รายงานสถานการณ์การค้าสหรัฐอเมริกา ณ นครนิวยอร์ก เดือนพฤศจิกายน 2565

แนวโน้มร้านอาหารในสหรัฐฯ และโอกาสของธุรกิจร้านอาหารไทย

ถึงแม้ว่าดัชนีผู้บริโภค หรือ CPI Index ซึ่งเป็นมาตรวัดอัตราเงินเฟ้อในสหรัฐฯ จะอยู่ในระดับสูง แสดงให้เห็นถึงค่าครองชีพที่สูงขึ้นในสหรัฐฯ ในช่วงที่ผ่านมา ยอดขายของร้านอาหารในสหรัฐฯ ยังคงมีแนวโน้มที่ดีอย่างต่อเนื่อง โดยจากข้อมูลของ U.S. Census Bureau พบว่ายอดขายของร้านอาหารและบาร์ในสหรัฐฯ ในช่วงแปดเดือนแรกของปี 2565 นั้น สูงถึง 6.7 แสนล้านเหรียญสหรัฐฯ เพิ่มขึ้นจากปี 2564 แล้วถึงร้อยละ 18.5
สําหรับในเดือนสิงหาคมที่ผ่านมานั้น ยอดขายของธุรกิจร้านอาหารและบาร์ในสหรัฐฯ อยู่ที่ 8.6 หมื่นล้านเหรียญสหรัฐฯ สูงขึ้นจากเดือนกรกฎาคมเล็กน้อย แต่นับว่าน้อยลงจากช่วงเดือนเมษายนถึงมิถุนายน ซึ่งถือเป็นช่วงขายดีของธุรกิจร้านอาหารและบริการ ซึ่งมียอดขายอยู่ที่ประมาณ 8.7 หมื่นล้านเหรียญสหรัฐฯ ต่อเดือน จากข้อมูลของ Open Table ซึ่งเป็นเว็บไซต์สําหรับจองร้านอาหารรายใหญ่ในสหรัฐฯ พบว่า ในเดือนกันยายน 2565 ที่ผ่านมา การจองโต๊ะร้านอาหารของผู้บริโภคในสหรัฐฯ ก็ได้เพิ่มขึ้นจากในช่วงเดียวกันของปี 2564

ถึงร้อยละ 10 นอกจากนี้ จากข้อมูลผู้ใช้บริการเว็บไซต์ พบว่า ในช่วงที่ผ่านมา ร้อยละ 75 ของผู้บริโภคชาวอเมริกันออกไปรับประทานอาหารนอกบ้านอย่างน้อยเดือนละครั้ง และสูงถึงร้อยละ 40 รับประทานอาหารนอกบ้านอย่างน้อยอาทิตย์ละครั้ง สาเหตุหลักประการหนึ่ง ที่ทําให้ธุรกิจร้านอาหารในสหรัฐฯ มียอดขายที่ดีในช่วงที่ผ่านมานั้น มาจากการที่สถานการณ์โควิดได้คลี่คลายลงในสหรัฐฯ ทําให้การใช้ชีวิตของชาวอเมริกันใกล้กลับสู่สภาวะปกติ ส่งผลดีต่อภาคบริการจากรายงานของ Morning Consult บริษัทให้คําปรึกษาด้านข้อมูลและงานวิจัยทางการตลาดและเศรษฐกิจแก่ภาคธุรกิจ ซึ่งทําการสํารวจกลุ่มตัวอย่างชาวอเมริกันกว่า 2,200 คน พบว่า ในเดือนกรกฎาคม 2565 ที่ผ่านมา ร้อยละ 74 ของชาวอเมริกันรู้สึกมั่นใจ และไม่หวาดกลัวที่จะออกไปรับประทานอาหารนอกบ้านอีก ถึงแม้ว่าในช่วงเวลาดังกล่าว จะยังเป็นช่วงที่ไวรัสโควิดสายพันธุ์ Omicron BA.5 กําลังเริ่มระบาดในสหรัฐฯ ซึ่งสถานการณ์ที่ดีขึ้นได้ทําให้บริษัทรายใหญ่หลายบริษัทในสหรัฐฯ ยกเลิกนโยบาย Work-from-home และให้พนักงานกลับมาทํางานที่สํานักงานตามเดิม ทําให้ร้านอาหารส่วนใหญ่ โดยเฉพาะในนิวยอร์กและซานฟรานซิสโก ต้องเพิ่มจํานวนพนักงานสําหรับกะกลางวันมากขึ้น

นอกจากนี้ ความเคยชินของชาวอเมริกันในการสั่งอาหารแบบจัดส่ง (delivery) และสั่งกลับบ้าน (takeout) ในช่วงสถานการณ์โควิด ยังคงทําให้ยอดขายของร้านอาหารในส่วนนี้มีจํานวนมากอย่างต่อเนื่อง โดยสําหรับร้านอาหารบางร้านนั้น ยอดขายจากบริการ takeout และ delivery มีมากกว่ายอดขายรับประทานภายในร้านถึง 2 เท่า จากข้อมูลผู้ใช้งานของเว็บไซต์ Open Table พบว่า ร้อยละ 88 ของผู้บริโภคขาวอเมริกันยังคงชื่นชอบตัวเลือกด้านความสะดวกสบายในการสั่ง takeout และ delivery และต้องการให้ร้านอาหารมีบริการดังกล่าว

ต่อไป โดยร้อยละ 30 ของผู้บริโภคกล่าวว่า ตนใช้บริการสั่ง takeout อย่างน้อยอาทิตย์ละหนึ่งครั้ง และร้อยละ 13ใช้บริการ delivery จากร้านอาหารอย่างน้อยอาทิตย์ละหนึ่งครั้งสําหรับเทรนด์ในการเลือกร้านอาหารสําหรับชาวอเมริกันนั้น ข้อมูลจาก Google Trends ซึ่งวิเคราะห์ความนิยมของคําค้นหาใน Google พบว่า อาหารไทย เป็นอาหารยอดนิยม อันดับ 4 ของชาวอเมริกัน รองจากอาหารจีน อาหารเม็กซิกัน และอาหารอิตาเลียน โดยได้รับความนิยมที่สุดในรัฐวอชิงตัน รัฐโอเรกอน และ รัฐแคลิฟอร์เนีย ซึ่งความนิยมของอาหารไทยนี้ นับว่าเป็นโอกาสดีของร้านอาหารไทยในสหรัฐฯ รวมถึงการส่งออกไทยโดยเฉพาะผลิตภัณฑ์วัตถุดิบ เครื่องปรุงรส และเครื่องเทศของไทย โดยมูลค่าการส่งออกผลิตไทยประเภทซอสและผงปรุงรส (HS Code 2103) เฉพาะในช่วง 7 เดือนแรกของปี 2565 เพิ่มขึ้นแล้วกว่า 23.2 ล้านเหรียญสหรัฐฯ หรือร้อยละ 38.7 เทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปีที่แล้ว

การฟื้นตัวของสถานการณ์โควิดในสหรัฐฯ ซึ่งทําให้ชาวอเมริกันกล้าที่จะกลับมาใช้บริการร้านอาหาร การยกเลิกนโยบาย Work-from-home ซึ่งทําให้ชาวอเมริกันมีความจําเป็นที่จะต้องใช้บริการร้านอาหารมากขึ้นรวมถึง ความนิยมของอาหารไทยในหมู่ชาวอเมริกันที่สูงมากในหลายรัฐ นับว่าเป็นโอกาสที่ดีของร้านอาหารไทยในสหรัฐฯ ผู้ประกอบการธุรกิจร้านอาหารไทยในสหรัฐฯ ควรใช้ช่วงเวลานี้ ในการทําการตลาดเพื่อดึงดูดลูกค้า และสร้างฐานลูกค้าใหม่ๆ เพิ่มเติมจากที่มีอยู่เดิม ทั้งนี้ สภาพเศรษฐกิจของสหรัฐฯ ในปัจจุบัน ยังคงมีความไม่แน่นอนและมีความเสี่ยงที่อาจจะเข้าสู่สภาวะถดถอยได้ในปีหน้า จากปัญหาเงินเฟ้อสูงและการเร่งขึ้นอัตราดอกเบี้ยของธนาคารกลาง ผู้ประกอบการธุรกิจร้านอาหารส่วนมากเป็นกังวลต่อยอดขายที่น่าจะลดลงในปี 2566 โดยจากการสํารวจเมื่อเดือนสิงหาคมของ National Restaurant Association หรือสมาคมผู้ประกอบการธุรกิจร้านอาหารในสหรัฐฯ ซึ่งมีร้านอาหารในเครือ

กว่า 380,000 ร้าน พบว่า ร้อยละ 43 ของผู้ประกอบการธุรกิจร้านอาหารในสหรัฐฯ คาดการณ์ว่า สภาพเศรษฐกิจสหรัฐฯ ในช่วง 6 เดือนข้างหน้านี้จะมีสภาพแย่ลง และมีเพียงร้อยละ 8 เท่านั้นที่คาดว่าสภาพเศรษฐกิจสหรัฐฯในช่วง 6 เดือนข้างหน้าจะเป็นไปในทิศทางที่ดีขึ้น ผู้ประกอบการธุรกิจร้านอาหารไทย จึงควรติดตามสถานการณ์เศรษฐกิจสหรัฐฯ อย่างใกล้ชิด เพื่อที่จะรวมทั้งหาแนวทางในการรักษากลุ่มลูกค้า ไม่ว่าจะเป็นการเพิ่มเมนูพิเศษหรือเสนอโปรโมชั่นต่างๆ ให้แก่กลุ่มลูกค้าประจําและกลุ่มลูกค้าใหม่ในอนาคต

ที่มา: Opentable/ Morning Consult/ National Restaurant Association/ U.S. Census Bureau

Leave a Comment

Your email address will not be published. Required fields are marked *

OMD KM

FREE
VIEW