รายงานสถานการณ์การค้าอิตาลี ณ เมืองมิลาน เดือนมีนาคม 2565

1. สถานการณ์เศรษฐกิจอิตาลีโดยรวม 

สำนักงานสถิติแห่งชาติของอิตาลี (ISTAT) เปิดเผยว่า จากสถานการณ์ความขัดแย้งที่รุนแรงระหว่างรัสเซีย-ยูเครนที่ก่อตัวขึ้นตั้งแต่ช่วงเดือนที่ผ่านมา ได้กระตุ้นให้ราคาพลังงาน และสินค้าโภคภัณฑ์อาหารในอิตาลีพุ่งสูงขึ้นแตะระดับสูงสุดเป็นประวัติการณ์ ซึ่งทำให้สถานการณ์การฟื้นตัวของเศรษฐกิจในประเทศที่เกิดการชะลอตัวตั้งแต่ช่วงไตรมาส 4 ปี 2564 ส่งผลต่อเนื่องมาถึงเดือนมกราคม 2565 อันเนื่องมาจากการผลิตภาคอุตสาหกรรมและการค้าปลีกหดตัวลดลง ที่ส่งผลโดยตรงต่อตลาดแรงงานที่เริ่มชะลอตัวระหว่างเดือนตุลาคม – ธันวาคม 2564 แต่ในณะที่ อัตราการจ้างงานยังคงมีเสถียรภาพ อย่างไรก็ตาม การประเมินผลกระทบของวิฤกตที่เกิดขึ้นโดยรวมต่อเศรษฐกิจอิตาลีนั้นอาจจะคาดการณ์ได้ค่อนข้างยาก เนื่องจากสถานการณ์ความขัดแย้งและผลกระทบของมาตรการคว่ำบาตรทางการเงินและเศรษฐกิจที่ตัดสินใจโดยประเทศแถบตะวันตกนั้นมีความไม่แน่นอนสูง

ศูนย์วิจัยของสมาคมตัวแทนบริษัทผู้ผลิตและบริการในอิตาลี (Centro Studi Confindustria – CSC) ได้คาดการณ์ถึงการเติบโตของผลผลิตมวลรวมในประเทศ (GDP) ไตรมาส 1 ปี 2565 หดตัวลดลงอยู่ที่ -2.4% เทียบกับไตรมาสก่อนหน้า ในขณะหากเทียบกับไตรมาส 1 ปี 2564 GDP ของอิตาลี อยู่ที่ 3.3% นอกจากนี้ สถาบันจัดอันดับความน่าเชื่อถือชั้นนำของโลก S&P Global Ratings คาดการณ์ว่า GDP ของอิตาลี ปี 2565 จะอยู่ที่ 3.3% (จากที่เคยคาดการณ์อยู่ที่ 4.5%)

2. ตัวชี้วัดทางเศรษฐกิจ

2.1 ดัชนีการบริโภค จากข้อมูลของสมาพันธ์การค้าของอิตาลี เปิดเผยว่า สถานการณ์เศรษฐกิจภายในประเทศเกิดการชะลอตัวอย่างรวดเร็วในช่วงไม่กี่สัปดาห์ที่ผ่านมา ซึ่งสถานการณ์ความขัดแย้งระหว่างรัสเซีย – ยูเครน เริ่มส่งสัญญานถึงความไม่แน่นอนอย่างรุนแรง รวมถึงส่งผลถึงความตึงเครียดด้านราคาพลังงานและวัตถุดิบที่ใช้ในการผลิตซึ่งอาจส่งผลให้สถานการณ์เงินเฟ้อแย่ลงกว่าที่คาดการณ์ไว้ และประชาชนอาจจะต้องเผชิญกับสถานการณ์เศรษฐกิจที่เกิดการชะลอตัวอย่างรุนแรง โดยสมาพันธ์การค้าของอิตาลีคาดการณ์ว่า ผลผลิตมวลรวมภายในประเทศ (GDP) เดือนมีนาคม 2565 จะอยู่ที่ -1.7% เทียบกับเดือนก่อนหน้า (ซึ่งติดลบติดต่อกันเป็นระยะเวลา 3 เดือน) และอยู่ที่ 1.3% เทียบกับมีนาคม 2564 โดยเดือนกุมภาพันธ์ 2565 ดัชนีการบริโภคเพิ่มขึ้น 5.1% หากเทียบกับปีก่อนหน้า โดยการใช้จ่ายของครัวเรือนอิตาลีในสินค้าลดลง -0.8% แต่การใช้จ่ายในส่วนของบริการยังคงเพิ่มขึ้น +27.7% เทียบกับเดือนเดียวกันของปีก่อนหน้า โดยเฉพาะการใช้จ่ายบริการด้านโรงแรมและการทานอาหารนอกบ้านยังคงขยายตัวเพิ่มขึ้นเป็นอย่างมาก +57.3% อันเนื่องมาจากการที่รัฐบาลเริ่มผ่อนคลายเงื่อนไขการเดินทางเข้า-ออกประเทศ และมาตรการการควบคุมและป้องกันการแพร่ระบาดของเชื้อโควิด – 19 ซึ่งอาจส่งผลให้มีจำนวนนักท่องเที่ยวที่เดินทางมาท่องเที่ยวและเข้าร่วมงานแสดงสินค้า/อีเวนต์ที่สำคัญ ๆ ในอิตาลีเพิ่มขึ้น รวมถึงประชาชนในประเทศเริ่มเดินทางท่องเที่ยวเพิ่มขึ้น รองลงมา ได้แก่ สินค้าเครื่องนุ่งห่มและรองเท้า +11.2% และสินค้าและบริการเกี่ยวกับสันทนาการ อุปกรณ์กีฬา +6.7% เป็นต้น สำหรับการใช้จ่ายที่หดตัวลดลง ได้แก่ สินค้าและบริการด้านคมนาคม -8.5% และสินค้าอาหาร เครื่องดื่ม และใบยาสูบ -1.0% เป็นต้น

2.2 ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคและความเชื่อมั่นทางธุรกิจ สำนักงานสถิติแห่งชาติของอิตาลี (ISTAT) แสดงการคาดการณ์ว่า ในเดือนมีนาคม 2565 ความเชื่อมั่นผู้บริโภคลดลงเป็นอย่างมากหากเทียบกับเดือนกุมภาพันธ์ 2565 (จาก 112.4 มาอยู่ที่ 100.8) ซึ่งมีสาเหตุมาจากความเชื่อมั่นในด้านต่าง ๆ ปรับตัวลดลง ได้แก่ ความเชื่อมั่นต่อสถานการณ์เศรษฐกิจในประเทศ (จาก 129.4 มาอยู่ที่ 98.2) ความเชื่อมั่นต่ออนาคต (จาก 116.6 มาอยู่ที่ 93.5) ความเชื่อมั่นส่วนบุคคล (จาก 106.8 มาอยู่ที่ 101.7) และความเชื่อมั่นต่อสถานการณ์ปัจจุบัน (จาก 109.6 มาอยู่ที่ 105.7) รวมถึงความเชื่อมั่นทางธุรกิจหดตัวลดลง (จาก 107.9 มาอยู่ที่ 105.4) เป็นผลมาจากความเชื่อมั่นของภาคอุตสาหกรรมต่าง ๆ ที่ปรับลดลง ได้แก่ ภาคอุตสาหกรรมการผลิต (จาก 112.9 มาอยู่ที่ 110.3) ภาคธุรกิจบริการ (จาก 100.4 มาอยู่ที่ 99.0) และภาคธุรกิจค้าปลีก (จาก 104.5 มาอยู่ที่ 99.9) ในขณะที่ ภาคธุรกิจก่อสร้างปรับตัวเพิ่มขึ้น (จาก 159.7 มาอยู่ที่ 160.1)

2.3 ดัชนีราคาผู้บริโภค (Consumer Price Index) สำนักงานสถิติแห่งชาติของอิตาลี (ISTAT) แสดงตัวเลขคาดการณ์ดัชนีราคาผู้บริโภคเดือนกุมภาพันธ์ 2565 ดัชนีราคาผู้บริโภคเพิ่มขึ้น 0.9% (จาก 108.3 เป็น 109.3) หากเทียบกับเดือนก่อนหน้า เป็นผลมาจากราคาสินค้าด้านพลังงานที่ยังคงมีราคาเพิ่มสูงขึ้น (+6.3%) โดยเฉพาะราคาเชื้อเพลิงยานยนต์ น้ำมันหล่อลื่น เชื้อเพลิงในครัวเรือน และไฟฟ้าในตลาดเสรี (+8.3%) และราคาอาหารที่ยังไม่แปรรูป (+1.7%) ที่ปรับเพิ่มขึ้น ขณะที่หากเทียบกับเดือนกุมภาพันธ์ 2564 ดัชนีราคาผู้บริโภคยังคงเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องอยู่ที่ 5.7% (โดยเดือนก่อนหน้าอยู่ที่ +4.8%) ซึ่งมีผลมาจากราคาสินค้าด้านพลังงานที่ยังคงมีราคาเพิ่มสูงขึ้น (+45.9%) แบ่งเป็น ค่าไฟฟ้าในตลาดที่ได้รับการคุ้มครองและก๊าซสำหรับใช้ภายในครัวเรือน (+94.6%) และราคาเชื้อเพลิงยานยนต์ น้ำมันหล่อลื่น เชื้อเพลิงในครัวเรือน และไฟฟ้าในตลาดเสรี (+31.3%) ราคาอาหารที่ยังไม่แปรรูป (+6.9%) ราคาบริการด้านการดูแลสุขภาพ ด้านวัฒนธรรม และกิจกรรมสันทนาการ (+3.3%) และราคาอาหารที่แปรรูป (+3.1%)  

2.4 ดัชนีราคาผู้ผลิตภาคอุตสาหกรรม (Industrial Producer Price) ตัวเลขของสำนักงานสถิติแห่งชาติของอิตาลี (ISTAT) แสดงให้เห็นว่า ดัชนีราคาผู้ผลิตด้านอุตสาหกรรมในเดือมกราคม 2565 หากเทียบกับเดือนก่อนหน้าขยายตัวเพิ่มขึ้น 9.7% โดยราคาตลาดในประเทศเพิ่มขึ้น 12.4% และตลาดต่างประเทศเพิ่มขึ้น 1.6% (+1.6% ในยูโรโซน และ+1.7% นอกยูโรโซน) ขณะที่หากเทียบกับเดือนมกราคม 2564 ดัชนีราคาผู้ผลิตด้านอุตสาหกรรมเพิ่มขึ้น 32.9% โดยราคาตลาดในประเทศเพิ่มขึ้น 41.8% และตลาดต่างประเทศเพิ่มขึ้น 10.5% (+11.3% ในยูโรโซน และ +10.0% นอกยูโรโซน)

2.5 ดัชนีการผลิตภาคอุตสาหกรรม (Industrial Production) สำนักงานสถิติแห่งชาติของอิตาลี (ISTAT) แสดงตัวเลขคาดการณ์ว่า ในเดือนมกราคม 2565 การผลิตภาคอุตสาหกรรมลดลง 3.4% หากเทียบกับเดือนก่อนหน้า โดยมีผลมาจากสินค้าพลังงาน (-5.2%) สินค้าบริโภคอุปโภค (-3.6%) สินค้าขั้นกลาง (-3.4%) และสินค้าทุน (-1.6%) ที่ลดลง ขณะที่หากเทียบกับเดือนมกราคม 2564 การผลิตด้านอุตสาหกรรมลดลง 2.6% มีสาเหตุมาจากการผลิตสินค้าลดลง  ได้แก่ สินค้าขั้นกลาง (-5.2%) สินค้าทุน (-3.5%) สินค้าอุปโภคบริโภค (-1.5%) ขณะที่สินค้าพลังงานเพิ่มขึ้น (+1.1%) โดยภาคอุตสาหกรรมที่มีแนวโน้มการผลิตเพิ่มขึ้น ได้แก่ ภาคอุตสาหกรรมการผลิตเภสัชภัณฑ์ (+10.7%) ภาคอุตสาหกรรมการผลิตภัณฑ์ปิโตรเลียมกลั่น (+8.2%) และภาคอุตสาหกรรมการจัดสรรพลังงานไฟฟ้า ก๊าซ ไอน้ำ และอากาศ (+1.6%)

2.6 การค้าระหว่างประเทศ สำนักงานสถิติแห่งชาติของอิตาลี (ISTAT) แสดงตัวเลขในเดือนมกราคม 2565 การนำเข้าของอิตาลีทั้งหมดหดตัวลดลง 2.0% (เทียบกับเดือนก่อนหน้า) ซึ่งมีสาเหตุมาจากการส่งออกสินค้าไปยังประเทศในสหภาพยุโรปหดตัวลดลง 4.4% แต่สำหรับการส่งออกของอิตาลีทั้งหมดไปยังตลาดต่างประเทศมีแนวโน้มที่สดใสโดยขยายตัวเพิ่มขึ้น 5.3% (เทียบกับเดือนก่อนหน้า) ซึ่งมีปัจจัยมาจากการส่งออกสินค้าไปยังประเทศในสหภาพยุโรปและประเทศนอกสหภาพยุโรปขยายตัวเพิ่มขึ้น 5.1% และ 5.4% ตามลำดับ โดยระหว่างเดือนพฤศจิกายน 2564 – มกราคม 2565 การนำเข้าของอิตาลีเพิ่มขึ้น 11.1% เทียบกับช่วงระยะเวลา 3 เดือนก่อนหน้า ในขณะที่เทียบกับเดือนมกราคม 2564 พบว่า อิตาลีนำเข้าสินค้าจากตลาดต่างประเทศเพิ่มขึ้น 44.5% โดยเฉพาะการนำเข้าจากประเทศนอกสหภาพยุโรปเพิ่มขึ้น 65.5% ในขณะที่อิตาลีส่งออกไปยังตลาดต่างประเทศเพิ่มขึ้น 22.6% โดยเฉพาะการส่งออกไปยังประเทศในสหภาพยุโรปเพิ่มขึ้น 25.5% โดยสินค้าที่มีการส่งออกเพิ่มขึ้นมากที่สุด คือ สินค้าโลหะ ผลิตภัณฑ์โลหะ (ยกเว้นเครื่องจักร) (+27.1%) รถบรรทุก ยานยนต์เพื่อการขนส่ง (57.6%) และสินค้ายา เคมีภัณฑ์ ยารักษาโรค และพฤกษศาสตร์ (+25.9%) เป็นต้น โดยตลาดส่งออกที่ขยายตัวเพิ่มขึ้น ได้แก่ สหรัฐอเมริกา (+38.8%) เยอรมนี (+18.6%) ฝรั่งเศส (+19.0%) สเปน (+34.0%) สหราชาอาณาจักร (+35.3%) และเบลเยี่ยม (+32.2%) เป็นต้น ขณะที่ตลาดส่งออกที่มีการส่งออกลดลง ได้แก่ จีน (-9.0%) และสวีเดน (-3.4%) เป็นต้น

2.7 การค้าปลีก สำนักงานสถิติแห่งชาติของอิตาลี (ISTAT) คาดการณ์ข้อมูลว่า ในเดือนมกราคม 2565 การค้าปลีกหดตัวลดลง 0.5% ในด้านมูลค่า และ 0.7% ในด้านปริมาณ เทียบกับเดือนก่อนหน้า ซึ่งมีสาเหตุมาจากการค้าปลีกสินค้าบริโภคที่ลดลง (-0.1% ด้านมูลค่า และ -0.7% ด้านปริมาณ) และการค้าปลีกสินค้าอุปโภคที่ลดลง (-0.8% ด้านมูลค่า และ -0.8% ด้านปริมาณ) ขณะที่หากเทียบกับเดือนเดียวกันของปีก่อนหน้า การค้าปลีกขยายตัวเพิ่มขึ้น 8.4% ในด้านมูลค่า และ 7.3% ในด้านปริมาณ โดยมีปัจจัยมาจากการค้าปลีกสินค้าอุปโภคที่เพิ่มขึ้น (+14.2% ด้านมูลค่า และ +14.8% ด้านปริมาณ) รวมถึงสินค้าบริโภคที่เพิ่มขึ้นและลดลงเพียงเล็กน้อย (+2.2% ด้านมูลค่าและ -1.6% ด้านปริมาณ) ทั้งนี้ การค้าปลีกสินค้าอุปโภคเติบโตในทุกประเภท โดยเฉพาะผลิตภัณฑ์ยา (+30.2%) สินค้าของเล่น อุปกรณ์กีฬา และอุปกรณ์กางเต็นท์/แค้มปิ้ง (+21.6%) สินค้าเครื่องนุ่งห่มและเครื่องนุ่งห่มขนสัตว์ (+20.5%) ในขณะที่หากพิจารณาจากช่องทางการจำหน่ายพบว่า การค้าปลีกที่เพิ่มขึ้น ได้แก่ ซุปเปอร์มาร์เก็ต/ไฮเปอร์มาร์เก็ต (+6.1%) ร้านค้าปลีกขนาดย่อย (+12.5%) และตลาดนัด ขายตรง และตู้จำหน่ายสินค้า (+4.2%) เป็นต้น ส่วนการจำหน่ายผ่านช่องทางออนไลน์ลดลง (-2.1%)

3. สถานการณ์การค้าไทย – อิตาลี

ระหว่างเดือนมกราคม – กุมภาพันธ์ 2565 ไทยส่งออกสินค้าไปทั่วโลกมีมูลค่ารวมทั้งสิ้น 44,741.7 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ขยายตัวเพิ่มขึ้น 12.2% ในขณะที่ เดือนกุมภาพันธ์ 2565 ไทยส่งออกสินค้าไปทั่วโลกมีมูลค่ารวมทั้งสิ้น 23,483.1 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ขยายตัวเพิ่มขึ้น 16.2% โดยระหว่างเดือนมกราคม – กุมภาพันธ์ 2565 มูลค่าการค้าของไทย – อิตาลี มีมูลค่า 779.49 ล้านเหรียญสหรัฐ แบ่งเป็น การส่งออกมูลค่า 344.14 ล้านเหรียญสหรัฐ ขยายตัวเพิ่มขึ้น 15.33% และการนำเข้ามูลค่า 435.35 ล้านเหรียญสหรัฐ ขยายตัวเพิ่มขึ้น 21.27% เทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนหน้า

3.1 การค้าไทย – อิตาลี

3.2 การส่งออกของไทยไปอิตาลี ปี 2564 เป็นมูลค่าทั้งสิ้น 1,850.94 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ขยายตัวเพิ่มขึ้น 29.65% เทียบกับปี 2563 ซึ่งการส่งออกมีมูลค่า 1,427.66 ล้านเหรียญสหรัฐฯ โดยมีสินค้าส่งออกที่สำคัญ 10 อันดับแรก ดังนี้

หมายเหตุ: เนื่องมาจากการเปลี่ยนแปลงพิกัดศุลกากรจากฉบับ 2017 เป็นฉบับ 2022 ของกรมศุลกากร ในการนี้ ศูนย์เทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร สำนักงานปลัดกระทรวงพาณิชย์จึงอยู่ในระหว่างการปรับปรุงระบบรายงานตัวเลขพิกัดกรมศุลกากรตามโครงสร้างสินค้าของกระทรวงพาณิชย์ จึงส่งผลให้ตัวเลขการค้าระหว่างไทย – อิตาลีรายสินค้า ประจำเดือนกุมภาพันธ์ 2565 ยังไม่มีข้อมูล

3.3 การนำเข้าของอิตาลี ข้อมูลจาก Global Trade Atlas แสดงให้เห็นว่า ปี 2564 อิตาลีนำเข้าจากทั่วโลกมีมูลค่า 550,493.2 ล้านเหรียญสหรัฐ ขยายตัวเพิ่มขึ้น 28.96% เทียบจากปี 2563 ซึ่งการนำเข้ามีมูลค่า 426,860.6 ล้านเหรียญสหรัฐ โดยประเทศที่อิตาลีนำเข้าสูงสุด 5 อันดับแรก ได้แก่ เยอรมนี มูลค่า 89,369.5 ล้านเหรียญสหรัฐ (+27.46%) ฝรั่งเศส มูลค่า 46,296.4 ล้านเหรียญสหรัฐ (+29.40%) จีน มูลค่า 45,501.1 ล้านเหรียญสหรัฐ (+23.58%) เนเธอร์แลนด์ มูลค่า 32,676.5 ล้านเหรียญสหรัฐ (+28.12%) และสเปน มูลค่า 28,579.9 ล้านเหรียญสหรัฐ  (+22.40%) ซึ่งแหล่งนำเข้าที่สำคัญของอิตาลีส่วนใหญ่เป็นประเทศสมาชิกสหภาพยุโรป

โดยประเทศคู่แข่งของไทยที่สำคัญในทวีปเอเชีย ได้แก่ อินเดีย (อันดับที่ 16) มูลค่า 7,792.6 ล้านเหรียญสหรัฐ (+61.40%) ญี่ปุ่น (อันดับที่ 24) มูลค่า 5,271.8 ล้านเหรียญสหรัฐ (+26.55%) เกาหลีใต้ (อันดับที่ 26) มูลค่า 5,002.1 ล้านเหรียญสหรัฐ (+39.90%) เวียดนาม (อันดับที่ 28) มูลค่า 4,160.0 ล้านเหรียญสหรัฐ (+27.28%) อินโดนีเซีย (อันดับที่ 38) มูลค่า 2,853.3 ล้านเหรียญสหรัฐ (+40.23%) ไต้หวัน (อันดับที่ 39) มูลค่า 2,780.4 ล้านเหรียญสหรัฐ (+50.58%) และไทย อยู่ในอันดับที่ 46 มูลค่า 2,158.8 ล้านเหรียญสหรัฐ (+44.13%) 

3.4 การนำเข้าสินค้าไทยจากอิตาลี ปี 2564 อิตาลีนำเข้าสินค้าจากไทยมีมูลค่าทั้งสิ้น 2,158.8 ล้านเหรียญสหรัฐ ขยายตัวเพิ่มขึ้น 44.13% เทียบจากปี 2563 ซึ่งการนำเข้ามีมูลค่า 1,497.8 ล้านเหรียญสหรัฐ โดยมีสินค้านำเข้าที่สำคัญ 5 อันดับแรก ได้แก่

โดยสินค้านำเข้าสำคัญ 5 อันดับแรกของไทยที่อิตาลีนำเข้าจากประเทศคู่แข่งในทวีปเอเชีย ปี 2564 ได้แก่

ญี่ปุ่น สินค้ายานบก มูลค่า 1,368.0 ล้านเหรียญสหรัฐ (+20.46%) สินค้าเครื่องจักรกลและส่วนประกอบ มูลค่า 1,289.2 ล้านเหรียญสหรัฐ (+24.87%) และสินค้าเครื่องจักรไฟฟ้า เครื่องอุปกรณ์ไฟฟ้า 335.9 ล้านเหรียญสหรัฐ (+42.67%) 

อินเดีย สินค้าเครื่องจักรกลและส่วนประกอบ มูลค่า 657.3 ล้านเหรียญสหรัฐ (+43.75%) สินค้าเครื่องจักรไฟฟ้า เครื่องอุปกรณ์ไฟฟ้า มูลค่า 395.7 ล้านเหรียญสหรัฐ (+31.07%) และสินค้ายานบก มูลค่า 264.6 ล้านเหรียญสหรัฐฯ (+55.46%)  

เกาหลีใต้ สินค้ายานบก มูลค่า 656.8 ล้านเหรียญสหรัฐ (+27.57%) สินค้าเครื่องจักรกลและส่วนประกอบ มูลค่า 496.9 ล้านเหรียญสหรัฐ (+28.72%) และสินค้าเครื่องจักรไฟฟ้า เครื่องอุปกรณ์ 433.6 ล้านเหรียญสหรัฐ (+54.47%)

เวียดนาม สินค้าเครื่องจักรไฟฟ้า เครื่องอุปกรณ์ไฟฟ้า มูลค่า 1,207.1 ล้านเหรียญสหรัฐ (2.88%) เครื่องจักรกลและส่วนประกอบ มูลค่า 307.6 ล้านเหรียญสหรัฐ (-23.44%) และสินค้ายานบก มูลค่า 193.2ล้านเหรียญสหรัฐฯ (+36.64%)

4. การคาดการณ์ของสินค้า

จากการสำรวจของศูนย์วิจัย FINDOMESTIC ร่วมกับ Emuratra พบว่า แนวโน้มความต้องการซื้อสินค้าของผู้บริโภคในอิตาลีเฉลี่ยเดือนกุมภาพันธ์ 2565 หดตัวลดลง 3.3% (จากที่มีแนวโน้มดีมาตลอดระยะเวลา 4 เดือนที่ผ่านมา) เทียบกับเดือนก่อนหน้า ในขณะที่ ความต้องการเดินทางท่องเที่ยวกลับมีแนวโน้มแจ่มใส +6.2% โดย 93% ของผู้ให้สัมภาษณ์เปิดเผยว่า มีความกังวลต่อสถานการณ์ความขัดแย้งระหว่างรัสเซีย-ยูเครน แต่ขณะที่ 9 ใน 10 ของผู้ให้สัมภาษณ์รู้สึกถึงการปรับขึ้นราคาของสินค้าอุปโภคบริโภค และ 62% (เพิ่มขึ้น 13% เทียบจากเดือนก่อนหน้า) ของผู้ให้สัมภาษณ์เปิดเผยว่า รู้สึกถึงการปรับขึ้นราคาสินค้าอุปโภคบริโภคอย่างก้าวกระโดด  นอกจากนี้ ผู้ให้สัมภาษณ์เปิดเผยว่า ช่วงเวลานี้ถือเป็นช่วงเวลาที่มีความเสี่ยงมากในการที่จะจับจ่ายซื้อสินค้าอุปโภคบริโภค โดยรายละเอียดเกี่ยวกับแนวโน้มสินค้าที่สำคัญแบ่งได้ ดังนี้

– พาหนะยานยนต์: จากการปรับขึ้นราคาค่าไฟฟ้า ค่าก๊าซ รวมถึงราคาน้ำมันเชื้อเพลิงได้ส่งผลกระทบค่อนข้างหนักกับภาคพาหนะยานยนต์ ซึ่งส่งผลให้ประชาชนมีความตั้งใจซื้อรถยนต์ใหม่ลดลงเป็นอย่างมาก     (-16.6%) รวมถึงความต้องการซื้อรถจักรยานยนต์/สกู๊ตเตอร์หดตัวลดลง (-8.7%) ในขณะที่ แนวโน้มความตั้งใจซื้อรถยนต์มือสองกลับขยายตัวเพิ่มขึ้น (+2.9%) และรถยนต์มือสองไฟฟ้าขยายตัวเพิ่มขึ้น (+35.4%) 

– ด้านเทคโนโลยี: แนวโน้มการตั้งใจซื้อสินค้าด้านเทคโนโลยีขยายตัวเพิ่มขึ้น ได้แก่ โทรศัพท์ (+4.8%) และแท็บเล็ต/e-book (+1.6%) ส่วนแนวโน้มการตั้งใจซื้อสินค้าคอมพิวเตอร์และอุปกรณ์ และกล้องถ่ายรูป/กล้องวิดีโอกลับหดตัวลดลง (-4.7% และ -1.3%) ตามลำดับ

– ที่อยู่อาศัย: ในช่วงเดือนมีนาคม 2565 พบว่า แนวโน้มความตั้งใจซื้อที่อยู่อาศัยหดตัวลดลง (-4.8%) รวมถึงความตั้งใจในการซื้อเฟอร์นิเจอร์ สิ่งของเพื่อใช้ตกแต่งที่อยู่อาศัยหดตัวลดลง (-7%) ในขณะที่ ความตั้งใจในการซื้อหรือปรับปรุง/ซ่อมแซมที่อยู่อาศัยให้มีสภาพที่ดีขึ้นขยายตัวเพิ่มขึ้นเล็กน้อย (+1.7%) 

– เครื่องใช้ไฟฟ้าในครัวเรือน: แนวโน้มการซื้อสินค้าเครื่องใช้ไฟฟ้าขนาดใหญ่และขนาดเล็ก โทรทัศน์/WIFI หดตัวลดลง (-1.5% -2.0% และ -8.3%) ตามลำดับ โดยราคาใช้จ่ายเฉลี่ยเครื่องใช้ไฟฟ้าขนาดใหญ่อยู่ที่ 1,165 ยูโร เครื่องใช้ไฟฟ้าขนาดเล็กอยู่ที่ 314 ยูโร และโทรทัศน์/WIFI อยู่ที่ 787 ยูโร

5. ข้อคิดเห็นของ สคต.

ตลอดระยะเวลา 3 เดือนที่ผ่านมา สถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อโควิด – 19 ในอิตาลี มีแนวโน้มที่ดีขึ้นอย่างต่อเนื่อง ส่งผลให้รัฐบาลยืนยันที่จะไม่ขยายระยะเวลาของมาตรการควบคุมและป้องกันสถานการณ์ฉุกเฉินในประเทศที่จะสิ้นสุดลงในวันที่ 31 มีนาคม 2565 ซึ่งแสดงให้เห็นว่ารัฐบาลสามารถควบคุมและป้องกันการแพร่ระบาดดังกล่าวได้อย่างมีประสิทธิภาพ โดยประชาชนส่วนใหญ่ในประเทศเริ่มกลับมาใช้ชีวิตเป็นปกติเพิ่มขึ้น และภาคธุรกิจต่าง ๆ เริ่มกลับมาฟื้นตัว แต่ในขณะเดียวกัน ความกังวลของประชาชนในอิตาลีและทั่วโลกต่อสถานการณ์ความขัดแย้งระหว่างรัสเซีย – ยูเครนกลับขยายตัวเพิ่มขึ้น เนื่องจากความขัดแย้งดังกล่าวไม่เพียงแต่จะสร้างความเสียหายแก่ทั้ง 2 ประเทศ แต่ยังส่งผลกระทบทั้งทางตรงและทางอ้อมต่อเศรษฐกิจของอิตาลีและทั่วโลก เนื่องจากภายหลังที่รัสเซียเริ่มบุกเข้าโจมตียูเครนได้ส่งให้ราคาสินค้า ราคาน้ำมันเชื้อเพลิงปรับตัวเพิ่มสูงขึ้นอย่างชัดเจน ซึ่งทำให้กำลังการซื้อของภาคครัวเรือนลดลง รวมถึงต้นทุนค่าใช้จ่ายภาคการเกษตร และภาคขนส่งที่เพิ่มขึ้น โดยความกังวลต่อสถานการณ์ที่กำลังเกิดขึ้นอาจส่งผลกระทบต่อการฟื้นตัวของเศรษฐกิจในประเทศ และผลักดันให้อัตราเงินเฟ้อขยายตัวเพิ่มขึ้นอย่างหนัก ซึ่งส่งผลให้ความต้องการสินค้าของผู้บริโภคในประเทศเกิดการชะลอตัวลง โดยเฉพาะสินค้าฟุ่มเฟือยซึ่งในปีนี้โอกาสที่จะกลับมาฟื้นตัวคงเป็นไปได้ค่อนข้างยาก ดังนั้น ผู้ประกอบการไทยที่สนใจทำการค้ากับตลาดอิตาลีควรติดตามสถานการณ์ดังกล่าวอย่างใกล้ชิด เพื่อเป็นการเตรียมความพร้อมและสามารถวางแผนรับมือด้านการค้าได้อย่างมีประสิทธิภาพ

Leave a Comment

Your email address will not be published. Required fields are marked *

OMD KM

FREE
VIEW