รายงานสถานการณ์การค้า รัสเซีย ณ กรุงมอสโก เดือน ตุลาคม 2564

สรุปสถานการณ์ส่งออกไทยไปรัสเซีย 10 เดือนแรก ปี 2564

การส่งออกของไทยไปยังตลาดรัสเซียเดือนตุลาคม 2564 มีมูลค่า 125.9 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หากเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่ผ่านมา เพิ่มขึ้นร้อยละ 105.82 เดือนนี้ถือเป็นเดือนที่มีการปรับตัวดีขึ้นค่อนข้างสูงต่อเนื่องเป็นเดือนที่เจ็ด ขณะนี้มีมูลค่าการส่งออกสะสม 10 เดือนแรก 828.04 ล้านดอลลาร์สหรัฐ เพิ่มขึ้นร้อยละ 39.04 สถานการณ์ทางเศรษฐกิจและการค้าทั่วไปในรัสเซียมีการฟื้นตัวดีเป็นลำดับ อย่างไรก็ตามยังมีปัญหาอุปสรรคที่น่ากังวล ได้แก่ การระบาดของโควิด-19 ที่กลับมารุนแรงอีกรอบในปัจจุบัน นอกจากนั้นอัตราเงินเฟ้อในรัสเซียขยับสูงขึ้นอย่างต่อเนื่องโดยเฉพาะอาหารมีการปรับราคาเพิ่มขึ้นเป็นลำดับ ค่าขนส่งสินค้าระหว่างประเทศที่สูงกว่าปกติอย่างต่อเนื่อง อีกทั้งระบบห่วงโซ่อุปทานของบางอุตสาหกรรมการผลิตของโลกสะดุดลงเป็นครั้งคราว แต่ทั้งนี้สายการบินของรัสเซียกลับมาให้บริการเส้นทางรัสเซีย – ไทยไปอีกครั้งตั้งแต่ช่วงต้นเดือนพฤศจิกายน อันจะช่วยทำให้การขนส่งสินค้าผัก/ผลไม้สดจากไทยไปยังรัสเซียสะดวกขึ้น

ตารางแสดงมูลค่าการส่งออกสินค้า 10 อันดับแรก เดือนตุลาคม 2564

 ประเภทสินค้ามูลค่า (ล้าน USD)r %สัดส่วน %
1อากาศยาน ยานอวกาศ และส่วนประกอบ36.9~29.32
2รถยนต์ อุปกรณ์ และส่วนประกอบ33.3147.9326.46
3ผลิตภัณฑ์ยาง9.337.077.38
4ยางพารา4.5312.383.55
5เครื่องจักรกลและส่วนประกอบของเครื่องจักรกล4.27.233.35
6ผลไม้กระป๋องและแปรรูป3.5-8.132.76
7น้ำมันสำเร็จรูป2.631.242.05
8เครื่องปรับอากาศและส่วนประกอบ2.528.772.00
9เม็ดพลาสติก2.325.951.86
10แผงสวิทช์และแผงควบคุมกระแสไฟฟ้า2.2-23.871.76
 รวม 10 อันดับแรก101.4168.4580.49
 อื่นๆ24.64.8719.51
 รวม125.9105.82100.00
ที่มา: ศูนย์เทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร สำนักงานปลัดกระทรวงพาณิชย์ โดยความร่วมมือจากกรมศุลกากร

ในเดือนตุลาคม 2564 สินค้าส่งออก 10 อันดับแรก มีสัดส่วนร้อยละ 80.49 ของมูลค่าการส่งออกทั้งหมด ขยายตัวสูงถึงร้อยละ 105.82 ทั้งนี้สาเหตุที่เดือนนี้มีอัตราการเติบโตสูงอย่างไม่ปกติเนื่องมาจากหมวด อากาศยาน ยานอวกาศ และส่วนประกอบ ที่ไม่เคยปรากฎเป็นสินค้าส่งออกหลักของไทยในตลาดนี้มาก่อน เป็นมูลค่า 36.9 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ตามมาด้วย รถยนต์ อุปกรณ์ และส่วนประกอบ ที่มีเสถียรภาพมากขึ้นเป็นลำดับ โดยเดือนนี้กลับมาเป็นบวกต่อเนื่องนับตั้งแต่เดือนมีนาคมที่ผ่านมาคิดเป็นมูลค่า 36.3 ล้านดอลลาร์สหรัฐ มีอัตราเติบโตร้อยละ 147.93 ซึ่งในหมวดนี้ร้อยละ 47 มาจากรถยนต์นั่ง มูลค่า 15.6 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ตามมาด้วยส่วนประกอบและอุปกรณ์รถยนต์ ร้อยละ 31 คิดเป็นมูลค่า 10.2 ล้านดอลลาร์สหรัฐ และรถปิคอัพอีกร้อยละ 23 มูลค่า 7.5 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ขณะที่หมวดสินค้าที่เกี่ยวเนื่องกับอุตสาหกรรมยานยนต์ เช่น เครื่องยนต์สันดาปภายในแบบลูกสูบและส่วนประกอบ ก็เปลี่ยนแปลงไปในทิศทางเดียวกัน ขยายตัวสูงถึงร้อยละ 382 รวมทั้งหมวด ผลิตภัณฑ์ยางยานพาหนะ ภายใต้กลุ่มผลิตภัณฑ์ยางขยายตัวในอัตราร้อยละ 56

จำนวน 8 ใน 10 อันดับแรกของสินค้าไทยที่ส่งไปรัสเซียในเดือนตุลาคม 2564 มีอัตราการขยายตัวในแดนบวกในอัตราสูงเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันในปีที่ผ่านมา ยกเว้น ผลไม้กระป๋องและแปรรูป ที่หดตัวร้อยละ -8.13 และ แผงสวิทช์และแผงควบคุมกระแสไฟฟ้า หดตัวร้อยละ -23.87

หมวดสินค้าศักยภาพอย่างอาหารและเครื่องดื่มรวมไปถึงอาหารสัตว์เลี้ยง มีความผันผวนในบางช่วงเวลาและสลับสับเปลี่ยนกันไปในแต่ละประเภทสินค้า โดยเดือนนี้ ผลิตภัณฑ์ข้าวสาลีและอาหารสำเร็จรูปอื่น ๆ  และ เนื้อปลาสด/แช่เย็น/แช่แข็ง ขยายตัวเล็กน้อย ส่วน ผลไม้กระป๋องและแปรรูป ผลไม้สด/แช่เย็น/แช่แข็ง/แห้ง  อาหารทะเลกระป๋องและแปรรูป สิ่งปรุงรสอาหาร และ อาหารสัตว์เลี้ยง ปรับตัวลดลง อย่างไรก็ตามปัญหาการขาดแคลนตู้ขนส่งสินค้าและค่าขนส่งที่ปรับตัวสูงขึ้นมากยังไม่มีการเปลี่ยนแปลงไปในทางที่ดีขึ้น

สำหรับสินค้า เครื่องสำอาง สบู่ และผลิตภัณฑ์รักษาผิว ที่หดตัวต่อเนื่องมาตั้งแต่ต้นปี เดือนนี้สามารถพลิกกลับมาเป็นบวกได้

ตารางแสดงโครงสร้างการส่งออกสินค้าไทยไปยังรัสเซีย ช่วง 10 เดือนแรก ปี 2564

 ประเภทสินค้ามูลค่า (ล้าน USD)r %สัดส่วน %
1สินค้าเกษตรกรรม (กสิกรรม,ปศุสัตว์,ประมง)60.9922.197.36
2สินค้าอุตสาหกรรมการเกษตร83.366.9010.07
3สินค้าอุตสาหกรรม666.8446.0780.51
4สินค้าแร่และเชื้อเพลิง17.0551.242.06
 รวม828.2439.04100.00
ที่มา: ศูนย์เทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร สำนักงานปลัดกระทรวงพาณิชย์ โดยความร่วมมือจากกรมศุลกากร

พิจารณาโครงสร้างสินค้าส่งออกจากไทยไปยังตลาดรัสเซียในช่วง 10 เดือนแรก ปี 2564 พบว่า กลุ่มสินค้าอุตสาหกรรม เป็นกลุ่มสินค้าหลักที่ครองส่วนแบ่งการส่งออกจากไทยทั้งหมดร้อยละ 80 ในส่วนนี้กระจายออกเป็นหมวดรถยนต์ อุปกรณ์ และส่วนประกอบเป็นสินค้าหลัก (สัดส่วนร้อยละ 30.57 ของการส่งออกทั้งหมดของไทยไปยังรัสเซีย) ตามมาด้วย ผลิตภัณฑ์ยาง (ร้อยละ 9.84) เครื่องจักรกลและส่วนประกอบของเครื่องจักรกล (ร้อยละ 5.24) อากาศยาน ยานอวกาศ และส่วนประกอบ (ร้อยละ 4.85) เครื่องปรับอากาศและส่วนประกอบ (ร้อยละ 4.24) เม็ดพลาสติก (ร้อยละ 3.85) และแผงสวิทช์และแผงควบคุมกระแสไฟฟ้า (ร้อยละ 2.40)  กลุ่มรองลงมาเป็น กลุ่มสินค้าอุตสาหกรรมการเกษตร สัดส่วนรวมร้อยละ 10.07ที่มีผลไม้กระป๋องและแปรรูป (ร้อยละ 4.60) เป็นสินค้านำ ตามมาด้วยอาหารทะเลกระป๋องและแปรรูป (ร้อยละ 1.85) ถัดไปเป็น กลุ่มสินค้าเกษตรกรรม มีสัดส่วนร้อยละ 7.36 แบ่งเป็นกลุ่มสินค้ากสิกรรม (ร้อยละ 5.78) แยกย่อยออกเป็นยางพารา (ร้อยละ 3.61) ผลไม้สด แช่เย็น แช่แข็ง และแห้ง (ร้อยละ 0.90) และข้าว (ร้อยละ 0.3)  เป็นสินค้าหลัก รวมทั้งกลุ่มสินค้าประมง (ร้อยละ 1.55) ที่มีปลา (ร้อยละ 1.33) เป็นสินค้าหลัก

ตารางแสดงสรุปมูลค่าการส่งออกสินค้า 10 อันดับแรก ช่วง 10 เดือนแรก ปี 2564

 ประเภทสินค้ามูลค่า (ล้าน USD)r %สัดส่วน %
1รถยนต์ อุปกรณ์ และส่วนประกอบ253.1756.4630.57
2ผลิตภัณฑ์ยาง81.4819.699.84
3เครื่องจักรกลและส่วนประกอบของเครื่องจักรกล43.4132.885.24
4อากาศยาน ยานอวกาศ และส่วนประกอบ40.218,177.054.85
5ผลไม้กระป๋องและแปรรูป38.091.524.60
6เครื่องปรับอากาศและส่วนประกอบ35.1055.364.24
7เม็ดพลาสติก31.85100.323.85
8ยางพารา29.94148.253.61
9แผงสวิทช์และแผงควบคุมกระแสไฟฟ้า19.9125.822.40
10เครื่องยนต์สันดาปภายในแบบลูกสูบและส่วนประกอบ18.09177.932.18
 รวม 10 อันดับแรก591.2558.3271.39
 อื่นๆ236.996.6328.61
 รวม828.2439.04100.00
ที่มา: ศูนย์เทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร สำนักงานปลัดกระทรวงพาณิชย์ โดยความร่วมมือจากกรมศุลกากร

จากมูลค่าการส่งออกช่วง 10 เดือนแรกในปี 2564 จะเห็นว่าสินค้า รถยนต์ อุปกรณ์ และส่วนประกอบ ยังคงมีบทบาทสำคัญและเป็นสินค้าหลักมีมูลค่าสูงที่สุดเหนือกว่าทุกหมวด ด้วยมูลค่ากว่า 253 ล้านดอลลาร์สหรัฐ โดยครองสัดส่วนการส่งออกของทั้งหมดร้อยละ 30.57 ทั้งนี้วิกฤตจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 บรรเทาลงช่วยให้อุตสาหกรรมยานยนต์ฟื้นตัวได้ดีตลอดทั้งปี แต่ทั้งนี้ปัญหาการขาดแคลนชิ้นส่วนยานยนต์ทั่วโลกที่มีผลกระทบต่อห่วงโซ่อุปทานการผลิตอาจเป็นอุปสรรคในการขยายตัว

ผลิตภัณฑ์ยาง โดยสัดส่วนร้อยละ 62 ของผลิตภัณฑ์ยางทั้งหมดเป็นยางใหม่สำหรับยานพาหนะต่าง ๆ ซึ่งตอบสนองตลาดรถยนต์และเศรษฐกิจที่กำลังเติบโต รองลงมาร้อยละ 16 เป็นถุงมือยาง ถัดไปร้อยละ 7 เป็นยางวัลแคไนซ์ และอีกร้อยละ 7 เป็นผลิตภัณฑ์ยางที่ใช้ทางเภสัชกรรม ด้วยปัจจัยการแพร่ระบาดของ COVID-19 ก่อให้เกิดความต้องการใช้ผลิตภัณฑ์ป้องกันเชื้อเพิ่มขึ้นอย่างชัดเจนโดยเฉพาะถุงมือยาง ในช่วงที่ผ่านมาประเทศไทยไม่มีกำลังผลิตพอเพียงต่อความต้องการของทั่วโลก แต่ขณะนี้ผู้ผลิตได้เพิ่มกำลังการผลิตขึ้นแล้วและเปิดรับออร์เดอร์ใหม่ คาดว่าตลาดถุงมือยางยังเติบโตได้ดีตลอดทั้งปี

เครื่องปรับอากาศและส่วนประกอบ ส่วนใหญ่สินค้าส่งออกของไทยเป็นเครื่องปรับอากาศประกอบสำเร็จรูปทั้งแบบเปลี่ยนวงจรความเย็นหรือความร้อนและแบบติดหน้าต่างหรือฝาผนัง หลังจากสถานการณ์ทางเศรษฐกิจหดตัวในปีที่ผ่านมาทำให้ความต้องการชะลอตัว แต่เมื่อสถานการณ์เริ่มปรับตัวดีขึ้นส่งผลให้มียอดนำเข้าเพิ่มขึ้นอย่างชัดเจนและต่อเนื่องตลอดปี

อัญมณีและเครื่องประดับ แม้ว่าอัญมณี (เพชรและพลอย) จะกลับมาเติบโตได้ดี แต่ทองคำยังไม่ได้แปรรูปที่เป็นสิ่งที่มีมูลค่าสูงได้หดตัวลงเป็นศูนย์เมื่อเทียบกับปีที่ผ่านมาจึงฉุดให้มูลค่ารวมลดลง แต่จากสถานการณ์ทางเศรษฐกิจที่เริ่มฟื้นตัวทำให้สินค้าอัญมณีและเครื่องประดับที่ถือว่าเป็นสินค้าฟุ่มเฟือยเริ่มขยับตัวในทิศทางบวกและหากสถานการณ์แพร่ระบาดโควิด-19 คลี่คลายลงจนผู้นำเข้าสามารถเดินทางมาเยือนงานแสดงสินค้าในประเทศไทยได้ก็น่าจะช่วยกระตุ้นให้การส่งออกสินค้านี้ของไทยขยับตัวสูงขึ้นโดยเฉพาะอัญมณีที่มีความต้องการสูงในตลาด

เครื่องสำอาง สบู่ และผลิตภัณฑ์รักษาผิว แม้จะเป็นสินค้าที่มีมูลค่าไม่มากนักแต่มีลักษณะโดดเด่นในศักยภาพที่เคยเติบโตประคองตัวได้อย่างต่อเนื่องในแทบทุกสถานการณ์ทางเศรษฐกิจ แต่นับตั้งแต่ต้นปีของปีนี้ยังไม่สามารถฝ่าวิกฤติไปได้ทำให้เกิดการหดตัวลงอย่างแรงและต่อเนื่อง แต่เริ่มกลับมาขยายตัวได้เป็นเดือนแรก

คาดการณ์การส่งออกของไทยไปยังตลาดรัสเซีย

แม้ว่าภาครัฐได้ผ่อนคลายมาตรการป้องกันอย่างเข้มข้นลงทุกด้านและสถานการณ์ทางเศรษฐกิจก็ดีขึ้นเป็นลำดับ โดยประชาชนออกมาใช้ชีวิตกันตามปกติมากขึ้นเป็นลำดับ แต่ในช่วงครึ่งหลังของเดือนตุลาคมก็ได้เกิดการแพร่ระบาดของโควิด-19 รุนแรงขึ้นมาอีกครั้งจนรัฐบาลต้องนำมาตรการสั่งหยุดงานชั่วคราวทั่วประเทศมาใช้ จึงอาจเป็นจุดหักเหทางเศรษฐกิจอีกครั้งสำหรับสองเดือนที่เหลือของปีนี้ซึ่งเป็นช่วงเทศกาลจับจ่ายใช้สอยครั้งใหญ่ประจำปี

ตัวเลขคาดการณ์การเติบโตทางเศรษฐกิจของรัสเซียล่าสุด European Bank for Reconstruction and Development ได้ปรับคาดการณ์การเติบโตขึ้นเป็นร้อยละ 4.3 ซึ่งถือว่าเป็นอัตราที่สูงมาก ขณะเดียวกันอัตราเงินเฟ้อก็เพิ่มขึ้นเกินกว่าร้อยละ 8 โดยเฉพาะหมวดอาหารปรับตัวสูงขึ้นอย่างต่อเนื่องโดยเฉลี่ยแพงขึ้นร้อยละ 12 ที่กระทบต่อความเป็นอยู่ของประชากรทั่วไปจนทำให้เกิดการกักตุนสินค้าอันจะเป็นการซ้ำเติมให้ราคาสูงขึ้นไปอีก ทั้งนี้รัฐบาลได้พยายามใช้มาตรการต่าง ๆ มาช่วยแก้ปัญหา เช่น ควบคุมการส่งออกวัตถุดิบสินค้าอาหารและปุ๋ยทางการเกษตร รวมทั้งควบคุมการขึ้นราคาสินค้าจำเป็นบางรายการ

โอกาสการส่งออกของไทยยังต้องพึ่งพาหมวดสินค้ารถยนต์ อุปกรณ์ และส่วนประกอบ เป็นสำคัญอยู่ต่อไปเนื่องจากครองสัดส่วนมูลค่าการส่งออกของไทยทั้งหมดกว่าร้อยละ 30 ยังไม่รวมผลิตภัณฑ์ยางรถยนต์และเครื่องยนต์สันดาปภายในแบบลูกสูบและส่วนประกอบที่มีการเคลื่อนไหวไปในทิศทางเดียวกันด้วย ซึ่งสินค้าทั้งสามรายการข้างต้นรวมกันแล้วก็มีสัดส่วนประมาณเกือบกึ่งหนึ่งของมูลค่าการส่งออกรวมทั้งหมด รองลงมาเป็นสินค้าเกษตรและอาหารที่ไทยถือเป็นประเทศหนึ่งที่มีจุดแข็งทางด้านการเกษตรและการผลิตอาหารที่ได้รับการยอมรับของโลก แต่ก็มีความเสี่ยงที่เป็นสินค้าที่มีความผันผวนสูง ทั้งนี้มีสินค้าเด่นตัวใหม่ที่มีศักยภาพเข้ามาเสริมตั้งแต่ปีที่ผ่านมาได้แก่ แผงสวิทช์และแผงควบคุมกระแสไฟฟ้า รวมทั้งสินค้าสุขอนามัยเพื่อป้องกันโรคติดต่อโดยเฉพาะถุงมือยาง นอกจากนั้นหวังว่าสินค้าในกลุ่มแฟชั่น ได้แก่ รองเท้าและชิ้นส่วน โดยเฉพาะอัญมณีและเครื่องประดับที่เคยหดตัวอย่างยาวนานและต่อเนื่องจะสามารถกลับมาเติบโตได้อีกครั้งอย่างค่อยเป็นค่อยไป

จากการส่งออกของไทยไปยังรัสเซียที่หดตัวอย่างรุนแรงในปีที่ผ่านมาทำให้ฐานตัวเลขค่อนข้างต่ำ ซึ่งปีนี้สถานการณ์ทางเศรษฐกิจโดยรวมสามารถฟื้นตัวได้อย่างรวดเร็ว จึงคาดว่าการส่งออกของไทยทั้งปีจะสามารถขยายตัวได้ไม่น้อยกว่าร้อยละ 25 ทั้งนี้ยังมีปัญหาและอุปสรรคที่น่ากังวล ได้แก่ อัตราเงินเฟ้อ การเพิ่มความเข้มข้นของมาตรการป้องกันการแพร่ระบาดโควิด-19 การขาดแคลนตู้คอนเทนเนอร์และค่าขนส่งที่มีราคาแพงยังเป็นไปอย่างต่อเนื่อง และการขาดแคลนชิ้นส่วนยานยนต์ในระบบห่วงโซ่อุปทาน

Leave a Comment

Your email address will not be published. Required fields are marked *

OMD KM

FREE
VIEW