รายงานสถานการณ์การค้าสหรัฐอาหรับเอมิเรตห์ ณ เมืองดูไบ เดือนกรกฎาคม 2564

ต้นกำเนิดกาแฟเริ่มมาจากประเทศเอธิโอเปีย ทว่าการนำกาแฟมาคั่วไฟ บดและต้มดื่ม เกิดขึ้นในประเทศเยเมนที่ตั้งอยู่ปลายสุดของคาบสมุทรอาระเบียบนชายฝั่งทะเลแดง ในช่วงกลางศตวรรษที่ 14 เยเมนเป็นแหล่งเพาะปลูกและแหล่งการค้ากาแฟที่สำคัญก่อนการกระจายแหล่งปลูกกาแฟไปยังอาณานิคมตะวันตกในภูมิภาคอื่น 

กาแฟเป็นเครื่องดื่มที่ชาวอาหรับนิยมใช้เป็นเครื่องดื่มสำหรับต้อนรับแขก โดยแต่ละปีประเทศสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์นำเข้ากาแฟมูลค่ากว่า 100 ล้านเหรียญสหรัฐฯ และขยายตัวเพิ่มทุกปี

1). ข้อมูลการนำเข้ากาแฟของยูเออี

          จากสถิติล่าสุดของ UN COMTRADE แสดงมูลค่าการนำเข้ากาแฟ (H.S.code 0901) ของยูเออีระหว่างปี 2560-2561 พบว่าอัตราการนำเข้าทั้งเชิงมูลค่าและปริมาณขยายตัวขึ้นทุกปี กล่าวคือ

          ปี 2560 มูลค่า 102 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ปริมาณ 18,478 ตัน

          ปี 2561 มูลค่า 103 ล้านเหรียญสหรัฐฯ  ปริมาณ 19,374 ตัน

          ปี 2562 มูลค่า 111 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ปริมาณ 21,333 ตัน

          แหล่งนำเข้าในเชิงปริมาณเมื่อปี 2562 จากประเทศบราซิล อินเดีย นิการากัว เอธิโอเปีย อิตาลี มาเลเซีย เวียดนาม เนเธอร์แลนด์ โคลอมเบีย และอังกฤษ  และนำเข้าจากไทยในปี 2562 ปริมาณ  8 ตัน อยู่ในอันดับที่ 54 จากทั้งสิ้น 103 ประเทศทั่วโลก

           กาแฟที่นำเข้าส่วนหนึ่งใช้สำหรับส่งออกต่อ (Re-export) ไปประเทศใกล้เคียง ปี 2560 มูลค่า 38.2 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ปี 2561 มูลค่า 37.5 ล้านเหรียญสหรรัฐฯ  ปี 2562 มูลค่า 43.3 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ไปประเทศ อิหร่าน ซาอุดิอาระเบีย คูเวต โอมาน บาห์เรน อียิปต์ อิรัก จอร์แดน เลบานอน และเยเมน

          แหล่งนำเข้ากาแฟ (H.S code 0901 : คั่วหรือแยกกาเฟอีนออกแล้วหรือไม่ก็ตาม เปลือกและเยื่อของกาแฟ รวมทั้งของที่ใช้แทนกาแฟที่มีกาแฟผสมอยู่ในอัตราส่วนเท่าใดก็ตาม) ของยูเออีในช่วงปี 2560-2562 มีดังนี้

2) การส่งออกจากไทย

          จากสถิติของกรมศุลกากรแสดงมูลค่าการส่งออกกาแฟจากไทยไปสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ระหว่างปี 2561-2564 (ม.ค.-พ.ค.) มูลค่าลดลงต่อเนื่อง กล่าวคือ ปี 2562 มูลค่า 2.56 ล้านบาท ปี 2563 ประมาณ 1.23 ล้านบาท หรือหดตัวร้อยละ 52

          ปี 2564 (ม.ค.-พ.ค.)  ส่งออกมูลค่า 120,000 บาท หรือหดตัวร้อยละ 90

3). พฤติกรรมการบริโภคกาแฟ

          ชาวอาหรับยูเออีใช้กาแฟต้มผสมลูกกระวานและหญ้าฝรั่น (Saffron) ตำหรับพื้นเมือง เพื่อใช้เป็นเครื่องดื่มสำหรับต้อนรับแขกเหรื่อ มีอุปกรณ์และขั้นตอนการทำที่เป็นเอกลักษณ์เฉพาะตัว เรียกว่า  Arabic coffee หรือกาแฟอาหรับ เป็นเครื่องดื่มที่ได้รับความนิยมมากที่สุดในกลุ่มประเทศอ่าวอาหรับ การดื่มกาแฟของชาวอาหรับทั้งหลาย (รวมถึงชาวเติร์ก อาหรับในแอฟริกาเหนือ) ถือเป็นส่วนหนึ่งของวัฒนธรรม ซึ่งมีความหมายมากกว่าแค่เครื่องดื่มบันเทิงใจ และ Arabic coffee ได้รับการยกย่องให้เป็นหนึ่งมรดกทางวัฒนธรรมที่จับต้องไม่ได้ของโลกโดย UNESCO 

          ประมาณการว่าประชากรยูเออีบริโภคกาแฟคนละ 3.5 ก.ก.ต่อปี มีร้านกาแฟประมาณ 4,000 ร้านในประเทศเฉลี่ยจำนวนกาแฟเสริฟวันละ 6 ล้านแก้ว องค์การกาแฟสากล หรือ The International Coffee Organization (ICO) ระบุว่าระหว่างปี 2551 และ 2561 ยูเออีนำเข้าเข้ากาแฟเพิ่มขึ้นถึง 249% ในขณะที่ซาอุดิอาระเบียนำเข้ากาแฟเพิ่มขึ้น 42.8% และตุรกีเพิ่มขึ้น 192.8%

          บริษัทวิจัยด้านการตลาดกาแฟ (World Coffee Portal) ได้คาดการณ์เกี่ยวกับตลาดร้านกาแฟในยูเออีว่าจะมีร้านกาแฟ (café outlets) ประมาณ 1,760 ยี่ห้อภายในปี 2566

4). ลักษณะสินค้า

          ในยูเออีผู้บริโภคส่วนใหญ่นิยมสายพันธุ์อาราบิก้าเมล็ดกาแฟจากบราซิลเพราะความเข้มข้นของรสชาติ กระนั้นปัจจุบันความนิยมนำเมล็ดกาแฟหลากชนิดมาผสมกัน กำลังเป็นที่นิยมในหมู่คนรุ่นใหม่

          ลักษณะกาแฟที่จำหน่ายปลีกในยูเออีสามารถแบ่งออกได้ดังต่อไปนี้:

         – เมล็ดกาแฟคั่ว มีจำหน่ายในซูเปอร์มาร์เก็ตขนาดใหญ่ร้านขายเมล็ดกาแฟคั่วสด (Roasteries) ลูกค้าสามารถเลือกพันธ์ ระดับการคั่วปานกลางจนถึงเข้ม มีบริการบดกาแฟให้ลูกค้าฟรี

          – กาแฟสดบด มีจำหน่ายในซูเปอร์มาร์เก็ต ร้าน Roasteries ราคาขึ้นอยู่กับคุณภาพของเมล็ดกาแฟ ร้านค้ามีสูตรการคั่วระดับต่างๆ ใช้เมล็ดกาแฟอาราบิก้าและผสมเมล็ดกาแฟโรบัสต้า แตกต่างไป

          – กาแฟผง (instant coffee )บรรจุขวดจำหน่ายในซูเปอร์มากเก็ต เป็นสินค้ายี่ห้องดัง  ได้แก่ Nescafe , Davidoff, Tesco, Klassno, Lavazza  เป็นต้น

– กาแฟสำเร็จรูปพร้อมดื่ม 3in1 ยี่ห้อ Nescafe, Alicafe ของมาเลเซีย และ Alokozay ของยูเออี เป็นต้น

5). กฎระเบียบการนำเข้ากาแฟ

          ยูเออีมีระเบียบการนำเข้าสินค้าอาหารที่ต้องมีเอกสารประกอบการส่งออก ได้แก่ Invoice / Certificate of Origin ประทับตรารับรองจากหอการค้าไทย และ Legalize  จากสถานทูตประเทศสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ ในประเทศไทย Bill of  Lading  และ Packing List  สินค้าพืชผักต้องมีต้องมีใบรับรองปลอดโรค Phytosanitary Certificate  และต้องมีฉลากสินค้า หากฉลากเป็นภาษาอังกฤษจะต้องมีภาษาอาระบิกกำกับ รายละเอียดบนฉลากประกอบด้วยข้อความดังนี้ 

  1. ชื่อของผลิตภัณฑ์ และเกรด
  2. ชื่อของสายพันธุ์กาแฟ   
  3. น้ำหนักสุทธิ
  4. ชื่อและที่อยู่ของผู้ผลิต/ ผู้บรรจุ/ผู้จัดจําหน่าย/ผู้นําเข้า/ส่งออก/ผู้ขาย
  5. วันที่ผลิต
  6. วันหมดอายุ
  7. ประเทศผู้ผลิต

6). ข้อมูลเกี่ยวกับ Fair Trade สินค้ากาแฟ

          การใช้เครื่องหมาย Fair Trade Mark ในยูเออียังไม่เป็นที่รู้จักแพร่หลาย บางบริษัทนำเข้าสินค้าผลิตภัณฑ์เกษตรแสดงเครื่องหมายนี้ มีผู้นำเข้าชาวอาหรับพื้นเมืองนำเข้ากาแฟจากเยเมนติดฉลาก Fair Trade เพื่อสร้างความมั่นใจกาแฟของบริษัทที่นำเข้านั้น ส่งผลกระทบในเชิงบวกให้แก่ผู้ผลิต/เกษตรกรเยเมน 

7). ข้อมูลอื่นๆ

          รัฐดูไบ จัดตั้งศูนย์สินค้าโภคภัณฑ์ Dubai Multi Commodities Centre (DMCC)   มี Coffee Centre เป็นศูนย์กลางค้ากาแฟ  คาดว่าจะสามารถรองรับการค้าเมล็ดกาแฟปีละ 2 หมื่นตัน ปัจจุบันให้บริการสําหรับการจัดเก็บเมล็ดกาแฟดิบ แปรรูป คั่วและบรรจุ รวมถึงวิทยาเขตฝึกอบรมที่ได้รับการรับรองจาก SCA -Specialty Coffee Association เสนอหลักสูตรการศึกษาและฝึกอบรมการคัดเกรด การคั่วเมล็ดกาแฟ และบาริสต้า และคาดว่าศูนย์กาแฟแห่งนี้จะสามารถตอบสนองต่อความต้องการกาแฟที่เพิ่มขึ้นในตะวันออกกลางอย่างมีนัยสำคัญ และจะเป็นส่วนหนึ่งของการกระจายเศรษฐกิจที่ไม่ใช่น้ำมันของยูเออี

8) สรุป

          1. การบริโภคกาแฟในสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์มีการเติบโตอย่างแข็งแกร่งในช่วงหลายปีที่ผ่านมา จึงมีร้านกาแฟจำนวนมากขายเครื่องดื่มกาแฟสด รวมทั้งกาแฟสำเร็จรูปก็มีขายผ่านซูเปอร์มาร์เก็ตเพื่อชงดื่มเองที่บ้านด้วยเช่นกัน

          2. สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์นำเข้ากาแฟที่ยังไม่ได้คั่วจากตลาดโลกประมาณ 43.4 ล้านเหรียญสหรัฐ กาแฟที่ยังไม่ได้คั่วนี้สามารถนำไปคั่วในยูเออีหรือส่งออกต่อไปต่างประเทศ

          3. ตลาดกาแฟในยูเออีเติบโตอย่างแข็งแกร่งในช่วงทศวรรษที่ผ่านมา ปัจจัยขับเคลื่อนที่สำคัญของความต้องการบริโภคกาแฟ คือการเติบโตของรายได้และการเติบโตของจำนวนประชากรโดยเฉพาะอย่างยิ่งชาวต่างชาติที่เข้ามาทำงานในยูเออีจำนวนมาก ทั้งจากเอเชียและยุโรป

OMD KM

FREE
VIEW