รายงานสถานการณ์การค้าสาธารณรัฐอิตาลี ณ เมืองมิลาน เดือนสิงหาคม 2565

แนวโน้มสินค้าอาหารและเคร่องดื่มในอิตาลี

สถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อ Covid-19 ได้เปลี่ยนความคิดและนิสัยการใช้ชีวิตประจำวันของชาวอิตาเลียน รวมถึงพฤติกรรมการจ่ายตลาด การซื้อผลิตภัณฑ์อาหาร และการบริโภค โดยเฉพาะอย่างยิ่งการตระหนักถึงความสัมพันธ์ระหว่างโภชนาการกับสุขภาพ และผลกระทบของระบบการบริโภคอาหารที่มีต่อสิ่งแวดล้อมมากขึ้น ซึ่งเป็นที่ทราบกันดีอยู่แล้วว่า อิตาลีเป็นหนึ่งในประเทศที่ได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดมากที่สุด ซึ่งทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในพฤติกรรม รูปแบบการบริโภคและวิถีชีวิตของชาวอิตาเลียน (อย่าง radically) กอรปกับแนวคิดเกี่ยวกับการเชื่อมโยงระหว่างสิ่งแวดล้อมและพฤติกรรมของมนุษย์จากวิกฤตการณ์สภาพภูมิอากาศที่ทวีความรุนแรงมากขึ้นเรื่อยๆ ทำให้ชาวอิตาเลียนตระหนักในการเลือกซื้อสินค้าที่จะส่งผลกระทบต่อโลกมากขึ้น ดังนั้น การเข้าใจในการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมผู้บริโภคจะช่วยให้ผู้ประกอบการเข้าใจในแนวโน้มสินค้าและกำหนดกลยุทธ์ในการพัฒนาตลาดสินค้าอาหารในอนาคตได้อย่างมีประสิทธิภาพ

1. แนวโน้มสินค้าอาหารและพฤติกรรมการบริโภค

1.1 การบริโภคอย่างยั่งยืนและมีจริยธรรม
ความยั่งยืนเป็นสิ่งที่ได้รับการกล่าวถึงในทุกกลุ่มสินค้ามาตั้งแต่ก่อนสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อ Covid-19 จากความกังวลเกี่ยวกับสภาวะวิกฤตของสิ่งแวดล้อมและสังคม โดยสหภาพยุโรปได้มีการกำหนดแผนนโยบาย Green Deal ที่มีจุดมุ่งหมายเพื่อสร้างสังคมที่ไร้การปล่อยก๊าซเรือนกระจกภายในปี พ.ศ. 2593 อีกทั้งยุโรปจะต้องเป็นผู้นําในเวทีโลกในด้านอุตสาหกรรมเพื่อสิ่งแวดล้อมและเทคโนโลยีสะอาด ช่วยเพิ่มบทบาทความสำคัญของแนวคิดด้านความยั่งยืนในการดำเนินชีวิตของผู้บริโภคชาวอิตาเลียน กอรปกับสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อ Covid-19 ที่ช่วยผลักดันการบริโภคอย่างยั่งยืนและมีจริยธรรมแก่ชาวอิตาเลียน ซึ่งเชื่อว่าสาเหตุหลักประการหนึ่งของการแพร่ระบาดอยู่ที่ความไม่ยั่งยืนของรูปแบบเกษตรกรรมทั่วโลก การขยายตัวของรูปแบบการเกษตรและปศุสัตว์ที่มากเกินไปกำลังทำลายธรรมชาติ ลดพื้นที่ป่าและความหลากหลายทางชีวภาพในพื้นที่ต่างๆ ทำให้เกิดการติดต่อที่เพิ่มขึ้น ความไม่ยั่งยืนของสิ่งแวดล้อมทำให้ผลลัพธ์ของการแพร่ระบาดรุนแรงขึ้น ทำให้ผู้บริโภคหันมาให้ความสนใจในเรื่องคุณภาพและความยั่งยืนต่อสิ่งแวดล้อมมากขึ้น โดยชาวอิตาเลียนมองว่าการเปลี่ยนแปลงต้องเริ่มด้วยการกระทำสิ่งเล็กๆ และการปฏิบัติเพื่อความยั่งยืนจะไม่สามารถเกิดขึ้นได้นอกจากการเปลี่ยนแปลงวิถีชีวิตและพฤติกรรมการบริโภคส่วนบุคคล โดยแนวโน้มที่สำคัญ ได้แก่ สินค้ารูปแบบ green ในช่วง 5 ปีก่อนการเกิดการแพร่ระบาด การจำหน่ายสินค้าที่ผลิตด้วยวิธีที่ยั่งยืนในอิตาลีเติบโตขึ้น 84% และเป็นที่คาดการณ์ว่าในอีก 5 ปีข้างหน้าจะเพิ่มอีก 6% ขณะที่จากการสำรวจของ Coldiretti/Ixè แสดงให้เห็นว่า ชาวอิตาเลียน 27% ซื้อสินค้าที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมมากขึ้นกว่าช่วงก่อนการแพร่ระบาด รวมถึงสินค้าที่จะช่วยลดขยะ ความสนใจในพลังงานทดแทน ไปจนถึงการรีไซเคิล ทั้งนี้ ชาวอิตาเลียนจะให้ความสำคัญกับแนวคิดความเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมโดยรวม


1.2 ความใส่ใจในเรื่องสุขภาพ
จากรายงานการวิจัยที่จัดทำโดย Banco Fresco เชนซุปเปอร์มาร์เก็ตสินค้าอาหาร แสดงให้เห็นว่า ชาวอิตาเลียนให้ความใส่ใจในสุขภาพของตนเองมากขึ้น ไม่เพียงแต่ด้านการออกกำลังกายเท่านั้น แต่ยังรวมถึงด้านโภชนาการ โดยชาวอิตาเลียน 92% พยายามทานอาหารอย่างสมดุล และ 62% ให้ความสำคัญกับการอ่านฉลากและส่วนผสมเพื่อการตัดสินใจในการเลือกซื้อสินค้า โดยเฉพาะอย่างยิ่ง การอ่านฉลากเพื่อดูวันหมดอายุ (75%) แหล่งที่มา (61%) และปราศจากส่วนผสมที่เป็นอันตรายต่อสุขภาพ (47%)

นอกจากนี้ จากการวิจัยที่จัดทำโดย BVA-Doxa สำหรับ Unione Italiana Food (สมาคมผู้ประกอบการสินค้าอาหารในอิตาลีและยุโรป) แสดงให้เห็นว่า 6 ใน 10 ของผู้บริโภคกล่าวว่า ในช่วง 5 ปีที่ผ่านมามีพฤติกรรมการบริโภคที่เปลี่ยนไป โดย 4 ใน 10 เพิ่มการบริโภคผักและผลไม้ ขณะที่ 3 ใน 10 ลดการบริโภคเนื้อสัตว์โดยเฉพาะผู้บริโภคที่มีอายุมากกว่า 55 ปี ทั้งนี้ มีปัจจัยมาจากความใส่ใจในการดูแลสุขภาพและด้าน wellness (67%) ผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมจากอาหาร (19%) ความต้องการลองสินค้าอาหารใหม่ (18%) เพื่อประหยัดค่าใช้จ่าย (16%) เหตุผลด้านจริยธรรม (12%) และภูมิแพ้อาหาร (11%) นอกจากนี้ ผู้บริโภคในปัจจุบันศึกษา ข้อมูลด้านอาหารมากกว่าที่ผ่านมา และพยายามเลือกทานอาหารที่หลากหลายสมดุลทั้งนี้ความสนใจในอาหารที่ดีต่อสุขภาพและส่วนผสมที่มีประโยชน์ต่อร่างกายและจิตใจยังคงดำเนินอย่างต่อเนื่อง ดังจะสังเกตได้จากอาหารที่ขึ้นชื่อได้ว่าดีต่อสุขภาพ หรือ rich-in รวมถึงอาหารที่ปราศจากสารที่ก่อให้เกิดภูมิแพ้ต่างๆ เติบโตอย่างต่อเนื่อง เช่น อโวคาโด้ รากพืช เห็ด ถั่ว และธัญพืช เป็นต้น โดยแนวโน้มดังกล่าวก่อให้เกิดกระแสผู้บริโภคที่มีความยืดหยุ่น (หรือ flexitarian) ซึ่งเลือกบริโภคผลิตภัณฑ์ทดแทนจากพืชเพื่อลดการบริโภคโปรตีนจากสัตว์สลับกับโปรตีนจากสัตว์เป็นระยะ ซึ่งนับเป็นกลุ่มผู้บริโภคที่มีบทบาทสำคัญในตลาดอาหารโปรตีนจากพืช และมีแนวโน้มขยายตัวอย่างต่อเนื่อง นอกจากนี้ จากรายงานของ Just Eat บริษัทให้บริการจัดส่งอาหารที่บ้าน แสดงให้เห็นว่า อาหารที่จะเป็นที่นิยมและเติบโตในปีนี้ ได้แก่ อาหารที่ดีต่อสุขภาพ (+72%) โดยเฉพาะถั่วลูกไก่ (chickpea) quinoa และถั่วอื่นๆ อาหารมังสวิรัติ (127%) วีแกน (+90%) โดยเฉพาะแฮมเบอร์เกอร์ที่ทำจากพืช Poké (+76%) สลัดต่างๆ (+63%) อาหารเกษตรอินทรีย์ (+20%) และปราศจากกลูเต็น (+7%)


1.3 แนวโน้มการประกอบอาหารที่บ้าน การเปิดรับวัฒนธรรมใหม่ แต่คงไว้ซึ่งประเพณี
จากสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อ Covid-19 ทำให้ประชาชนเปลี่ยนแปลงวิถีชีวิต โดยการบริโภคของชาวอิตาเลียนจะเปลี่ยนมาสู่รูปแบบการบริโภคที่บ้านมากขึ้น (จาก Away From Home มาสู่ At Home) โดยหันมาให้ความสำคัญกับการทำอาหารทานเองที่บ้านเพื่อความปลอดภัย ถึงแม้ในอนาคตสถานการณ์ดังกล่าวจะคลี่คลาย แต่การทำอาหารทานเองหรือรับประทานอาหารในบ้านจะยังคงมีแนวโน้มที่เพิ่มขึ้น ทั้งนี้ ในช่วงการ lockdown ช่วยกระตุ้นความต้องการทดลองสูตรอาหารใหม่ๆ โดยเฉพาะการใช้วัตถุดิบจากวัฒนธรรมอาหารอื่นๆเพื่อผสมผสานในสูตรอาหารดั้งเดิม อย่างไรก็ตาม สิ่งสำคัญที่ชาวอิตาเลียนให้ความใส่ใจเป็นอันดับแรกยังคงเป็นเรื่องคุณภาพ การมองหาวัตถุดิบประจำท้องถิ่น การให้ความสำคัญกับความเป็นธรรมชาติและ genuinity ของวัตถุดิบที่นำไปสู่รสชาติดั้งเดิม โดยจากรายงาน Food Trends & Innovation จัดทำโดยบริษัท HelloFresh ผู้ผลิต meal kit สำหรับการประกอบอาหารที่บ้าน เกี่ยวกับการเปลี่ยนแปลงในตลาดในช่วงสิบปีที่ผ่านมาและแนวโน้มที่เกิดขึ้น แสดงให้เห็นว่า 78% ของชาวอิตาเลียนมีพฤติกรรมการประกอบอาหารที่เปลี่ยนไปอย่างสิ้นเชิง ทั้งวิธีการปรุงอาหาร การเลือกวัตถุดิบ ส่วนผสม โดยมีปัจจัยหลักมาจากความต้องการอาหารที่ปรุงจากวัตถุดิบที่สดและการบริโภคอย่างตระหนักรู้ที่เพิ่มขึ้น โดย 43% ของชาวอิตาเลียนมองว่าการทำอาหารเป็นกิจกรรมที่สนุกสนาน และ 49% ของชาวอิตาเลียนหาแรงบันดาลใจจากช่องทาง YouTube และ social netrwork ต่างๆ นอกจากนี้ ในอิตาลีการเตรียมอาหารไม่ได้หมายถึงการบริโภคเท่านั้น แต่ยังเป็นวิธีแบ่งปันเวลากับคนที่รัก นอกจากนี้ ในบรรดาการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ในปีนี้คือ การเลือกใช้วัตถุดิบ/ส่วนประกอบที่เติบโตขึ้นโดย 46% ของชาวอิตาเลียนให้ความสนใจกับแหล่งที่มาของอาหาร และยอมใช้จ่ายมากขึ้นสำหรับคุณภาพวัตถุดิบ 43% ซื้ออาหารประจำท้องถิ่น และ 39% พยายามซื้อสินค้าที่ยั่งยืนมากขึ้น ขณะที่ 1 ใน 3 ของชาวอิตาเลียนต้องการเรียนรู้และลองสิ่งใหม่ๆ

2. ประเภทและรูปแบบสินค้าที่เป็นที่ต้องการของตลาด


2.1 สินค้า plant-based
ดังที่กล่าวในข้างต้น การตระหนักในความสัมพันธ์ระหว่างโภชนาการกับสุขภาพและผลกระทบของระบบการบริโภคอาหารที่มีต่อสิ่งแวดล้อมมากขึ้น ซึ่งการผลิตอาหารจากสัตว์มีผลกระทบต่อการใช้ทรัพยากรและก่อให้เกิดก๊าซที่ก่อมลพิษมากขึ้น ประกอบกับในปี 2563 ที่ผ่านมา การแพร่ระบาดของเชื้อ Covid-19 ได้เปลี่ยนความคิดของชาวอิตาเลียนเกี่ยวกับความปลอดภัยของอาหารและความกลัวต่อการบริโภคเนื้อสัตว์และการติดเชื้อไวรัส ปัจจัยเหล่านี้ได้เปลี่ยนโฉมพฤติกรรมการบริโภค โดยสนับสนุนให้ผู้บริโภคจำนวนมากขึ้นเรื่อยๆ เปลี่ยนแปลงสู่ทางเลือกที่ยั่งยืน โดยลดการบริโภคโปรตีนจากสัตว์และหันมาเลือกทานผลิตภัณฑ์จากพืชทดแทน ด้วยเหตุผลเหล่านี้ทำให้ผลิตภัณฑ์โปรตีนจากพืช (plant-based food) เป็นตลาดที่เติบโตอย่างต่อเนื่อง ทั้งในแง่ของการบริโภคและการเสนอขาย โดยสามารถเข้าถึงผู้บริโภคชาวอิตาเลียนได้ถึง 22 ล้านคน ซึ่งในบรรดาผู้บริโภคเหล่านี้ไม่เพียงแต่ผู้ทานวีแกนหรือมังสวิรัติเท่านั้น แต่ยังรวมถึงการขยายตัวของผู้บริโภคที่มีความยืดหยุ่น (หรือ flexitarian) ที่ทานเนื้อสัตว์สลับกับผลิตภัณฑ์โปรตีนจากพืชเป็นระยะ เพื่อสุขภาพที่ดีและเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ซึ่งเป็นผู้ที่มีบทบาทสำคัญต่อการเติบโตกลุ่มสินค้าดังกล่าวในอิตาลีและส่งผลให้รูปแบบอาหารได้รับการพัฒนาและขยายเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ เพื่อปรับให้เข้ากับความต้องการของผู้บริโภค ซึ่งสินค้า plant-based จะไม่เป็นแค่เทรนด์เท่านั้น แต่จะเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของการบริโภคชาวอิตาเลียนได้อย่างยั่งยืน

ผู้บริโภคสินค้า plant-based ชาวอิตาเลียนมองว่าสินค้า plant-based เป็นผลิตภัณฑ์ที่ดีต่อสุขภาพรสชาติดีและเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม โดยมากกว่าครึ่งหนึ่งของชาวอิตาเลียน (54%) ทานสินค้า plant-based (21% ซื้อเป็นประจำ และ 33% ซื้อเป็นบางครั้ง) และในบรรดาผู้ที่ซื้อเป็นประจำนั้น (2-3 ครั้งต่อสัปดาห์) ส่วนใหญ่เป็นผู้บริโภคที่มีอายุต่ำกว่า 35 ปี โดยทั่วไปจากเหตุผลด้านโภชนาการ (40%) หรือชื่นชอบรสชาติ (30%) ทั้งนี้ ผู้ที่ซื้อสินค้าไม่ได้เป็นผู้ที่ทานวีแกนหรือมังสวิรัติเสมอไป แต่ส่วนใหญ่เป็นผู้บริโภค flexitarian ที่ทานเนื้อสัตว์สลับกับผลิตภัณฑ์โปรตีนจากพืชเพื่อสุขภาพที่ดี เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม และด้านจริยธรรม โดยเลือกที่จะบริโภคผลไม้และผักมากขึ้น และลดการบริโภคโปรตีนจากเนื้อสัตว์ นอกจากนี้ ยังเป็นผู้ที่ศึกษาข้อมูลสินค้า โดย 6 ใน 10 ของชาวอิตาเลียนทราบปริมาณโภชนาการอาหารจากการอ่านฉลาก 29% ศึกษาข้อมูล และ 17% พูดคุยกับแพทย์/นักโภชนาการ ทั้งนี้ ชาวอิตาเลียน 4 ใน 10 เลือกผลิตภัณฑ์ plant-based จากข้อมูลด้านโภชนการและมีไขมันต่ำ (โดยเฉพาะผู้ชาย) ขณะที่ 34% ซื้อสินค้า plant-based เพราะมีตัวเลือกที่หลากหลายและช่วยกระตุ้นความอยากอาหาร ขณะที่ 7 ใน 10 เห็นว่าสินค้า plant-based ช่วยการทานผักต่อวันมากขึ้น โดยเฉพาะสำหรับผู้ที่คำนึงถึงปริมาณที่องค์การอนามัยโลกแนะนำ (400 กรัม/วัน/คน) และ 15% ของครอบครัวอิตาเลียนซื้อสินค้า plant-based เพื่อเป็นทางเลือกให้เด็กได้ทานผักมากขึ้น

ปัจจัยในการเลือกซื้อ ปัจจัยอันดับแรกที่ผลักดันการเลือกซื้อสินค้า plant-based ของชาวอิตาเลียน คือ ด้านสุขภาพ ตามมาด้วยรสชาติ (9 ใน 10 ของชาวอิตาเลียนชื่นชอบในรสชาติ และมีเพียง 1 ใน 10 ของชาวอิตาเลียนเท่านั้นที่ไม่ชอบสินค้าดังกล่าว) อีกปัจจัยหนึ่งที่ส่งผลต่อการเลือกซื้อ โดยเฉพาะในบรรดาผู้บริโภคที่อายุต่ำกว่า 35 ปี คือ ด้านความยั่งยืน โดย 1 ใน 2 พิจารณาว่าสินค้า plant-based เป็นอาหารที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม (47% มองว่าส่งผลกระทบต่อธรรมชาติต่ำ และ 46% มองว่าใช้ทรัพยากรธรรมชาติน้อยในการผลิตสินค้าดังกล่าว)

รูปแบบสินค้า ปัจจุบัน สินค้า plant-based มีรูปแบบครอบคลุมหลากหลายเพื่อตอบสนองความต้องการ
ผู้บริโภคทุกกลุ่ม โดยประเภทสินค้าที่ได้รับความนิยมมากที่สุด คือ เบอร์เกอร์/เนื้อทอด/ลูกชิ้น/นักเก็ต (57%) เนื่องจากดีต่อสุขภาพและใช้เวลาเตรียมน้อย โดยเฉพาะในกลุ่มผู้บริโภคสตรี (61%) ผู้ใหญ่ (อายุระหว่าง 35-54 ปี) ตามมาด้วย เครื่องดื่มที่ทำจากถั่วเหลือง/ข้าว/ข้าวโอ้ต/อัลมอนด์/มะพร้าว (47% ของชาวอิตาเลียน) และไอศกรีมและของหวาน (25%) ขณะที่ซอสและเครื่องปรุงรสได้รับความนิยมอย่างมากโดยเฉพาะในกลุ่มผู้ชาย (29%) และผู้ที่อายุมากกว่า 55 ปี (30%) และขนมหวาน/คุ้กกี้ (22%) ได้รับความนิยมในหมู่ผู้ที่อายุต่ำกว่า 35 ปี (25%) ขณะที่สินค้าอย่างโยเกิร์ตได้รับความนิยมในผู้ที่อายุมากกว่า 55 ปี (23%)


การผลิตสินค้าโปรตีนจากพืชในยุโรป เยอรมนียังคงเป็นประเทศผู้ผลิตรายใหญ่ที่สุด เนื่องจากเป็นประเทศ
ที่มีแนวโน้มเริ่มต้นก่อนประเทศอื่นๆ และความรู้สึกต่อสิ่งแวดล้อมที่แข็งแกร่ง ตามมาด้วยประเทศอิตาลีและ
ฝรั่งเศส โดยเฉพาะในอิตาลี บริษัทที่ผลิตโปรตีนจากพืชมีจำนวนเพิ่มขึ้น (หากพิจารณาว่าเมื่อ 10 ปีที่แล้วมี
ผู้ประกอบการ 2 บริษัท และในปัจจุบันมากกว่า 10 บริษัท) รวมถึงบริษัทขนาดเล็กที่ได้ขยายใหญ่ขึ้น

รูปตัวอย่างผลิตภัณฑ์อาหารโปรตีนจากพืชที่จำหน่ายในซุปเปอร์มาร์เก็ตในอิตาลี

2.2 สินค้าวีแกนและมังสวิรัติ
จากข้อมูลของ Eurispes 2022 แสดงให้เห็นว่า สัดส่วนผู้บริโภควีแกนและมังสวิรัติในอิตาลีอยู่ที่ 6.7% ของประชากร เมื่อเทียบกับปีก่อนหน้า โดยผู้บริโภคมังสวิรัติอยู่ที่ 5.4% และจำนวนผู้บริโภควีแกนอยู่ที่ 1.3% (ลดลงจากปีที่ผ่านมาซึ่งอยู่ที่ 2.4%) ขณะที่การบริโภคเนื้อสัตว์ที่ลดลง โดยเฉพาะเนื้อวัวที่ลดลง 30% (จากข้อมูลของ OICB – Organizzazione Interprofessionale della Carne Bovisa) ซึ่งมีปัจจัยมาจากด้านสุขภาพและ wellness (23.3%) และความเคารพต่อสัตว์ (22.2%) ผู้บริโภคสินค้าวีแกนส่วนใหญ่ในอิตาลีเป็นกลุ่มผู้บริโภค Millennial และ Gen Z (ในทางตรงกันข้าม กลุ่มผู้บริโภคอายุมากกว่า 64 ปี สัดส่วนอยู่ที่ 0.2%) โดยเฉพาะผู้บริโภคชาย (1.7% เทียบกับผู้บริโภคสตรี 0.9%) ขณะที่ผู้บริโภคสินค้าอาหารมังสวิรัติส่วนใหญ่เป็นกลุ่มผู้บริโภคอายุระหว่าง 25-34 ปี (6.4%) โดยเฉพาะผู้บริโภคสตรี (5.7% เทียบกับผู้ชาย 5.3%) นอกจากนี้ ยังมีผู้ที่หันมาบริโภคปริมาณน้อยลงแต่เน้นคุณภาพที่ดีขึ้น (19.2%) และ 9.1% เปลี่ยนพฤติกรรมการบริโภคเนื่องจากต้องการทดลอง ขณะที่การจำหน่ายผลิตภัณฑ์จากพืชทั่วไป (veg) อยู่ที่กว่า 4,500 รายการ สัดส่วนการจำหน่ายอยู่ที่ 5.6% ตามมาด้วย ผลิตภัณฑ์มังสวิรัติ สัดส่วนการจำหน่ายอยู่ที่ 3.5% และผลิตภัณฑ์ vegan กว่า 3,370 รายการ สัดส่วนการจำหน่ายอยู่ที่ 2.7% และมีแนวโน้มเติบโตขึ้นอีกอย่างต่อเนื่อง

2.3 สินค้า Made in Italy /สินค้าท้องถิ่น
ชาวอิตาเลียนมีแนวโน้มนิยมสินค้าที่ผลิตในอิตาลีเพื่อสนับสนุนเศรษฐกิจ การจ้างงาน และเพิ่มมูลค่าทรัพยากรในประเทศในช่วงเวลาที่ยากลำบาก รวมถึงการให้ความสำคัญกับสินค้าท้องถิ่น และ Farm to Fork ซึ่งจำหน่ายโดยเกษตรกรโดยตรงตามฤดูกาลของสินค้าเพื่อปรับปรุงสถานการณ์ด้านสิ่งแวดล้อม (ลดอาหารที่ต้องผ่านการเดินทางซึ่งทำให้เกิดการปล่อยมลพิษจากการเผาไหม้ของน้ำมัน) อย่างเช่น Farmers market จากเครือข่ายของเกษตรกรประมาณ 1,200 ตลาดทั่วประเทศด้วยสินค้าที่หลากหลาย โดยก่อนการแพร่ระบาดมูลค่าการใช้จ่าย
ถึง 2.5 พันล้านยูโร ทั้งนี้ จากรายงาน “ฉลากผลิตภัณฑ์บอกการบริโภคของชาวอิตาเลียน” ซึ่งจัดทำโดยบริษัท GS1 Italy ที่ได้วิเคราะห์ตัวอย่างผลิตภัณฑ์กว่า 125,000 รายการ (มูลค่าการค้า 39 พันล้านยูโร หรือเท่ากับ 83% ของสินค้าที่ขายในไฮเปอร์มาร์เก็ตและซุปเปอร์มาร์เก็ต) แสดงให้เห็นว่าในปี 2564 ผลิตภัณฑ์ที่มีฉลากที่แสดงถึงความเป็นอิตาเลียน เป็นแนวโน้มอันดับแรกในการจำหน่ายผลิตภัณฑ์ เติบโตกว่า 1.8% มูลค่าการจำหน่าย 8.7 พันล้านยูโรสัดส่วนการจำหน่าย 26.9% โดยปัจจุบันมีปริมาณผลิตภัณฑ์ 22,638 รายการที่ระบุว่า “Made in Italy” “เฉพาะส่วนผสมของอิตาลี” “100% อิตาเลียน” มีข้อบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ ธงชาติ หรือระบุชื่อแคว้นผลิต ซึ่งผลิตภัณฑ์
อาหารที่ระบุแหล่งกำเนิดมีความสำคัญมากขึ้นเรื่อยๆ ทั้งด้านอุปทาน (+2.3%) และอุปสงค์ (+3.2%) โดยรวมแล้วมีปริมาณผลิตภัณฑ์ 9,249 รายการ มียอดจำหน่ายกว่า 2.6 พันล้านยูโร เพิ่มขึ้น 5.4% สัดส่วนการจำหน่าย 8.2% หรือคิดเป็น 10.8% ของผลิตภัณฑ์ทั้งหมด

2.4 สินค้า ethnic
แม้ว่าชาวอิตาเลียนจะมีทัศนคติและความเชื่อว่าประเพณีของประเทศของตนสำคัญที่สุด ทำให้เปิดรับวัฒนธรรมอาหารของประเทศอื่นได้ยาก แต่ปัจจุบันชาวอิตาเลียนแสดงให้เห็นถึงความชื่นชอบและความนิยมอาหารและวัตถุดิบที่มาจากประเทศอื่นๆ มากขึ้น โดยจากการสำรวจของ Nielsen Italia จากประชากร 52 ล้านคน แสดงให้เห็นว่าในปี 2564 64% ของชาวอิตาเลียนทานอาหารนอกบ้านอย่างน้อยหนึ่งครั้ง โดย 42% ของกลุ่มผู้บริโภคนี้ (หรือประมาณ 14 ล้านคน) เลือกทานที่ร้านอาหาร ethnic โดยเฉพาะอาหารจีน ญี่ปุ่น และเม็กซิกันโดยปัจจัยที่ส่งผลให้ชาวอิตาเลียนเลือกทานอาหาร ethnic คือ ความอยากรู้ ความต้องการลิ้มลองอาหารที่ปกติไม่ได้ทำที่บ้าน (46%) และต้องการเปลี่ยนเมนู (37%) ความชื่นชอบในรสชาติอาหารที่แปลกใหม่ (42%) และราคาที่ถูกกว่าเมื่อเทียบกับร้านอาหารอิตาเลียน (15%) นอกจากนี้ ในบางกรณี อาหาร ethnic ยังถูกพิจารณาว่าเป็นอาหารที่ดีต่อสุขภาพ

รูปตัวอย่างผลิตภัณฑ์อาหาร ethnic ที่จำหน่ายในซุปเปอร์มาร์เก็ตในอิตาลี

อย่างไรก็ตาม เห็นได้ชัดว่าการเปิดรับอาหาร ethnic ในอิตาลีไม่ได้เกิดขึ้นทั่วทั้งประเทศ ทั้งในแง่ของอุปสงค์และอุปทาน โดยพื้นที่ที่มีร้านอาหาร ethnic จำนวนมากจะอยู่ในเมืองใหญ่ เมืองที่มีการอยู่อาศัยของชาวต่างชาติจำนวนมาก และบริเวณตอนเหนือของประเทศ ทั้งนี้ ในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา ชาวต่างชาติที่อาศัยในอิตาลีเพิ่มขึ้น 45% ซึ่งกระจายอยู่เฉพาะในเมือง Milan (ซึ่งเป็นเมืองที่มีสัดส่วนร้านอาหาร ethnic อยู่ 39.4% ของทั้งประเทศ) นอกจากนี้ หากเทียบกับ 5 ปีที่แล้วจะพบว่า 50% ชาวอิตาเลียนซื้อส่วนประกอบและวัตถุดิบ ethnic เพิ่มขึ้น เนื่องจากความชื่นชอบและสามารถหาซื้อวัตถุดิบหรือส่วนผสมได้ง่ายมากขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งอโวคาโด เฟต้าชีส tortilla chips ข้าวโพดแปรรูป กะทิ สินค้าประเภทข้าว (basmati) cous-cous ผลไม้และผัก exotic (เช่น มะละกอ มะม่วง ขิง ขมิ้น) และผงกะหรี่ ขณะที่ชาวอิตาเลียนประมาณ 18 ล้านคนซื้ออาหาร ethnic พร้อมทานสำหรับรับประทานที่บ้าน โดยเฉพาะอาหารตุรกี ญี่ปุ่น และจีน อย่างไรก็ตาม สำหรับชาวอิตาเลียนส่วนใหญ่แล้ว อาหารอิตาเลียนยังคงเป็นทางเลือกแรก แต่ขณะเดียวกันก็พร้อมและเต็มใจที่จะทดลองอาหารที่ใหม่และแตกต่าง และแนวโน้มนี้ไม่เป็นเพียงเรื่องชั่วคราว โดย 70% ของชาวอิตาเลียนคิดว่าแนวโน้มดังกล่าวจะเป็นสาเหตุให้บริษัทอาหาร ผู้กระจายสินค้า และผู้ค้ารายย่อย ปรับตัวเพื่อรับกับความเปลี่ยนแปลงในอนาคต

2.5 สินค้าเกษตรอินทรีย์
ข้อมูลจากระบบข้อมูลสารสนเทศด้านเกษตรอินทรีย์ (Sinab) ของกระทรวงนโยบายเกษตรและอาหาร
และป่าไม้ แสดงให้เห็นว่าในปี 2564 พื้นที่เพาะปลูกเกษตรอินทรีย์ในอิตาลีเพิ่มขึ้นกว่า 91,000 เฮกตาร์หากเทียบกับปี 2563 (หรือ +4.4%) มาอยู่ที่ 2,186,570 เฮกตาร์ โดยประเทศอิตาลีอยู่ในอันดับที่สามของสหภาพยุโรป (สัดส่วน 17.4% ของพื้นที่ เกษตรอินทรีย์ในยุโรป) ต่อจากฝรั่งเศส (2,776,799 เฮกตาร์) และสเปน (2,437,891 เฮกตาร์) ด้านผู้ประกอบการในภาคเกษตรอินทรีย์ในอิตาลีในปี 2564 มีจำนวนกว่า 86,000 บริษัท (+5%) (เป็นผู้ประกอบการใหม่ 4,413 บริษัท) โดยในจำนวนนี้เป็นบริษัทผู้ผลิตด้านเกษตรกรรม 62,333 บริษัท (+5.6%) เกษตรกรและผู้แปรรูป 13,514 บริษัท ซึ่งเป็นประเภทที่เติบโตมากที่สุด (+7.8%) ผู้แปรรูป 9,718 บริษัท (+1.0%) และผู้นำเข้า 579 บริษัท (+6.4%) โดยรวมแล้ว ผู้ประกอบการเกษตรอินทรีย์ในอิตาลีมีสัดส่วนอยู่ที่ 16% ของบริษัทด้านเกษตรกรรมทั้งหมด

รูปแสดงพื้นที่เพาะปลูกเกษตรอินทรีย์และผู้ประกอบการในภาคเกษตรอินทรีย์ในอิตาลี


ด้านการบริโภคสินค้าเกษตรอินทรีย์ในอิตาลีในปี 2564 มูลค่า 4,563 ล้านยูโร (+5%) สัดส่วนการจำหน่ายสินค้า เกษตรอินทรีย์คงที่อยู่ที่ 3.9% ของสินค้าเกษตรและอาหาร (Agri-Food) โดยสินค้าที่ได้รับความนิยมมากที่สุด ได้แก่ สินค้าผักผลไม้ทั้งแบบแปรรูปและไม่แปรรูป สัดส่วนด้านมูลค่าอยู่ที่ 46.1% ของตลาดสินค้าเกษตรอินทรีย์ทั้งหมด ตามมาด้วยสินค้านม ชีสและเนยแข็ง และที่ผลิตจากนม 20.4% ธัญพืช 12.0% สินค้าอาหารอื่นๆ 9.1% เนื้อสัตว์ 4.2% ไข่ 3.9% เครื่องดื่มที่ปราศจากแอลกอฮอล์ 2.6% และน้ำมันและไขมันจากพืช 1.6%


รูปแสดงขนาดตลาดสินค้าเกษตรอินทรีย์ในอิตาลี


2.6 สินค้าที่ดีต่อสุขภาพและแสดงถึงความยั่งยืน ได้แก่

  • สินค้า Free From หนึ่งในสี่ของมูลค่าการจำหน่ายสินค้าอาหารมาจากผลิตภัณฑ์ Free From หรือที่ระบุบนฉลากว่าปราศจากส่วนผสม อาทิ น้ำตาล หรือสารเติมแต่ง ปริมาณผลิตภัณฑ์อยู่ที่ 14,000 รายการ มูลค่าเกือบ 7 พันล้านยูโร เพิ่มขึ้น 0.6% (ทั้งอุปสงค์และอุปทาน) โดยในบรรดาผลิตภัณฑ์ที่จำหน่ายดีที่สุดยังคงเป็น “ปราศจากสารกันบูด” ที่มีสัดส่วนการจำหน่ายอยู่ที่ 9.3%
  • สินค้า Rich in (อุดมไปด้วย) บนฉลากและบรรจุภัณฑ์ เช่น มีวิตามิน อุดมด้วยไฟเบอร์ โอเมก้า-3 ไม่ขัดสี อุดมด้วยธาตุเหล็ก แหล่งแคลเซียม โดยรวมแล้วมีปริมาณผลิตภัณฑ์ 9,000 รายการ เติบโตขึ้น 3.2% มูลค่าการซื้อขายกว่า 3.6 พันล้านยูโร คิดเป็นสัดส่วน 13% ของการจำหน่ายสินค้าอาหารทั้งหมด โดยในบรรดาผลิตภัณฑ์ที่สำคัญที่สุดยังคงเป็น “อุดมด้วยไฟเบอร์” คิดเป็น 4.6% ของอุปทาน และ 3.8% ของมูลค่าการค้า
  • สินค้าที่มีฉลากที่ปรากฏโลโก้หรือข้อความที่เกี่ยวกับสารก่อให้เกิดอาการแพ้ เช่น ปราศจากกลูเต็นแลคโตส นม ยีสต์ หรือไข่ มีปริมาณผลิตภัณฑ์กว่า 1 หมื่นรายการ คิดเป็นสัดส่วน 13% มูลค่าเกือบ 4 พันล้านยูโร (+1.8%) สัดส่วนการจำหน่าย 14.3% ในบรรดาผลิตภัณฑ์ที่สำคัญที่สุดคือ ปราศจากกลูเต็น (8,367 รายการสัดส่วน 10.6%)
  • การใช้โลโก้และตรารับรองสินค้า ได้แก่ ธงชาติประเทศแหล่งที่มา ตรา EU Organic ตราที่แสดงถึงความรับผิดชอบต่อสังคม เช่น ตรา Cruelty Free, Ecocert, Ecolabel, Fairtrade, Friend of the sea, FSC, Sustainable cleaning และ UTZ ซึ่งเป็นแนวโน้มเติบโตอย่างต่อเนื่อง ดังที่จะเห็นได้จากบริษัทจำนวนมากขึ้นเลือกใช้เพื่อให้ข้อมูลและรับประกันความยั่งยืนกับผู้บริโภค โดยในบรรดาตราที่สำคัญและมียอดจำหน่ายมากที่สุดคือ สินค้าที่แสดงธงประเทศแหล่งที่มา (ส่วนใหญ่ของอิตาลี) อยู่ที่ 17,110 รายการ มูลค่าการค้ากว่า 5.8 พันล้านยูโร เติบโตอย่างมาก ตามมาด้วยสินค้าแสดงถึงความรับผิดชอบต่อสังคม จำนวน 10,383 รายการ มูลค่าการค้ากว่า 4.3 พันล้านยูโร
  • ฉลากที่ระบุส่วนผสมที่มีประโยชน์ มีผลิตภัณฑ์กว่า 6 พันรายการ โดยเพิ่มขึ้น 2.6% มูลค่า 1.4 พันล้านยูโร หรือคิดเป็น 5% ของทั้งหมด โดยเฉพาะผลิตภัณฑ์ที่มีฉลากระบุส่วนผสม 27 ประเภท ได้แก่ อัลมอนด์
    บลูเบอร์รี่ มะพร้าว อะโวคาโด น้ำมะพร้าว ข้าวโอ้ต ลูกเดือย ควินัว แป้งข้าวจ้าว คามุท แป้งข้าวโพด จมูกข้าวสาลีน้ำมันรำข้าว น้ำตาลทรายแดง หญ้าหวาน เมล็ดฟักทอง เมล็ดแฟล็กซ์ งา เมล็ดเจีย (แมงลัก) กัญชง ขิง ขมิ้นอบเชย เก๋ากี้ ชาเขียว ผลอาซาอิ และสาหร่ายสไปรูลิน่า

ฉลากที่แสดงวิธีการผลิต/แปรรูป มีผลิตภัณฑ์กว่า 3 พันรายการ โดยเติบโตขึ้น 8% เช่น สกัดเย็น ทำด้วยมือ หรือตากแห้ง เป็นต้น มูลค่าการค้าเพิ่มขึ้น 0.2% ซึ่งคิดเป็นมูลค่ากว่า 971 ล้านยูโร (3% ของการจำหน่ายทั้งหมด) ฉลากประเภทนี้ช่วยตอบสนองความอยากรู้อยากเห็นของผู้บริโภคเกี่ยวกับเบื้องหลังการผลิต และเป็นวิธีที่ให้มูลค่ากับผลิตภัณฑ์มากขึ้น โดยเน้นความเอาใจใส่และภูมิปัญญาในการผลิต

2.7 อาหารแช่แข็ง
จากรายงานประจำปีเกี่ยวกับการบริโภคอาหารแช่แข็งของสถาบันอาหารแช่แข็งของอิตาลี (Iias – Istituto Italiano Alimenti Surgelati) แสดงให้เห็นว่า การบริโภคอาหารแช่แข็งของชาวอิตาเลียนในปี 2564 อยู่ที่ กิโลกรัมต่อหัว มูลค่าการจำหน่ายรวมทั้งสิ้นประมาณ 4.6-4.8 พันล้านยูโร (+5.3%) ปริมาณการจำหน่ายกว่า 941,000 ตัน เติบโตขึ้น 5.1% หากเทียบกับปีก่อนหน้า โดยการเติบโตของการบริโภคเป็นผลมาจากการดำเนินการในช่องทางการค้าปลีก (+1.7%) และในช่องทางการบริโภคนอกบ้านที่ฟื้นตัวหลังมาตรการ lockdown และการระงับการดำเนินกิจการเป็นระยะ (+19.6%) โดยสินค้าแช่แข็งที่ได้รับความนิยมในบรรดาผู้บริโภคชาวอิตาเลียนมากที่สุด ได้แก่ ผัก ตามมาด้วย ปลา มันฝรั่ง พิซซ่า และอาหารพร้อมทาน ทั้งนี้ ปัจจัยที่ช่วยสนับสนุนการเติบโตของการบริโภคอาหารแช่แข็ง ได้แก่ ความสะดวกสบายในการเก็บรักษาที่ช่วยประหยัดเวลาและลด การเดินทางในการจ่ายตลาด ความปลอดภัยตามมาตรฐาน รวมทั้งเหตุผลด้านสุขภาพ โดยเห็นได้จากการ บริโภคผักและปลาที่เพิ่มขึ้น โดยเฉพาะในผู้บริโภคกลุ่ม Millennial และผู้ที่มีอายุต่ำกว่า 35 ปีและเป็นโสด

3. ข้อมูลสินค้าและตลาดเครื่องดื่มในอิตาลี

ข้อมูลของ Beverfood (portal ออนไลน์เกี่ยวกับสินค้าเครื่องดื่ม) แสดงให้เห็นว่า ในปี 2563 การบริโภคสินค้าเครื่องดื่มที่ไม่มีแอลกอฮอล์ในอิตาลีอยู่ที่ประมาณ 2,620 ล้านลิตร หรือ 43-44 ลิตรต่อหัว นับเป็นตัวเลขที่ต่ำที่สุดในยุโรป ขณะที่ข้อมูลจากสมาคมผู้กระจายสินค้าอาหารและเครื่องดื่มของอิตาลี (CDA) แสดงข้อมูลให้เห็นว่า ในปี 2563 ตลาดสินค้าเครื่องดื่มมีแนวโน้มอยู่ในเชิงลบ โดยการบริโภคเครื่องดื่มในช่องทาง HoReCa มีแนวโน้มลดลง -38.42% ได้แก่ ร้านอาหาร (-40% ด้านมูลค่า) บาร์ (-35%) และสถานบันเทิงและผับ (-45%) ซึ่งเป็นผลมาจากมาตรการ lockdown และระงับการเปิดกิจการของร้านอาหารในอิตาลีขณะที่ในปี 2564 การฟื้นตัวของช่องทาง HoReCa (+30% เทียบกับปีก่อนหน้า) ส่งผลให้แนวโน้มเครื่องดื่มกลับมาเติบโตขึ้น โดย ข้อมูลจาก NielsenIQ แสดงให้เห็นว่า การจำหน่ายเครื่องดื่มที่ไม่มีแอลกอฮอล์ทั้งแบบอัดลมและไม่อัดลม เติบโตขึ้น 1.7% ในด้านปริมาณ หากเทียบกับปีก่อนหน้า โดยการบริโภครวมอยู่ที่ 28.3 ล้านเฮกโตลิตร (การบริโภคต่อหัวอยู่ที่ 46.7 ลิตร)

3.1 เครื่องดื่มที่ไม่มีแอลกอฮอล์
แนวโน้มการจำหน่ายเครื่องดื่มที่ไม่มีแอลกอฮอล์ทั้งแบบอัดลมและไม่อัดลมในช่วงไตรมาสแรกของปี 2565 ในช่องทางซุปเปอร์มาร์เก็ตและไฮเปอร์มาร์เก็ตมีมูลค่าเพิ่มขึ้น +0.3% หากเทียบกับไตรมาสแรกของปีก่อนหน้า (โดยเครื่องดื่มอัดลมมูลค่าลดลง -2.6% เครื่องดื่มที่ไม่อัดลมมูลค่าเพิ่มขึ้น +5.7%
และเครื่องดื่มชูกำลัง เพิ่มขึ้น +14.8%) ขณะที่ด้านปริมาณ การจำหน่ายเครื่องดื่มที่ไม่มีแอลกอฮอล์ทั้งแบบอัดลมและไม่อัดลมลดลง -3.6% (โดยเครื่องดื่มอัดลมปริมาณลดลง -5.7% เครื่องดื่มที่ไม่อัดลมปริมาณเพิ่มขึ้น +2.8%และเครื่องดื่มชูกำลัง เพิ่มขึ้น +13.9%) ทั้งนี้ เป็นที่คาดการณ์ว่า การเริ่มใช้ sugar tax สำหรับสินค้าเครื่องดื่มที่มีน้ำตาล กอรปกับราคาต้นทุนการผลิตที่สูงขึ้นและภาวะเงินเฟ้อ จะทำให้การบริโภคเครื่องดื่มที่ไม่มีแอลกอฮอล์ลดลงมาอยู่ที่ 25 ล้านเฮกโตลิตรในปี 2566 (-17.1% หากเทียบกับปี 2562) และ 24 ล้านเฮกโตลิตรในปี2567

แนวโน้มในปี 2565 สำหรับเครื่องดื่มที่ไม่มีแอลกอฮอล์คือ น้ำตาลน้อยหรือปราศจากน้ำตาล เครื่องดื่มที่เพิ่มเกลือแร่บางประเภทหรือเครื่องดื่มเสริมอาหารเพื่อประโยชน์ด้านสุขภาพและรูปร่าง จากความใส่ใจต่อสุขภาพที่เพิ่มขึ้นได้กระตุ้นให้ผู้บริโภคจำนวนมากลดการบริโภคเครื่องดื่มที่มีน้ำตาล โดยในช่วงปีที่ผ่านๆ มา อุตสาหกรรมผู้ผลิตอิตาเลียนที่สำคัญได้เพิ่มรูปแบบสินค้าเครื่องดื่มอัดลมที่ปราศจากน้ำตาล (สัดส่วนอยู่ที่ 10% ของเครื่องดื่มอัดลมทั้งหมด) รวมไปถึงการนำเสนอเครื่องดื่มอินทรีย์หลายรสชาติ โดยเฉพาะ ประเภทโทนิกและ mixer ช่วยทำให้เครื่องดื่มที่ไม่มีแอลกอฮอล์โดยรวมมีผลประกอบการดีขึ้นการนำเข้า จากข้อมูลของ Global Trade Atlas แสดงให้เห็นว่า การนำเข้าเครื่องดื่มไม่มีแอลกอฮอล์ (HS Code 2202) ของอิตาลีในปี 2564 มูลค่า 329.58 ล้านเหรียญสหรัฐฯ (+34.07%) โดยประเทศที่อิตาลีนำเข้ามากที่สุด 5 อันดับแรก ได้แก่ ออสเตรีย 100.18 ล้านเหรียญสหรัฐฯ (+36.34%) ตามมาด้วยเนเธอร์แลนด์ 49.23 ล้าน
เหรียญสหรัฐฯ (+18.48%) เยอรมนี 34.8 ล้านเหรียญสหรัฐฯ (+16.50%) เบลเยียม 29.16 ล้านเหรียญสหรัฐฯ (+317.19%) และฝรั่งเศส 24.51 ล้านเหรียญสหรัฐฯ (-8.94%) โดยการนำเข้าจากไทย อยู่ที่อันดับ 14 มูลค่า 3.4 ล้านเหรียญสหรัฐฯ (+53.30%)

3.2 น้ำผลไม้ปัจจุบัน
ในตลาดอิตาลีมีการนำเสนอสินค้าผลไม้ที่หลากหลายทั้งรูปแบบและรสชาติ โดยการจำหน่ายน้ำผลไม้ในช่องทางซุปเปอร์มาร์เก็ตและไฮเปอร์มาร์เก็ต ระหว่างเดือนเมษายน 2564 – เมษายน 2565อยู่ที่กว่า 331.5 ล้านชิ้น รวมมูลค่ากว่า 430 ล้านยูโร (ลดลง -0.6%) แนวโน้มที่ลดลงเป็นผลมาจากการนำเสนอสินค้าที่หลากหลายมากจากผู้ผลิตหลายราย และสินค้า private label ที่เติบโตสูงขึ้นมาก สัดส่วน 40% ของการ
จำหน่ายในช่องทางซุปเปอร์มาร์เก็ตและไฮเปอร์มาร์เก็ต (การบริโภคในปี 2563 อยู่ที่ประมาณ 650 ล้านลิตรลดลง -6% จากปี 2562 การบริโภคเฉลี่ยอยู่ที่ 11 ลิตรต่อหัว) โดยรวมแล้ว การบริโภคน้ำผลไม้ของชาวอิตาเลียนอยู่ที่ 13 ลิตรต่อหัว (ต่ำกว่าค่าเฉลี่ยของยุโรปที่อยู่ที่ 17 ลิตร) ในทางกลับกัน อิตาลีเป็นหนึ่งในประเทศในยุโรปที่มีการบริโภคผักและผลไม้สดมากที่สุดจากการทานอาหารแบบเมดิเตอร์เรเนียน

ทั้งนี้ การบริโภคเพื่อสุขภาพเป็นสาเหตุหนึ่งที่ทำให้ตลาดน้ำผลไม้หดตัวลงในปีที่ผ่านมา ในการเลือกซื้อ
อาหารและเครื่องดื่ม น้ำตาลเป็นหนึ่งในปัจจัยที่ชาวอิตาเลียนให้ความสำคัญ บริษัทผู้ผลิตได้พยายามกระตุ้นการจำหน่ายโดยเสนอสินค้าเพื่อตอบสนองความต้องการด้าน wellness ของผู้บริโภคที่ใส่ใจในส่วนผสมและความเป็นธรรมชาติโดยการพัฒนาด้านนวัตกรรมในการปฏิรูปสูตรอาหารมากขึ้นเพื่อกำจัดและลดปริมาณน้ำตาลและเพิ่มปริมาณผลไม้เพื่อให้สอดคล้องกับความต้องการของผู้บริโภคมากขึ้น ดังจะเห็นได้จากสินค้าที่ระบุว่า “ไม่เติมน้ำตาล” บรรจุภัณฑ์มีการจำหน่ายเพิ่มขึ้น ดังนั้น โอกาสสำหรับผู้ประกอบการในภาคสามารถพัฒนานวัตกรรมบนพื้นฐานของการปรับสูตรส่วนผสมของผลไม้และน้ำตาล และการสื่อสารที่เหมาะสมเพื่อแสดงคุณค่าและความแตกต่างของแบรนด์การหาทางเลือกเพื่อประโยชน์สูงสุดจากคุณค่าทางโภชนาการของผลไม้และเพื่อขยายตลาดใหม่ในกลุ่มผู้บริโภค

การนำเข้า จากข้อมูลของ Global Trade Atlas แสดงให้เห็นว่า การนำเข้าน้ำผลไม้(HS Code 2009)
ของอิตาลีในปี2564 มูลค่า 299.51 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ปริมาณ 236,787 ตัน โดยประเทศที่อิตาลีนำเข้ามากที่สุด 5 อันดับแรก ได้แก่ สเปน 78.93 ล้านเหรียญสหรัฐฯ (+38.33%) เนเธอร์แลนด์62.73 ล้านเหรียญสหรัฐฯ (3.66%) ออสเตรีย 36.79 ล้านเหรียญสหรัฐฯ (+56.96%) เยอรมนี27.14 ล้านเหรียญสหรัฐฯ (+2.06%) และการนำเข้าจากไทย อยู่ในอันดับที่ 16 มูลค่า 1.51 ล้านเหรียญสหรัฐฯ (-17.23%)

รูปตัวอย่างสินค้าน้ำผลไม้ที่จำหน่ายในซุปเปอร์มาร์เก็ตในอิตาลี

3.3 เครื่องดื่มเสริมอาหาร (Functional Drinks) /เครื่องดื่มชูกำลัง
โดยแรกเริ่มอิตาลีไม่ใช่ประเทศผู้บริโภคเครื่องดื่ม soft drink จึงทำให้การเข้าสู่ตลาดเป็นไปค่อนข้างยาก (การบริโภคประมาณ 50 ลิตรต่อหัว หรือประมาณครึ่งหนึ่งของค่าเฉลี่ยของยุโรป) อย่างไรก็ตาม ในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา ได้มีการแข่งขันในภาคเครื่องดื่ม soft drink มากขึ้น โดยการออกผลิตภัณฑ์ใหม่อย่างเครื่องดื่มที่ให้ประโยชน์ต่อร่างกายและเครื่องดื่มเสริมอาหาร (Functional Drinks) โดยปัจจุบันผู้ประกอบการเครื่องดื่ม เช่น Levissima, Vitasnella&Ferrarelle, Sant’Anna และ San Benedetto ได้ขยายตลาดโดยนำเสนอสินค้าเครื่องดื่มเสริมอาหารเพื่อตอบสนองต่อแนวโน้มที่เติบโตขึ้นนี้โดยรวมแล้วสัดส่วนการบริโภคเครื่องดื่มเสริมอาหารในอิตาลีอยู่ที่ 4 ใน 100 คน ราคาเฉลี่ยอยู่ที่ 1.85 ยูโรต่อลิตร หรือลดลง -5.2% (ในเดือนมิถุนายน 2565 เทียบกับเดือนมิถุนายน 2564)

แม้ว่าเครื่องดื่มเสริมอาหารยังคงเป็นสินค้าตลาดเฉพาะกลุ่มและราคาเฉลี่ยค่อนข้างสูง เมื่อเทียบกับราคาเฉลี่ยของเครื่องดื่มที่ไม่มีแอลกอฮอล์ในอิตาลีในปี 2564 มูลค่าการจำหน่ายในซุปเปอร์มาร์เก็ตและไฮเปอร์มาร์เก็ตอยู่ที่ 64 ล้านยูโร (+30% หากเทียบกับปีก่อนหน้า) และในช่วง 5 เดือนแรกของปี 2565 มูลค่าการจำหน่ายอยู่ที่ 5.2 ล้านยูโร (+21% หากเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนหน้า) และด้านปริมาณเพิ่มขึ้น 35% โดยแนวโน้มการเติบโตดังกล่าวเป็นผลมาจากความต้องการดูแลตนเองและความใส่ใจในเรื่องสุขภาพที่สูงขึ้นของชาวอิตาเลียน ซึ่งกลุ่มผู้บริโภคหลักของสินค้าดังกล่าวคือ สุภาพสตรีที่อายุมากกว่า 40 ปี และมีกำลังการใช้จ่ายปานกลาง-สูง

เครื่องดื่มชูกำลัง เป็นประเภทสินค้าที่มีการเติบโตมากที่สุด โดยมูลค่าการจำหน่ายในปี 2564 เติบโตขึ้น +40% และการบริโภคเติบโตขึ้น +5% ทั้งนี้ กลุ่มผู้บริโภคหลักเครื่องดื่มชูกำลัง ได้แก่ วัยรุ่นคนหนุ่มสาว อายุระหว่าง 18 – 35 ปี ซึ่งนอกจากการบริโภคระหว่างวันเพื่อเป็นการชูกำลังแล้ว เครื่องดื่มชูกำลังยังได้รับความนิยมในรูปแบบเครื่องดื่มผสมแอลกอฮอล์ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในสถานบันเทิง โดยปัจจุบันได้มีการเพิ่มรูปแบบการแต่งกลิ่นและส่วนผสมต่างๆ มากขึ้น นอกจากนี้ ยังมีการเสนอรูปแบบเครื่องดื่มอินทรีย์เพื่อตอบสนองแนวโน้มด้านสุขภาพของผู้บริโภคอีกด้วย

รูปตัวอย่างสินค้าเครื่องดื่มเสริมอาหาร (Functional Drinks)/เครื่องดื่มชูกำลังที่จำหน่ายในซุปเปอร์มาร์เก็ตในอิตาลี

3.4 เบียร์
จากรายงานของสมาคมผู้ประกอบการสินค้าเบียร์ (AssoBirra) พบว่า ในปี 2564 การผลิตเบียร์ในอิตาลีอยู่ที่ 17.6 ล้านเฮกโตลิตร เพิ่มขึ้นจากปี 2563 ซึ่งการผลิตอยู่ที่ 15.8 ล้านเฮกโตลิตร และจากปี 2562 ซึ่งการผลิตอยู่ที่ 17.3 ล้านเฮกโตลิตร การส่งออกอยู่ที่ 3.8 ล้านเฮกโตลิตร เพิ่มขึ้นจากปี 2563 ซึ่งอยู่ที่ 3.3 ล้านเฮกโตลิตรและปี 2562 ซึ่งอยู่ที่ 3.5 ล้านเฮกโตลิตร โดยรวมแล้วมูลค่าของภาคอยู่ที่ 9.5 พันล้านยูโร และมีการจ้างงานประมาณ 140,000 คน ขณะที่ด้านการบริโภคในประเทศอยู่ที่ 20.8 ล้านเฮกโตลิตร เพิ่มขึ้นจากปี 2563 ซึ่งการบริโภคอยู่ที่ 18.96 ล้านเฮกโตลิตร และเป็นที่คาดการณ์ว่า การบริโภคในปี 2565 จะสูงเป็นประวัติการณ์ หรือกว่า 35 ลิตรต่อหัว อย่างไรก็ตาม ปัญหาของการผลิตเบียร์ในอิตาลีคือ การขาดวัตถุดิบที่ต้องนำเข้าจากประเทศยุโรปอื่นๆ ซึ่งการผลิตมอลต์ในประเทศในปัจจุบันครอบคลุมประมาณ 40% ของความต้องการของผู้ผลิตเบียร์(ซึ่งผู้ผลิตตั้งเป้าเพิ่มการผลิตมอล์ตให้ได้ถึง 60% เพื่อลดการนำเข้า) และการผลิตดอกฮ็อพที่แม้ว่าจะมีผู้ผลิตเองแต่ไม่เพียงพอต่อความต้องการ หรือการปลูกไม่ได้คุณภาพตามความต้องการของการผลิต

โดยปกติแล้ว ชาวอิตาเลียนจะนิยมดื่มเบียร์ในช่วงฤดูร้อน ดังจะเห็นว่าเดือนกรกฎาคมเป็นช่วงเดือนที่มีการบริการโภคเบียร์มากที่สุด (+7%) และดื่มควบคู่กับอาหาร ทั้งนี้ ประเภทเบียร์ที่ได้รับความนิยม ได้แก่ เบียร์แบบมาตรฐาน เบียร์แบบพรีเมียม และเบียร์แบบพิเศษ สำหรับคราฟต์เบียร์แม้จะยังเป็นตลาดเฉพาะกลุ่ม (niche market) แต่มีแนวโน้มเติบโตขึ้นเรื่อยๆ และช่วยผลักดันการบริโภคในอิตาลีโดยเฉพาะคราฟต์เบียร์ที่ผลิตจากส่วนผสมเฉพาะหรือไม่ผ่านการพาสเจอร์ไรซ์และการกรองแบบ microfilter เพื่อเพิ่มความเป็นธรรมชาติของผลิตภัณฑ์โดยคราฟต์เบียร์ได้รับความนิยมมากขึ้นเรื่อยๆ ในอิตาลี โดยเฉพาะคนวัยหนุ่มสาวที่มองหาผลิตภัณฑ์คุณภาพมากขึ้น นอกจากนี้ ยังมีการพัฒนารูปแบบสินค้าที่หลากหลายมากขึ้นเรื่อยๆ เพื่อสร้างเอกลักษณ์และความแตกต่าง เช่น เบียร์รสกัญชง เบียร์รมควันเกาลัด เบียร์ปราศจากกลูเต็น เบียร์จากข้าว Carnaroli ของแคว้น Piemonte เบียร์รสฟักทอง เบียร์รสส้มจากแคว้น Sicilia และเบียร์รสผิวมะกรูด เป็นต้น โดยการผลิตเบียร์เหล่านี้ส่วนใหญ่เป็นผู้ประกอบการรุ่นใหม่ที่นำนวัตกรรมมาใช้ เช่น การรับรองแหล่งกำเนิดสินค้า หรือการเชื่อมโยงโดยตรงกับฟาร์มผู้ผลิตวัตถุดิบ เป็นต้น

การนำเข้า ในอิตาลีมีการจำหน่ายเบียร์นำเข้ากว่า 1,500 แบรนด์ จากข้อมูลของ Global Trade Atlas แสดงให้เห็นว่าในปี 2564 อิตาลีนำเข้าเบียร์จากทั่วโลกมูลค่าทั้งสิ้น 660.66 ล้านเหรียญสหรัฐฯ (+14.32%) ปริมาณ 686,763,225 ลิตร ส่วนมากเป็นการนำเข้าจากประเทศในยุโรป (95%) โดยประเทศที่อิตาลีนำเข้ามากที่สุด 5 อันดับแรก ได้แก่ เบลเยียม 229.96 ล้านเหรียญสหรัฐฯ (+26.28%) ตามมาด้วยเยอรมนี140.38 ล้านเหรียญสหรัฐฯ (+0.22%) เดนมาร์ก 83.35 ล้านเหรียญสหรัฐฯ (+44.11%) เนเธอร์แลนด์49.07 ล้านเหรียญสหรัฐฯ (+8.13%) และเม็กซิโก 34.49 ล้านเหรียญสหรัฐฯ (+38.22%) ประเทศคู่แข่งอื่นๆ ที่สำคัญ ได้แก่ จีน 3.08 ล้านเหรียญสหรัฐฯ (+119.96%) และเวียดนาม 0.32 ล้านเหรียญสหรัฐฯ (+57.60%) ขณะที่บริษัทผู้ประกอบการหลักในอิตาลี ได้แก่ Heineken Italia, Peroni, AB InBev Italia, Carlsberg Italia, Gruppo Castello, Gruppo Forst/Menabrea, Bavaria Italia e Ceres del gruppo Royal Unibrew

รูปตัวอย่างสินค้าคราฟต์เบียร์ที่จำหน่ายในอิตาลี

4. การค้าระหว่างไทยและอิตาลี

ข้อมูลจาก GlobalTrade Atlas แสดงให้เห็นว่าในปี 2564 อิตาลีนำเข้าสินค้าประเภทน้ำผลไม้ (HS Code 2009) จากไทย มูลค่า มูลค่า 1.51 ล้านเหรียญสหรัฐฯ (-17.23%) โดยสินค้าที่อิตาลีนำเข้ามากที่สุด ได้แก่
น้ำสับปะรด (HS Code 200949) มูลค่า 1.43 ล้านเหรียญสหรัฐฯ (-16.73%) สัดส่วน 94.59% และน้ำจากผลไม้/ผักประเภทเดียว (HS Code 200989) มูลค่า 0.081 ล้านเหรียญสหรัฐฯ (-18.51%) สัดส่วน 5.41% ทั้งนี้ สินค้าของไทยที่มีการนำเข้าและวางจำหน่ายในตลาดอิตาลี ได้แก่ แบรนด์น้ำผลไม้มาลี (บริษัท UENO เป็นผู้นำเข้าและตัวแทนจำหน่าย) แบรนด์ FOCO และแบรนด์น้ำมะพร้าว Pearl Royal

นอกจากนี้ อิตาลียังนำเข้าสินค้าเครื่องดื่มประเภทเครื่องดื่มที่ไม่มีแอลกอฮอล์ (HS Code 220299) มูลค่า 3.21 ล้านเหรียญสหรัฐฯ (+48.80%) โดยสินค้าที่อิตาลีนำเข้ามากที่สุด ได้แก่ เครื่องดื่มที่ไม่มีแอลกอฮอล์ประเภท B ที่ไม่มีส่วนผสมของนม (ไม่รวมน้ำ น้ำผลไม้ และเบียร์HS Code 22029919) มูลค่า 3.15 ล้านเหรียญสหรัฐฯ (+106.06%) และเครื่องดื่มที่มีส่วนประกอบของนมถั่วเหลืองที่มีโปรตีนน้อยกว่า 2.8% (HS Code 22029915) มูลค่า 0.058 ล้านเหรียญสหรัฐฯ (+1.83%)

สำหรับเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ในปี 2564 อิตาลีนำเข้าสินค้าเบียร์ที่ทำจากมอลต์ (HS Code 220300) จากไทย มูลค่า 0.164 ล้านเหรียญสหรัฐฯ (+240.54%) โดยสินค้าของไทยที่มีการนำเข้าและวางจำหน่ายในตลาดอิตาลี ได้แก่ เบียร์สิงห์ (บริษัท Uniontrade เป็นผู้นำเข้าและตัวแทนจำหน่าย) และเบียร์ช้าง (บริษัท
International Trading เป็นผู้นำเข้าและตัวแทนจำหน่าย)

5. กฎระเบียบในการนำเข้าสินค้าอาหาร

โดยปกติแล้ว การนำเข้าและจำหน่ายสินค้าอาหารในอิตาลีจำเป็นต้องปฏิบัติตามกฎระเบียบของสหภาพ
ยุโรปและข้อกำหนดเฉพาะของประเทศอิตาลี ได้แก่


5.1 ข้อกำหนดทางกฎหมายของสหภาพยุโรป

  • การนำเข้าสินค้าอาหารในสหภาพยุโรปต้องเป็นไปตามกฎระเบียบที่กำหนดเพื่อให้แน่ใจว่าอาหารที่วางจำหน่ายในตลาดนั้นปลอดภัยและไม่มีสารปนเปื้อนในระดับที่เป็นอันตรายต่อสุขภาพ โดยกฎระเบียบ EU 2017/625 ว่าด้วยการควบคุมอย่างเป็นทางการและกิจกรรมอื่นๆ เพื่อให้แน่ใจว่ามีการใช้กฎหมายด้านอาหารที่เกี่ยวกับสุขภาพ และการวางกรอบกฎหมายทั่วไปเพื่อรับประกันการคุ้มครองผู้บริโภคในระดับสูง
  • กฎ EC 881/2006 กำหนดระดับสูงสุดสำหรับสารปนเปื้อนในอาหารที่จะวางจำหน่ายในสหภาพยุโรป
  • กฎระเบียบ EC 1881/2006 ของวันที่ 19 ธันวาคม 2006 กำหนดปริมาณและระดับสูงสุดของสารปนเปื้อนในอาหาร

5.2 ข้อกำหนดเกี่ยวกับอาหารดัดแปลงพันธุกรรม (GMO)
กฎระเบียบ EC เลขที่ 1829/2003 กำหนดการห้ามวางตลาด ใช้ หรือแปรรูปอาหารที่ประกอบด้วยส่วนประกอบ GMO และผลิตจาก GMO ยกเว้นหากได้รับอนุญาตและปฏิบัติตามข้อกำหนดเรื่องการติดฉลาก

5.3 การติดฉลาก
อาหารทุกประเภทที่วางจำหน่ายในสหภาพยุโรปต้องปฏิบัติตามการติดฉลากของสหภาพยุโรป เพื่อให้แน่ใจว่าผู้บริโภคได้รับข้อมูลที่จำเป็นทั้งหมดเพื่อการตัดสินใจเลือกซื้อ โดยการติดฉลากมีสองประเภท ได้แก่ กฎทั่วไปเกี่ยวกับการติดฉลากอาหาร (อาทิ ชื่อผลิตภัณฑ์อาหาร ส่วนประกอบ ปริมาณสุทธิระยะเวลาการเก็บรักษา วิธีการเก็บรักษา ประเทศที่มา การใช้งาน ล็อตสินค้า ความชัดเจนของตัวหนังสือ) และข้อกำหนดเฉพาะสำหรับผลิตภัณฑ์บางกลุ่ม โดยกฎระเบียบ EU 1169/2011 ได้กำหนดระเบียบเกี่ยวกับข้อมูลทางโภชนาการสำหรับอาหารแปรรูป และรายการสารที่ก่อให้เกิดภูมิแพ้

6. มาตรฐานการนำเข้าสินค้าที่จำเป็นต่อการผลิต

6.1 สินค้าเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์
สินค้าเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์ การนำเข้าสินค้าเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์ในอิตาลี/ยุโรปจะต้องปฎิบัติตามกฎระเบียบอียู Regulation EC 787/2019วันที่ 17 เมษายน 2562 (แทนกฎระเบียบอียู 110/2008 วันที่ 15 กรกฎาคม 2551) ว่าด้วยการกำหนดคุณภาพและมาตรฐานของขั้นตอนการผลิต การติดฉลากของเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์ รวมถึงการนำเครื่องดื่มที่มีแอลกฮอล์ไปใช้เป็นส่วนผสมในอาหารอื่นๆ การคุ้มครองทางภูมิศาสตร์และแหล่งกำเนิดทางการเกษตร ข้อมูลเพิ่มเติม https://eur-lex.europa.eu/legal-content/EN/TXT/PDF/?uri=CELEX:32019R0787&from=EN

นอกเหนือจากกฎระเบียบอียู EC 787/2019แล้ว สหภาพยุโรปยังได้มีการกำหนดปริมาตรแอลกอฮอล์สำหรับภาวะที่ทนต่อแอลกอฮอล์ ซึ่งแบ่งได้ตามประเภทของเครื่องดื่ม ดังนี้
1) 1.5% ต่อปริมาตร สำหรับเครื่องดื่มที่มีผลไม้หมักหรือชิ้นส่วนของพืชเป็นส่วนผสม
2) 1% ต่อปริมาตร

  • สำหรับเบียร์ที่มีส่วนผสมของแอลกอฮอล์เกิน 5.5%
  • เครื่องดื่มที่ทำจากองุ่น (Under subheading 22.07 B I of the Common Customs Tariff)
  • Cider, Perries (เครื่องดื่มแอลกอฮอล์ที่ทำจากลูกแพร์) และเครื่องดื่มหมักอื่น ๆ ที่ทำจาก
    ผลไม้อื่น ๆ นอกเหนือจากองุ่น
  • เครื่องดื่มจากน้ำผึ้งหมัก

    3) 0.5% ต่อปริมาตร สำหรับเบียร์ที่มีส่วนผสมของแอลกอฮอล์ไม่เกิน 5.5% และเครื่องดื่มที่ทำจากองุ่น(Under subheading 22.07 B II of the Common Customs Tariff)
    4) 0.3% ต่อปริมาตร สำหรับเครื่องดื่มอื่นๆ

    การติดฉลาดของสินค้าเครื่องดื่มแอลกอฮอล์
    ตามกฎระเบียบอียู Regulation (EU) 1169/2011 วันที่ 25 ตุลาคม 2554 ว่าด้วยการติดฉลากของสหภาพยุโรปเพื่อให้ข้อมูลอาหารแก่ผู้บริโภค กำหนดให้ความแรงแอลกอฮอล์ที่แท้จริงตามปริมาตรของเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ที่มีแอลกอฮอล์มากกว่า 1.2% ต่อปริมาตร โดยจะต้องระบุเครื่องหมาย “% ต่อปริมาตร” และต้องระบุรายละเอียดของโภชนาการและส่วนผสมที่อยู่ในเครื่องดื่ม รวมถึงจะต้องมีการแจ้งถึงส่วนประกอบเฉพาะ เช่นสารก่อภูมิแพ้ (ซัลเฟอร์ไดออกไซด์/ซัลไฟต์ ไข่ และผลิตภัณฑ์นมในกรณีของเครื่องดื่มไวน์) และกรด glycyrrhizinic หรือเกลือแอมโมเนียม

    นอกจากข้อกำหนดการติดฉลากของสหภาพยุโรปแล้วประเทศสมาชิกสหภาพยุโรปอาจเพิ่มการใช้มาตรการภายในประเทศของตน ตัวอย่างเช่น ประเทศฝรั่งเศส และประเทศลิทัวเนีย ฉลากของเครื่องดื่มแอลกอฮอล์จะต้องเตือนผู้บริโภคเกี่ยวกับผลกระทบต่อสุขภาพที่อาจเกิดขึ้นจากการตั้งครรภ์ซึ่งอาจจะเป็นรูปสัญลักษณ์หรือข้อความข้อมูลเพิ่มเติม https://eurlex.europa.eu/LexUriServ/LexUriServ. do?uri=OJ:L:2011:304:0018:0063:en:PDF

    6.2 เครื่องดื่มชูกำลัง
    คำจำกัดความเครื่องดื่มให้พลังงานถูกใช้สำหรับเครื่องดื่มที่มีคาเฟอีนสูง ซึ่งมีผลในการกระตุ้นและมีส่วนผสมเฉพาะได้แก่ คาเฟอีน ทอรีน วิตามิน และสารอื่นๆ ที่มีผลทางโภชนาการหรือออกฤทธิ์ต่อสรีรภาพเช่นเดียวกับหลายสินค้าอื่นๆ ไม่มีกฎระเบียบเฉพาะสำหรับเครื่องดื่มชูกำลังในระดับยุโรป อย่างไรก็ตาม คำจำกัดความของสินค้าประกอบอยู่ในกฎหมายของบางประเทศสมาชิกสหภาพยุโรป และได้เข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของกฎอ้างอิงทั่วไปภายในสหภาพฯ ทั้งนี้นอกเหนือจากกฎระเบียบทั่วไปที่บังคับใช้กับสินค้าอาหารแล้ว (เช่น การติดฉลาก การเติมสารอาหาร ฯลฯ) ยังมีกฎด้านการติดฉลากเฉพาะสำหรับเครื่องดื่มชูกำลังในการให้ข้อมูลอาหารแก่ผู้บริโภค หรือ EC 1169/2011 สำหรับทุกประเทศสมาชิกของสหภาพยุโรป ซึ่งตามข้อบังคับ ฉลากของเครื่องดื่มชูกำลังต้องแสดงข้อความว่า “มีปริมาณคาเฟอีนสูง ไม่แนะนำสำหรับเด็ก สตรีมีครรภ์หรือสตรีผู้ให้นมบุตร” ตามด้วยข้อบ่งชี้ถึงระดับคาเฟอีนต่อ 100 ml ในวงเล็บหากสินค้าต้องการอ้างถึงประโยชน์ทางด้านสุขภาพและโภชนาการบนฉลากหรือในการโฆษณา จะต้องปฏิบัติตามกฎระเบียบ EC 1924/2006 ในมาตราที่ 13 คณะกรรมาธิการได้ขอให้หน่วยงานด้านความปลอดภัยด้านอาหารแห่งยุโรป (EFSA) ประกอบความเห็นทางวิทยาศาสตร์เกี่ยวกับประโยชน์ด้านสุขภาพ นอกจากนี้ยังมีกฎระเบียบด้านการเพิ่มสารอาหาร EC 1925/2006 ที่กำหนดสำหรับการเพิ่มวิตามินแร่ธาตุและสารอื่นๆ ลงในอาหาร

    ทั้งนี้ในยุโรปมีการจัดตั้งสมาคมหรือหน่วยงานที่กำหนดข้อปฏิบัติเพิ่มเติมสำหรับบริษัทที่เป็นสมาชิก เพื่อ
    รับรองความปลอดภัยและความโปร่งใสต่อผู้บริโภคในระดับสูงสุด เช่น UNESDA หนึ่งตัวแทนอุตสาหกรรม
    เครื่องดื่มที่ไม่มีแอลกอฮอล์ได้มีการกำหนดแนวทางปฏิบัติสำหรับเครื่องดื่มชูกำลังที่มีส่วนประกอบของคาเฟอีน มากกว่า 150 มิลลิกรัมต่อลิตร นอกเหนือจากกฏระเบียบของสหาพยุโรปข้างต้น ดังนี
  • บนฉลากต้องไม่แสดงการส่งเสริมการผสมกับแอลกอฮอล์ หรืออ้างถึงการบริโภคแอลกอฮอล์ร่วมกับ
    เครื่องดื่มชูกำลังช่วยลดผลกระทบของแอลกอฮอล์
  • บนฉลากต้องแสดงข้อความ “บริโภคอย่างเหมาะสม” หรือคำอื่นที่ใกล้เคียงตามความเข้าใจของผู้บริโภค
  • หลักการจำหน่ายและการตลาด ได้แก่ ห้ามทำการตลาดเครื่องดื่มชูกำลังในสื่อใดก็ตามที่มีผู้ชมกว่า 35%
    เป็นผู้อายุต่ำกว่า 12 ปีเมื่อมีการส่งเสริมถึงประโยชน์ของเครื่องดื่มชูกำลัง ห้ามอ้างถึงการใช้แอลกอฮอล์ร่วมเครื่องดื่มชูกำลังเป็นเครื่องดื่มเสริมอาหาร (functional drinks) และไม่ใช่เครื่องดื่มเกลือแร่ นอกเหนือจากบนฉลากแล้ว ผู้ประกอบการต้องให้ข้อมูลแก่ผู้บริโภคเกี่ยวกับเครื่องดื่มชูกำลัง การบริโภคอย่างรับผิดชอบ และส่วนประกอบต่างๆ นอกจากนี้บริษัทสมาชิกจะต้องไม่ดำเนินกิจกรรมทางการค้าใดๆ และการแจกสินค้าตัวอย่างในพื้นที่ใกล้เคียงกับโรงเรียนประถมและมัธยมหรือสถาบันอื่นๆ ที่ดูแลรับผิดชอบกลุ่มอายุนี้
    รายละเอียดเพิ่มเติมสามารถดูได้ที่
    https://eur-lex.europa.eu/legal-content/it/ALL/?uri=CELEX%3A32011R1169
    https://eur-lex.europa.eu/legal-content/EN/ALL/?uri=CELEX:32006R1924

    6.3 เครื่องดื่มที่ไม่มีแอลกอฮอล์
    สำหรับวัตถุเจือปนอาหาร ต้องปฏิบัติตามกฎระเบียบสหภาพยุโรป EC 1333/2008 ที่กำหนดรายการวัตถุเจือปนอาหารที่สามารถนำมาใช้ได้ภายใต้เงื่อนไขที่ระบุไว้ เงื่อนไขเฉพาะสำหรับสารให้ความหวาน และการแต่งสี เป็นต้น ซึ่งแตกต่างกันขึ้นอยู่กับประเภท รูปแบบ และส่วนประกอบหลักของเครื่องดื่มนั้นๆ รายละเอียดเพิ่มเติม สามารถดูได้ที่
    https://eur-lex.europa.eu/legal-content/EN/TXT/PDF/?uri=CELEX:32008R1333&from=EN
    https://eur-lex.europa.eu/LexUriServ/LexUriServ.do?uri=CONSLEG:2008R1333:20120625:EN:PDF

    สำหรับประเทศอิตาลี นอกเหนือจากการปฏิบัติตามกฎระเบียบสหภาพยุโรปข้างต้นแล้ว ยังมีกฎหมาย 719/1958 (และที่ได้แก้ไขในกฎหมาย 230/2004) กำหนดรายการสารที่สามารถนำมาใช้ได้ในการผลิตเครื่องดื่มที่ไม่มีแอลกอฮอล์ และจะต้องแจ้งเอกสารทางวิทยาศาสตร์ที่เกี่ยวข้องกับการใช้สารที่เหมาะสมแก่กระทรวงสาธารณสุขก่อนการผลิต (ซึ่งกฎดังกล่าวไม่สามารถนำมาใช้กับส่วนผสมตามกฎระเบียบของสหภาพยุโรป EC 258/97 เกี่ยวกับ Novel Food) รายละเอียดรายการสารและระดับที่กำหนดของประเทศอิตาลี โดยละเอียดสามารถดูได้ที่
    http://www.edizionieuropee.it/LAW/HTML/24/zn4_01_013.html#_ART0002
    http://www.edizionieuropee.it/LAW/HTML/24/zn4_07_013.html#_ART0001

    6.4 น้ำผลไม้
    ส่วนประกอบและคุณภาพของน้ำผลไม้เป็นไปตามข้อกำหนดเรื่องน้ำผลไม้ของสหภาพยุโรป ซึ่งกำหนดคุณสมบัติและเกณฑ์เฉพาะเจาะจงของน้ำผลไม้และเครื่องดื่มที่มีส่วนประกอบของผลไม้ประเภทต่างๆ เพื่อ
    รับประกันว่าเป็นสินค้าที่คุณภาพดีที่สุดในการวางจำหน่ายในตลาดยุโรป ได้แก่ ประเภทผลไม้ที่สามารถใช้ได้ปริมาณผลไม้ขั้นต่ำ ส่วนผสมที่สามารถใส่เพิ่มได้หรือไม่ได้การติดฉลาก เช่น เป็นสินค้าเพิ่มความหวาน หรือมาจากน้ำผลไม้เข้มข้น ซึ่งเหล่านี้ต้องระบุบนฉลากชัดเจน ทั้งนี้หนึ่งในปัญหาที่พบบ่อยจากการนำเข้าน้ำผลไม้คือการเติมสารที่ไม่ได้รับอนุญาตเข้าไป เช่น การเติมน้ำตาล C4 การใช้ผลไม้ที่ไม่ได้declare และการเติมน้ำในน้ำผลไม้NFC ทั้งนี้ในด้านความปลอดภัยของสินค้าอาหาร ได้มีการกำหนดเกณฑ์ส่วนผสมและสารปนเปื้อน สำหรับน้ำผลไม้ที่สำคัญ ได้แก่
  • ปริมาณตะกั่วในน้ำผลไม้ระดับสูงสุด 0.03 มิลลิกรัม/กิโลกรัม
  • ปริมาณตะกั่วในน้ำผลไม้จากผลเบอร์รี่และผลไม้ขนาดเล็ก อยู่ที่ 0.05 มิลลิกรัม/กิโลกรัม
  • ระดับสารตกค้างสูงสุด (MRLs) สำหรับสารจำกัดศัตรูพืช เช่น สาร diphenlylamine ไม่เกิน 0.5
    มิลลิกรัม/กิโลกรัมสำหรับแอปเปิ้ลที่นำมาใช้ในการผลิตน้ำผลไม้เพื่อส่งออกไปยุโรป
  • การเพิ่มวิตามินและแร่ธาตุต้องเป็นไปตามกฎระเบียบ EC 1925/2006
  • วัตถุเจือปนอาหารที่ได้รับอนุญาตตามกฎระเบียบ EC 1222/2008
  • ระดับความเข้มข้น (Brix level %) ขึ้นอยู่กับชนิดของผลไม้เช่น มะม่วง 13.5 ฝรั่ง 8.5 เป็นต้น
  • เนื้อผลไม้ขั้นต่ำ (% ปริมาณของสินค้าขั้นสุดท้าย) เช่น มะม่วง 25 ฝรั่ง 25 เป็นต้น
  • กระบวนการที่ได้รับอนุญาตในขั้นตอนของการผลิต เช่น การสกัดเชิงกล สำหรับน้ำองุ่นที่มีการใช้
    ซัลเฟอร์ไดออกไซด์ในกระบวนการซัลไฟเทชั่น ต้องมีปริมาณ SO2 ไม่เกิน 10 มิลลิกรัม/ลิตรในสินค้าขั้นสุดท้ายตัวกรองเฉื่อยทางเคมีและสารช่วยตกตะกอน (รวมถึง perlite, diatomite, cellulose, insoluble polyamide,polyvinylpolypyrrolidone, polystyrene) ต้องเป็นไปตามกฎ EC 1935/2004 เป็นต้น

    ทั้งนี้ในอุตสาหกรรมน้ำผลไม้SGF เป็นการรับรองมาตรฐานคุณภาพด้านความปลอดภัยและการ
    ตรวจสอบความถูกต้องของทั้งกระบวนการ แพร่หลายในกว่า 60 ประเทศทั่วโลก โดยกว่า 80% ของน้ำผลไม้ที่นำเข้าในยุโรปมาจากแหล่งผลิตที่ได้รับการรับรองมาตรฐาน SGF ซึ่งผู้ประกอบการไทยอาจนำมาปรับใช้เพื่อให้สามารถขยายการส่งออกมายังยุโรปได้มากขึ้น
    รายละเอียดเพิ่มเติมสามารถดูได้ที่
    https://eur-lex.europa.eu/LexUriServ/LexUriServ.do?uri=OJ:L:2012:115:0001:0011:EN:PDF
    https://trade.ec.europa.eu/tradehelp/fruit-juice#Contaminants

7. โอกาสในการพัฒนาของผู้ประกอบการไทย

7.1 การศึกษาแนวโน้ม ความต้องการของผู้บริโภค คู่แข่งทางตลาด และกฎระเบียบของภาครัฐ เพื่อให้เข้าใจในทิศทางสินค้าและสามารถนำไปพัฒนาสินค้าออกสู่ตลาด ให้มีจุดขายและตอบโจทย์พฤติกรรมการบริโภคและไลฟ์สไตล์ผู้บริโภค รวมถึงการพัฒนาสินค้าที่แสดงคุณภาพและความเป็นธรรมชาติ รวมถึงด้านความยั่งยืนต่อสิ่งแวดล้อม เพื่อให้สามารถแข่งขันโดยเฉพาะกับผู้ประกอบการท้องถิ่นได้

7.2 เน้นการพัฒนาสินค้าที่เป็นจุดแข็งของไทยและสินค้านวัตกรรมที่ช่วยเพิ่มมูลค่าโดยใช้เทคโนโลยีและนวัตกรรม อย่างเช่น อาหารไทยพร้อมทาน และอาหารแช่แข็ง เป็นต้น

7.3 การให้ความสำคัญในการสื่อสารกับผู้บริโภคผ่านการติดฉลากสินค้า อาทิ การแสดงประโยชน์ทางโภชนาการ รวมถึงการเลือกใช้บรรจุภัณฑ์ที่ยั่งยืน และการใช้โลโก้หรือเครื่องหมายรับรองมาตรฐาน ผ่านการร่วมมือระหว่างหน่วยงานรัฐที่เกี่ยวข้องและสมาคมผู้ประกอบการ เพื่อเป็นการรับรองมาตรฐานสินค้าในระดับสากลและยกระดับคุณภาพและภาพลักษณ์สินค้าอาหารและเครื่องดื่มไทยในตลาดนานาชาติมากขึ้น

7.4 แม้ว่าสินค้าอาหารของไทยเป็นสินค้าที่มีคุณภาพ มีศักยภาพที่จะขยายตลาดมายังยุโรปได้ อย่างไรก็ตาม ปัญหาและอุปสรรคสำคัญสำหรับการส่งออกมายังยุโรปคือการได้รับใบอนุญาตนำเข้าในสหภาพยุโรป ดังนั้นผู้ประกอบการไทยควรศึกษาและปฏิบัติตามกฎระเบียบอย่างเคร่งครัด

7.5 การปรับกลยุทธ์จำหน่ายสินค้าให้ตรงตามฤดูกาล เช่น การเน้นการจำหน่ายหรือออกการส่งเสริมการขายสินค้าน้ำอัดลม น้ำผลไม้ ชาพร้อมดื่ม ในช่วงฤดูร้อน

7.6 การประชาสัมพันธ์สินค้าผ่านสื่อ social media และการพัฒนาช่องทางการให้ข้อมูลสินค้าทางออนไลน์ เพื่อเป็นการเพิ่มมูลค่าของแบรนด์และสินค้า และให้ผู้บริโภค/ผู้ซื้อเข้าใจในสินค้ามากขึ้น นอกจากนี้สำหรับผู้ประกอบการที่มีการส่งออกแล้วสามารถเพิ่มการจำหน่ายสินค้าผ่านช่องทางอีคอมเมิร์ซควบคู่ไปกับการจำหน่ายในร้านค้า โดยสินค้าอาหารและเครื่องดื่มที่มีความเหมาะสมในการจำหน่ายออนไลน์ ได้แก่ สินค้าที่สามารถเก็บได้นาน อย่างเช่น ข้าว เครื่องปรุง และสินค้าแห้ง นอกจากนี้ ผู้ประกอบการอาจทำโปรโมชั่นส่งเสริมการขายร่วมกับผู้นำเข้าเพื่อเป็นการสร้างแรงจูงใจต่อผู้ซื้อมากขึ้น

7.7 การเข้าร่วมงานแสดงสินค้าที่สำคัญในอิตาลีเช่น TUTTOFOOD ซึ่งเป็นงานแสดงสินค้าอาหารเครื่องดื่ม และอุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้อง ใหญ่เป็นอันดับสามของยุโรป จัดขึ้นทุกสองปีในช่วงเดือนพฤษภาคม ณ ศูนย์แสดงสินค้า Rho Fiera เมืองมิลาน โดยครั้งต่อไปจะจัดขึ้นระหว่างวันที่ 8-11 พฤษภาคม 2566 งานแสดงสินค้า Host Milano งานแสดงสินค้ากลุ่ม Hospitality จัดขึ้น ณ ศูนย์แสดงสินค้า Rho Fiera เมืองมิลาน โดยครั้งต่อไปจะจัดขึ้นระหว่างวันที่ 13-17 ตุลาคมคม 2566 และงานแสดงสินค้า SANA (Salone Internazioanle del Biologico) ซึ่งเป็นงานแสดงสินค้าด้านเกษตรอินทรีย์และผลิตภัณฑ์จากธรรมชาติของอิตาลีจัดขึ้นในช่วงเดือนกันยายนของทุกปีณ เมืองโบโลญญา เป็นต้น โดยครั้งต่อไปจะจัดขึ้นระหว่างวันที่ 8-11 กันยายน 2565

แหล่งที่มา
Euromonitor
รายงาน “Bio In Cifre 2022” จากระบบข้อมูลสารสนเทศด้านเกษตรอินทรีย์ (Sinab) ของกระทรวงนโยบายเกษตรและอาหารและป่าไม้ของอิตาลี Nomisma SpA (บริษัทให้คำปรึกษาและวิจัยข้อมูลแนวโน้มสินค้าและเศรษฐกิจ) รายงานการบริโภคอาหารแช่แช็งในอิตาลีประจำปี 2565 ของสถาบันอาหารแช่แข็งของอิตาลี (IIAS) การนำเข้าสินค้าอาหารและเครื่องดื่มในสหภาพยุโรปhttps://trade.ec.europa.eu/tradehelp/
บทความเกี่ยวกับแนวโน้มอาหารและเครื่องดื่มจากเว็บไซต์
https://forbes.it
www.ilsole24ore.com
https://www.foodaffairs.it
www.beverfood.com
www.osservatoriobirra.it
https://www.cbi.eu/market-information/processed-fruit-vegetables-edible-nuts/fruitjuices/europe

OMD KM

FREE
VIEW