รายงานสถานการณ์การค้าสหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมนี ณ กรุงเบอร์ลิน เดือนกรกฎาคม 2565

ข่าวภายในประเทศ และข่าวเศรษฐกิจ

5 ปัจจัยเสี่ยงที่มีผลต่อเศรษฐกิจของเยอรมัน

         สถาบันชั้นนำหลายแห่งได้ออกมาประเมินว่า สถานการณ์ทางเศรษฐกิจจะรุ่งหรือร่วง น่าจะขึ้นอยู่กับปัจจัยเสี่ยง 5 ตัวนี้ ได้แก่ (1) อัตราเงินเฟ้อของเยอรมนีที่เพิ่มขึ้นอย่างไม่สามารถควบคุมได้ (2) ค่าใช้จ่ายในหมวดสินค้าพลังงานที่เพิ่มขึ้นสูงมาก (3) วิกฤติค่าเงินยูโรกลับมาอีกครั้ง (4) ถ้ารัสเซียไม่ส่งแก๊สให้เยอรมันในที่สุด และ (5) โควิด-19 อาจจะกลับมาระบาดอย่างหนักอีกครั้ง

หากปัญหาอัตราเงินเฟ้อและราคาพลังงานยังคงสูงไม่เลิก ประกอบกับสถานการณ์ค่าเงินยูโรที่อ่อนค่า เหล่านี้ยังไม่ได้รับการแก้ไข จึงทำให้หลาย ๆ ฝ่ายทั้งจากภาคการเมืองและเศรษฐศาสตร์ต่างก็ออกมาแสดงความกังวลว่า สถานการณ์ทางเศรษฐกิจของเยอรมนีอาจเข้าสู่ภาวะวิกฤตในช่วงฤดูใบไม้ร่วงที่กำลังจะมาถึงนี้ โดยนาย Robert Habeck รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเศรษฐกิจและการปฏิบัติการทางสภาพภูมิอากาศสหพันธ์ฯ ในสังกัดพรรค Bündnis 90/Die Grünen (พรรคยุค 90 พันธมิตรสีเขียว) เปิดเผยว่า “ฤดูใบไม้ร่วงของปี 2022 อาจเป็นช่วงเวลาที่สถานการณ์ทางเศรษฐกิจของเยอรมนีมีปัญหาหนักกว่าในช่วงที่มีการระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19” ในขณะที่ นาย Christian Lindner รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ในสังกัดพรรค เพื่ออิสรภาพและประชาธิปไตย (FDP – Freie Demokratische Partei) ก็ให้ความเห็นในทิศทางเดียวกันกับนาย Habeck ว่า “ในฤดูใบไม้ร่วงนี้ เศรษฐกิจเยอรมนีอาจเผชิญหน้ากับภาวะวิกฤตได้” ในขณะที่ นาย Alexander Kriwoluzky ผู้อำนวยการด้านเศรษฐศาสตร์มหภาคของสถาบันเพื่อการวิจัยทางเศรษฐกิจเยอรมนี (DIW – Deutscher Institut für Wirtschaftsforschung) ก็มีความเห็นไปในทิศทางเดียวกันกับรัฐมนตรีทั้ง 2 ท่าน โดยให้เหตุผลว่า “สงครามในยูเครนได้ส่งผลเสียต่อการพัฒนาทางเศรษฐกิจของเยอรมันเป็นอย่างมาก” และจากการประเมินการขยายตัวทางเศรษฐกิจของเยอรมนีในปีนี้ อาจอยู่ที่ประมาณ 2% เท่านั้น ในขณะเดียวกันนาย Stefan Kooths รองประธานสถาบันเศรษฐกิจโลก (Ifw – Institut für Weltwirtschaft) เห็นว่า “ขณะนี้ความเสี่ยงที่จะเกิดวิกฤติเศรษฐกิจถือว่าสูงมาก”

นาย Kriwoluzky เปิดเผยเพิ่มเติมว่า “ในเวลานี้ เยอรมนีมีแต่ความเสี่ยงที่เศรษฐกิจจะถดถอยลง” โดย 5 ความเสี่ยงทางเศรษฐกิจ สรุปได้ ดังนี

  1. อัตราเงินเฟ้อของเยอรมนีที่เพิ่มขึ้นอย่างไม่สามารถที่จะควบคุมได้ เดือนมิถุนายนที่ผ่านมา อัตราเงินเฟ้อของเยอรมนียังถือว่าสูงมาก โดยอยู่ที่ 7.6% แม้จะปรับตัวลดลงจากเดือนก่อนหน้าที่อยู่ที่ 7.9% โดยนาย Bert Rürup ประธานสถาบันวิจัยของหนังสือพิมพ์ Handelsblatt (HRI- Handelsblatt Research Institute) เปิดเผยว่า “แรงกดดันจากปัญหาอัตราเงินเฟ้อที่สูงจะยังคงกับคนเยอรมันอีกนานพอสมควร เพราะไม่ใช่เพียงปัญหาราคาพลังงานที่สูงเพียงอย่างเดียวเท่านั้น แต่ปัญหาต่าง ๆ ในระบบเศรษฐกิจยังคงลุกลามและมีอยู่ โดยที่ยังไม่ได้รับการแก้ไข” และถึงแม้ว่าจะเริ่มมีนักเศรษฐศาสตร์บางราย ออกมาคาดการณ์ว่า ในช่วงครึ่งปีหลังของปีนี้ อัตราเงินเฟ้ออาจลดลงมาเหลือที่ 2.5% แต่จากการคำนวณของสถาบันเพื่อการวิจัยทางเศรษฐกิจของมหาวิทยาลัยมิวนิค (Ifo – Institut für Wirtschaftsforschung an der Universität München) เปิดเผยว่า “มีความเป็นไปได้ว่าอัตราเงินเฟ้อในช่วงสิ้นปี 2023 อาจไต่ระดับไปอยู่ที่ 12% ในที่สุด” โดยอัตราเงินเฟ้อที่ปรับตัวเพิ่มขึ้นจนไม่สามารถควบคุมได้นั้น เป็นเพราะค่าจ้างและราคาสินค้า (Wage-Price Spiral) ที่เพิ่มขึ้นเป็นปัจจัยสำคัญในการผลักดันให้อัตราเงินเฟ้อปรับเพิ่มขึ้น ในขณะที่ ระบบเศรษฐกิจของประเทศในภาพรวมจะไร้เสถียรภาพซึ่งนาย Kriwoluzky ให้ความเห็นว่า “การที่สหรัฐฯ ปรับอัตราเงินเฟ้อให้สูงขึ้นอย่างรวดเร็ว ได้เกิดผลกระทบต่อระบบเศรษฐกิจยุโรปโดยเฉพาะเยอรมนีอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้
  2. ค่าใช้จ่ายในหมวดสินค้าพลังงานที่เพิ่มขึ้นสูงมาก ปัจจุบันนอกจากการเพิ่มขึ้นของอัตราเงินเฟ้อที่ยังไม่มีแนวโน้มสิ้นสุดลง ผู้บริโภคชาวเยอรมันยังอาจต้องเจอกับอีกหนึ่งปัญหาใหญ่ คือ ค่าแก๊สและค่าไฟฟ้าจะปรับตัวสูงขึ้นไปอีกภายในสิ้นปีนี้ โดยนาย Klaus Müller ประธานหน่วยงานจัดสรรเครือข่ายแห่งเยอรมนี (Bundesnetzagentur) ออกมาเปิดเผยว่า “ในอีก 3 เดือนข้างหน้านี้ จะมีคนเยอรมันจำนวนมากที่ไม่เงินพอจ่ายค่าแก๊สและค่าไฟฟ้า” ซึ่งเรื่องนี้จะทำให้ความหวังที่ว่า เศรษฐกิจของเยอรมันจะปรับตัวดีขึ้นภายหลังที่เจอกับปัญหาการระบาดของเชื้อโควิด-19 มาหลายปี ต้องดับวูบในพริบตา ด้านนาย Oliber Holtemüller ผู้อำนวยการหลักของสถาบัน Leibniz ที่ทำการวิจัยเศรษฐกิจจากเมือง Halle (IWH – Leibniz-Institut für Wirtschaftsforschung Halle) ได้กล่าวว่า “การบริโภคในเยอรมนีจะยังคงซบเซาไปแบบนี้ค่อนข้างยาว เพราะอัตราเงินเฟ้อที่สูงขึ้นย่อมส่งผลต่อพฤติกรรมของผู้บริโภคอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้” ดังนั้น IWH จึงประเมิณสถานการณ์ทางเศรษฐกิจของเยอรมนีในปีนี้ว่าคงโต้ได้แค่ 1.5% เท่านั้น (เป็นตัวเลขที่ต่ำสุดเมื่อเทียบกับสถาบันอื่น ๆ)
  3. วิกฤติค่าเงินยูโรกลับมาอีกครั้ง ธนาคารกลางยุโรป (ECB) ได้มีปฏิกิริยาตอบสนองต่อภาวะอัตราเงินเฟ้อที่สูงขึ้นเป็นครั้งแรกในรอบหลายปี โดยได้ออกมาประกาศปรับอัตราดอกเบี้ยสูงขึ้น แต่แน่นอนเมื่อมีการปรับอัตราดอกเบี้ยให้สูงขึ้น ก็เกิดความเสี่ยงที่จะเกิดวิกฤติเงินยูโรเกิดขึ้นได้ในอนาคต ซึ่งขณะนี้อัตราดอกเบี้ยของพันธบัตรรัฐบาลประเทศสมาชิก EU บางประเทศโดยเฉพาะทางภาคใต้ ได้ทยอยปรับตัวสูงขึ้นอย่างรวดเร็ว โดยนาย Clemens Fuest ประธาน Ifo เปิดเผยว่า “อัตราดอกเบี้ยได้เพิ่มขึ้นเร็วมาก จนอาจทำให้ EU ต้องเผชิญหน้ากับปัญหาวิกฤติค่าเงินยูโรได้อีกครั้ง” สำหรับเยอรมนีนั้นแม้ขณะนี้ยังไม่มีเรื่องของอัตราดอกเบี้ยงที่ปรับตัวสูงขึ้น แต่สถานการณ์ในตลาดการเงินก็น่าเป็นกังวลอยู่พอสมควร เพราะหากเกิดปัญหาขึ้นในประเทศสมาชิก EU ทางตอนใต้ เยอรมนีก็คงไม่รอดที่จะได้รับผลกระทบอย่างแน่นอน
  4. ถ้ารัสเซียไม่ส่งแก๊สให้เยอรมันในที่สุด ปัจจุบันรัสเซียได้ลดปริมาณการส่งแก๊สให้แก่เยอรมนีลงกว่า 60% ซึ่งผู้เชี่ยวชาญจำนวนมากต่างคาดการณ์กันว่า ในไม่ช้านาย Wladumir Putin น่าจะหยุดการส่งแก๊สให้เยอรมนี และจากการประเมินผลกระทบในเบื้องต้น ของหน่วยงานจัดสรรเครือข่ายแห่งเยอรมนี (Bundesnetzagentur) เปิดเผยว่า ต่อไปเยอรมนีคงต้องประหยัดการใช้แก๊สให้มากขึ้น หรือไม่อย่างนั้น ก็ต้องหาแหล่งนำเข้าแก๊สแห่งใหม่เพื่อเป็นแหล่งทดแทนให้เร็วที่สุด ทั้งนี้ ก็เพื่อรองรับกับปัญหาที่จะเกิดขึ้นหากรัสเซียหยุดส่งแก๊สทั้งหมด นอกจากนี้ สถาบันทางเศรษฐกิจกว่า 4 สถาบัน ต่างก็ออกมาแสดงจุดยืนอย่างชัดเจนว่า หากเยอรมนีไม่สามารถเตรียมการรับมือกับปัญหาเรื่องแก๊สนี้ได้ ประเทศก็จะต้องประสบปัญหาหนักโดยประเมินค่าความเสียหายที่อาจเกิดขึ้นได้ กว่า 283 พันล้านยูโร
  5. โควิด-19 อาจจะกลับมาระบาดอย่างหนักอีกครั้ง หากเยอรมนีต้องเผชิญหน้ากับการระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 อีกครั้ง ก็เป็นไปได้ว่า การระบาดครั้งใหม่นี้อาจรุนแรงกว่าเก่าได้ อย่างไรก็ดี นาย Kooths จาก Ifw มีความเห็นว่า “สถานการณ์การระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 จะหนักเบา นอกจากจะขึ้นอยู่กับสายพันธ์ของเชื้อแล้ว ยังต้องดูว่าภาครัฐต่อมีปฏิกิริยาตอบสนองต่อเรื่องนี้อย่างไรบ้าง” ซึ่งหากข้อกังวลนี้กลายเป็นเรื่องจริง ก็น่าจะมีส่งผลให้เศรษฐกิจของประเทศกลับมาลดตัวลงอีกครั้ง

จาก Handelsblatt 22 กรกฎาคม 2565

ข้อคิดเห็น/ข้อเสนอแนะของ สคต.

– ปัจจัยทั้ง 5 ปัจจัย เป็นความเสี่ยงที่จะทำให้เศรษฐกิจของประเทศแย่ลงไปอีก ซึ่งในเวลานี้ก็ยังไม่สามารถจะบอกได้ว่า ปัจจัยใดจะเกิดขึ้น หรือถ้าเกิดขึ้นขนาดไหน ซึ่งจะส่งผลให้เกิดความแปรปรวนในตลาดเงินทุนหลักทรัพย์ และตลาดซื้อขยายเงินตราอีกด้วย ผู้ประกอบการไทยต้องคอยติดตามสถานการณ์เหล่านี้อย่างไกล้ชิด เพราะจะมีผลกระทบกับประเทศไทยในด้านต่าง ๆ แน่นอนไม่มากก็น้อย

OMD KM

FREE
VIEW