รายงานสถานการณ์การค้า ฮังการี กรุงบูดาเปสต์ เดือน กรกฎาคม 2564

ภาวะเศรษฐกิจสหภาพยุโรป

  • คณะกรรมาธิการยุโรปได้เผยแพร่รายงานการคาดการณ์ภาวะเศรษฐกิจสำหรับสหภาพยุโรป และกลุ่มประเทศเขตยูโร (Eurozone) ประจำฤดูใบไม้ผลิ ปี 2564 (Spring 2021 Economic Forecast) เมื่อวันที่ 12 พฤษภาคมที่ผ่านมา สรุปสาระสำคัญดังต่อไปนี้
  • ภาวะเศรษฐกิจโดยรวม: เศรษฐกิจสหภาพยุโรปมีสัญญาณปรับตัวดีขึ้น คาดการณ์ว่า ยอดผลิตภัณฑ์
    มวลรวมภายในประเทศ (GDP) ของทั้งสหภาพ  (EU-27) จะขยายตัวร้อยละ 4.2 ในปี 2564 และร้อยละ 4.4 ในปี 2565 ส่วน GDP เฉพาะเขตยูโร จะขยายตัวร้อยละ 4.3 ในปี 2564 และร้อยละ 4.4 ในปี 2565
  • ปัจจัยสนับสนุนสำคัญ: ได้แก่ แผนการดำเนินการฟื้นฟูเศรษฐกิจ (National Recovery and Resilience Plan) ของแต่ละประเทศ การดำเนินมาตรการ​ฉีดวัคซีนป้องกันโรคโควิด-19 ของแต่ละประเทศ และ
    การผ่อนคลายมาตรการล็อกดาวน์ในช่วงกลางปี 2564 หรือช่วงฤดูร้อน เพื่อกระตุ้นกิจกรรมทางเศรษฐกิจและการท่องเที่ยวระหว่างประเทศ หากเป็นไปตามที่คาดไว้ ภาวะเศรษฐกิจในประเทศสมาชิกทั้ง 27 ประเทศจะกลับสู่ระดับปกติก่อนวิกฤตโรคโควิด-19 ได้ภายในปี 2565
  • ความท้าทายสำคัญ: คือ การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิดสายพันธุ์ใหม่ที่น่ากังวลภายในพื้นที่สหภาพยุโรป (Variants of Concern) ได้แก่ สายพันธุ์ Alpha, Beta, Gamma และ Delta ซึ่งมีแนวโน้มว่าจะแพร่กระจายได้ง่ายในช่วงฤดูร้อนที่ประเทศสมาชิกอนุญาตให้เดินทางข้ามแดนอย่างอิสระเสรีมากขึ้น ล่าสุด คณะกรรมาธิการยุโรปจึงดำเนินการจัดซื้อวัคซีน โดยเน้นจัดซื้อวัคซีนชนิด mRNA เป็นหลัก จากบริษัท BioNTech-Pfizer (พัฒนาร่วมกัน) ล็อตที่สาม จำนวน 1.8 พันล้านโดส เมื่อเดือนพฤษภาคมที่
    ผ่านมา และจากบริษัท Moderna ล็อตที่สอง จำนวน 150 ล้านโดส เมื่อเดือนมิถุนายนที่ผ่านมา
    โดยการจัดซื้อนี้เป็นไปเพื่อสนับสนุนสต็อควัคซีนของประเทศสมาชิก เพื่อให้พลเมืองและผู้อยู่อาศัยภายในสหภาพยุโรปได้เข้าถึงวัคซีนที่ปลอดภัยได้อย่างครอบคลุมและไม่เสียค่าใช้จ่าย นอกจากนี้คณะกรรมาธิการยุโรปยังเปิดโอกาสให้ประเทศสมาชิกสามารถขายหรือบริจาควัคซีนส่วนเกินให้ประเทศอื่นได้ รวมถึง
    ให้อิสระประเทศสมาชิกสั่งซื้อวัคซีนเพิ่มเติมจากบริษัทอื่นๆ ในอนาคตได้ เมื่อวัคซีนเหล่านั้นผ่าน
    การรับรองว่าปลอดภัยและให้ใช้ได้ในวงกว้างแล้ว เช่น วัคซีนจากบริษัท Sanofi-GSK และ CureVac
  • อัตราเงินเฟ้อ: คณะกรรมาธิการยุโรปรายงานว่า ดัชนีราคาผู้บริโภค (HICP) ซึ่งวัดอัตราเงินเฟ้อของผู้บริโภคทั้งสหภาพประจำปี 2563 อยู่ที่ร้อยละ 0.7 และคาดว่าจะปรับตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 1.9 ในปี 2564 และร้อยละ 1.5 ในปี 2565
  • ส่วนอัตราเงินเฟ้อเฉพาะเขตยูโร อยู่ที่ร้อยละ 0.3 ในปี 2563 และคาดว่าจะปรับตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 1.7 ในปี 2564 และร้อยละ 1.3 ในปี 2565 เป็นเหตุจากปัจจัยฐานสูงในปีก่อนหน้าซึ่งส่งผลกระทบถึงปีนี้ และการปรับขึ้นราคาเชื้อเพลิงและสินค้าประเภทยาสูบ
  • การขาดดุลงบประมาณ: มาตรการทางการคลังเพื่อรับมือกับวิกฤตโควิด-19 ทำให้ภาครัฐมีรายจ่ายที่สูงขึ้น อัตราการขาดดุลงบประมาณเฉลี่ยในประเทศสมาชิกสหภาพยุโรป และสมาชิกเขตยูโรเพิ่มขึ้นอย่างก้าวกระโดด จากระดับร้อยละ 0.5 ของ GDP ในปี 2562 มาเป็นร้อยละ 7 ในปี 2563 คาดการณ์ว่าปี 2564 ค่าเฉลี่ยของการขาดดุลงบประมาณในประเทศสมาชิกสหภาพยุโรป และสมาชิกเขตยูโรโซน จะอยู่ที่
    ร้อยละ 7.5 และร้อยละ 8 ตามลำดับ ทว่าจะลดลงเหลือเพียงร้อยละ 3.75 ในปี 2565
  • หนี้สาธารณะ: คาดว่า ในปี 2564 การก่อหนี้สาธารณะในสหภาพยุโรป และเขตยูโรจะเพิ่มขึ้นเป็นร้อยละ 95 และ 102 ของ GDP ทั้งภูมิภาคตามลำดับ
  • อัตราการว่างงาน: อัตราการว่างงานในปี 2563 อยู่ที่ร้อยละ 7.1 ต่อกำลังแรงงานทั้งหมด คาดว่าจะเพิ่มขึ้นเป็นร้อยละ 7.6 ในปี 2564 และปรับลดลงร้อยละ 7 ในปี 2565

ภาวะเศรษฐกิจประเทศโรมาเนีย

  • ปัจจัยสำคัญที่จะช่วยกระตุ้นกิจกรรมทางเศรษฐกิจในประเทศโรมาเนียได้ คือแผนการเปิดประเทศสำหรับนักท่องเที่ยวจากภายในสหภาพยุโรปที่ฉีดวัคซีนป้องกันโรคโควิด-19 แล้วอย่างรัดกุม และกองทุนจัดสรรงบประมาณภายใต้นโยบาย Next Generation EU Recovery and Resilience Facility (RRF) สนับสนุนการฟื้นฟูเศรษฐกิจสำหรับประเทศสมาชิกสหภาพยุโรปจากคณะกรรมาธิการยุโรป (COVID-19
    EU Recovery Package) ในวงเงิน 7.5 แสนล้านยูโร อนุมัติโดยคณะผู้นำชาติสมาชิกสหภาพยุโรปเมื่อเดือนกรกฎาคมปีที่ผ่านมา
  • รัฐบาลโรมาเนียได้เสนอแผน National Recovery and Resilience Plan ในวงเงิน 2.93 หมื่นล้านยูโร (ประมาณ 1.115 ล้านล้านบาท) ประกอบด้วยเงินงบประมาณจัดสรรจากคณะกรรมาธิการยุโรป 1.43 หมื่นล้านยูโร (ประมาณ 5.442 แสนล้านบาท) และเงินกู้ 1.5 หมื่นล้านยูโร (ประมาณ 5.7 แสนล้านบาท) จากกลไก Recovery and Resilience Facility เมื่อปลายเดือนพฤษภาคม ขณะนี้กำลังรอการพิจารณาแผนงบประมาณจากคณะกรรมาธิการยุโรป
  • แผน National Recovery and Resilience Plan ของโรมาเนีย เสนอการพัฒนา 6 ด้านสำคัญ ได้แก่ การเปลี่ยนผ่านด้านพลังงานสะอาด (Green Transition) การนำเทคโนโลยีดิจิตัลมาใช้ในการปรับปรุงเศรษฐกิจและการบริหารบ้านเมือง (Digital Transformation) การพัฒนาการวางผังเมืองและการเติบโตของเขตเมืองอย่างชาญฉลาด (Smart Growth) การสร้างความสัมพันธ์เชื่อมโยงกันระหว่างสังคมและดินแดนที่อยู่ (Social and Territorial Cohesion) นโยบายสาธารณสุข (Health and Resilience) และการวางแผนนโยบายพัฒนาประชากรรุ่นใหม่ สอดคล้องกับคุณค่าของสหภาพยุโรป อีกทั้งรัฐบาลโรมาเนียเสนอมาตรการการพัฒนาการขนส่งที่ยั่งยืน ระบบการศึกษา สาธารณสุข  และการปรับเข้าสู่ความเป็นดิจิทัลของภาครัฐ (Digitalization) รัฐบาลโรมาเนียคาดการณ์ว่าจะดำเนินการตามแผนดังกล่าวต่อเนื่องจนถึงปี 2569 และคาดหวังว่าจะช่วยกระตุ้นการลงทุนในประเทศได้
  • ภาวะเศรษฐกิจโดยรวม: GDP โรมาเนียประจำปี 2563 ได้หดตัวลงร้อยละ 3.9 เมื่อเทียบกับปีที่ผ่านมา ซึ่งน้อยกว่าที่รัฐบาลโรมาเนียคาดการณ์ไว้ที่ร้อยละ 4.2-4.4 ในภาพรวม กิจกรรมทางเศรษฐกิจชะงักลงในปลายไตรมาสที่ 1 หดตัวร้อยละ 11.8 เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อนหน้า ก่อนจะค่อยฟื้นตัวในในไตรมาสถัดไป อัตราการเติบโต GDP ประจำไตรมาสที่ 2 เติบโตร้อยละ 5.6 ส่วนไตรมาสที่ 4 เติบโตร้อยละ 4.8
  • การขยายตัวทางเศรษฐกิจที่แท้จริง (Real GDP): คาดว่าในปี 2564 และ 2565 จะเติบโตที่อัตราร้อยละ 5.1 และ 4.9 ตามลำดับ คาดการณ์ว่าปรับตัวดีขึ้นตามสภาพเศรษฐกิจโลก

ด้านธนาคารโลก คาดการณ์ว่า GDP โรมาเนียในปี 2564 จะเติบโตที่ร้อยละ 6 โดยมองว่าสถานการณ์เศรษฐกิจในภูมิภาคยุโรปกลางเริ่มปรับตัวดีขึ้นในปีนี้ ส่วนรัฐบาลโรมาเนียคาดการณ์ GDP ปี 2564 อยู่ที่ร้อยละ 4.3-5

  • การใช้จ่าย: ในปี 2563 การบริโภคภาคเอกชนหดตัวลงร้อยละ 5.2 ส่วนการบริโภคภาครัฐหดตัวลงร้อยละ 2 เนื่องจากต้องออกนโยบายช่วยเหลือภาคธุรกิจและประชาขน ในขณะที่ยังดำเนินมาตรการรัดเข็มขัด คณะกรรมาธิการยุโรปคาดว่า ปี 2564 การบริโภคภาคเอกชนจะขยายตัวร้อยละ 6.1 ตามปัจจัยฐานต่ำ และคาดการณ์ว่าเมื่อประชาชนจำนวนมากได้รับวัคซีนแล้วและรัฐบาลยกเลิกมาตรการป้องกันโรคระบาด จะกลับมาบริโภคในอัตราใกล้เคียงก่อนวิกฤตโรคโควิด-19 ส่งผลให้นำเข้าสินค้าและบริการเพิ่มขึ้น
    ส่วนการบริโภคภาครัฐจะเพิ่มขึ้นร้อยละ 3.5 เนื่องจากต้องใช้งบประมาณในการฟื้นฟูเศรษฐกิจต่อเนื่อง
  • เสถียรภาพเศรษฐกิจ: ดัชนี HICP ในปี 2563 อยู่ที่ร้อยละ 2.3 เนื่องจากราคาน้ำมันเชื้อเพลิง รวมถึงอาหารและบริการปรับตัวลง คาดการณ์ว่าอัตราเงินเฟ้อในปี 2564 และ 2565 จะอยู่ที่ร้อยละ 2.9 และ 2.7 เนื่องจากคาดว่า ราคาสินค้าจะเพิ่มขึ้นตามทิศทางเศรษฐกิจที่สอดรับการเปิดเมืองอีกครั้ง (Economy Reopening) ด้านธนาคารแห่งชาติโรมาเนียคาดการณ์ในเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมาว่า อัตราเงินเฟ้อรายปีในปี 2564 จะอยู่ที่ร้อยละ 4.1 ตามราคาพลังงานและเชื้อเพลิงที่สูงขึ้น
  • ตลาดแรงงาน: ในปี 2563 อัตราการจ้างงานลดลงร้อยละ 1.8 เมื่อเทียบกับปีที่ผ่านมา ทว่าจะกลับมาขยายตัวเพียงเล็กน้อยในปี 2564 ที่ร้อยละ 0.2 และในปี 2565 ที่ร้อยละ 0.7 คาดการณ์ว่าตลาดแรงงานค่อนข้างคงที่ ด้านอัตราการว่างงานตามนิยามของ Eurostat ที่นับจากประชากรช่วงอายุ 15 ถึง 74 ปี ในปี 2563 อยู่ที่ร้อยละ 5.0 เมื่อเทียบกับปีที่ผ่านมา คาดวาจะเพิ่มขึ้นเล็กน้อยเป็นร้อยละ 5.2 ในปี 2564 และปรับตัวลงเล็กน้อยอยู่ที่ร้อยละ 4.8 ในปี 2565
  • ดุลบัญชีเดินสะพัด (Current Account Balance): ปี 2563 รัฐบาลโรมาเนียขาดดุลเล็กน้อยจากดุลบริการ รายได้ และเงินโอน ร้อยละ 5 ของ GDP คาดการณ์ว่าดุลบัญชีเดินสะพัดโรมาเนียจะยังคงขาดดุลต่อเนื่อง ร้อยละ 4.9 ในปี 2564 และร้อยละ 4.6 ในปี 2565
  • มูลค่าการส่งออกสินค้า: ในปี 2563 หดตัวลงถึงร้อยละ 9.7 เมื่อเทียบกับปีที่ผ่านมา ทว่าปี 2564 จะเพิ่มสูงขึ้นร้อยละ 9.8 จากผลของฐานต่ำในปีก่อนหน้า และในปี 2565 จะขยายตัวร้อยละ 8.7 ในปี 2565
  • มูลค่าการนำเข้าสินค้า: ในปี 2563 หดตัวลงร้อยละ 5.1 เมื่อเทียบกับปีที่ผ่านมา ทว่าปี 2564 จะเพิ่มสูงขึ้นร้อยละ 11.4 และในปี 2565 จะขยายตัวร้อยละ 10.1 ตามอัตราการบริโภคที่เพิ่มขึ้น
  • การใช้จ่ายภาครัฐที่ไม่รวมเงินโอน: รัฐบาลโรมาเนียจัดทำงบประมาณปีงบประมาณ 2564 แบบขาดดุลที่ร้อยละ 7.16 ของ GDP ซึ่งเกินจากมาตรฐานของสหภาพยุโรป และวงเงินขาดดุลเต็มจำนวน 8.7349 หมื่นล้านลิว (ประมาณ 6.745 แสนล้านบาท) รัฐสภาโรมาเนียได้มีมติเห็นชอบร่างรัฐบัญญัติงบประมาณแผ่นดินเมื่อเดือนมีนาคมที่ผ่านมา คณะกรรมาธิการยุโรปคาดว่ารัฐบาลโรมาเนียมีแนวโน้มจะจัดทำงบประมาณขาดดุลที่ร้อยละ 8 ของ GDP ในปีถัดไป ทั้งนี้ เนื่องจากมีการลดภาษีหลายรายการ และเพิ่มการลงทุนจากภาครัฐรวมถึงงบประมาณประกันสังคม ทำให้ภาครัฐจะขาดรายได้จำนวนมาก รัฐบาลจึงกำหนดวงเงินสูงสุดสำหรับเงินบำนาญภาครัฐและตรึงอัตราค่าจ้างบุคลากรภาครัฐ รัฐบาลคาดว่าจากงบประมาณแผ่นดินฉบับนี้ อัตราการเติบโต GDP ในปีนี้จะอยู่ที่ร้อยละ 4.3
  • สัดส่วนหนี้สาธารณะต่อ GDP: เมื่อสิ้นปี 2563 อยู่ที่ 4.983 แสนล้านลิว (ประมาณ 3.848 ล้านล้านบาท) หรือคิดเป็นร้อยละ 47.3 ของ GDP คาดว่าในปี 2564 สัดส่วนหนี้สาธารณะต่อ GDP จะปรับลดลงเหลือร้อยละ 49.7 และร้อยละ 52.7 ในปี 2565 ตามการขาดดุล​การคลังเบื้องต้นของภาคสาธารณะ (Primary Deficit) ที่ไม่รวมรายจ่ายที่เกี่ยวกับภาระหนี้
  • สถิตินักท่องเที่ยวชาวต่างชาติที่เดินทางเข้าประเทศโรมาเนีย: ปี 2563 มีจำนวนยอดสะสม 6.335 ล้านราย ลดลงร้อยละ 52.3 เมื่อเทียบกับปีก่อนหน้า ซึ่งจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติลดงไปมากถึงร้อยละ 83 เหลือเพียง 453,300 คน นอกจากนี้ จำนวนนักท่องเที่ยวที่ค้างคืน (Overnight Stays) ในปี 2563 ยังลดลงไปร้อยละ 51.6 จากปีก่อนหน้า รัฐบาลโรมาเนียคาดการณ์ว่าฤดูร้อนปีนี้การท่องเที่ยวโรมาเนียจะช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจในประเทศได้บ้าง โดยพิจารณาจากสถิติจำนวนนักท่องเที่ยวล่าสุด จำนวนนักท่องเที่ยวช่วงเดือนมกราคม-เมษายน 2564 อยู่ที่ 2.47 ล้านคน เพิ่มขึ้นร้อยละ 36.1 จากช่วงเวลาเดียวกันในปีก่อนหน้า

เครื่องชี้วัดเศรษฐกิจสำคัญของประเทศโรมาเนีย

การค้าต่างประเทศระหว่างไทย-โรมาเนีย มกราคม – พฤษภาคม 2564

การค้าของไทยกับโรมาเนียระหว่างเดือนมกราคมถึงพฤษภาคม 2564 มีมูลค่ารวมทั้งสิ้น 147.33 ล้านเหรียญสหรัฐ หรือ 4.47 พันล้านบาท ขยายตัวร้อยละ 32.36  จากช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อนหน้า คิดเป็นการส่งออก 94.02 ล้านเหรียญสหรัฐ หรือ 2.837 พันล้านบาท และนำเข้า 53.31 ล้านเหรียญสหรัฐ หรือ 1.633 พันล้านบาท

สรุปแล้ว ไทยยังเป็นฝ่ายได้ดุลการค้า 40.71 ร้อยล้านเหรียญสหรัฐ หรือ 1.2 พันล้านบาท มูลค่าดุลการค้าขยายตัวร้อยละ 130 เป็นเหตุจากปัจจัยฐานต่ำในปีก่อนหน้า และมูลค่าการส่งออกเพิ่มสูงขึ้นมาก

ระหว่างเดือนมกราคมถึงพฤษภาคม 2564 การส่งออกของไทยมายังโรมาเนียขยายตัวร้อยละ 45.81 เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันในปีที่ผ่านมา เนื่องจากปัจจัยฐานต่ำ เช่นเดียวกับไทยมีแนวโน้มนำเข้าสินค้าจากโรมาเนียเพิ่มขึ้นร้อยละ 13.85

สรุปตัวเลขสถานการณ์ทางการค้าไทย-โรมาเนีย มกราคม – พฤษภาคม 2564

สินค้าส่งออกหลักของไทยไปยังโรมาเนีย 5 อันดับแรก มกราคม – พฤษภาคม 2564 และแนวโน้มการส่งออกโดดเด่น

  • เครื่องรับวิทยุ โทรทัศน์ และส่วนประกอบ มูลค่าการส่งออก 14.74 ล้านเหรียญสหรัฐ ขยายตัวร้อยละ 346.93 จากช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อนหน้า
  • ยางพารา มูลค่า 14.13 ล้านเหรียญสหรัฐ ขยายตัวร้อยละ 53.06
  • วงจรพิมพ์ มูลค่า 13.12 ล้านเหรียญสหรัฐ ขยายตัวร้อยละ 13.92
  • ผลิตภัณฑ์ยาง มูลค่า 11.17 ล้านเหรียญสหรัฐ ขยายตัวร้อยละ 37.34
  • รถยนต์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ มูลค่า 5.18 ล้านเหรียญสหรัฐ ขยายตัวร้อยละ 12.67

จากข้อมูลดังกล่าว สินค้าอุตสาหกรรมยังคงส่งออกได้ดี โดย สินค้าในพิกัดศุลกากร 85 (เครื่องจักร เครื่องอุปกรณ์ไฟฟ้า และส่วนประกอบของเครื่องดังกล่าว, เครื่องบันทึกและเครื่องถอดภาพและเสียงทางโทรทัศน์ รวมทั้งส่วนประกอบและอุปกรณ์ประกอบของเครื่องดังกล่าว) 40 (ยางและของที่ทำด้วยยาง) และ 84 (เครื่องปฏิกรณ์นิวเคลียร์ บอยเลอร์ เครื่องจักร เครื่องใช้กล และส่วนประกอบของเครื่องดังกล่าว) ครองส่วนแบ่งการส่งออกที่ร้อยละ 38.92 26.91 และ 9.95 ตามลำดับ เมื่อรวมกันแล้วมีส่วนแบ่งการส่งออกสูงถึงร้อยละ 75.78 ของมูลค่าการส่งออกทั้งหมด โดยจากสถิติการค้าต่างประเทศของโรมาเนียประจำปี 2563 ประเทศไทยเป็นคู่ค้าสินค้าพิกัดศุลกากร 85, 40 และ 84 ลำดับที่ 25, 12 และ 35 ของโรมาเนียตามลำดับ ด้านสินค้าเกษตรกรรม ยางพาราเป็นสินค้าส่งออกสำคัญของไทยไปยังโรมาเนีย ในฐานะวัตถุดิบตั้งต้นในการผลิตสินค้าอุตสาหกรรมของโรมาเนีย จึงมีความต้องการนำเข้าสูง ยางพาราครองส่วนแบ่งการส่งออกช่วงเดือนมกราคม – พฤษภาคม 2564 ที่ร้อยละ 15.03 และมีมูลค่าการส่งออก 14.1 ล้านเหรียญสหรัฐ ทั้งนี้ การส่งออกยางพาราเพิ่มขึ้นร้อยละ 53.06 เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อนหน้า

รายละเอียดสินค้าส่งออก 10 อันดับแรกของไทยไปยังโรมาเนีย มกราคม – พฤษภาคม 2564

สินค้านำเข้าหลักของไทยจากโรมาเนีย 5 อันดับแรก มกราคม – พฤษภาคม 2564 และแนวโน้มการนำเข้าโดดเด่น

  • ส่วนประกอบและอุปกรณ์ยานยนต์ มูลค่าการนำเข้า 11.71 ล้านเหรียญสหรัฐ ขยายตัวร้อยละ 43.33 จากช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อนหน้า
  • เครื่องจักรไฟฟ้าและส่วนประกอบ มูลค่าการนำเข้า 8.65 ล้านเหรียญสหรัฐ ขยายตัวร้อยละ 11.91
  • เครื่องมือเครื่องใช้เกี่ยวกับวิทยาศาสตร์และการแพทย์ มูลค่าการนำเข้า 7.76 ล้านเหรียญสหรัฐ ขยายตัวร้อยละ 40.35
  • ผลิตภัณฑ์โลหะ มูลค่าการนำเข้า 5.99 ล้านเหรียญสหรัฐ ขยายตัวร้อยละ 348.57 จากช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อนหน้า
  • เครื่องจักรกลและส่วนประกอบ มูลค่าการนำเข้า 4.52 ล้านเหรียญสหรัฐ หดตัวร้อยละ 348.57

ในภาพรวม การนำเข้าสินค้าจากโรมาเนียมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น เนื่องจากอัตรากำลังผลิต (Industrial Production) ในประเทศโรมาเนียเริ่มกลับมาเติบโตใกล้ระดับก่อนวิกฤตโรคโควิด-19 โดยการขยายตัวของผลผลิตอุตสาหกรรมเริ่มเห็นชัดขึ้นตั้งแต่เดือนกุมภาพันธ์ 2564

สินค้าอุตสาหกรรมยังเป็นสินค้านำเข้าหลักจากโรมาเนียเช่นเดียวกับสินค้าส่งออกหลักไปยังโรมาเนีย โดยสินค้าในพิกัดศุลกากร 85 (เครื่องใช้ไฟฟ้าและส่วนประกอบ) 87 (รถแทรกเตอร์) และ 90 (อุปกรณ์และเครื่องอุปกรณ์ที่ใช้ในทางทัศนศาสตร์ การถ่ายรูป) มีสัดส่วนการส่งออกในช่วงเดือนมกราคม-พฤษภาคม 2564 ร้อยละ 22.87, 16.28 และ 16.06 ตามลำดับ ยอดรวมสินค้าสามหมวดหมู่นี้อยู่ที่ร้อยละ 55.21 จึงนับได้ว่าสินค้าอุตสาหกรรมเป็นสินค้านำเข้าหลักของไทยจากโรมาเนีย นอกจากนี้ หมวดสินค้าที่มีแนวโน้มมูลค่าและปริมาณการนำเข้าเพิ่มขึ้น ได้แก่กระจก แก้ว และผลิตภัณฑ์ (มูลค่า 2.3 แสนเหรียญสหรัฐ ขยายตัวร้อยละ 552.65) ผลิตภัณฑ์โลหะ (มูลค่า 5.99 ล้านเหรียญสหรัฐ ขยายตัวร้อยละ 348.57) และผลิตภัณฑ์สิ่งทออื่นๆ (มูลค่า 2.47 แสนเหรียญสหรัฐ ขยายตัวร้อยละ 140.66)

รายละเอียดสินค้านำเข้า 10 อันดับแรกของไทยจากโรมาเนีย มกราคม – พฤษภาคม 2564

ข้อคิดเห็น/บทวิเคราะห์

เศรษฐกิจประเทศโรมาเนียมีสัญญาณดี เห็นได้จากการเติบโตของ GDP รายไตรมาสในไตรมาสที่ 4/2563 และ 1/2564 ที่เติบโตร้อยละ 4.6 และ 2.8 ตามลำดับ คาดการณ์ว่าการลงทุนจากภาครัฐและอุปสงค์จากภาคครัวเรือนที่สูงขึ้นจะเป็นกลไกสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจในปีนี้ ด้านอัตราเงินเฟ้อ ประมาณการมีแนวโน้มสูงขึ้น เนื่องจากองค์กรกำกับกิจการพลังงานโรมาเนีย (ANRE) ประกาศใช้โครงสร้างกิจการไฟฟ้าแบบ Deregulation คือการลดการกำกับดูแลค่าไฟเพื่อให้องค์กรคล่องตัวและยกระดับตลาดพลังงานไฟฟ้าในโรมาเนียให้เสรีและยุติธรรม ส่งผลให้อัตราค่าไฟฟ้าในครัวเรือนที่สูงขึ้น นอกจากนี้ ต้นทุนพลังงานก๊าซธรรมชาติมีแนวโน้มปรับตัวสูงขึ้นอีกด้วย เป็นเหตุให้ราคาขายสินค้าโภคภัณฑ์สูงขึ้นตามในปีนี้

ด้านการค้าระหว่างไทยและโรมาเนีย ช่วงเดือนมกราคม-เมษายน 2564 แม้ไทยจะยังคงได้ดุลการค้าถึง 108.45 ล้านเหรียญสหรัฐ ทว่ามีมูลค่าการส่งออกสินค้าลดลง สวนทางกับมูลค่าการนำเข้าที่เพิ่มขึ้น สินค้าส่งออกหลักเป็นสินค้าอุตสาหกรรม เช่น เครื่องจักรกล เครื่องจักรไฟฟ้า ยานพาหนะ ทั้งนี้ สินค้าส่งออกที่น่าสนใจ คือยางพาราและสินค้าที่ทำจากยาง เนื่องจากโรมาเนียมีความต้องการนำเข้าสินค้าหมวดนี้ไปเป็นวัตถุดิบตั้งต้นในการผลิตสินค้าอุตสาหกรรม โดยในปี 2563 โรมาเนียเป็นประเทศผู้นำเข้าสินค้าจากยางเป็นอันดับที่ 29 ของโลก มูลค่าการนำเข้าประมาณร้อยละ 1 ของมูลค่าการนำเข้าทั้งโลก และนำเข้ายางธรรมชาติเป็นอันดับที่ 21 ของโลก มูลค่าการนำเข้าประมาณร้อยละ 1 ของมูลค่าการนำเข้าทั้งโลก

จากสถิติการค้าต่างประเทศของโรมาเนียประจำปี 2563 ประเทศไทยเป็นคู่ค้าสินค้าพิกัดศุลกากร 40 (ยางและของที่ทำด้วยยาง) รายใหญ่ลำดับที่ 12 ทว่าเมื่อเจาะลึกในหมวดสินค้า เช่น พิกัด 40.01 (ยางธรรมชาติ บาลาตา กัตตาเปอร์ชา กวายูล ชิเคิล และกัมธรรมชาติที่คล้ายกัน ในลักษณะขั้นปฐม หรือเป็นแผ่น แผ่นบาง หรือเป็นแถบ) ไทยเป็นผู้ส่งออกรายใหญ่อันดับที่ 2 ของโรมาเนีย รองจากเพียงแค่อินโดนีเซีย โดยมูลค่าการนำเข้ายางธรรมชาติจากไทยคิดเป็นร้อยละ 19.6 ของมูลค่าการนำเข้ายางธรรมชาติทั้งหมดของโรมาเนียในปี 2563 จึงนับได้ว่าผู้ส่งออกไทยมีศักยภาพในการส่งออกสินค้าหมวดนี้สูง โดยเฉพาะสินค้าพิกัด 4001.21 (ยางแผ่นรมควัน) และ 4001.22 (ยางธรรมชาติที่กำหนดไว้ในทางเทคนิค หรือ TSNR) และมีโอกาสการพัฒนาการค้ากับโรมาเนียมาก ภาครัฐควรส่งเสริมการพัฒนาคุณภาพและการเพิ่มมูลค่าสินค้า เพื่อให้สินค้าไทยสามารถแข่งขันกับต่างชาติได้

OMD KM

FREE
VIEW