รายงานสถานการณ์การค้าสาธารณรัฐประชาชนจีน ณ นครเฉิงตู เดือนธันวาคม 2565

แนวโน้มการพัฒนาตลาดเครื่องดื่มของจีน

สถาบันวิจัยสินค้าอาหารและเครื่องดื่ม (iiMedia Research) ได้จัดทำรายงานวิเคราะห์แนวโน้มการพัฒนาตลาดเครื่องดื่มของจีน โดยมีสาระสำคัญ 5 หัวข้อ ดังนี้

 (1) ธุรกิจเครื่องดื่มในจีนมีแนวโน้มการเติบโตสูงขึ้น

                ในปี 2563 ผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโรค COVID-19 ทำให้มูลค่าการค้าปลีกของจีนลดลงเหลือ 39.19806 ล้านล้านหยวน  (ลดลงร้อยละ 0.4) อย่างไรก็ตาม ในปี 2564 การฟื้นตัวของการบริโภคได้ช่วยผลักดันให้มูลค่าการค้าปลีกของจีนเพิ่มสูงขึ้นเป็น  44.08232 ล้านล้านหยวน (เพิ่มขึ้นร้อยละ 12.4) และยังช่วยผลักดันให้มูลค่าการจำหน่ายเครื่องดื่มในตลาดจีนเพิ่มสูงขึ้นตามไปด้วย โดยคาดว่า ในปี 2565 มูลค่าตลาดเครื่องดื่มของจีนจะสูงถึง  1.2478 ล้านล้านหยวน ทั้งนี้ นักวิจัยของสถาบันวิจัย iiMedia Research มีความเห็นว่า หลังจากเศรษฐกิจจีนมีการพัฒนา และเติบโตอย่างต่อเนื่อง ประกอบกับรายได้ของประชากรจีนที่เพิ่มสูงขึ้นและการยกระดับการบริโภคของชาวจีนที่สูงขึ้น จะส่งผลให้ธุรกิจเครื่องดื่มในจีนมีแนวโน้มเติบโตสูงขึ้น

(2) ความนิยมในการเลือกซื้อเครื่องดื่มยังคงผ่านช่องทางออฟไลน์เป็นหลัก

    ผู้บริโภคชาวจีนนิยมเลือกซื้อเครื่องดื่มผ่านช่องทางออฟไลน์ โดยคิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 67.3 สำหรับช่องทางออนไลน์คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 32.7  อย่างไรก็ตาม การประชาสัมพันธ์ผ่านโทรทัศน์ (TV) และการใช้คลิปวีดิโอประชาสัมพันธ์ผ่านสื่อออนไลน์ ก็มีประสิทธิภาพเช่นกัน ซึ่งเครื่องดื่มที่ได้รับความนิยมจากผู้บริโภคชาวจีนในปี 2565  ได้แก่ น้ำเปล่าที่มีบรรจุภัณฑ์ เครื่องดื่มอัดลม ผลิตภัณฑ์นม และน้ำอัดลม

(3) แนวโน้มการใช้จ่าย และความถี่ในการซื้อเครื่องดื่มอัดลม จากการสำรวจข้อมูลผู้บริโภคชาวจีนในปี 2565 พบว่า ร้อยละ 54.5 ของผู้ตอบแบบสำรวจซื้อเครื่องดื่มอัดลม 1 – 2 ครั้งต่อสัปดาห์ และร้อยละ 24.4 ซื้อเครื่องดื่มอัดลม 3 – 4 ครั้งต่อสัปดาห์ สำหรับข้อมูลเกี่ยวกับค่าใช้จ่ายที่ผู้บริโภคชาวจีนใช้ในการซื้อเครื่องดื่มอัดลม พบว่า ร้อยละ 46.4 ของผู้ตอบแบบสำรวจใช้จ่ายเงินในการซื้อเครื่องดื่มอัดลมประมาณ 50 – 100 หยวนต่อเดือน และกว่าร้อยละ 36.5 ของผู้ตอบแบบสำรวจใช้จ่ายเงินฯ ไม่เกิน 50 หยวนต่อเดือน หากพิจารณาในด้านระดับความหวานของเครื่องดื่มอัดลม พบว่า ผู้บริโภคชาวจีนที่เลือกซื้อเครื่องดื่มอัดลมที่มีน้ำตาลต่ำ คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 55.7 เครื่องดื่มอัดลมไร้น้ำตาลมีสัดส่วนร้อยละ 23.0 และเครื่องดื่มอัดลมที่มีน้ำตาลสูง มีสัดส่วนร้อยละ 9.2 ส่วนผู้บริโภคที่ไม่สนใจระดับความหวานของเครื่องดื่มอัดลม มีสัดส่วนร้อยละ 12.1

(4) ธุรกิจเครื่องดื่มในจีนเติบโตอย่างมั่นคง และเครื่องดื่มกลายเป็นหนึ่งในสินค้าบริโภคที่สำคัญ   

     ข้อมูลจากสำนักงานสถิติแห่งชาติจีน เผยว่า ในปี 2564 ผลผลิตของอุตสาหกรรมการผลิตเครื่องดื่มที่สำคัญในจีน สูงถึง 183.338 ล้านตัน ขยายตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 12.15 เมื่อเทียบกับปีก่อน โดยในเดือนธันวาคม 2564 ปริมาณการผลิตเครื่องดื่ม มีจำนวน 13.588 ล้านตัน (เพิ่มขึ้นร้อยละ 8.3) ทั้งนี้ นักวิจัยของสถาบันวิจัย iiMedia Research พบว่า ผู้บริโภคชาวจีนส่วนใหญ่นิยมบริโภคเครื่องดื่มที่มีรสหวาน เนื่องจากรสหวานที่เหมาะสมสามารถตอบสนองความต้องการของสมองได้ดี พร้อมทั้งช่วยบรรเทาความเหนื่อยล้าและแรงกดดันจากการเรียนและการงาน นอกจากนี้ เนื่องจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรค COVID-19 ส่งผลให้ผู้คนส่วนใหญ่อยู่บ้านเป็นเวลานานขึ้น จึงอาจทำให้เครื่องดื่มกลายเป็นสินค้ายอดฮิต ตลอดจนอาจนำไปสู่รูปแบบการบริโภคแบบใหม่ของชาวจีนต่อไป

(5) สินค้าเพื่อสุขภาพกลายเป็นกระแสนิยมและเครื่องดื่มอัดลมรูปแบบใหม่ได้รับความนิยมมากขึ้น

    หลังจากเกิดโรคระบาด COVID-19 และสถานการณ์แพร่ระบาดหลายระลอกในเมืองต่าง ๆ ตลอดช่วง

3 ปีที่ผ่านมา ได้ส่งผลให้ผู้บริโภคชาวจีนตระหนักถึงการรักษาสุขภาพมากขึ้น และคนส่วนใหญ่ก็หันมาให้ความสนใจเกี่ยวกับส่วนประกอบ ส่วนผสมของอาหาร และเครื่องดื่มที่บริโภคมากขึ้นด้วย เช่น เครื่องดื่มที่มีส่วนผสมที่เสริมสร้างภูมิคุ้มกัน มีผลดีต่อการนอนหลับ ลดและคลายความเครียด เป็นต้น ดังนั้น บริษัทผู้ผลิตเครื่องดื่มจึงพยายามเร่งคิดค้นส่วนผสมใหม่ ๆ เพื่อผลิตเครื่องดื่มที่ดีต่อสุขภาพและตอบสนองความต้องการของผู้บริโภคในยุคนี้ โดยเฉพาะเครื่องดื่มอัดลมรูปแบบใหม่ของแบรนด์ GENKI FOREST ซึ่งผลิตเครื่องดื่มอัดลมด้วยแนวคิด “ไร้น้ำตาล ไร้ไขมัน และไร้แคลอรี่” (มีส่วนประกอบของกรดคาร์บอเนตซึ่งสามารถก่อตัวเป็นคาร์บอนไดออกไซด์ในร่างกายมนุษย์ซึ่งสามารถกระจายความร้อนของร่างกายและช่วยในเรื่องการลดไขมัน ช่วงที่ละลายอยู่ภายในปาก มีรสหวาน มีความเย็นและไม่ก่อให้เกิดฟันผุได้ง่าย ทั้งยังช่วยปรับสมดุลร่างกาย ส่งเสริมให้อารมณ์คงที่และลดความเครียดด้วย จึงทำให้เครื่องดื่มแบรนด์ดังกล่าวได้รับความนิยมจากผู้บริโภคชาวจีนเป็นจำนวนมาก

ข้อเสนอแนะและข้อคิดเห็นของ สคต.

      ธุรกิจเครื่องดื่มถือเป็นหนึ่งในธุรกิจที่ขยายตัวรวดเร็วที่สุดในจีน และสินค้าเครื่องดื่มที่จำหน่ายในตลาดจีนก็มีความหลากหลายมาก โดยประเภทเครื่องดื่มที่ผู้บริโภคชาวจีนนิยมเลือกซื้อบ่อยครั้ง ได้แก่ น้ำเปล่าที่มีบรรจุภัณฑ์ เครื่องดื่มอัดลม ผลิตภัณฑ์นม น้ำอัดลม น้ำผักและผลไม้ เครื่องดื่มชูกำลัง ชา กาแฟเครื่องดื่มที่ผลิตจากนมสดหรือผลิตภัณฑ์นม เครื่องดื่มจากโปรตีนพืช Solid drinks และ vinegar drinks

ทุกวันนี้มีผู้บริโภคชาวจีนจำนวนมากให้ความสำคัญกับการเลือกซื้อสินค้าอาหารและเครื่องดื่มที่ดีต่อสุขภาพ รวมทั้งด้านรสชาติ คุณค่าทางโภชนาการ และความสะดวกรวดเร็วของสินค้าด้วย เช่น เครื่องดื่มที่ผลิตจากนมสดหรือผลิตภัณฑ์นม น้ำผักผลไม้ เป็นต้น ดังนั้น ผู้ประกอบการสินค้าเครื่องดื่มที่ต้องการเข้าสู่ตลาดจีนจึงควรพัฒนาและนำเสนอผลิตภัณฑ์ที่สอดคล้องและตรงกับความต้องการผู้บริโภคในตลาดจีนได้ทันยุคทันสถานการณ์ในปัจจุบัน

OMD KM

FREE
VIEW