รายงานสถานการณ์การค้าชิลี ณ กรุงซันติอาโก เดือนเมษายน 2565

ตลาดปุ๋ยในภาพรวมของประเทศชิลี

ภาพรวม

ชิลี เป็นหนึ่งในประเทศที่ผลิตสินค้าทางการเกษตรรายใหญ่ที่สุดในภูมิภาคลาตินอเมริกาและจัดเป็นประเทศที่มีบทบาทสำคัญในตลาดสินค้าเกษตรของโลก โดยเฉพาะผลไม้ เช่น เชอร์รี่ บลูเบอร์รี่ องุ่น อาโวคาโด ลูกพรุน ลูกพลับ ฯลฯ ซึ่งถือเป็นหนึ่งในสินค้าส่งออกที่สร้างรายได้หลักให้กับชิลี และจากการที่ผลผลิตทางการเกษตรของชิลีมีความสำคัญต่อรายได้และเศรษฐกิจของประเทศ ส่งผลให้ความต้องการ “ปุ๋ย” เพื่อใช้ในภาคเกษตรกรรมเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง

ทั้งนี้ ชิลีมีการผลิตและส่งออกปุ๋ย เนื่องจากมีแหล่งแร่ไนเตรทและแร่โพแทสเซียมซึ่งถือเป็นวัตถุดิบสำคัญในการผลิตปุ๋ยอนินทรีย์ (ปุ๋ยเคมี) อย่างไรก็ดี จากข้อจำกัดที่รัฐบาลชิลีกำหนดให้มีการสำรองแร่ไนเตรททางตอนเหนือของประเทศ เพื่ออนุรักษ์ให้เป็นแหล่งแร่ไนเตรทและไอโอดีนที่ใหญ่ที่สุดในโลก ประกอบกับต้นทุนทางการผลิตที่สูงขึ้น (ชิลีเป็นประเทศที่มีค่าครองชีพและอัตราเงินเฟ้อที่สูงที่สุดในลาตินอเมริกานับตั้งแต่ปี 2561-ปัจจุบัน) ทำให้การผลิตและส่งออกมีปริมาณลดลง ในขณะที่มีการนำเข้าจากต่างประเทศเพิ่มขึ้น (แผนภูมิที่ 1)

แผนภูมิที่ 1 กราฟเปรียบเทียบปริมาณการนำเข้าและส่งออกปุ๋ยของชิลีระหว่างปี 2559-2564 (หน่วย:กิโลกรัม)

ขนาดตลาด          

จากข้อมูลของสำนักงานสถิติแห่งชาติของชิลีระบุว่า พื้นที่เพาะปลูกของชิลีประจำปี 2564 อยู่ที่ 696,341 เฮคเตอร์ (หรือประมาณ 4.35 ล้านไร่)

โดยเป็นพื้นที่เพาะปลูกธัญพืช (ข้าวสาลี ข้าวโพด ข้าวโอ๊ต) คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 74.4 ผักและผลไม้ที่ร้อยละ 16.7 และพืชตระกูลถั่วที่ร้อยละ 9 โดยพื้นที่เพาะปลูกเกินกว่าร้อยละ 30 มีการใช้ปุ๋ยในการเพาะปลูก

ทั้งนี้ ชิลีมีทั้งการผลิต นำเข้าและส่งออกปุ๋ย โดยในช่วง 6 ปีที่ผ่านมา (ระหว่างปี 2559-2564) พบว่าชิลีส่งออกปุ๋ยในปริมาณที่ลดลงในขณะที่มีการนำเข้ามากขึ้น (ตารางที่ 1) โดยปุ๋ยที่ชิลีมีการส่งออกมากที่สุดคือ ปุ๋ยโพแทสเซียม และนำเข้าปุ๋ยไนเตรทมากที่สุด

ตารางที่ 1 ตารางแสดงปริมาณการผลิตปุ๋ย ปริมาณการนำเข้าและส่งออกปุ๋ยของชิลี
ระหว่างปี 2559-2564 (ปริมาณ:ล้านตัน)

จากข้อมูลของ Global Trade Atlas พบว่าในปี 2564 ชิลีมีการส่งออกปุ๋ยอยู่ที่ 1.21 ล้านตัน คิดเป็นมูลค่า 584.55 ล้านเหรียญสหรัฐ และมีการขยายตัวของการส่งออกคิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 30.14 เมื่อเทียบกับปี 2563 (ตารางที่ 2) ซึ่งตลาดส่งออกสำคัญ ได้แก่ บราซิล เม็กซิโก สหรัฐอเมริกา เปรู แอฟริกาใต้ เนเธอร์แลนด์ เอกวาดอร์ ญี่ปุ่น สเปน และโคลอมเบีย ตามลำดับ (แผนภูมิที่ 2)

ตารางที่ 2 ตารางแสดงมูลค่าการส่งออกปุ๋ยของชิลี (แยกตามประเภท)
ระหว่างปี 2562-2564

แผนภูมิที่ 2 ประเทศที่ชิลีมีการส่งออกปุ๋ยมากที่สุดในปี 2564

ในส่วนของการนำเข้า ปี 2564 ชิลีมีการนำเข้าปุ๋ยที่ปริมาณ 1.27 ล้านตัน คิดเป็นมูลค่า 655.78 ล้านเหรียญสหรัฐ มีการขยายตัวของการนำเข้าคิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 66.39 เมื่อเทียบกับปี 2563 (ตารางที่ 3) ซึ่งประเทศชิลีมีการนำเข้าสูงสุด ได้แก่ จีน มาเลเซีย สหรัฐอเมริกา รัสเซีย สเปน โอมาน อินโดนีเซีย เนเธอร์แลนด์ เยอรมนี และฟินแลนด์ ตามลำดับ (แผนภูมิที่ 3)

ตารางที่ 3 ตารางแสดงมูลค่าการนำเข้าปุ๋ยของชิลี (แยกตามประเภท) ระหว่างปี 2562-2564

แผนภูมิที่ 3 ประเทศที่ชิลีมีการนำเข้าปุ๋ยมากที่สุดในปี 2564

บทวิเคราะห์และผลกระทบต่อเศรษฐกิจไทย

          จากผลการสืบค้นข้อมูลของ สคต. ณ กรุงซันติอาโก พบว่าไทยมีการนำเข้าปุ๋ยจากชิลีในปี 2564 ที่ปริมาณ 21 ล้านกิโลกรัม คิดเป็นมูลค่า 5.5 ล้านเหรียญสหรัฐ โดยเป็นการนำเข้าปุ๋ยโพแทสเซียมมากที่สุดคิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 96.97 ของการนำเข้าปุ๋ยทั้งหมด

สงครามรัสเซีย-ยูเครน ส่งผลกระทบให้ราคาปุ๋ยเคมีในตลาดโลกมีการปรับตัวสูงขึ้น เนื่องจากรัสเซียเป็นผู้ส่งออกปุ๋ยรายใหญ่ของโลกและห้ามการส่งออกปุ๋ยไปตลาดโลก ทำให้ต้นทุนในการผลิตของเกษตรกรไทยมีการปรับตัวเพิ่มขึ้น จากปัญหาดังกล่าว สำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ (สคต.) ณ กรุงซันติอาโก ได้วิเคราะห์ข้อมูลการผลิตและส่งออกปุ๋ยของประเทศชิลี และเห็นว่าไทยสามารถนำเข้าปุ๋ยจากชิลีเพิ่มขึ้น เพื่อทดแทนการนำเข้าจากรัสเซีย (ปี 2564 ไทยนำเข้าปุ๋ยจากรัสเซียเป็นลำดับที่ 3 รองจากจีนและซาอุดีอาระเบีย) ในขณะที่ ยูเครนห้ามส่งออกปุ๋ยเพื่อเก็บไว้ทำการเกษตรในประเทศ ที่ฤดูการเพาะปลูกของยูเครนจะเริ่มตั้งแต่เดือนมีนาคมถึงพฤษภาคมของทุกปี ส่วนจีนก็ส่งออกปุ๋ยลดลงเพื่อเก็บไว้ใช้ในประเทศ ซึ่งปัจจัยต่าง ๆ เหล่านี้ส่งผลให้ปุ๋ยในตลาดโลกปรับตัวสูงขึ้น ทั้งนี้ ไทยสามารถใช้ประโยชน์จากสิทธิประโยชน์ทางภาษีของความตกลงเขตการค้าเสรีไทย-ชิลี ซึ่งสินค้าปุ๋ยอยู่ในรายการที่ได้รับการยกเว้นภาษีนำเข้า นอกจากนี้ บริษัท SQM ที่เป็นผู้ส่งออกปุ๋ยเคมีรายใหญ่ของชิลีมีสาขาและโรงงานในประเทศไทย ซึ่งจะเป็นประโยชน์ต่อไทยในการขยายความร่วมมือกับผู้ประกอบการชิลีในการเพิ่มกำลังการผลิตปุ๋ยในประเทศไทย และการเพิ่มแรงจูงใจด้านภาษีสำหรับการขยายการลงทุนในการผลิตปุ๋ย ในการนี้ สคต. ณ กรุงซันติอาโก จะติดตามความเคลื่อนไหวของสถานการณ์ตลาดปุ๋ยในไทยและชิลีเพื่อวางแผนที่จะหารือกับผู้ส่งออกรายสำคัญต่อไป

Leave a Comment

Your email address will not be published. Required fields are marked *

OMD KM

FREE
VIEW