รายงานสถานการณ์การค้าสาธารณรัฐฟิลิปปินส์ ณ กรุงมะนิลา เดือนพฤศจิกายน 2565

GDP ไตรมาสที่ 3/2565 ฟิลิปปินส์ โตเกินคาด 7.6%

สำนักงานสถิติแห่งชาติฟิลิปปินส์ (PSA) รายงานตัวเลขผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (GDP) ในไตรมาสที่ 3/2565 ขยายตัวร้อยละ 7.6 เพิ่มขึ้นจากไตรมาสที่ 3/2564 ที่ขยายตัวร้อยละ 7 และเพิ่มขึ้นจากไตรมาสที่ 2/2565 ที่ขยายตัวร้อยละ 7.5 ทั้งนี้ ตัวเลขการเติบโตของ GDP ในไตรมาสที่ 3/2565 ของฟิลิปปินส์ดังกล่าวสูงเป็นอันดับสอง ในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ รองจากประเทศเวียดนามที่ GDP เติบโตร้อยละ 13.7 สำหรับในช่วง 9 เดือนแรกของปี 2565 การเติบโตของ GDP ของฟิลิปปินส์เฉลี่ยอยู่ที่ร้อยละ 7.7 นอกจากนี้ตามรายงานของสำนักงานสถิติแห่งชาติฟิลิปปินส์ ได้ระบุเกี่ยวกับตัวเลขการใช้จ่ายภาคครัวเรือนซึ่งคิดเป็นประมาณ 3 ใน 4 ของ GDP พบว่าในไตรมาสที่ 3/2565 ขยายตัวร้อยละ 8 เพิ่มขึ้นจากไตรมาสที่ 3/2564 ที่ขยายตัวร้อยละ 7.1 แต่ขยายตัวช้าลงจากไตรมาสที่ 2/2565 ที่ขยายตัวร้อยละ 8.6 ในขณะที่การใช้จ่ายของภาครัฐขยายตัวร้อยละ 0.8 ลดลงจากไตรมาสที่ 3/2564 ที่ขยายตัวถึงร้อยละ 13.8 และลดลงจากไตรมาสที่ 2/2565 ที่ขยายตัวร้อยละ 11.1 ในส่วนของตัวเลข Gross Capital Information ซึ่งเป็นองค์ประกอบการลงทุนของระบบเศรษฐกิจพบว่า ขยายตัวร้อยละ 21.7 เพิ่มขึ้นจากไตรมาสที่ 3/2564 ที่ขยายตัวร้อยละ 20.8 และขยายตัวจากไตรมาสที่ 2/2565 ที่ขยายตัวร้อยละ 21.1 สำหรับตัวเลขการส่งออกสินค้าและบริการ ในไตรมาสที่ 3/2565 ขยายตัวร้อยละ 13.1 เพิ่มขึ้นจากการไตรมาสที่ 3/2564 ที่ขยายตัวร้อยละ 9.1 และเพิ่มขึ้นจากในไตรมาสที่ 2/2565 ที่ขยายตัวร้อยละ 4.4 ในขณะที่การนำเข้าขยายตัวร้อยละ 17.3 เพิ่มขึ้นจากไตรมาสที่ 3/2564 ที่ขยายตัวร้อยละ 12.7 และเพิ่มขึ้นจากไตรมาสที่ 2/2565 ที่ขยายตัวร้อยละ 13.8

            นาย Nicholas Antonio T. Mapa นักเศรษฐศาสตร์อาวุโสของ ธนาคาร ING Bank N.V. Manila กล่าวว่า การเติบโตทางเศรษฐกิจในไตรมาสที่ 3 ที่ดีเกินคาดทำให้ธนาคารกลางฟิลิปปินส์สามารถกําหนดนโยบายการเงินที่เข้มงวดขึ้นเพื่อจัดการกับเงินเฟ้อที่เพิ่มสูงขึ้นได้นอกจากนี้เทศกาลวันหยุดที่กำลังจะถึง สามารถคาดหวังว่าโมเมนตัมการเติบโตของเศรษฐกิจจะยังคงไม่เปลี่ยนแปลง โดยการใช้จ่ายของครัวเรือนน่าจะช่วยสนับสนุนกิจกรรมทางเศรษฐกิจโดยรวมในช่วงวันหยุดที่ไม่มีข้อจำกัดด้านการเคลื่อนไหวในทางกลับกัน นาย มาโกโตะ ซึจิยะ ผู้ช่วยนักเศรษฐศาสตร์จาก Oxford Economics กล่าวว่า เศรษฐกิจน่าจะชะลอตัวลงในไตรมาสต่อๆ ไป โดยอัตราเงินเฟ้อถึงจุดสูงสุดในไตรมาสที่สี่จะยังคงส่งผลกระทบต่อการใช้จ่ายภาคครัวเรือน นอกจากนี้ ปัญหาจากปัจจัยภายนอกที่เพิ่มขึ้นไม่ว่าจะเป็นราคาสินค้าโภคภัณฑ์ ที่สูงขึ้นภาวะการเงินที่ตึงตัวทั่วโลก ภาวะเศรษฐกิจถดถอยทางเศรษฐกิจขั้นสูง และการชะลอตัวของเศรษฐกิจจีนจะทำให้การส่งออกสินค้าของฟิลิปปินส์ลดง นอกจากนี้ ในรายงาน Moody’s Analytics ระบุว่าเศรษฐกิจของฟิลิปปินส์จะกำลังเติบโตมากกว่าร้อยละ 7 ภายในสิ้นปีนี้ แต่อัตราเงินเฟ้อที่สูงจะยังคงดำเนินต่อไปในช่วงต้นปี 2566 โดยช่วงเวลาที่เหลือของปี 2565 และต้นปี 2565 จะเป็นช่วงที่ยากลำบากขึ้นที่ต้องต่อสู้กับภาวะเงินเฟ้อภาวะเศรษฐกิจโลกที่แย่ลงและอัตราดอกเบี้ยที่สูงขึ้น จะกดดันการใช้จ่ายของครัวเรือนและการลงทุนทางธุรกิจ

ข้อเสนอแนะ/ความคิดเห็นของ สคต.

เศรษฐกิจฟิลิปปินส์ยังคงสามารถฟื้นตัวได้อย่างต่อเนื่อง โดยกิจกรรมทางเศรษฐกิจทุกภาคส่วนสามารถกลับมาดําเนินการได้อย่างเต็มประสิทธิภาพ ซึ่งถือเป็นสัญญานที่ดีต่อการฟื้นตัวของเศรษฐกิจฟิลิปปินส์ที่เป็นไปตามเป้าหมายที่รัฐบาลได้คาดหวังไว้ ทั้งนี้ การเติบโตของเศรษฐกิจฟิลิปปินส์จะส่งผลดีต่อการส่งออกโดยรวมของไทยมายังฟิลิปปินส์ตามไปด้วย โดยตัวเลขการส่งออกสินค้าไทยมายังฟิลิปปินส์ยังคงขยายตัวดีขึ้นอย่างต่อเนื่องโดยประชาชนชาวฟิลิปปินส์มีความเชื่อมั่นต่อสถานการณ์เพิ่มขึ้น ทําให้กลับมาจับจ่ายใช้สอยมากขึ้น อย่างไรก็ตามปัจจุบันฟิลิปปินส์ รวมถึงประเทศอื่นๆ ต้องเผชิญกับปัจจัยเสี่ยงจากภาวะเงินเฟ้อ และราคาสินค้าโภคภัณฑ์ที่เพิ่มสูงขึ้น ซึ่งกลายเป็นอุปสรรคสําคัญต่อการเติบโตทางเศรษฐกิจอาจชะลอตัวได้ในระยะต่อไป ดังนั้นผู้ประกอบการไทยจึงควรติดตามสถานการณ์ตลาดฟิลิปปินส์อย่างใกล้ชิด เพื่อปรับแผนและกลยุทธ์ทางการตลาดให้เหมาะสมและสอดคล้องกับสถานการณ์อยู่เสมอ

OMD KM

FREE
VIEW