รายงานสถานการณ์การค้าสหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมนี ณ กรุงเบอร์ลิน เดือนกรกฎาคม 2565

เยอรมนีเสียอาการ … ประสบภาวะขาดดุลการค้าครั้งแรกในรอบ 14 ปี

เยอรมนีถึงจุดที่ขาดดุลการค้าเป็นครั้งแรกในรอบ 14 ปี (นับตั้งแต่ปี 2008) โดยจากข้อมูลของสำนักงานสถิติประจำประเทศเยอรมนี (Statistische Bundesamt) เปิดเผยว่า เดือนพฤษภาคม 2565 เยอรมนีนำเข้าสินค้าจากทั่วโลกเป็นมูลค่ากว่า 126.7 พันล้านยูโร โดยขาดดุลการค้าถึง 1 พันล้านยูโรโดยประมาณ ซึ่งเรื่องนี้กลับมาเกิดขึ้นอีกครั้งในรอบ 14 ปี จากที่เดิมเยอรมนีมักจะฝ่ายได้ดุลการค้ามาโดยตลอด แต่ปัญหาจริง ๆ แล้ว มิได้อยู่ที่ว่าเยอรมนีขาดดุลหรือได้ดุลการค้า แต่ประเด็นสำคัญ คือ อะไรเป็นปัจจัยที่ทำให้เยอรมนีกลับมาขาดดุลการค้าครั้งแรกในรอบ 14 จริง ๆ แล้วปัจจัยนั้น คือ ผลพวงจากสงครามในยูเครน หรือเป็นที่ปัญหาโครงสร้างทางเศรษฐกิจของประเทศเองกันแน่

ในช่วงหลายปีที่ผ่านมา หลาย ๆ ฝ่าย ยกตัวอย่างเช่น คณะกรรมาธิการสหภาพยุโรป (EU) กองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF – international Monetary Fund) และนาย Donal Trump อดีตประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกา ได้มองว่า เยอรมนีเป็นฝ่ายได้ดุลการค้าชาวบ้านเขามาตลอด และเยอรมันมักเน้นส่งออกสินค้ามากกว่าซื้อสินค้ามาบริโภคภายในประเทศ จึงทำให้มีผู้ประกอบอาชีพมากกว่าที่ควรจะเป็น และทำให้ชาวต่างชาติต้องสร้างหนี้เพิ่มขึ้นอีก เพราะต้องการจะซื้อสินค้าของเยอรมนี

จริงๆ แล้ว เยอรมนีเริ่มออกอาการว่าจะต้องเจอภาวะขาดดุลการค้ามาตั้งแต่ช่วงต้นปีนี้ โดยนาย Moritz Schularick นักเศรษฐศาสตร์จากเมือง Bonn เปิดเผยว่า “เรื่องนี้ ไม่ใช่เรื่องที่น่าตกอกตกใจเลย เพราะเมื่อมองราคาสินค้าพลังงานที่สูงขึ้นขนาดนี้ ก็ถูกต้องแล้วที่เยอรมนีต้องขาดดุลการค้า” การที่เยอรมนีเจอกับภาวะขาดดุลการค้านี้ ไม่ได้เกิดขึ้นเพราะเยอรมนีขายของหรือส่งออกสินค้าได้น้อยลง หากแต่เป็นเพราะว่าราคาสินค้านำเข้า โดยเฉพาะสินค้าในหมวดพลังงาน มีราคาพุ่งกระฉูด ยกตัวอย่างเช่น การนำเข้าสินค้าพลังงานจากรัสเซียได้ปรับราคาเพิ่มขึ้นจากเดิมถึง 55% สำหรับปัจจัยอื่นๆ ที่ทำให้เยอรมนีประสบปัญหาขาดดุลการค้า ได้แก่ ปัญหา Supply Chain และสงครามในยูเครน ที่ทำให้เยอรมนีไม่สามารถนำเข้าวัตถุดิบบางส่วนมาใช้ผลิตสินค้าส่งออกโดยเฉพาะรถยนต์ได้ ด้านนาย Holger Görg ประธาน Ifw – Institut für Weltwirtschaft (สถาบันเศรษฐกิจโลก) ที่ตั้งอยู่ในเมือง Kiel เปิดเผยว่า “ปัญหาดังกล่าวส่งผลกระทบอย่างหนักต่อภาคการส่งออก” ยกตัวอย่างเช่น ขณะนี้วัตถุดิบพวกเหล็กหรือชิ้นส่วนรถยนต์ขาดตลาดมาก และเมื่อไม่มีวัตถุดิบ ก็ย่อมส่งผลต่อการผลิตรถยนต์ซึ่งเป็นอุตสาหกรรมส่งออกหลักของเยอรมันนั่นเอง  

ผู้เชี่ยวชาญคาดการณ์กันว่า แม้การระบาดของเชื้อโควิด-19 หรือสงครามยูเครนจบลงไปแล้ว แต่ก็ไม่การันตีว่า เยอรมนีจะกลับมาได้ดุลการค้าเหมือนเดิมหรือไม่ โดยนาย Görg เห็นว่า “อีกหนึ่งปัญหาที่เยอรมนียังคงมีอยู่ คือ ปัญหาในโครงสร้างของระบบ” โดยเขาคาดว่า ต่อไปในอนาคต มูลค่าการนำเข้าและส่งออกคงจะไล่เลี่ยกัน และการขาดดุลการค้าที่เกิดขึ้นแบบกระทันหันนี้ไม่ได้เกิดจากผลพวงการนำเข้าเพียงอย่างเดียว หากแต่เป็นเพราะมูลค่าการส่งออกของเดือนพฤษภาคม 2565 ลดลง 0.5% ขณะนี้ ภาคเอกชนได้แสดงความกังวลและกลัวว่าการดำเนินธุรกิจในเยอรมนีจะประสบปัญหา โดยนาย Volker Treier ผู้อำนวยการด้านการค้าระหว่างประเทศของสภาหอการค้าพาณิชย์และอุตสหากรรมเยอรมนี (DIHK – Der Deutsche Industrie- und Handelskammertag) ให้ความเห็นว่า “มีความเป็นไปได้ว่า การส่งออกของเยอรมนีจะลดลงเรื่อย ๆ” โดยนาย Jandura ได้ให้ความเห็นว่า “เยอรมนีคงไม่มีทางเลือกอื่นแล้ว นอกจากต้องพยายามผลักดันการเจรจา FTA กับประเทศคู่ค้าให้มากขึ้นนั่นเอง”

ปัจจุบันภาคเอกชนต่างก็กลัวว่า โลกในยุคโลกาภิวัตน์จะเริ่มลดบทบาทลงเรื่อยๆ จากการที่เราไม่สามารถค้าขายกับรัสเซียซึ่งเป็นตลาดส่งออกหลักได้เหมือนเดิม แล้วไหนอาจเสียสัมพันธ์กับจีนได้อีก ซึ่งเหล่านี้จะกระทบต่อภาคการผลิตและการส่งออกของเยอรมนีค่อนข้างมาก เพราะเยอรมนียังคงต้องพึ่งพิงการนำเข้าวัตถุดิบจากต่างประเทศค่อนข้างมาก ซึ่งนาย Görg เห็นว่า “ระบบเศรษฐกิจของเยอรมนีมีความผูกพันกับนานาชาติมาโดยตลอด” ซึ่งในระยะยาวเยอรมนีก็ยังคงต้องการสินค้านำเข้าจากต่างประเทศอยู่ดี  

จาก Handelsblatt 25 กรกฎาคม 2565

ข้อคิดเห็น/ข้อเสนอแนะของ สคต.

– เจ้าพ่อวงการการส่งออกอย่างเยอรมนีที่ได้ดุลการค้าติดต่อกันหลายปีก็ต้องมายอมแพ้ให้กับราคาพลังงานและวัตถุดิบที่สูงขึ้นเพราะเป็นเอฟเฟกต์ด้านโครงสร้างในระบบที่ไม่สามารถหลบเลี่ยงได้ตามสภาวะของประเทศที่ต้องนำเข้าสินค้าและบริการมาผลิตและเพิ่มมูลค่าเพื่อส่งออกสินค้าออกไป ซึ่งในรายงานนี้แสดงให้เห็นว่า ยังไงเยอรมนีก็มีความต้องการนำเข้าสินค้าอยู่แน่นอน แต่น่าจะเปลี่ยนรูปร่าง และรูปแบบไปตามความต้องการของภาคอุตสาหกรรมนั้นเอง

OMD KM

FREE
VIEW