รายงานสถานการณ์การค้าแคนาดา ณ นครแวนคูเวอร์ เดือนกรกฎาคม 2565

เงินเฟ้อแคนาดาแตะระดับสูงสุดในรอบ 40 ปีที่ 8.1% เชื่อใกล้ถึงจุดพีคสุด

ธนาคารกลางแห่งประเทศแคนาดา (Bank of Canada) รายงานดัชนีราคาผู้บริโภค (CPI) เดือนมิถุนายน 2565 พุ่งแตะระดับร้อยละ 8.1 (YoY) เป็นระดับสูงสุดในรอบ 40 ปี โดยสูงกว่าเมื่อเดือนพฤษภาคม 65 ที่มีอัตราเงินเฟ้อเพิ่มขึ้นร้อยละ 7.7 (YoY) และคาดว่าเงินเฟ้ออาจพุ่งขึ้นไปที่ระดับร้อยละ 8.4 ภายในไม่กี่เดือนข้างหน้า จากการเพิ่มขึ้นของราคาพลังงานเป็นสำคัญ ซึ่งหากหักราคาพลังงานออก เงินเฟ้อในประเทศเพิ่มขึ้นร้อยละ 6.5

สำหรับอัตราเงินเฟ้อเดือนมิถุนายน 2565 มาจากราคาพลังงานปรับตัวขึ้นร้อยละ 6.2 (MoM) จากเดือนก่อหน้า และร้อยละ 55 (YoY) เทียบกับมิถุนายน 2564 ขณะที่ราคาอาหารเพิ่มขึ้นร้อยละ 8.8 (YoY) โดยสินค้าที่มีราคาสูงขึ้นเมื่อเทียบกับปีก่อนหน้า ได้แก่ น้ำมันพืชและไขมันที่รับประทานได้ เพิ่มขึ้นร้อยละ 28.8 หอมหัวใหญ่เพิ่มขึ้นร้อยละ 25 เนื้อไก่ เพิ่มขึ้นร้อยละ 20 ซีเรียล เพิ่มขึ้นร้อยละ 18 ปลาทูน่ากระป๋อง เพิ่มขึ้นร้อยละ 4

นอกจากนั้น ผลกระทบจากราคาพลังงานและอาหารที่เพิ่มขึ้นมาก ส่งผลให้ธุรกิจด้านบริการท่องเที่ยวทั่วประเทศได้มีการปรับราคาขึ้น อาทิ ราคาที่พักแรม เพิ่มขึ้นร้อยละ 50 (YoY) โดยเห็นได้ชัดในเมืองใหญ่อย่างนครโทรอนโต เพิ่มขึ้นร้อยละ 68.0 (YoY) เนื่องจากกิจกรรมบันเทิงขนาดใหญ่สามารถกลับมาจัดได้ตามปกติ ทำให้มีการจองห้องพักมากขึ้นต่อเนื่อง สำหรับค่าตั๋วเครื่องบินโดยสาร เพิ่มขึ้นร้อยละ 6.4 (MoM) และเพิ่มขึ้นร้อยละ 25 (YoY) ตามลำดับ

เงินเฟ้อที่พุ่งขึ้นสูงอย่างต่อเนื่องและสูงกว่าเป้าหมายของธนาคารกลางแคนาดา ส่งผลให้ธนาคารต้องมีการเร่งขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายอย่างเร่งด่วน เพื่อลดแรงกดดันให้เงินเฟ้อชะลอตัว โดยสัปดาห์ที่ผ่านมา (13 กค.) ธนาคารกลางฯ ขึ้นดอกเบี้ยในประเทศร้อยละ 1.0 มาอยู่ที่ระดับร้อยละ 2.5 ซึ่งถือเป็นการปรับระดับขึ้นสูงสุดนับจากปี 2541 และยังคงประเมินสถานการณ์เศรษฐกิจแคนาดาต่อไป ซึ่งได้มีการระบุประกาศอัตราดอกเบี้ยครั้งต่อไปในการประชุมแผนการเงินรอบถัดไปวันที่ 7 กันยายน 2565  

พร้อมกันนี้ ธนาคารกลางแคนาดาประเมินว่า เศรษฐกิจแคนาดามีศักยภาพจะขยายตัวได้ที่ร้อยละ 2.5 ในปี 2565 และปรับลดลงที่ร้อยละ 1.75 ในปี 2566 และเพิ่มเป็นร้อยละ 2.5 ในปี 2567 เป็นไปตามคาดการณ์เศรษฐกิจโลกที่ฟื้นตัวช้าลง อันเป็นผลจากสาเหตุดังนี้ 1) สงครามในยุโรปที่จะส่งให้ราคาพลังงานสูงขึ้น และการขาดแคลนอาหารและสินค้าโภคภัณฑ์บางรายการ  2) เศรษฐกิจจีนอาจชะลอตัวนานกว่าที่คาดการณ์จากมาตรการ Zero-Tolerance COVID-19 และ 3) ผลกระทบจากเงินเฟ้อที่เร่งสูงขึ้น ซึ่งล้วนเป็นปัจจัยเสี่ยงที่ต้องติดตามอย่างใกล้ชิดต่อไป

ข้อคิดเห็นจากสำนักงานฯ  

สถานการณ์เงินเฟ้อในแคนาดาส่งผลให้ค่าครองชีพของชาวแคนาดาเพิ่มขึ้นเป็นอย่างมากจนสร้างความกังวลให้กับชาวแคนาดาในวงกว้าง เนื่องจากชาวแคนาดาส่วนมากพบว่าอัตราค่าจ้างที่เพิ่มขึ้น (ค่าจ้างต่อชั่วโมงโดยเฉลี่ยเพิ่มขึ้นร้อยละ 5.2 เทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อนหน้า) ไม่สอดคล้องกับอัตราเงินเฟ้อที่พุ่งขึ้นอย่างรวดเร็ว ส่งให้หลายครอบครัวจำเป็นต้องวางแผนการเงินใหม่ ลดการบริโภคสินค้าและบริการที่ไม่จำเป็นลง อย่างไรก็ดี ราคาสินค้าอุปโภคบริโภคที่วางจำหน่ายยังมีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้น เนื่องจากผู้ผลิตไม่สามารถแบกรับต้นทุนที่เพิ่มขึ้นในทุกๆ ด้าน และจากการสำรวจสินค้าจากอาหารจากไทยในร้านค้าปลีกพบว่าราคาเพิ่มขึ้นเช่นกัน จากต้นทุนค่าขนส่งเป็นหลัก อย่างไรก็ดี การเพิ่มขึ้นอัตราดอกเบี้ยจะส่งผลให้ค่าเงินในประเทศแข็งค่าขึ้น ซึ่งผู้ประกอบการไทยควรติดตามสถานการณ์ด้านเศรษฐกิจสม่ำเสมอ เพื่อจะได้รับมือกับการค้าและปรับแผนการจัดการบริหารงานได้อย่างเหมาะสมต่อไป

ที่มาของบทความ https://www.cbc.ca/news/business/canada-inflation-rate-1.6526060 , https://www.bankofcanada.ca/2022/07/fad-press-release-2022-07-13/

OMD KM

FREE
VIEW