รายงานสถานการณ์การค้าสหรัฐอเมริกา ณ นครลอสแอนเจลิส เดือนสิงหาคม 2565

ความเคลื่อนไหวสำคัญในสหรัฐฯ ปัจจุบัน

วันที่ 7 สิงหาคม 2565 สภาสูงสหรัฐฯผ่านร่างกฎหมายต่อสู้สภาวะเงินเฟ้อ Inflation Reduction Act of 2022 สาระสำคัญโดยสรุป คือ

  1. ลดค่าใช้จ่ายของคนอเมริกันที่เป็นค่ารักษาพยาบาลและค่ายาตามใบสั่งแพทย์
  2. ลดค่าใช้จ่ายของคนอเมริกันที่เป็นค่าพลังงาน ลงทุนในเรื่องความมั่นคงปลอดภัยของพลังงาน เป้าหมายสร้างสหรัฐฯเป็นผู้นำด้านพลังงานสะอาด ต่อสู้กับสภาวะการเปลี่ยนแปลงของภูมิอากาศ
  3. ปฎิรูปการเก็บภาษีรายได้ให้มีความยุติธรรมมากขึ้น โดยกำหนดให้ เก็บภาษีรัฐบาลกลางกับบริษัทยักษ์ใหญ่สหรัฐฯอย่างต่ำร้อยละ 15 และไม่ขึ้นภาษีรายได้กับผู้ที่มีรายได้ต่ำกว่า 400,000 เหรียญฯ ฝ่ายบริหารประธานาธิบดีสหรัฐฯเชื่อว่าในระยะใกล้ กฎหมายฉบับนี้จะช่วยลดภาวะขาดดุลได้มากกว่า 300,000 ล้านเหรียญฯ และลดอัตราเงินเฟ้อ

    ร่างกฎหมายจะผ่านเข้ากระบวนการพิจารณาลงคะแนนเสียงในสภาผู้แทนราษฎรสหรัฐฯทันทีในสัปดาห์ที่ 2 เดือนสิงหาคม 2565 หากสภาผู้แทนราษฎรลงคะแนนเสียงยอมรับ โดยไม่มีการเปลี่ยนแปลงเนื้อหาสาระ ร่างกฎหมายฯจะถูกส่งให้ประธานาธิบดีไบเดนลงนามออกมาเป็นกฎหมายสมบูรณ์ต่อไป

    นักเศรษฐศาสตร์บางรายวิจารณ์ว่า กฎหมายฉบับนี้จะไม่ช่วยแก้ไขปัญหาเงินเฟ้อสหรัฐฯในทันทีทันใด แต่จะเป็นการทำงานในระยะยาวในการฟื้นฟูเศรษฐกิจสหรัฐฯมากกว่า

     สภาวะเงินเฟ้อร้อยละ 9.1 ของสหรัฐฯในปัจจุบันมีศักยภาพสูงที่จะคุกคามการบริโภค แม้ว่าการบริโภคของคนอเมริกันยังคงดำเนินต่อไปในระดับที่เกือบเหมือนปกติ เนื่องจากตลาดแรงงานยังคงเข้มแข็งและผู้บริโภคจำนวนมากยังคงมีเงินเหลือใช้ที่เป็นผลมาจากการลดการใช้จ่ายและการได้รับเงินช่วยเหลือในช่วงวิกฤต COVID-19 แต่สภาวะเติบโตของเงินเฟ้อที่ยังไม่สามารถแก้ไขได้และนโยบายควบคุมเงินเฟ้อด้วยการขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายของธนาคารกลางสหรัฐฯกำลังลดอำนาจการซื้อของผู้บริโภคลงต่อเนื่อง หากกฎหมายฉบับนี้ผ่านออกมา อาจช่วยรักษาอำนาจการซื้อของคนอเมริกันได้ในระดับหนึ่งผ่านทางการลดค่าใช้จ่ายต่างๆที่จำเป็น แต่การเก็บภาษีบริษัทยักษ์ใหญ่สหรัฐฯที่เดิมที่ไม่ต้องเสียภาษีหรือเสียภาษีในระดับต่ำมาก จะส่งผลกระทบอย่างแน่นอน ที่อาจเป็นการเพิ่มค่าใช้จ่ายในการทำธุรกิจและราคาสินค้า และส่งผลกระทบในทางลบต่อตลาดแรงงานสหรัฐฯ

สหรัฐฯกำลังเผชิญวิกฤตการขาดแคลนอย่างที่ไม่เคยเป็นมาก่อน ทั้งแรงงานและสินค้าอุปโภคบริโภค      

ปัจจุบันสหรัฐฯกำลังเผชิญกับวิฤกตขาดแคลนหลากหลายตั้งแต่ แรงงานในทุกภาคส่วน สินค้าอุปโภคและบริโภคสำหรับทั้งมนุษย์และสัตว์ และสินค้าสำหรับการก่อสร้าง การชาดแคลนเป็นผลสืบเนื่องมาจาก

1. วิกฤตแพร่ระบาด COVID-19

2. วิกฤตห่วงโซ่อุปทานที่เป็นผลมาจากวิกฤต COVID-19

3. ความพยายามแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจที่เป็นผลมาจากข้อ 1 และข้อ 2 ข้างต้น ด้วยการส่งเงินช่วยเหลือให้แก่ผู้บริโภคและภาคธุรกิจ กลับส่งผลกระทบเกิดเป็นการออกจากงานเพื่อรับเงินช่วยเหลืออย่างเดียว ประกอบกับการเปลี่ยนแปลงของลักษณะประชากรสหรัฐฯที่พลเมืองในวัยทำงานมีจำนวนลดลงทำให้ตลาดแรงงาน  ตึงตัวอย่างมาก นายจ้างทุ่มเงินแย่งซื้อแรงงาน ทำให้อัตราค่าจ้างเติบโตสูงผิดปกติ เกิดเป็นอีกเงื่อนไขหนึ่งที่ทำให้เกิดการย้ายงานและการขาดแคลนแรงงาน ค่าใช้จ่ายในการทำธุรกิจเพิ่มสูงขึ้นและราคาสินค้าและบริการสูงขึ้น สนับสนุนสภาวะเงินเฟ้อ แรงงานขาดแคลนในสหรัฐฯเกิดขึ้นทั้งแรงงานมืออาชีพชั้นสูงในภาคการรักษาพยาบาล แรงงานในภาคการศึกษา อุตสาหกรรมการผลิต การขนส่ง และการรับจ้างทั่วไป

4. การบริโภคที่เติบโตอย่างมากภายหลังวิกฤตแพร่ระบาด COVID-19  ขณะที่วิกฤตห่วงโซ่อุปทานยังไม่ฟื้นตัวเต็มที่ ทำให้อุปสงค์สูงกว่าอุปทาน และราคาสินค้าเพิ่มสูงขึ้น ส่วนหนึ่งเนื่องมาจากผู้ค้าฉวยโอกาสสร้างผลกำไร

5. วิกฤตความขัดแย้งระหว่างรัสเซียและยูเครน ทำให้ราคาน้ำมันพุ่งสูงขึ้น ค่าใช้จ่ายในการทำธุรกิจสูงขึ้น สินค้าวัตถุดิบสำคัญในการผลิตอาหาร เช่น ข้าวสาลีพุ่งสูงขึ้น วิกฤตห่วงโซ่อุปทานย้ายจากเส้นทางการค้าบนมหาสมุทรแปชิฟิคไปยังยุโรปตะวันออก

6. สภาวะเงินเฟ้อทำให้เกิดการขาดแคลนที่อยู่อาศัยราคาย่อมเยาว์ สำหรับผู้บริโภครายได้ต่ำ ขณะที่วิกฤต COVID-19 ทำให้คนอเมริกันจำนวนหนึ่งต้องการแยกตัวออกไปซื้อบ้านเพื่อลดโอกาสการติดเชื้อ เกิดเป็นการเติบโตของความต้องการบ้านที่อยู่อาศัยและการก่อสร้างบ้านใหม่และซ่อมแซมบ้านเก่า ขณะที่สหรัฐฯยังคงมีปัญหาเรื้อรังเรื่องการค้าไม้เนื้ออ่อนกับแคนาดาแหล่งอุปทานใหญ่ที่สุดของไม้เนื้ออ่อนเพื่อสร้างบ้านเมื่อประกอบกับวิกฤตห่วง โซ่อุปทานส่งผลให้สินค้าไม้และอุปกรณ์ก่อนสร้างขาดตลาด

7. การขาดแคลนอลูมินั่มวัตถุดิบสำคัญในการทำกระป๋อง ทำให้เกิดการขาดแคลนสินค้าอาหารกระป๋อง ทั้งของมนุษย์และสัตว์   

8. วิกฤตห่วงโซ่อุปทาน และความเข้มงวดของ USFDA และระบบ monopoly ของธุรกิจผลิตนมผงสำหรับเด็กอ่อนของสหรัฐฯ ที่ร้อยละ 90 ของการผลิตอยู่ในมือของเพียง 4 บริษัทเท่านั้นคือ Abbott Nutrition, Mead Johnson Nutrition, Nestle USA และ Perrio Company ดังนั้นเมื่อ USFDA สั่งให้ Abbott Nutrition ระงับการผลิตเพราะตรวจพบการปนเปื้อนของแบคทีเรียในกระบวนการผลิต ทำให้เกิดการขาดแคลนนมผงสำหรับเด็กอ่อน จน USFDA ต้องลดความเข้มงวดในการนำเข้าและเร่งซื้อและนำเข้าสินค้าจากต่างประเทศ 

      นอกเหนือจากสินค้าข้างต้นแล้วยังมีสินค้าอีกหลายรายการที่ตกอยู่ในสภาวะขาดแคลน เนื่องจากสหรัฐฯเป็นประเทศที่มีพื้นที่ขนาดใหญ่ ชนิดและระดับความรุนแรงของการขาดแคลนสินค้าในแต่ละพื้นที่จึงแตกต่างกัน แต่ในภาพรวมแล้ว การขาดแคลนสินค้าต่างๆเหล่านี้ส่งผลกระทบในทางลบต่อการแก้ไขสภาวะเงินเฟ้อที่คุกคามการเติบโตของเศรษฐกิจสหรัฐฯ

       ปัจจุบันบางปัญหาเหล่านี้เริ่มลดระดับความรุนแรงลง การขาดแคลนน้ำมันถูกแก้ไขด้วยการปล่อยน้ำมันจากสต๊อกน้ำมันของประเทศเข้าสู่ตลาดการค้า การขาดแคลนนมผงสำหรับเด็กอ่อนถูกบรรเทาด้วยการผ่อนผันข้อจำกัดการนำเข้า ตลาดอสังหาริมทรัพย์ที่เริ่มแสดงแนวโน้มตกต่ำเพราะการขึ้นอัตราดอกเบี้ย อาจลดความรุนแรงของการขาดแคลนไม้และเครื่องมือก่อสร้าง แต่ความต้องการยังคงมีอยู่เพราะการก่อสร้างและการซ่อมแซมบ้านยังคงดำเนินอยู่ต่อไป ปัญหาการขาดแคลนแรงงานอย่างรุนแรงอาจไม่สามารถแก้ไขได้โดยง่าย เพราะการแก้ไขอาจหมายถึงการเปลี่ยนนโยบายรับคนเข้าเมืองของสหรัฐฯซึ่งเป็นนโยบายที่ไม่ได้รับความนิยม

        สินค้าของไทยบางรายการ เช่น อุปกรณ์ก่อสร้าง อาจมีโอกาสเพิ่มขึ้นในตลาดสหรัฐฯ แต่เงื่อนไขสำคัญที่จำกัดการเข้าไปแทนที่สินค้าขาดแคลนในสหรัฐฯคือวิกฤตห่วงโซ่อุปทานและความซับซ้อนของระบบห่วงโซ่อุปทาน ที่ก่อให้เกิดการขาดแคลนทั่วโลกและมีส่วนทำให้สินค้าต่างๆมีราคาแพงมากขึ้น

Leave a Comment

Your email address will not be published. Required fields are marked *

OMD KM

FREE
VIEW