รายงานสถานการณ์การค้าประเทศอียิปต์ ณ กรุงไคโร เดือนพฤษภาคม 2564

ในปีงบประมาณ 2564/2565 รัฐบาลอียิปต์ตั้งเป้าหมายการเติบโตทางเศรษฐกิจที่ร้อยละ 5.4 ภายหลังจากอัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจในปีงบประมาณนี้ได้ชะลอตัวลงอยู่ที่ร้อยละ 2.8 ซึ่งเป็นผลจากการแพร่ระบาดของโควิด 19 โดยรัฐบาลจะพยายามกระตุ้นภาคเศรษฐกิจและภาคการผลิต เพื่อส่งเสริมการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจ โดยเฉพาะในภาคการผลิต การท่องเที่ยว และการส่งออก

ในเดือนมิถุนายน 2564 คณะกรรมการบริหารของ IMF ได้แถลงเสร็จสิ้นขั้นตอนการพิจารณาเงินกู้พิเศษภายใต้ Stand-by agreement (SBA) programme ให้กับอียิปต์ ซึ่งจะเป็นเงินกู้ในงวดที่ 3 อีกจำนวน 1,600 ล้านเหรียญสหรัฐฯ จากวงเงินกู้ทั้งหมด 5,200 ล้านเหรียญสหรัฐฯ หลังจากที่ได้รับความเห็นชอบสำหรับวงเงินกู้ดังกล่าวเมื่อเดือนมิถุนายน 2563 โดยอียิปต์ได้รับเงินกู้งวดแรก จำนวน 2,000 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ในทันทีภายหลังจากที่ได้รับอนุมัติ และงวดที่ 2 อีกจำนวน 1,600 ล้านเหรียญสหรัฐฯ เมื่อเดือนมกราคม 2564 ภายหลังจากผ่านการทบทวนรอบแรกภายใต้โครงการดังกล่าว

วัตถุประสงค์ของเงินกู้ดังกล่าว เพื่อใช้ในการจัดการกับวิกฤตการแพร่ระบาดของโควิด 19 ที่เกิดขึ้นในปัจจุบัน และช่วยสนับสนุนดุลการชำระเงินของประเทศ แก้ไขปัญหาการขาดดุลงบประมาณ และสนับสนุนการปฏิรูปเศรษฐกิจในระยะที่ 2 ของประเทศ ซึ่งเป็นแผนงานที่ดำเนินการต่อเนื่องจากการปฏิรูปเศรษฐกิจในระยะแรกที่เริ่มขึ้นตั้งแต่ปี 2559 นอกจากนี้ เงินกู้ดังกล่าวยังช่วยเพิ่มเงินทุนสำรองระหว่างประเทศของอียิปต์ที่ลดลงอย่างมากมาอยู่ที่ระดับ 36,000 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ในเดือนมีนาคม 2564 เนื่องจากผลกระทบของโควิด 19 จากเดิมที่อยู่ที่ระดับ 45,500 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ในช่วงสิ้นเดือนกุมภาพันธ์ 2563

ในด้านการค้าสินค้าที่ไม่ใช่น้ำมันของอียิปต์ (non-oil trade) ในเดือนมีนาคม 2564 มียอดขาดดุลเพิ่มขึ้นมูลค่า 3,700 ล้านเหรียญสหรัฐฯ หรือเพิ่มขึ้นร้อยละ 12.7 อยู่ที่ระดับ 30,700 ล้านเหรียญสหรัฐฯ จากเดิมที่มีมูลค่า 27,300 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ในช่วงระยะเวลาเดียวกันของปีก่อน

การเพิ่มขึ้นของการขาดดุลดังกล่าวเป็นผลจากการนำเข้าสินค้าที่ไม่ใช่น้ำมันเพิ่มมากขึ้นกว่ารายได้จากการส่งออกสินค้าในกลุ่มดังกล่าว โดยมีการนำเข้าสินค้าในกลุ่มสำคัญ ได้แก่ ยาและเวชภัณฑ์ ชิ้นส่วนยานยนต์ รถแทรกเตอร์ รถไฟขนส่งสินค้า และข้าวโพด ด้วยมูลค่าการนำเข้าทั้งสิ้น 45,400 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ในขณะที่ การส่งออกสินค้าที่ไม่ใช่น้ำมันมีมูลค่าเพียง 14,600 ล้านเหรียญสหรัฐฯ โดยสินค้าส่งออกสำคัญ ได้แก่ เครื่องใช้ไฟฟ้า ลวดและสายเคเบิล

นอกจากนี้ ในช่วงการแพร่ระบาดของโควิด 19 ธนาคารกลางอียิปต์ได้ขยายระยะเวลาของมาตรการต่างๆ เพื่อช่วยบรรเทาปัญหาผลกระทบทางเศรษฐกิจจนถึงสิ้นปี 2564 โดยมาตรการที่ยังคงดำเนินการต่อเนื่อง ได้แก่ การยกเว้นค่าธรรมเนียมและค่าบริการสำหรับการโอนเงินผ่านธนาคารในรูปสกุลเงินปอนด์อียิปต์ การยกเว้นค่าธรรมเนียมและค่าบริการระหว่าง mobile phone wallets และระหว่าง mobile phone wallets กับบัญชีธนาคาร การยกเว้นค่าธรรมเนียมสำหรับการถอนเงินสด การยกเว้นค่าธรรมเนียมสำหรับการออกบัตร prepaid card การยกเว้นค่าธรรมเนียมสำหรับการเรียกเก็บชำระเงินทางอิเล็กทรอนิกส์สำหรับกิจกรรมพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ รวมทั้งขยายระยะเวลาผ่อนชำระหนี้เงินกู้สำหรับแรงงานในภาคการท่องเที่ยวจนถึงสิ้นปี 2564 ด้วย ทั้งนี้ มาตรการต่างๆ ได้เริ่มดำเนินการมาตั้งแต่เดือนมีนาคม 2563 เพื่อช่วยบรรเทาปัญหาผลกระทบทางเศรษฐกิจจากการแพร่ระบาดของโควิด 19

สำหรับการค้าระหว่างอียิปต์กับไทย ในช่วง 5 เดือนแรกของปี 2564 ไทยส่งออกรวม 448.3 ล้านเหรียญสหรัฐฯ เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อนหน้าร้อยละ 20.9 สินค้าส่งออกหลักของไทย ได้แก่ อาหารทะเลกระป๋องและแปรรูป รถยนต์อุปกรณ์และส่วนประกอบ เคมีภัณฑ์ และผลิตภัณฑ์ยาง ในขณะที่การนำเข้า มีมูลค่า 6.9 ล้านเหรียญสหรัฐฯ เพิ่มขึ้นร้อยละ 8.6 สินค้านำเข้าหลัก ได้แก่ ส่วนประกอบและอุปกรณ์ยานยนต์ เครื่องจักรไฟฟ้าและส่วนประกอบ ผลิตภัณฑ์กระจกและแก้ว แร่และผลิตภัณฑ์จากแร่ ผักและผลไม้ ส่งผลให้ภาพรวมมูลค่าการค้าของไทยกับอียิปต์ในช่วง 5 เดือนแรกของปี 2564 ขยายตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 20.7 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน

นอกจากนี้ เมื่อวันที่ 23 มิถุนายน 2564 ทางการอียิปต์ได้ประกาศขยายระยเวลาการทดลองใช้ระบบการแจ้งข้อมูลการนำเข้าสินค้าล่วงหน้าของอียิปต์ (Advance Cargo Information System: ACI) ออกไปจนถึงวันที่ 30 กันยายน 2564 และจะเริ่มบังคับใช้อย่างเป็นทางการตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม 2564 เป็นต้นไป โดยทุก shipment ที่ส่งออกมาอียิปต์จะต้องมีหมายเลข ACID No. (Advance Cargo Information Declaration Number) ประกอบด้วย มิเช่นนั้น ผู้นำเข้าจะไม่สามารถออกสินค้าเมื่อเรือมาถึงท่าปลายทางที่อียิปต์ได้

ผลกระทบต่อผู้ประกอบการไทย

จากการหารือกับผู้นำเข้าอียิปต์ในช่วงเดือนมิถุนายน 2564 ปัญหาสำคัญที่ผู้นำเข้าประสบอยู่ ได้แก่ ต้นทุนการขนส่งสินค้าที่เพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง ทำให้ผู้นำเข้าหลายรายชะลอการนำเข้าสินค้าจากไทยและพิจารณาปรับราคาในการจำหน่ายใหม่เพื่อให้ครอบคลุมต้นทุนที่เพิ่มสูงขึ้น ผู้ประกอบการไทยจึงจำเป็นที่จะต้องพยายามปรับลดต้นทุนในด้านอื่นๆ ลง เพื่อคงขีดความสามารถในการแข่งขันของสินค้าไทยในตลาดอียิปต์ ซึ่งปัจจัยด้านราคายังคงมีส่วนสำคัญสำหรับการตัดสินใจซื้อของผู้บริโภค

สำหรับการส่งออกของไทยในช่วง 5 เดือนแรกของปี 2564 ขยายตัวเพิ่มขึ้น ร้อยละ 20.9 จากช่วงเดียวกันของปีก่อนหน้า โดยเฉพาะในกลุ่มสินค้าอาหารทะเลแปรรูป และชิ้นส่วนยานยนต์ซึ่งเป็นสินค้าส่งออกสำคัญของไทยมายังตลาดอียิปต์ มีอัตราการขยายตัวร้อยละ 16.7 และร้อยละ 30.6 ตามลำดับ จึงเป็นโอกาสสำคัญสำหรับผู้ส่งออกของไทยในกลุ่มสินค้าดังกล่าว ในทางกลับกัน ไทยสามารถนำเข้าสินค้าประเภทแร่ธาตุ สิ่งทอ ผ้าผืน และเคมีภัณฑ์ ซึ่งเป็นสินค้าที่มีศักยภาพของอียิปต์ เพื่อใช้เป็นวัตถุดิบในการผลิตได้อีกทางหนึ่งด้วย

สืบเนื่องจากการที่ทางการอียิปต์ได้ประกาศขยายระยเวลาการทดลองใช้ระบบการแจ้งข้อมูลการนำเข้าสินค้าล่วงหน้าของอียิปต์ (ACI) ออกไปจนถึงวันที่ 30 กันยายน 2564 และจะเริ่มบังคับใช้อย่างเป็นทางการตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม 2564 ผู้ส่งออกไทยจึงมีเวลาที่จะทดลองใช้ระบบดังกล่าวมากขึ้น รวมถึงเตรียมความพร้อมและศึกษาแนวทางในการจัดส่งเอกสารทางการค้าผ่านระบบออนไลน์ดังกล่าวเพื่อป้องกันปัญหาที่จะเกิดขึ้นจากการเริ่มต้นใช้งานระบบดังกล่าวอย่างเป็นทางการ 

OMD KM

FREE
VIEW