รายงานสถานการณ์การค้าอิตาลี ณ เมืองมิลาน เดือนมิถุนายน 2565

อิตาลียังไหว หลังโดนรัสเซียตัดก๊าซถึง 50%

ประเทศสมาชิกสหภาพยุโรป 12 ประเทศต้องประสบปัญหาอย่างหนักจากการตัดการจ่ายก๊าซของรัสเซียในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา (จาก 15% เพิ่มเป็น 35% และ 50%) โดยเฉพาะต่ออิตาลีซึ่งเป็นประเทศในยุโรปที่มีการพึ่งพาการนำเข้าก๊าซจากรัสเซียมากเป็นอันดับสอง นับเป็นการส่งสัญญาณเตือนของรัสเซียต่อความเป็นไปได้ในการระงับการจ่ายก๊าซอย่างสมบูรณ์ ในเรื่องนี้ นาย Fran Timmermans รองประธานคณะกรรมาธิการยุโรป ระบุว่าระดับก๊าซในปัจจุบันยังคงสูงกว่า 50% ของกำลังการผลิตทั้งหมด ซึ่งมากกว่าปีที่แล้ว และรัฐสภายุโรปได้กำหนดเป้าหมายในการเก็บกักก๊าซอย่างน้อย 80% ของสต็อกภายในเดือนพฤศจิกายน 2565 อย่างไรก็ตาม สำนักงานด้านพลังงานระหว่างประเทศ (IEA – International Energy Agency) ได้ออกมาเรียกร้องให้สหภาพยุโรปเตรียมพร้อมสำหรับสถานการณ์เลวร้ายในฤดูหนาวจากการถูกตัดก๊าซอย่างสมบูรณ์จากรัสเซีย ขณะที่นาย Mario Draghi นายกรัฐมนตรีของอิตาลีได้แสดงความเห็นในเรื่องดังกล่าวว่า การตัดการจ่ายก๊าซธรรมชาติไม่ใช่ปัญหาทางเทคนิคตามข้ออ้างของรัสเซียที่ระบุว่าเกิดจากการขาดชิ้นส่วนอะไหล่สำหรับท่อลำเลียงสำหรับการซ่อมบำรุง แต่รัสเซียใช้ก๊าซเป็นเครื่องมือทางการเมือง และเรียกร้องให้มีการประชุมวาระพิเศษด้านพลังงานใน 2-3 สัปดาห์นี้ แม้ว่ากระทรวงพลังงานของรัสเซียจะออกมาตอบโต้ว่า จะไม่มีการดำเนินการใดๆ ที่ต่อต้านการเก็บกักพลังงานในยุโรปสำหรับช่วงฤดูหนาวหากไม่มีอุปสรรคด้านการเมืองก็ตาม ทั้งนี้ สภายุโรปอาจมีการกำหนดเพดานราคาน้ำมันเพื่อรับมือกับการเพิ่มขึ้นของราคาก๊าซธรรมชาติ

สถานการณ์ในอิตาลี โดยทั่วไปแล้วสามารถแบ่งสถานการณ์ออกได้เป็นสามระดับ ได้แก่ ระดับเฝ้าระวัง (early warning) ระดับเตือนภัย และระดับภาวะฉุกเฉิน โดยขณะนี้อิตาลียังคงอยู่ในระดับเฝ้าระวัง ซึ่งสามารถทำได้เพียงติดตามสถานการณ์เท่านั้น ในสองระดับแรก ตลาดและอุปทานจะดำเนินการตามปกติตามกฎของตลาด ทั้งนี้ มีความเป็นไปได้ว่า ในสัปดาห์นี้กระทรวงการเปลี่ยนผ่านทางนิเวศอาจยกระดับสถานการณ์เป็นระดับเตือนภัย อย่างไรก็ตาม ยังไม่มีมาตรการพิเศษใดๆ แต่หากมีการประกาศภาวะฉุกเฉิน รัฐบาลอาจมีการออกมาตรการที่มุ่งลดการใช้ก๊าซ รวมถึงการจัดสรรปันส่วนให้แก่อุตสาหกรรมที่ได้รับการคัดเลือก การตัดการจ่ายก๊าซแก่การผลิตไฟฟ้า การกำหนดอุณหภูมิสำหรับการทำความร้อนในบ้านและสำนักงานโดยการกำหนดช่วงเวลาเปิดปิดระบบการเพิ่มการผลิตในโรงไฟฟ้าถ่านหิน การลดการใช้ไฟให้ความสว่างในที่สาธารณะ และความต้องการนำเข้าก๊าซจากประเทศอื่นๆ มากขึ้น เป็นต้น

ทั้งนี้ กระทรวงการเปลี่ยนผ่านทางนิเวศของอิตาลีร่วมกับคณะกรรมการเฉพาะกิจจะตรวจสอบสิ่งที่เกิดขึ้นอย่างใกล้ชิดเพื่อประเมินสถานการณ์ และหากมีการยกระดับความรุนแรง กระทรวงฯ อาจขอให้ Snam บริษัทขนส่งก๊าซมีเทนในประเทศเรียกร้องต่ออุตสาหกรรมต่างๆ ให้ลดการใช้ก๊าซลงตามสัญญาการจ่ายก๊าซ อย่างไรก็ตาม
แม้อุปทานจะลดลง แต่ในขณะนี้รัฐบาลยังสามารถควบคุมสถานการณ์ได้ โดยความต้องการรายวันอยู่ที่ 155 ล้านลูกบาศก์เมตร จากที่มีอยู่ที่ 195 ลูกบาศก์เมตร และจะสามารถบรรลุเป้าหมายการกักเก็บก๊าซที่ 90% ภายในสิ้นปีนี้ (1 หมื่นล้านลูกบาศก์เมตร) ซึ่งจะช่วยให้อิตาลีรับมือกับการจัดการด้านพลังงานในฤดูหนาวได้

ผลกระทบต่ออิตาลี หากรัสเซียตัดการจ่ายก๊าซแก่อิตาลีอย่างสมบูรณ์ ธนาคารแห่งอิตาลีประเมินสถานการณ์ว่า การตัดก๊าซจากรัสเซีย (40% ของการนำเข้าทั้งหมด หรือเท่ากับ 29 พันล้านลูกบาศก์เมตร) อาจนำไปสู่การลดลงของ GDP ที่ -0.3% ในปี 2565 และ -0.5% ในปี 2566 มูลค่าลดลงประมาณ 4% ในปี 2565 และ 3% ในปี 2566 เมื่อเทียบกับการคาดการณ์ในเดือนมกราคมที่ผ่านมา ซึ่งจะนำไปสู่ภาวะถดถอยทางเศรษฐกิจที่ยืดเยื้อ นอกจากนี้ จะยังส่งผลกระทบต่ออัตราเงินเฟ้อที่อาจสูงถึง 7.8% ขณะที่ Confindustria ประเมินว่า การระงับการนำเข้าก๊าซจากรัสเซียจะส่งผลกระทบโดยรวมต่อ GDP ของอิตาลีในช่วงปี 2565-2566 ที่เฉลี่ยประมาณ -2.0% ต่อปี

แผนการของรัฐบาล รัฐบาลอิตาลีได้ประเมินสถานการณ์ว่า อิตาลีจะเป็นอิสระจากก๊าซของรัสเซียได้ในช่วงครึ่งหลังของปี 2567 โดยอิตาลีมีแผนนำเข้าเพิ่มขึ้นจากประเทศในทวีปแอฟริกา ซึ่งในช่วง 2-3 เดือนที่ผ่านมาการนำเข้าก๊าซของอิตาลีจากแอลจีเรียมากกว่าจากรัสเซีย โดยตามข้อตกลงระบุว่า ภายในสามปีแอลจีเรียจะจ่ายก๊าซแก่อิตาลีผ่านท่อก๊าซ Transmed ประมาณ 3 พันล้านลูกบาศก์เมตรต่อปีรวมถึงการเพิ่มการนำเข้าจากประเทศคองโก แองโกลา โมซัมบิก และไนจีเรีย เช่นเดียวกับการสำรวจเส้นทางพลังงานผ่านตะวันออกกลาง อย่างอาเซอร์ไบจันและอิสราเอล โดยมีเป้าหมายให้อิตาลีพึ่งพาการนำเข้าก๊าซจากรัสเซียน้อยลง นอกจากนี้ รัฐบาลอิตาลียังมีแผนเพิ่มการผลิตในประเทศ รวมถึงการขอให้อุตสาหกรรมต่างๆ ลดการใช้ก๊าซ ซึ่งผู้ดำเนินการด้านพลังงานรายใหญ่อย่างบริษัท Eni และ Enel อาจต้องออกมาตรการเพิ่มประหยัดพลังงานวัสดุและเพิ่มการนำเข้า ซึ่งจะส่งผลต่อการเพิ่มขึ้นของราคาด้านพลังงานในครัวเรือนอย่างเลี่ยงไม่ได้ 

ความคิดเห็นของ สคต.

แม้ว่าอิตาลีจะมีมาตรการเพื่อรับมือกับสถานการณ์การยุติการนำเข้าก๊าซจากรัสเซีย โดยการกลับมาใช้พลังงานถ่านหิน การเพิ่มการใช้พลังงานจากแหล่งธรรมชาติในประเทศ และจากแหล่งพลังงานหมุนเวียน อย่างไรก็ตาม อิตาลีต้องรับประกันปริมาณก๊าซในสต็อกอย่างเพียงพอเพื่อรับมือกับฤดูหนาวที่กำลังมาถึงในไม่ช้า ซึ่งนับเป็นเรื่องไม่ง่ายสำหรับประเทศในยุโรปใต้อย่างอิตาลีที่ต้องเผชิญกับคลื่นความร้อนที่สูงเป็นประวัติการณ์และภาวะภัยแล้ง ส่งผลให้การใช้พลังงานในครัวเรือนเพิ่มขึ้นอย่างมาก โดยผลกระทบโดยตรงที่เกิดขึ้นในวันแรกของการตัดก๊าซจากรัสเซียส่งผลให้เกิดไฟดับทั่วเมืองมิลาน โดยเฉพาะใจกลางเมืองซึ่งเป็นแหล่งศูนย์รวมร้านค้าและบริการโรงแรมที่มีการใช้ไฟฟ้าสูง ทั้งนี้ หากอิตาลีไม่สามารถควบคุมสถานการณ์หรือบรรลุเป้าหมายการกักเก็บก๊าซได้ทันกำหนด อาจทำให้ประเทศตกอยู่ในภาวะฉุกเฉิน และจำเป็นต้องมีการออกมาตรการจำกัดการใช้พลังงาน ซึ่งจะส่งผลต่อราคาด้านพลังงาน รวมถึงอัตราเงินเฟ้อที่พุ่งสูงขึ้น ซ้ำเติมภาวะเศรษฐกิจที่กำลังจะฟื้นตัวหลังสถานการณ์การแพร่ระบาด รวมถึงกำลังการซื้อของผู้บริโภคในภาพรวม 

——————————————————————-

แหล่งที่มา:  tg24.sky.it/www.repubblica.it/www.ilsole24ore

OMD KM

FREE
VIEW