รายงานสถานการณ์การค้าสาธารณรัฐฟิลิปปินส์ ณ กรุงมะนิลา เดือนพฤศจิกายน 2565

ปธน. มาร์กอส จูเนียร์ มุ่งมั่นจะให้สัตยาบันเข้าร่วมข้อตกลง RCEP

นาย Alfredo Pascual รัฐมนตรีกระทรวงการค้าและอุตสาหกรรมของฟิลิปปินส์ เปิดเผยว่า ประธานาธิบดี   เฟอร์ดินานด์ มาร์กอส จูเนียร์ มีความมุ่งมั่นที่จะให้สัตยาบันการเข้าร่วมความข้อตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจระดับภูมิภาค (Regional Comprehensive Economic : RCEP) และเน้นย้ำถึงความจำเป็นในการให้สัตยาบันข้อตกลง RCEP โดยระบุว่านักลงทุนต่างชาติและรัฐมนตรีด้านเศรษฐกิจของประเทศต่าง ๆ มักสอบถามเสมอว่า ฟิลิปปินส์จะให้สัตยาบันข้อตกลงการค้าดังกล่าวเมื่อใด และนักลงทุนต่างชาติต่างตั้งคำถามเกี่ยวกับการเป็นสมาชิกใน RCEP ของฟิลิปปินส์ เนื่องจากหากตัดสินใจเข้ามาตั้งโรงงานและผลิตสินค้าเพื่อส่งออก สินค้าดังกล่าวจะถูกส่งไปยังประเทศสมาชิกของ RCEP ดังนั้น หากฟิลิปปินส์ไม่ได้เป็นสมาชิก RCEP ก็จะไม่ได้รับการลดภาษีในการส่งออกไปยังประเทศสมาชิก RCEP อื่น ๆ และไม่สามารถแข่งขันในตลาดส่งออกได้นอกจากนี้ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการค้าฯ ยังได้เน้นย้ำถึงความสำคัญของข้อตกลง RCEP ต่อนักลงทุนท้องถิ่นด้วยเช่นกันที่จะสามารถขยายตลาดส่งออกและแข่งขันได้ในประเทศอื่น ๆ อย่างไรก็ตาม แม้ว่าจะได้รับทราบถึงข้อกังวลของภาคการเกษตรเกี่ยวกับข้อตกลง RCEP แต่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการค้าฯ กล่าวว่าอัตราภาษีศุลกากรสำหรับสินค้าสำคัญในภาคการเกษตรจะไม่ถูกแตะต้องทั้งนี้ ก่อนหน้านี้กลุ่มภาคการเกษตรกว่า 101 กลุ่มออกมาระบุว่าภาคการเกษตรของประเทศยังไม่พร้อมสำหรับการเข้าร่วมข้อตกลง RCEP และขาดความพร้อมสำหรับการค้าเสรีในตลาดโลก โดยอ้างถึงต้นทุนการผลิตที่จะสูงขึ้น ตลอดจนบริการสนับสนุนขั้นพื้นฐานและโครงสร้างพื้นฐานที่ไม่เพียงพอ ซึ่งเป็นหนึ่งในปัจจัยที่ทำให้ไม่มีความพร้อม

ทั้งนี้ RCEP เป็นข้อตกลงการค้าพหุภาคีระหว่างกลุ่มประเทศอาเซียนและประเทศคู่ค้า ได้แก่ จีน ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ ออสเตรเลีย และนิวซีแลนด์ ซึ่งจะทำให้มีระบบการค้าที่เปิดกว้างและครอบคลุมเพื่อส่งเสริมการบูรณาการทางเศรษฐกิจที่ลึกซึ้งยิ่งขึ้นในภูมิภาค โดยข้อตกลงการค้าดังกล่าวคาดว่าจะกระตุ้นการส่งออกของฟิลิปปินส์ผ่านการเข้าถึงตลาดที่เพิ่มขึ้นในภูมิภาค และยังช่วยจัดหาสินค้าที่ถูกกว่าสำหรับการผลิต รวมถึงรับประกันกฎที่โปร่งใสและกลไกที่ชัดเจนสำรับการแก้ไขปัญหาและข้อกังวลทางการค้ารวมทั้งยังอนุญาตให้ผู้ประกอบการรายย่อย วิสาหกิจขนาดกลางและขนาดเล็ก มีส่วนร่วมในห่วงโซ่คุณค่าระดับโลก อย่างไรก็ตาม การประชุมรัฐสภาครั้งที่ 18 ของวุฒิสภาของฟิลิปปินส์ยังไม่ได้ลงมติเกี่ยวกับการให้สัตยาบันของข้อตกลงของ RCEP

RCEP ถือเป็นความตกลงการค้าขนาดใหญ่ครอบคลุมตลาดที่มีจำนวนประชากรกว่า 2.2 พันล้านคน โดยมีมูลค่าเศรษฐกิจรวมกัน 26.2 ล้านล้านเหรียญสหรัฐ หรือคิดเป็นร้อยละ 30 ของ GDP โลก มีผลบังคับใช้ไปแล้วเมื่อวันที่ 1 มกราคม 2565 สำหรับประเทศที่เสร็จสิ้นกระบวนการให้สัตยาบันแล้ว ขณะนี้เหลือเพียงประเทศเมียนมาและฟิลิปปินส์   ที่ยังคงไม่ได้ให้สัตยาบันเข้าร่วมข้อตกลงดังกล่าว สำหรับประเทศฟิลิปปินส์ยังอยู่ในขั้นตอนการดำเนินการภายในประเทศ โดยเมื่อวันที่ 2 กันยายน 2564 อดีตประธานาธิบดีโรดริโก ดูเตอร์เต ได้ลงนามให้สัตยาบันข้อตกลง RCEP และได้ถูกส่งไปยังวุฒิสภาเพื่ออนุมัติและให้ความเห็นพ้องต้องกันซึ่งเป็นข้อกำหนดสำหรับสนธิสัญญาระหว่างประเทศหรือข้อตกลงที่รัฐบาลจัดทำขึ้น แต่จนถึงปัจจุบันวุฒิสภาฟิลิปปินส์ยังคงไม่ให้การอนุมัติการให้สัตยาบันต่อข้อตกลงดังกล่าว เนื่องจากได้รับแรงกดดันจากกลุ่มเกษตรกรท้องถิ่นที่ได้ออกมาเคลื่อนไหวคัดค้าน เนื่องจากการเปิดเสรีจะทำลายความสามารถภาคการเกษตรในประเทศและยังบ่อนทำลายความมั่นคงด้านอาหารของประเทศ ในขณะที่ข้อตกลง RCEP น่าจะเป็นเอื้อประโยชน์ในการขยายโอกาสทางการตลาดให้กับประเทศผู้เล่นรายใหญ่มากกว่า เช่น สหรัฐฯ และจีน

ข้อเสนอแนะ/ความคิดเห็นของ สคต.

รัฐบาลชุดปัจจุบันภายใต้การนำของประธานาธิบดีเฟอร์ดินานด์ มาร์กอส จูเนียร์ พยายามผลักดันให้ฟิลิปปินส์เร่งลงนามการให้สัตยาบันโดยเร็ว ทั้งนี้ หากฟิลิปปินส์ไม่เข้าร่วมหรือชะลอการเข้าร่วมความตกลง RCEP อาจเป็นการขัดขวางการฟื้นตัวและเติบโตทางเศรษฐกิจของประเทศ รวมทั้งอาจนำไปสู่การสูญเสียโอกาสการการค้าและความสามารถของประเทศในการดึงดูดการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อเปรียบเทียบกับประเทศเพื่อนบ้านในภูมิภาคอาเซียนที่ส่วนใหญ่ได้ให้สัตยาบันและได้เข้าร่วมเป็นส่วนหนึ่งของความตกลง RCEP แล้ว โดยการส่งออกไปยังตลาดกลุ่มประเทศ RCEP คิดเป็นร้อยละ 51 ของการส่งออกทั้งหมดของฟิลิปปินส์ และคิดเป็นร้อยละ 68 ของการนำเข้าทั้งหมด รวมทั้งคิดเป็นร้อยละ 58 ของการลงทุนทั้งหมดของฟิลิปปินส์ ทั้งนี้ คงต้องติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิดต่อไปว่ารัฐบาลของประธานาธิบดีมาร์กอส จูเนียร์ จะสามารถผลักดันให้วุฒิสภาอนุมัติการให้สัตยาบันข้อตกลง RCEP ได้หรือไม่ สำหรับประเทศไทยเอง แม้ว่าไทยจะได้รับประโยชน์จากการเข้าถึงตลาดและการลงทุนภายใต้ RCEP ได้มากขึ้น แต่คาดการณ์ว่าการแข่งขันก็จะรุนแรงเพิ่มขึ้นเช่นกันทั้งฝีมือแรงงานและสินค้าราคาถูกอาจทะลักเข้ามาในประเทศมากขึ้น ซึ่งอาจส่งผลกระทบต่อ ผู้ประกอบการและเกษตรกรของไทย ดังนั้น ผู้ประกอบการไทยจำเป็นต้องปรับตัวในการเพิ่มขีดสามารถในการแข่งขันให้มากขึ้น ยกระดับการพัฒนาสินค้าและเสริมสร้างแบรนด์รวมทั้งรักษาคุณภาพมาตรฐานสินค้าไทยเพื่อให้สามารถแข่งขันได้ในตลาด รวมทั้งการกำหนดมาตรการรองรับผลกระทบที่เหมาะสมของภาครัฐก็จะช่วยให้ไทยสามารถใช้ประโยชน์จากข้อตกลง RCEP ได้อย่างยั่งยืนต่อไป

OMD KM

FREE
VIEW