รายงานสถานการณ์การค้าประเทศอียิปต์ ณ กรุงไคโร เดือนสิงหาคม 2564

Fitch Solutions ประเมิน GDP ของอียิปต์จะเติบโตร้อยละ 5 ในปีงบประมาณปัจจุบัน 2564/2565 ซึ่งเริ่มต้นตั้งแต่วันที่ 1 กรกฎาคมและสิ้นสุดในวันที่ 30 มิถุนายน 2565 และจะขยายตัวเพิ่มขื้นเป็นร้อยละ 5.5 ในปีงบประมาณ 2565/2566 และคาดว่าอัตราเงินเฟ้อจะอยู่ที่ระดับร้อยละ 5.1

อียิปต์เป็นหนึ่งในไม่กี่ประเทศทั่วโลกที่มีอัตราเการเติบโตทางเศรษฐกิจเพิ่มขึ้น แม้ในปีที่ผ่านมาจะประสบกับปัญหาโควิด 19 ซึ่งหากไม่ประสบปัญหาดังกล่าว เศรษฐกิจน่าจะขยายตัวได้มากกว่าที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน และถึงแม้อียิปต์จะดำเนินการเรื่องวัคซีนค่อนข้างช้า แต่อียิปต์มีข้อกำหนดที่ค่อนข้างผ่อนปรน ทำให้เศรษฐกิจยังสามารถเดินหน้าต่อไปได้

Fitch ยังประเมินว่า เงินปอนด์อียิปต์จะมีแนวโน้มอ่อนค่าลง ไปอยู่ที่ระดับ 16.20 ปอนด์อียิปต์/เหรียญสหรัฐฯ ในขณะที่ ธนาคารกลางของอียิปต์จะยังคงอัตราดอกเบี้ยโดยเฉลี่ยที่ร้อยละ 9.25 และการลงทุนทางตรงยังสามารถขยายตัวเนื่องจากการพัฒนาโครงการขนาดใหญ่ที่ได้รับการสนับสนุนทั้งจากภาครัฐบาลและเอกชน

สำหรับภูมิภาคตะวันออกกลางและแอฟริกาตอนเหนือ (MENA) Fitch คาดว่าการเติบโตทางเศรษฐกิจ (GDP) ของภูมิภาคจะเติบโตที่ร้อยละ 3.6 ในปี 2564 หลังจากที่เศรษฐกิจหดตัวร้อยละ 4 ในปี 2563 โดยอัตราการขยายตัวดังกล่าวสูงกว่าอัตราการเติบโตโดยเฉลี่ยระหว่างปี 2554-2563 ซึ่งอยู่ที่ระดับร้อยละ 2.7

ด้านภาวะเงินเฟ้อภายในประเทศยังอยู่ในระดับที่ควบคุมได้ โดยสำนักงานสถิติอียิปต์ (CAPMAD) เผยอัตราเงินเฟ้อประจำปีของอียิปต์เพิ่มขึ้นเป็นร้อยละ 6.1 ในเดือนกรกฎาคม ซึ่งเพิ่มขึ้นจากร้อยละ 4.6 ในเดือนเดียวกันของปี 2563 และร้อยละ 4.9 ในเดือนมิถุนายน 2564

CAPMAS ระบุว่าการปรับขึ้นนี้ส่วนใหญ่เป็นผลมาจากการเพิ่มขึ้นของราคาไฟฟ้า เชื้อเพลิง ก๊าซธรรมชาติ และแหล่งเชื้อเพลิงอื่นๆ นอกจากนี้ ราคาชีส ผลิตภัณฑ์นม และไข่ก็เพิ่มขึ้นร้อยละ 2.2 ในเดือนกรกฎาคม ราคาเนื้อสัตว์และสัตว์ปีกเพิ่มขึ้นร้อยละ 1.2 ในขณะที่ราคาผลไม้ในเดือนกรกฎาคมลดลงร้อยละ 3.4

ทั้งนี้ จากรายงานสถานการณ์แนวโน้มเศรษฐกิจของอียิปต์ของกองทุนการเงินระหว่างประเทศประเมินว่าอัตราเงินเฟ้อของอียิปต์จะอยู่ที่ร้อยละ 6.6 ในปีงบประมาณ 2564/2565 และจะเพิ่มขึ้นเป็นร้อยละ 6.9 ในปีงบประมาณ 2565/2566 ซึ่งสูงกว่าระดับอัตราเงินเฟ้อของปีงบประมาณ 2562/2563 ที่ระดับร้อยละ 5.7และคาดว่าอัตราเงินเฟ้อจะเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องจนถึงเดือนกันยายน โดยได้รับแรงหนุนจากช่วงเทศกาลอีดและช่วงเปิดเทอม โดยคาดการณ์ว่าธนาคารกลางอียิปต์จะยังคงระดับอัตราดอกเบี้ยในปัจจุบันจนถึงสิ้นปี 2564

นอกจากนี้ ในเดือนสิงหาคม คณะกรรมการนโยบายการเงิน (MPC) ของธนาคารกลางแห่งอียิปต์ (CBE) ได้ตัดสินใจคงอัตราดอกเบี้ยเป็นครั้งที่หกติดต่อกันตั้งแต่เดือนธันวาคม 2563 โดยคงอัตราดอกเบี้ยเงินฝากข้ามคืน ที่ร้อยละ 8.25 อัตราดอกเบี้ยเงินกู้ข้ามคืน ที่ร้อยละ 9.25 และอัตราดอกเบี้ยสำหรับการดำเนินงานหลักที่ร้อยละ 8.75 โดยการตัดสินใจดังกล่าวเกิดขึ้นจากอัตราเงินเฟ้อของเดือนมิถุนายน ซึ่งต่ำกว่าระดับที่กำหนดโดยธนาคารกลางที่ร้อยละ 7 (± ร้อยละ 2)

ด้านการลงทุน รัฐบาลอียิปต์มีแผนที่จะส่งเสริมการลงทุนในภาคการเกษตรในปีงบประมาณ 2564/2565 เพิ่มขึ้นร้อยละ 72 คิดเป็นมูลค่า 73,800 ล้านปอนด์อียิปต์ (หรือประมาณ 147,600 ล้านบาท) (คิดเป็นร้อยละ 5.9 ของการลงทุนทั้งหมดของประเทศ) เพิ่มขึ้นจาก 43,000 ล้านปอนด์อียิปต์ (หรือประมาณ 86,000 ล้านบาท) ที่จัดสรรในปีงบประมาณ 2563/2564 โดยภาคการเกษตรจัดเป็นภาคเศรษฐกิจที่สำคัญ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วงวิกฤตจากโควิด 19 และยังมีบทบาทสำคัญในการสนับสนุนดุลการค้าของอียิปต์ให้ปรับตัวดีขึ้นผ่านโอกาสในการส่งออกไปยังตลาดใหม่ที่มีศักยภาพทั้งในภูมิภาคยุโรป ตะวันออกกลาง และเอเชีย

ในด้านภาระหนี้ต่างประเทศของอียิปต์มีมูลค่า 134,800 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ณ สิ้นเดือนมีนาคม 2564 เพิ่มขึ้นประมาณ 11,300 ล้านเหรียญสหรัฐฯ จากเดือนมิถุนายน 2563 โดยเป็นภาระหนี้ต่างประเทศระยะยาว จำนวน 121,500 ล้านเหรียญสหรัฐฯ คิดเป็นร้อยละ 90.2 ของหนี้ต่างประเทศทั้งหมดของอียิปต์ ในช่วงสิ้นเดือนมีนาคม 2564 หรือเพิ่มขึ้นประมาณ 8,900 ล้านเหรียญสหรัฐฯ เมื่อเทียบกับสิ้นเดือนมิถุนายน 2563

ในขณะเดียวกัน หนี้สินระยะสั้นของอียิปต์เพิ่มขึ้นประมาณ 2,400 ล้านเหรียญสหรัฐฯ อยู่ที่ระดับ 13,300 ล้านเหรียญสหรัฐฯ คิดเป็นร้อยละ 9.8 ของหนี้ต่างประเทศทั้งหมดของประเทศ โดยภาครัฐยังคงเป็นภาคส่วนที่ผูกพันภาระหนี้หลักของประเทศ คิดเป็นสัดส่วนประมาณร้อยละ 59.7 ของหนี้ต่างประเทศของอียิปต์

สำหรับการค้าระหว่างอียิปต์กับไทย ในช่วง 7 เดือนแรกของปี 2564 ไทยส่งออกรวม 640.1 ล้านเหรียญสหรัฐฯ เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อนหน้าร้อยละ 26.6 สินค้าส่งออกหลักของไทย ได้แก่ อาหารทะเลกระป๋องและแปรรูป รถยนต์อุปกรณ์และส่วนประกอบ ผลิตภัณฑ์ยาง และเคมีภัณฑ์ ในขณะที่การนำเข้า มีมูลค่า 9.9 ล้านเหรียญสหรัฐฯ เพิ่มขึ้นร้อยละ 21.7 สินค้านำเข้าหลัก ได้แก่ ส่วนประกอบและอุปกรณ์ยานยนต์ เครื่องจักรไฟฟ้าและส่วนประกอบ ผลิตภัณฑ์กระจกและแก้ว ผลิตภัณฑ์พลาสติก แร่และผลิตภัณฑ์จากแร่ ด้ายและเส้นใย ส่งผลให้ภาพรวมมูลค่าการค้าของไทยกับอียิปต์ในช่วง 7 เดือนแรกของปี 2564 ขยายตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 26.6 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน

หน่วย : ล้านเหรียญสหรัฐฯ

ที่มา: ศูนย์เทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร สำนักงานปลัดกระทรวงพาณิชย์ โดยความร่วมมือจากกรมศุลกากร

นอกจากนี้ เมื่อวันที่ 23 มิถุนายน 2564 ทางการอียิปต์ได้ประกาศขยายระยเวลาการทดลองใช้ระบบการแจ้งข้อมูลการนำเข้าสินค้าล่วงหน้าของอียิปต์ (Advance Cargo Information System: ACI) ออกไปจนถึงวันที่ 30 กันยายน 2564 และจะเริ่มบังคับใช้อย่างเป็นทางการตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม 2564 เป็นต้นไป โดยทุก shipment ที่ส่งออกมาอียิปต์จะต้องมีหมายเลข ACID No. (Advance Cargo Information Declaration Number) ประกอบด้วย มิเช่นนั้น ผู้นำเข้าจะไม่สามารถออกสินค้าเมื่อเรือมาถึงท่าปลายทางที่อียิปต์ได้

ผลกระทบต่อผู้ประกอบการไทย

จากการหารือกับผู้นำเข้าอียิปต์ในช่วงเดือนสิงหาคม 2564 ปัญหาสำคัญที่ผู้นำเข้าประสบอยู่ยังคงเป็นเรื่องต้นทุนการขนส่งสินค้าที่เพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง ทำให้ผู้นำเข้าหลายรายชะลอการนำเข้าสินค้าจากไทยและพิจารณาปรับราคาในการจำหน่ายใหม่เพื่อให้ครอบคลุมต้นทุนที่เพิ่มสูงขึ้น ผู้ประกอบการไทยจึงจำเป็นที่จะต้องพยายามปรับลดต้นทุนในด้านอื่นๆ ลง เพื่อคงขีดความสามารถในการแข่งขันของสินค้าไทยในตลาดอียิปต์ นอกจากนี้ ยังควรให้ความสำคัญกับมาตรฐานและคุณภาพของสินค้าที่ส่งออก โดยเฉพาะสินค้าอาหารอุปโภคบริโภค ที่จะต้องผ่านเกณฑ์การตรวจสอบความปลอดภัยของหน่วยงานด้านมาตรฐานของอียิปต์ มิเช่นนั้น อาจถูกการปฏิเสธการนำเข้าได้

สำหรับการส่งออกของไทยในช่วง 7 เดือนแรกของปี 2564 ขยายตัวเพิ่มขึ้น ร้อยละ 26.6 จากช่วงเดียวกันของปีก่อนหน้า โดยเฉพาะในกลุ่มสินค้าอาหารทะเลแปรรูป และชิ้นส่วนยานยนต์ซึ่งเป็นสินค้าส่งออกสำคัญของไทยมายังตลาดอียิปต์ มีอัตราการขยายตัวร้อยละ 18.2 และร้อยละ 40.2 ตามลำดับ จึงเป็นโอกาสสำคัญสำหรับผู้ส่งออกของไทยในกลุ่มสินค้าดังกล่าว ในทางกลับกัน ไทยสามารถนำเข้าสินค้าประเภทแร่ธาตุ สิ่งทอ ผ้าผืน และเคมีภัณฑ์ ซึ่งเป็นสินค้าที่มีศักยภาพของอียิปต์ เพื่อใช้เป็นวัตถุดิบในการผลิตได้อีกทางหนึ่งด้วย

สืบเนื่องจากการที่ทางการอียิปต์ได้ประกาศขยายระยเวลาการทดลองใช้ระบบการแจ้งข้อมูลการนำเข้าสินค้าล่วงหน้าของอียิปต์ (ACI) ออกไปจนถึงวันที่ 30 กันยายน 2564 และจะเริ่มบังคับใช้อย่างเป็นทางการตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม 2564 ผู้ส่งออกไทยจึงมีเวลาที่จะทดลองใช้ระบบดังกล่าวมากขึ้น รวมถึงเตรียมความพร้อมและศึกษาแนวทางในการจัดส่งเอกสารทางการค้าผ่านระบบออนไลน์ดังกล่าวเพื่อป้องกันปัญหาที่จะเกิดขึ้นจากการเริ่มต้นใช้งานระบบดังกล่าวอย่างเป็นทางการ

Leave a Comment

Your email address will not be published. Required fields are marked *

OMD KM

FREE
VIEW