 สายพันธุ์เดลต้าระดับหนึ่ง หลังจากภาครัฐเร่งขยายการฉีดวัคซีนให้ครอบคลุมเพิ่มขึ้นช่วยให้มีจำนวนผู้ติดเชื้อใหม่รายวันลดลงและประชาชนก็เริ่มมีความมั่นใจในความปลอดภัยโดยออกมาใช้ชีวิตภายนอกตามปกติมากขึ้น อีกทั้งสถานการณ์ทางเศรษฐกิจและการค้าทั่วไปในรัสเซียมีการฟื้นตัวดีเป็นลำดับและภาครัฐก็ได้ผ่อนคลายมาตรการป้องกันการแพร่ระบาดลงมาก อย่างไรก็ตามยังมีปัญหาอุปสรรคที่น่ากังวล ได้แก่ อัตราเงินเฟ้อในรัสเซียที่ขยับสูงขึ้นอย่างต่อเนื่องโดยเฉพาะอาหารมีการปรับราคาเพิ่มขึ้นเป็นลำดับ ค่าขนส่งสินค้าระหว่างประเทศที่สูงกว่าปกติมาอย่างต่อเนื่อง การแพร่ระบาดเชื้อโควิด-19 ในโรงงานผลิตในประเทศไทยที่ทำให้ระบบห่วงโซ่อุปทานของบางอุตสาหกรรมสะดุดลงชั่วคราว รวมทั้งการหยุดให้บริการของสายการบิน Aeroflot เส้นทางรัสเซีย – ไทยไปจนถึงสิ้นเดือนตุลาคม ทำให้ไม่สามารถให้บริการขนส่งสินค้าผัก/ผลไม้สดจากไทยไปยังรัสเซียได้โดยสะดวกและจะมีค่าใช้จ่ายรวมทั้งความเสี่ยงเพิ่มขึ้นจากการใช้การขนส่งทางเลือกอื่น

ตารางแสดงมูลค่าการส่งออกสินค้า 10 อันดับแรก เดือนสิงหาคม 2564

 ประเภทสินค้ามูลค่า (ล้าน USD)อัตราการขยายตัว %สัดส่วน %
1รถยนต์ อุปกรณ์ และส่วนประกอบ24.452.5829.68
2ผลิตภัณฑ์ยาง12.7128.6115.49
3เครื่องจักรกลและส่วนประกอบของเครื่องจักรกล4.898.695.88
4เม็ดพลาสติก3.7255.994.54
5ผลไม้กระป๋องและแปรรูป2.9-19.603.56
6อากาศยาน ยานอวกาศ และส่วนประกอบ2.81,305.013.38
7เครื่องปรับอากาศและส่วนประกอบ2.8107.663.36
8แผงสวิทช์และแผงควบคุมกระแสไฟฟ้า2.144.502.56
9เครื่องยนต์สันดาปภายในแบบลูกสูบและส่วนประกอบ1.8228.172.23
10อัญมณีและเครื่องประดับ1.7119.492.04
 รวม 10 อันดับแรก59.881.2072.73
 อื่นๆ22.413.2727.27
 รวม82.255.73100.00
ที่มา: ศูนย์เทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร สำนักงานปลัดกระทรวงพาณิชย์ โดยความร่วมมือจากกรมศุลกากร

ในเดือนสิงหาคม 2564 สินค้าส่งออก 10 อันดับแรก มีสัดส่วนร้อยละ 72.73 ของมูลค่าการส่งออกทั้งหมด ขยายตัวสูงร้อยละ 81.20 โดย รถยนต์ อุปกรณ์ และส่วนประกอบ ยังอยู่ในลำดับที่หนึ่งและมีเสถียรภาพมากขึ้นเป็นลำดับ โดยเดือนนี้กลับมาเป็นบวกต่อเนื่องนับตั้งแต่เดือนมีนาคมที่ผ่านมาคิดเป็นมูลค่า 24.4 ล้านดอลลาร์สหรัฐ มีอัตราเติบโตร้อยละ 52.58 ซึ่งในหมวดนี้ร้อยละ 45 มาจากส่วนประกอบและอุปกรณ์รถยนต์ มูลค่า 10.9 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ตามมาด้วยรถยนต์นั่ง ร้อยละ 28 คิดเป็นมูลค่า 6.9 ล้านดอลลาร์สหรัฐ และรถปิคอัพอีกร้อยละ 27 มูลค่า 6.5 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ขณะที่หมวดสินค้าที่เกี่ยวเนื่องกับอุตสาหกรรมยานยนต์ เช่น เครื่องยนต์สันดาปภายในแบบลูกสูบและส่วนประกอบ เปลี่ยนแปลงไปในทิศทางเดียวกัน ขยายตัวสูงถึงร้อยละ 228 เช่นเดียวกับหมวด ผลิตภัณฑ์ยางยานพาหนะ ภายใต้กลุ่มผลิตภัณฑ์ยางก็เติบโตในอัตราร้อยละ 88

จำนวน 9 ใน 10 อันดับแรกของสินค้าไทยที่ส่งไปรัสเซียในเดือนสิงหาคม 2564 มีอัตราการขยายตัวในแดนบวกในอัตราสูงเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันในปีที่ผ่านมา ยกเว้น ผลไม้กระป๋องและแปรรูป ที่หดตัวร้อยละ -19.60 เนื่องจากความไม่สม่ำเสมอของวัตถุดิบในการผลิตสัปปะรดกระป๋อง

หมวดสินค้าศักยภาพอย่างอาหารและเครื่องดื่มรวมไปถึงอาหารสัตว์เลี้ยง มีความผันผวนในบางช่วงเวลาและสลับสับเปลี่ยนกันไปในแต่ละประเภทสินค้า โดยเดือนนี้ ผลไม้สด/แช่เย็น/แช่แข็ง/แห้ง ผลิตภัณฑ์ข้าวสาลีและอาหารสำเร็จรูปอื่น ๆ และ อาหารสัตว์ ขยายตัวได้ดี ส่วน ผลไม้กระป๋องและแปรรูป อาหารทะเลกระป๋องและแปรรูป เนื้อปลาสด/แช่เย็น/แช่แข็ง และ สิ่งปรุงรสอาหาร ปรับตัวลดลง อย่างไรก็ตามปัญหาการขาดแคลนตู้ขนส่งสินค้าและค่าขนส่งที่ปรับตัวสูงขึ้นมากยังไม่มีการเปลี่ยนแปลงไปในทางที่ดีขึ้น

สำหรับสินค้า เครื่องสำอาง สบู่ และผลิตภัณฑ์รักษาผิว ยังคงหดตัวอย่างต่อเนื่องนับตั้งแต่ต้นปี

ตารางแสดงโครงสร้างการส่งออกสินค้าไทยไปยังรัสเซีย ช่วง 8 เดือนแรก ปี 2564

 ประเภทสินค้ามูลค่า (ล้าน USD)อัตราการขยายตัว %สัดส่วน %
1สินค้าเกษตรกรรม (กสิกรรม,ปศุสัตว์,ประมง)44.345.167.15
2สินค้าอุตสาหกรรมการเกษตร65.616.3910.58
3สินค้าอุตสาหกรรม497.3435.4180.23
4สินค้าแร่และเชื้อเพลิง12.6368.752.04
 รวม619.9229.53100.00
ที่มา: ศูนย์เทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร สำนักงานปลัดกระทรวงพาณิชย์ โดยความร่วมมือจากกรมศุลกากร

พิจารณาโครงสร้างสินค้าส่งออกจากไทยไปยังตลาดรัสเซียในช่วง 8 เดือนแรก ปี 2564 พบว่า กลุ่มสินค้าอุตสาหกรรม เป็นกลุ่มสินค้าหลักที่ครองส่วนแบ่งการส่งออกจากไทยทั้งหมดกว่าร้อยละ 80 ในส่วนนี้แบ่งออกเป็นหมวดรถยนต์ อุปกรณ์ และส่วนประกอบเป็นสินค้าหลัก (สัดส่วนร้อยละ 31.27 ของการส่งออกทั้งหมดของไทยไปยังรัสเซีย) ตามมาด้วย ผลิตภัณฑ์ยาง (ร้อยละ 10.46) เครื่องจักรกลและส่วนประกอบของเครื่องจักรกล (ร้อยละ 5.66) เครื่องปรับอากาศและส่วนประกอบ (ร้อยละ 4.79) เม็ดพลาสติก (ร้อยละ 4.03) และแผงสวิทช์และแผงควบคุมกระแสไฟฟ้า (ร้อยละ 2.62)  กลุ่มรองลงมาเป็น กลุ่มสินค้าอุตสาหกรรมการเกษตร สัดส่วนรวมร้อยละ 10.58ที่มีผลไม้กระป๋องและแปรรูป (ร้อยละ 4.77) เป็นสินค้านำ ตามมาด้วยอาหารทะเลกระป๋องและแปรรูป (ร้อยละ 2.02) ถัดไปเป็น กลุ่มสินค้าเกษตรกรรม มีสัดส่วนร้อยละ 7.15 แบ่งเป็นกลุ่มสินค้ากสิกรรม (ร้อยละ 5.55) แยกย่อยออกเป็นยางพารา (ร้อยละ 3.24) ผลไม้สด แช่เย็น แช่แข็ง และแห้ง (ร้อยละ 1.06) และข้าว (ร้อยละ 0.28)  เป็นสินค้าหลัก รวมทั้งกลุ่มสินค้าประมง (ร้อยละ 1.61) ที่มีปลา (ร้อยละ 1.36) เป็นสินค้าหลัก

ตารางแสดงสรุปมูลค่าการส่งออกสินค้า 10 อันดับแรก ช่วง 8 เดือนแรก ปี 2564

 ประเภทสินค้ามูลค่า (ล้าน USD) อัตราการขยายตัว %สัดส่วน %
1รถยนต์ อุปกรณ์ และส่วนประกอบ193.8644.5631.27
2ผลิตภัณฑ์ยาง64.8723.4810.46
3เครื่องจักรกลและส่วนประกอบของเครื่องจักรกล35.0635.375.66
4เครื่องปรับอากาศและส่วนประกอบ29.7262.324.79
5ผลไม้กระป๋องและแปรรูป29.55-4.164.77
6เม็ดพลาสติก24.97110.604.03
7ยางพารา20.09102.243.24
8แผงสวิทช์และแผงควบคุมกระแสไฟฟ้า16.2755.722.62
9เครื่องยนต์สันดาปภายในแบบลูกสูบและส่วนประกอบ14.52141.152.34
10อัญมณีและเครื่องประดับ14.14-17.772.28
 รวม 10 อันดับแรก443.0539.7071.47
 อื่นๆ176.869.5428.53
 รวม619.9229.53100.00
ที่มา: ศูนย์เทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร สำนักงานปลัดกระทรวงพาณิชย์ โดยความร่วมมือจากกรมศุลกากร

จากมูลค่าการส่งออกช่วง 8 เดือนแรกในปี 2564 จะเห็นว่าสินค้า รถยนต์ อุปกรณ์ และส่วนประกอบ ยังคงมีบทบาทสำคัญและเป็นสินค้าหลักมีมูลค่าสูงที่สุดเหนือกว่าทุกหมวด ด้วยมูลค่ากว่า 193 ล้านดอลลาร์สหรัฐ โดยครองสัดส่วนการส่งออกของทั้งหมดร้อยละ 31.27 ทั้งนี้วิกฤตจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 บรรเทาลงและจะช่วยให้อุตสาหกรรมยานยนต์ฟื้นตัวได้ดีตลอดปีนี้ แต่ทั้งนี้ปัญหาการขาดแคลนชิ้นส่วนยานยนต์ทั่วโลกที่มีผลกระทบต่อห่วงโซ่อุปทานการผลิตอาจเป็นอุปสรรคในการขยายตัว

ผลิตภัณฑ์ยาง โดยสัดส่วนร้อยละ 60 ของผลิตภัณฑ์ยางทั้งหมดเป็นยางใหม่สำหรับยานพาหนะต่าง ๆ ซึ่งตอบสนองตลาดรถยนต์ที่กำลังเติบโต รองลงมาร้อยละ 28 เป็นถุงมือยาง ถัดไปร้อยละ 8 เป็นยางวัลแคไนซ์ และอีกร้อยละ 7 เป็นผลิตภัณฑ์ยางที่ใช้ทางเภสัชกรรม ด้วยปัจจัยการแพร่ระบาดของ COVID-19 ก่อให้เกิดความต้องการใช้ผลิตภัณฑ์ป้องกันเชื้อเพิ่มขึ้นอย่างชัดเจน โดยเฉพาะถุงมือยาง ในช่วงที่ผ่านมาประเทศไทยไม่มีกำลังผลิตพอเพียงต่อความต้องการของทั่วโลก แต่ขณะนี้ผู้ผลิตได้เพิ่มกำลังการผลิตขึ้นแล้วและเปิดรับออร์เดอร์ใหม่ คาดว่าตลาดถุงมือยางจะเติบโตได้ดีตลอดทั้งปี

เครื่องปรับอากาศและส่วนประกอบ ส่วนใหญ่สินค้าส่งออกของไทยเป็นเครื่องปรับอากาศประกอบสำเร็จรูปทั้งแบบเปลี่ยนวงจรความเย็นหรือความร้อนและแบบติดหน้าต่างหรือฝาผนัง หลังจากสถานการณ์ทางเศรษฐกิจหดตัวในปีที่ผ่านมาทำให้ความต้องการชะลอตัว แต่เมื่อสถานการณ์เริ่มปรับตัวดีขึ้นส่งผลให้มียอดนำเข้าเพิ่มขึ้นอย่างชัดเจนและต่อเนื่อง

อัญมณีและเครื่องประดับ แม้ว่าอัญมณีจะกลับมาเติบโตได้ดี แต่ทองคำยังไม่ได้แปรรูปที่เป็นสิ่งที่มีมูลค่าสูงได้หดตัวลงเป็นศูนย์เมื่อเทียบกับปีที่ผ่านมาจึงฉุดให้มูลค่ารวมลดลง แต่จากสถานการณ์ทางเศรษฐกิจที่เริ่มฟื้นตัวทำให้สินค้าอัญมณีและเครื่องประดับที่ถือว่าเป็นสินค้าฟุ่มเฟือยเริ่มขยับตัวในทิศทางบวกและหากสถานการณ์แพร่ระบาดโควิด-19 คลี่คลายลงจนผู้นำเข้าสามารถเดินทางมาเยือนงานแสดงสินค้าในประเทศไทยได้ก็น่าจะช่วยกระตุ้นให้การส่งออกสินค้านี้ของไทยขยับตัวสูงขึ้นโดยเฉพาะอัญมณี

เครื่องสำอาง สบู่ และผลิตภัณฑ์รักษาผิว แม้จะเป็นสินค้าที่มีมูลค่าไม่มากนักแต่มีลักษณะโดดเด่นในศักยภาพที่เคยเติบโตประคองตัวได้อย่างต่อเนื่องในแทบทุกสถานการณ์ทางเศรษฐกิจ แต่นับตั้งแต่ต้นปีของปีนี้ยังไม่สามารถฝ่าวิกฤติไปได้ทำให้เกิดการหดตัวลงอย่างแรงและต่อเนื่อง

คาดการณ์การส่งออกของไทยไปยังตลาดรัสเซีย

แม้ว่ารัสเซียยังมียอดผู้ติดเชื้อโควิด-19 รายวันเกินกว่า 20,000 คน และมีอัตราการตายวันละ 7 – 800 ราย แต่ภาครัฐก็ได้ผ่อนคลายมาตรการป้องกันอย่างเข้มข้นลงทุกด้าน ขณะเดียวกันก็เร่งฉีดวัคซีนให้ครอบคลุมมากขึ้นรวมทั้งแรงงานต่างด้าว ดังจะเห็นได้ว่าประชาชนออกมาใช้ชีวิตกันตามปกติมากขึ้นเป็นลำดับ

ตัวเลขคาดการณ์การเติบโตทางเศรษฐกิจของรัสเซียล่าสุด กระทรวงการคลังได้ออกมาประกาศว่าจะเติบโตได้ถึงร้อยละ 4 ซึ่งถือว่าเป็นอัตราที่สูงมาก เพราะรัสเซียมีอัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจไม่เคยถึงร้อยละ 3 มาเป็นระยะเวลานับ 10 ปี แต่ทั้งนี้อัตราเงินเฟ้อก็เพิ่มขึ้นถึงร้อยละ 6.7 จนกระทรวงการคลังต้องพิจารณาปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยเพื่อชะลอความร้อนแรงของเศรษฐกิจลง

โอกาสการส่งออกของไทยยังต้องพึ่งพาหมวดสินค้ารถยนต์ อุปกรณ์ และส่วนประกอบ เป็นสำคัญอยู่ต่อไปเนื่องจากครองสัดส่วนมูลค่าการส่งออกของไทยทั้งหมดกว่าร้อยละ 30 ยังไม่รวมผลิตภัณฑ์ยางรถยนต์และเครื่องยนต์สันดาปภายในแบบลูกสูบและส่วนประกอบที่มีการเคลื่อนไหวไปในทิศทางเดียวกันด้วย ซึ่งสินค้าทั้งสามรายการข้างต้นรวมกันแล้วก็มีสัดส่วนประมาณเกือบกึ่งหนึ่งของมูลค่าการส่งออกรวมทั้งหมด รองลงมาเป็นสินค้าเกษตรและอาหารที่ไทยถือเป็นประเทศหนึ่งที่มีจุดแข็งทางด้านการเกษตรและการผลิตอาหารที่ได้รับการยอมรับของโลก ทั้งนี้มีสินค้าเด่นตัวใหม่ที่มีศักยภาพเข้ามาเสริมตั้งแต่ปีที่ผ่านมาได้แก่ แผงสวิทช์และแผงควบคุมกระแสไฟฟ้า รวมทั้งสินค้าสุขอนามัยเพื่อป้องกันโรคติดต่อโดยเฉพาะถุงมือยาง นอกจากนั้นหวังว่าสินค้าในกลุ่มแฟชั่น ได้แก่ รองเท้าและชิ้นส่วน โดยเฉพาะอัญมณีและเครื่องประดับที่เคยหดตัวอย่างยาวนานและต่อเนื่องจะสามารถกลับมาเติบโตได้อีกครั้งอย่างค่อยเป็นค่อยไป

จากการส่งออกของไทยไปยังรัสเซียที่หดตัวอย่างรุนแรงในปีที่ผ่านมาทำให้ฐานตัวเลขค่อนข้างต่ำ ซึ่งปีนี้สถานการณ์ทางเศรษฐกิจโดยรวมสามารถฟื้นตัวได้อย่างรวดเร็ว จึงคาดว่าการส่งออกของไทยทั้งปีจะสามารถขยายตัวได้ไม่น้อยกว่าร้อยละ 20 ทั้งนี้ยังมีปัญหาและอุปสรรคที่น่ากังวล ได้แก่ การขาดแคลนตู้คอนเทนเนอร์และค่าขนส่งที่มีราคาแพงยังเป็นไปอย่างต่อเนื่อง การขาดแคลนชิ้นส่วนยานยนต์ในระบบห่วงโซ่อุปทาน และการปิดโรงงานผลิตชั่วคราวจากการแพร่ระบาดโควิด-19 ในประเทศไทย หากช่วงเวลาที่เหลือในช่วงท้ายปีก่อนถึงเทศกาลจับจ่ายใช้สอยยังไม่สามารถแก้ไขได้ตามที่คาดการณ์ไว้ก็จะเป็นอุปสรรคสำคัญต่อการขยายตัวการส่งออกในภาพรวม

สรุปภาพรวมการค้าระหว่างไทย – ประเทศสมาชิกสหภาพเศรษฐกิจยูเรเชีย

รัสเซีย เป็นประเทศคู่ค้าหลักของไทยในสหภาพเศรษฐกิจยูเรเชีย ในช่วง 8 เดือนแรกของปี พ.ศ. 2564 ครองสัดส่วนการค้ารวมของไทยในสหภาพเศรษฐกิจยูเรเชียสูงถึงร้อยละ 92.58 คิดเป็นมูลค่า 1,981.97 ล้านดอลลาร์สหรัฐ และมีสัดส่วนการเป็นตลาดส่งออกของไทยในสหภาพเศรษฐกิจยูเรเชียร้อยละ 93.31 คิดเป็นมูลค่า 619.92 ล้านดอลลาร์สหรัฐ รวมทั้งมีสัดส่วนการส่งออกของสหภาพฯ มายังประเทศไทยร้อยละ 92.25 เป็นมูลค่า 1,362.05 จากสินค้าน้ำมันดิบ ปุ๋ย และสินแร่โลหะ โดยรัสเซียเป็นฝ่ายได้ดุลการค้ากับไทย 742.14 ล้านดอลลาร์สหรัฐ

หมายเหตุ ตัวเลขอาจมีความคลาดเคลื่อนจากความเป็นจริงไปบ้าง เนื่องจากรัสเซียเป็นประเทศใหญ่และเป็นศูนย์กลางเศรษฐกิจการค้าของภูมิภาค จึงอาจมีการสั่งนำเข้าสินค้ามายังรัสเซียก่อนจะกระจายสินค้านั้นหรือบางส่วนไปยังตลาดประเทศสมาชิกสหภาพเศรษฐกิจยูเรเชียที่อยู่ข้างเคียงอีกทอดหนึ่ง

ภาพรวมการค้าไทย – สมาชิกสหภาพเศรษฐกิจยูเรเชีย ช่วง 8 เดือนแรก ปี 2564

ประเทศมูลค่าการค้ารวม (ล้าน USD)ส่งออกนำเข้าดุลการค้า
มูลค่า (ล้าน USD) อัตราการขยายตัว % มูลค่า (ล้าน USD)อัตราการขยายตัว % มูลค่า (ล้าน USD)อัตราการขยายตัว %
อาร์เมเนีย4.53-7.734.4416.830.10-91.214.34
เบลารุส60.8432.522.77-18.8958.0736.64-55.30
คีร์กีซสถาน39.206,288.690.7830.4438.42~-37.65
คาซัคสถาน54.1170.6336.4354.3017.68118.2418.75
รัสเซีย1,981.9726.20619.9229.531,362.0524.75-742.14
รวม2,140.6529.45664.3430.251,476.3229.09-811.98
ที่มา: ศูนย์เทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร สำนักงานปลัดกระทรวงพาณิชย์ โดยความร่วมมือจากกรมศุลกากร

มูลค่าการค้ามากที่สุดลำดับที่สองคือ เบลารุส ที่มีมูลค่าการค้ารวม 60.84 ล้านดอลลาร์สหรัฐ โดยเบลารุสเป็นฝ่ายได้ดุลการค้า 55.30 ล้านดอลลาร์สหรัฐ จากการส่งออกปุ๋ยโปแทช ส่วนไทยได้สูญเสียตลาดการส่งออกยางพาราไปจากสาเหตุที่เบลารุสเลือกไปร่วมลงทุนในอุตสาหกรรมยางพารากับเวียดนาม

ลำดับที่สามได้แก่ คาซัคสถาน ที่มีมูลค่ารวม 54.11 ล้านดอลลาร์สหรัฐ โดยไทยเป็นฝ่ายได้ดุลการค้า 18.75 ล้านดอลลาร์สหรัฐ จากการส่งออกรถยนต์ อุปกรณ์ และส่วนประกอบ ที่มีสัดส่วนการส่งออกของไทยถึงร้อยละ 50.15 รองลงมาได้แก่ เครื่องจักรกลและส่วนประกอบของเครื่องจักรกล ตู้เย็น/ตู้แช่แข็งและส่วนประกอบ และผลิตภัณฑ์ยาง

ลำดับที่สี่คือ คีร์กีซสถาน ที่มีมูลค่าการค้ารวม 39.20 ล้านดอลลาร์สหรัฐ โดยที่ไทยเป็นฝ่ายส่งออกมีมูลค่าเพียงเล็กน้อย ขณะที่นำเข้าเครื่องเพชรพลอย อัญมณี เงินแท่งและทองคำจากคีร์กีซสถานถึง 38.42 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ส่งผลให้ขาดดุลการค้า 37.65 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ลำดับสุดท้ายคือ อาร์เมเนีย ที่มีมูลค่าการค้ารวมเพียง 4.53 ล้านดอลลาร์สหรัฐ โดยไทยเป็นฝ่ายได้ดุลการค้า 4.34 ล้านดอลลาร์สหรัฐ โดยมีสินค้าสำคัญที่ค้าขายแลกเปลี่ยนกันไปมาระหว่างกันคือ อัญมณีและเครื่องประดับ เนื่องจากต่างก็เป็นประเทศผู้ผลิตอัญมณีและเครื่องประดับด้วยกัน

Leave a Comment

Your email address will not be published. Required fields are marked *

OMD KM

FREE
VIEW