รายงานสถานการณ์การค้า เยอรมนี นครแฟรงก์เฟริต เดือน สิงหาคม 2564

สินค้าบรรจุภัณฑ์เพื่อสิ่งแวดล้อม (Eco-packaging)

1. ข้อมูลทั่วไปของสินค้า

ในปัจจุบันที่ผู้คนให้ความสำคัญกับประเด็นเรื่องการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม ปัญหาขยะพลาสติก     และการพัฒนาอย่างยั่งยืนมากขึ้น นวัตกรรมและเทคโนโลยีเพื่อโลกและสิ่งแวดล้อมก็พัฒนาไปพร้อมกัน     Eco-packaging เป็นหนึ่งในนวัตกรรมที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมที่ผู้คนให้ความสนใจอย่างต่อเนื่องและกำลังเป็นที่นิยมในปัจจุบัน

Eco-packaging หรือบรรจุภัณฑ์เพื่อสิ่งแวดล้อม ถูกผลิตออกมาเพื่อตอบโจทย์และแก้ปัญหาสิ่งแวดล้อม โดยจะเลือกใช้วัสดุที่มาจากธรรมชาติหรือวัสดุที่สามารถนำกลับมาใช้ได้ใหม่ เพื่อสร้างบรรจุภัณฑ์ที่เป็นมิตรและปลอดภัยต่อสิ่งแวดล้อมและเกิดประโยชน์สูงสุดต่อผู้บริโภค ซึ่งไม่เพียงแค่ปกป้องสินค้าแต่ยังช่วยลดมลภาวะของโลกอีกด้วย ซึ่งวัสดุที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมที่ถูกนำมาผลิตเป็น Eco-packaging สามารถจำแนกได้เป็น 3 ประเภทได้แก่
1.    Bio-Based คือวัตถุดิบจากธรรมชาติ นำมาใช้ผลิตเป็นไบโอพลาสติก เช่น ข้าวโพด อ้อย มันสำปะหลัง เป็นต้น
2.    Fiber-Based คือวัตถุดิบที่ทำมาจากไฟเบอร์หรือเส้นใยธรรมชาติ ซึ่งเป็นวัสดุที่ใช้เส้นใยมากที่สุด รวมไปถึงกากใยจากวัสดุเหลือใช้ทางการเกษตร ได้แก่ ชานอ้อย ฟางข้าวสาลี ลินิน ไม้ไผ่
3.    Biomass (ชีวมวล) คือ วัตถุดิบที่ได้จากเศษวัสดุเหลือใช้ทางการเกษตร เช่น แกลบ เปลือกชานอ้อย กากปาล์ม ซังข้าวโพด

Eco-packaging ที่เริ่มมีใช้ในปัจจุบัน ส่วนใหญ่จะใช้ในบรรจุภัณฑ์สำหรับอาหาร เช่น ภาชนะใส่อาหารที่ทำจากมันสำปะหลัง รำข้าวสาลี กาบหมาก ช้อนส้อมจากไม้ไผ่หรือกะลามะพร้าว กระบอกน้ำหรือกล่องใส่อาหารไบโอพลาสติก ผลิตจากพลาสติกที่ย่อยสลายได้โดยธรรมชาติ แก้วกาแฟจากกากกาแฟ และแคปซูลใส่ซอสที่ทำจากสาหร่ายทะเล เป็นต้น ทั้งนี้ยังมีธุรกิจประเภทอื่น ๆ ที่เห็นความสำคัญเรื่องสิ่งแวดล้อมและได้ปรับบรรจุภัณฑ์มาใช้เป็น eco-packaging เช่น หลอดบีบเครื่องสำอางที่ทำจากกระดาษ การบรรจุเมล็ดพันธุ์พืชลงในวัสดุที่ใช้ทำบรรจุภัณฑ์ที่ย่อยสลายได้เพื่อนำไปปลูกเป็นต้นไม้ เป็นต้น

2. ภาพรวมสภาวะตลาดของประเทศผู้นำเข้า/สถานการณ์การนำเข้า-ส่งออก

อุตสาหกรรมบรรจุภัณฑ์ของเยอรมนีคาดว่าอัตราการขยายตัวต่อปีแบบทบต้นจะเพิ่มขึ้นมากกว่า 4.1% ในช่วงระยะเวลาคาดการณ์ (2564 – 2569) ด้วยปริมาณการผลิตที่คาดว่าจะอยู่ที่ประมาณ 4.1 พันล้านยูโรต่อปี ส่วนในด้านอุตสาหกรรมเครื่องจักรสำหรับการบรรจุภัณฑ์ เยอรมนีเป็นอันดับสองของโลก รองจากสหรัฐอเมริกา และพัฒนานำหน้าญี่ปุ่นและอิตาลี โดยภาพรวมสภาวะตลาดสินค้าบรรจุภัณฑ์เยอรมนีมีดังนี้ :
●   เยอรมนีมีความต้องการบรรจุภัณฑ์ที่มีขนาดเล็กลงในอุตสาหกรรมอาหารบรรจุหีบห่อและอุตสาหกรรมสกินแคร์เพิ่มขึ้น โดยคาดว่าแนวโน้มนี้จะทวีคูณมากขึ้นในช่วงคาดการณ์
●   ด้วยจำนวนครัวเรือนขนาดเล็กหรือคนเดียวที่เพิ่มขึ้น บรรจุหีบห่อสำหรับการเดินทางที่สะดวกสบาย ความสามารถในการบรรจุซ้ำได้ และคำแนะนำวันหมดอายุ ได้ส่งผลอย่างมากต่อความต้องการวัสดุบรรจุภัณฑ์ที่ใช้สำหรับสินค้าประเภทซอส น้ำสลัด และเครื่องปรุงรส ขนมหวาน ผลไม้และผักแปรรูป
●   เนื่องจากตัวเลขการจ้างงานที่เพิ่มขึ้นของผู้หญิง ทำให้มีแนวโน้มในการจับจ่ายที่สูงขึ้น ดังนั้นจึงมีโอกาสที่จะมีการเพิ่มขึ้นของอัตราการบริโภคผลิตภัณฑ์บรรจุภัณฑ์
●   ผลิตภัณฑ์บรรจุภัณฑ์สำหรับอาหารของเด็กทารกมีความต้องการสูงขึ้น เนื่องจากมีอัตราการเกิดสูงขึ้นในประเทศ
●   คาดว่าการบริโภคบรรจุภัณฑ์ประเภทอ่อนตัว (flexible packaging) หรือ บรรจุภัณฑ์ (package) ที่ทำจากกระดาษผสมพลาสติก ฟิล์ม ฟอยล์ หรือวัสดุเหล่านี้รวมกัน (laminate packaging) เช่น ถุงทนความร้อนสูง (retort pouch) ถาด เป็นต้น จะเพิ่มขึ้น เนื่องจากมีน้ำหนักเบา นอกจากนี้ ความต้องการบรรจุภัณฑ์ขนาดเล็กและพกพาสะดวก รวมไปถึงการปรับปรุงและพัฒนาการดีไซน์ก็ช่วยส่งเสริมแนวโน้มนี้
●   ในช่วงเวลาคาดการณ์ ผลิตภัณฑ์ที่ถือว่าเป็นบรรจุภัณฑ์เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมนั้น จะมีการใช้งานเพิ่มขึ้น อันเนื่องมาจากกฎระเบียบที่เข้มงวดขึ้นเพื่อลดมลภาวะ โดยมีกฎระเบียบว่าด้วยการยกเลิกการใช้พลาสติกแบบใช้ครั้งเดียวทิ้ง (Germany Packaging Act) เช่น ช้อนส้อมหรือจานพลาสติกแบบใช้ครั้งเดียว หลอดพลาสติก ก้านสำลีที่ทำจากพลาสติก ซึ่งจะมีการบังคับใช้ในปี 2564 และเนื่องด้วยข้อจำกัดดังกล่าว จึงมีการคาดการว่าบรรจุภัณฑ์จากกระดาษและแก้วจะมีความต้องการสูงในอุตสาหกรรม เนื่องจากถือว่าเป็นผลิตภัณฑ์ที่สามารถใช้ทดแทนบรรจุภัณฑ์พลาสติกได้

การนำเข้าบรรจุภัณฑ์ชนิดต่าง ๆ ของประเทศเยอรมนี

ตารางการนำเข้าบรรจุภัณฑ์จากพลาสติก ฟิล์ม พิกัด H.S. 3920 ของประเทศเยอรมนี

ในปี 2563 ประเทศเยอรมนีนำเข้าบรรจุภัณฑ์ประเภทพลาสติกและฟิล์มจากทั่วโลก คิดเป็นมูลค่า 3.3 พันล้านเหรียญสหรัฐ ลดลงจากปีก่อนหน้าร้อยละ 1.78 โดยนำเข้าจากประเทศอิตาลีมากที่สุด 466 ล้านเหรียญสหรัฐ ตามมาด้วยประเทศเบลเยี่ยม โปแลนด์ เนเธอร์แลนด์และออสเตรีย ตามลำดับ โดยประเทศไทยอยู่ในอันดับที่ 39 ที่ 4.8 ล้านเหรียญสหรัฐ มีส่วนแบ่งตลาดอยู่ที่ร้อยละ 0.14 และมีอัตราขยายตัวที่เพิ่มขึ้นร้อยละ 1.82 จากปีก่อนหน้า

ตารางการนำเข้าบรรจุภัณฑ์จากพลาสติก พิกัด H.S. 3926 ของประเทศเยอรมนี

ในปี2563 ประเทศเยอรมนีนำเข้าบรรจุภัณฑ์ประเภทพลาสติกจากทั่วโลก คิดเป็นมูลค่า 6.3 พันล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้นจากปีก่อนหน้าร้อยละ 0.24 โดยนำเข้าจากประเทศจีนมากที่สุด 1 พันล้านเหรียญสหรัฐ ตามมาด้วยประเทศโปแลนด์ สาธารณรัฐเช็ค เนเธอร์แลนด์และสวิตเซอร์แลนด์ ตามลำดับ โดยประเทศไทยอยู่ในอันดับที่ 37 ที่ 9.7 ล้านเหรียญสหรัฐ มีส่วนแบ่งตลาดอยู่ที่ร้อยละ 0.16 และมีอัตราส่วนการเปลี่ยนแปลงลดลงร้อยละ 11.66 จากปีก่อนหน้า

ตารางการนำเข้าบรรจุภัณฑ์จากกระดาษ พิกัด H.S. 4823 ของประเทศเยอรมนี

ในปี 2563 ประเทศเยอรมนีนำเข้าบรรจุภัณฑ์ประเภทกระดาษจากทั่วโลก คิดเป็นมูลค่า                                 515 ล้านเหรียญสหรัฐ ลดลงจากปีก่อนหน้าร้อยละ 1.26 โดยนำเข้าจากประเทศจีนมากที่สุด 89 ล้านเหรียญสหรัฐ ตามมาด้วยประเทศเนเธอร์แลนด์ โปแลนด์ อิตาลีและเดนมาร์ค ตามลำดับ โดยประเทศไทยอยู่ในอันดับที่ 39 ที่ 3.6 แสนเหรียญสหรัฐ มีส่วนแบ่งตลาดอยู่ที่ร้อยละ 0.07 และมีอัตราขยายตัวที่เพิ่มขึ้นร้อยละ 6.34 จากปีก่อนหน้า

3. แนวโน้มผู้บริโภคสินค้า

ประเด็นเกี่ยวกับปัญหาสิ่งแวดล้อมและการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ ได้ถูกยกขึ้นมาถกเถียงอย่างต่อเนื่อง และมีอิทธิพลต่อพฤติกรรมของผู้บริโภค โดยในช่วงห้าปีที่ผ่าน แนวคิดของชาวเยอรมันเกี่ยวกับการรักษาสิ่งแวดล้อมได้เปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็ว โดยมีการคำนึงถึงปัจจัยทางสิ่งแวดล้อมในการตัดสินใจซื้อ  เช่น ปริมาณของบรรจุภัณฑ์และพลาสติกระยะเวลาในการขนส่งผลิตภัณฑ์ และวิธีการผลิตผลิตภัณฑ์ ตัวเลขล่าสุดจาก Deutsche Verpackungsinstitut (German Packaging Institute)                 แสดงให้เห็นว่า ประมาณร้อยละ 70 ของผู้บริโภคชาวเยอรมันจะไม่เลือกซื้อผลิตภัณฑ์ที่ใช้บรรจุภัณฑ์ไม่ยั่งยืน ผู้บริโภค 1 ใน 5 มักปฏิเสธที่จะซื้อผลิตภัณฑ์ที่ไม่ใช้บรรจุภัณฑ์แบบยั่งยืนเป็นประจำ และร้อยละ 50 ของผู้บริโภคเคยตัดสินใจไม่เลือกซื้อสินค้าด้วยเหตุผลดังกล่าว ทั้งนี้ ผู้บริโภคเพียงร้อยละ 30 เท่านั้นที่ไม่ถือว่าความยั่งยืนของบรรจุภัณฑ์เป็นปัจจัยในการเลือกซื้อ

จากงานแสดงสินค้า FACHPACK 2021 ได้สรุปแนวโน้มประจำปีของอุตสาหกรรมบรรจุภัณฑ์ ซึ่งล้วนเกี่ยวข้องกับประเด็นความยั่งยืน โดยมีแนวโน้มที่น่าสนใจ ดังนี้
1. การใช้วัสดุรีไซเคิลมีเพิ่มมากขึ้น เนื่องจากการรีไซเคิลขยะพลาสติกและการใช้พลาสติกรีไซเคิลในผลิตภัณฑ์ใหม่ช่วยลดการใช้วัตถุดิบ อีกทั้งยังช่วยในเรื่องของการลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ได้อย่างมากเมื่อเทียบกับการผลิตโดยใช้น้ำมันดิบ
2. การเลือกใช้ Mono Material หรือการใช้วัสดุพลาสติกประเภทเดียวกันทั้งหมดเพื่อความง่ายในการจำแนกประเภทในการรีไซเคิล ตามรายงานของสำนักงานสิ่งแวดล้อมแห่งสหพันธรัฐเยอรมนี (Germany’s Federal Environment Agency) วัสดุต้องมีส่วนประกอบหลักอย่างน้อยร้อยละ 95 จึงจะถือว่าเป็น Mono Material ถึงแม้ว่าบรรจุภัณฑ์ที่ประกอบด้วยพลาสติกหลายชนิดยังสามารถนำมารีไซเคิลได้ แต่การรีไซเคิลนั้นจะมีความซับซ้อนมากกว่าและประสิทธิภาพของการรีไซเคิลจะด้อยกว่า Mono Material
3. บรรจุภัณฑ์ที่มีผลกระทบต่อทรัพยากรน้อย โดยบรรจุภัณฑ์ชนิดนี้จะใช้วัสดุอย่างประหยัดมากขึ้นและลดการใช้ทรัพยากรหลักอย่างมาก จึงช่วยเพิ่มมูลค่าด้านความยั่งยืนให้แก่บรรจุภัณฑ์ ซึ่งกระบวนการผลิตแบบใหม่ก็เป็นอีกหนึ่งวิธีที่จะช่วยให้ได้ผลลัพธ์ดังกล่าว อย่างไรก็ตาม ก็ต้องทำให้แน่ใจว่าบรรจุุุภัณฑ์ยังคงสามารถใช้งานได้ตามปกติ และเนื่องจากประสิทธิภาพของวัสดุในบรรจุภัณฑ์พลาสติก ที่เพิ่มมากขึ้นส่งผลให้การใช้วัสดุต่าง ๆ ในช่วง 25 ปีที่ผ่านมา ลดลงหนึ่งในสี่ หรือเท่ากับการลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ 2.6 ล้านตัน

4. การเข้าถึงตลาด/ช่องทางการจำหน่ายสินค้า

การเข้าถึงผู้นำเข้าหรือตัวแทนจัดจำหน่ายในประเทศเยอรมนีสามารถทำได้โดยการติดต่อผ่านสมาคมการค้าเกี่ยวกับบรรจุภัณฑ์ หรือการศึกษาข้อมูลของงานแสดงสินค้าต่าง ๆ ดังนี้

4.1 งานแสดงสินค้า
– งานแสดงสินค้า Ambiente เป็นงานแสดงสินค้านานาชาติที่ใหญ่ที่สุดในโลก สำหรับสินค้าของขวัญ ของชำร่วย ของประดับตกแต่งบ้าน เครื่องใช้ในครัวเรือน เครื่องใช้บนโต๊ะอาหาร และเครื่องตกแต่งโต๊ะอาหาร ทำจากวัสดุต่างๆ ลักษณะงานเป็นงานแสดงสินค้าเฉพาะการเจรจาธุรกิจเท่านั้น (Trade Only) และจัดเป็นประจำทุกปี ณ นครแฟรงก์เฟิร์ต
– งานแสดงสินค้า The Greener Manufacturing Show เป็นงานแสดงสินค้าที่มุ่งเน้นไปที่เทคโนโลยีและโซลูชั่นด้านสิ่งแวดล้อมเพื่อพัฒนานวัตกรรมการผลิตภัณฑ์ที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม โดยการเข้าร่วมงานแสดงสินค้าฯ เปิดโอกาสให้ผู้ประกอบการได้นำเสนอบริษัทของตัวเองกับผู้เข้าร่วมงานที่กำลังมองหาเทคโนโลยี และนวัตกรรมเพื่อสิ่งแวดล้อม โดยจะจัดเป็นประจำทุกปี ณ เมืองโคโลญจน์
– งานแสดงสินค้า interpack เป็นงานแสดงสินค้านานาชาติที่สำคัญที่สุดสำหรับอุตสาหกรรมบรรจุภัณฑ์และอุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้อง โดยมีการนำเสนอตั้งแต่กระบวนการผลิต การปรับแต่งผลิตภัณฑ์ บรรจุภัณฑ์ และการจัดจำหน่าย ไปจนถึงการรับประกันคุณภาพ โดยทาง interpack ได้เชิญบริษัทชั้นนำที่พัฒนาเทคโนโลยีบรรจุภัณฑ์และกระบวนการผลิตในอุตสาหกรรมอาหารและเครื่องดื่ม ผลิตภัณฑ์ขนมและเบเกอรี่ ตลอดจนยาและเครื่องสำอาง โดยงานแสดงสินค้า Interpack จะจัดขึ้นทุก 3 ปี ณ เมืองดุสเซลดอร์ฟ
– งานแสดงสินค้า EMPACK DORTMUND เป็นงานแสดงสินค้าระดับภูมิภาคสำหรับอุตสาหกรรมบรรจุภัณฑ์และเป็นจุดนัดพบสำหรับบริษัทและผู้เชี่ยวชาญด้านบรรจุภัณฑ์ตลอดจนผู้ใช้จากอุตสาหกรรม บรรจุภัณฑ์ โดยที่ EMPACK Dortmund จะมีการนำเสนอทุกแง่มุมของอุตสาหกรรมบรรจุภัณฑ์ ตั้งแต่ผลิตภัณฑ์และบริการแบบคลาสสิกไปจนถึงโซลูชั่นดิจิทัลที่เป็นนวัตกรรม งานดังกล่าวจะจัดขึ้นทุกสองปี ณ เมืองดอร์ทมุนด์ เป็นเวลาสองวัน
– งานแสดงสินค้า FACHPACK 2021 เป็นงานแสดงสินค้าที่เป็นคู่มือสำคัญสำหรับอุตสาหกรรมบรรจุภัณฑ์และผู้ใช้ในยุโรป โดยมีระยะเวลาการจัดงานสามวัน ณ เมืองนูเรมเบิร์ก และจัดขึ้นทุกๆ สองปี โดยภายในงานจะมีการให้ข้อมูลเชิงลึกเกี่ยวกับผลิตภัณฑ์และบริการของห่วงโซ่กระบวนการบรรจุภัณฑ์สำหรับสินค้าอุตสาหกรรมและสินค้าอุปโภคบริโภค นอกจากนี้ ผู้เข้าร่วมงานแสดงสินค้าจากทุกอุตสาหกรรมยังสามารถเข้าฟังเวทีเสวนาสำหรับการสร้างแรงบันดาลใจได้
– งานแสดงสินค้า Plastic Free World Conference & Expo Cologne เป็นงานประชุมและนิทรรศการระดับนานาชาติสำหรับบริษัทที่กำลังมองหาเทคโนโลยี วัสดุ และนวัตกรรมใหม่ๆ เพื่อลดการใช้พลาสติกและกำจัดขยะพลาสติกอย่างยั่งยืน โดยงานนี้ยังเปิดโอกาสในการหารือเกี่ยวกับปัญหาโลกร้อนกับผู้เชี่ยวชาญชั้นนำระดับโลกจากหลากหลายอุตสาหกรรม โดยงานแสดงสินค้าดังกล่าว จะจัดปีละครั้ง ณ เมืองโคโลญจน์

4.2 หน่วยงานหรือสมาคมที่เกี่ยวข้องกับการค้า
– IK Industrie­vereinigung Kunststoff­verpackungen e.V. เป็นสมาคมการค้าสำหรับอุตสาหกรรมบรรจุภัณฑ์พลาสติกของเยอรมนี โดยทำหน้าที่เป็นตัวแทนทางการเมือง รวมไปถึงการประชาสัมพันธ์สำหรับอุตสาหกรรมและผลิตภัณฑ์ต่าง ๆ นอกจากนี้ สมาคมยังมีส่วนร่วมในการกำหนดมาตรฐานทางเทคนิคและข้อบังคับ
– Deutsche Verpackungsinstitut – dvi เป็นสมาคมการค้าที่เชื่อมโยงผู้คนจากทุกอุตสาหกรรมในห่วงโซ่บรรจุภัณฑ์ทั้งหมด ตั้งแต่วิศวกรรมเครื่องกลไปจนถึงทุกภาคส่วนของอุตสาหกรรมบรรจุภัณฑ์ สินค้าอุปโภคบริโภค การค้าปลีก เศรษฐกิจหมุนเวียนและการรีไซเคิล โดยทางสมาคมมุ่งไปที่การริเริ่มนวัตกรรมเพื่อความยั่งยืนสำหรับบรรจุภัณฑ์
– Industrieverband Papier- und Folienverpackung e.V. เป็นสมาคมการค้าสำหรับบริษัทที่ผลิตบรรจุภัณฑ์แบบยืดหยุ่น (flexible packaging) และผู้ผลิตผ้ากันเปื้อนและผ้าปูโต๊ะที่ทำจากเซลลูโลส สมาคมมีการให้บริการที่ครอบคลุมแก่สมาชิกในการช่วยปรับปรุงผลิตภัณฑ์ให้เข้ากับความต้องการของตลาดอย่างต่อเนื่อง
– Verband Vollpappe-Kartonagen (VVK) e.V. เป็นสมาคมผู้ผลิตบรรจุภัณฑ์กระดาษอัดแข็งในประเทศเยอรมนี โดยสมาคมจะมุ่งเน้นไปที่การรวมกลุ่ม แก้ไขปัญหาทางเทคนิคที่เกี่ยวข้องกับกระบวนการผลิตกระดาษอัดแข็ง
– BDVI e.V.  เป็นเครือข่ายบรรจุภัณฑ์ ที่ก่อตั้งในชื่อ Bund Deutscher Verpackungsingenieure eV ณ เมืองมิวนิก ปัจจุบันมีสมาชิกประมาณ 400 รายจากกว่า 300 บริษัทและสถาบัน โดยทาง BDVI ทำหน้าที่เป็นแพลตฟอร์มสำหรับการติดต่อ รวมไปถึงส่งเสริมความโปร่งใสในเครือข่ายบรรจุภัณฑ์
– Hauptverband Papier- und Kunststoffverarbeitung (HPV) e.V. เป็นองค์กรที่ดูแลความสัมพันธ์ระหว่างการทำงานและสภาพการทำงานของอุตสาหกรรมกระดาษและพลาสติกของเยอรมัน โดยช่วยสนับสนุนและเสริมสร้างความสามารถในการพัฒนาของบริษัทต่างๆ ในอุตสาหกรรมกระดาษและพลาสติก

5. มาตรการ กฎระเบียบทางการค้า/มาตรฐานของประเทศผู้นำเข้า

โดยทั่วไปหากผู้ประกอบการต้องการส่งออกผลิตภัณฑ์บรรจุภัณฑ์เข้ามาสู่ประเทศเยอรมนีและสหภาพยุโรป จะต้องให้ความสําคัญและคํานึงถึงกฎระเบียบและข้อบังคับต่าง ๆ ดังนี้
5.1  EU Packaging and Packaging Waste Directive ปัจจุบันระเบียบที่มีผลบังคับใช้คือ ระเบียบที่ 2004/12/EC ซึ่งเป็นการปรับปรุงระเบียบเดิมที่ออกเมื่อปี 1994 (EC 94/62) มีเนื้อหาครอบคลุมหลักเกณฑ์ด้านบรรจุภัณฑ์และการจัดการของเสียของบรรจุภัณฑ์ในประชาคมยุโรป โดยคำนึงถึงสุขอนามัยความปลอดภัยและการยอมรับของผู้บริโภค จุดประสงค์สำคัญของระเบียบดังกล่าวมี 5 ประการหลัก คือ
      (1) รักษาสิ่งแวดล้อมและส่งเสริมการค้า
      (2) วางระบบในการรวบรวมบรรจุภัณฑ์ใช้แล้ว
      (3) ตั้งเป้าหมายในการฟื้นฟูและรีไซเคิลบรรจุภัณฑ์
      (4) ตั้งข้อกำหนดที่จำเป็นสำหรับบรรจุภัณฑ์ เช่น น้ำหนักและปริมาตรขั้นต่ำ, ส่วนประกอบของสารเคมีอันตรายขั้นต่ำ, การนำกลับมาใช้ใหม่ได้และจำกัดปริมาณสารหนัก (heavy metals) เป็นต้น
      (5) รับรองการไหลเวียนอย่างเสรีของสินค้าในประชาคมยุโรป โดยระเบียบนี้มีข้อบังคับซึ่งเป็นภาระรับผิดชอบของผู้ผลิตบรรจุภัณฑ์
5.2  CEN Packaging standards เป็นมาตรฐานที่แตกต่างจากระเบียบของประชาคมยุโรปในข้อ 5.1 ตรงที่ข้อกำหนดในระเบียบมีการระบุลักษณะบรรจุภัณฑ์และลักษณะบรรจุภัณฑ์ต้องห้าม แต่มิได้ระบุถึงวิธีการออกแบบหรือวิธีการปฏิบัติเพื่อให้สอดคล้องกับระเบียบ ซึ่ง CEN standards จะเป็นเหมือนตัวช่วยในการปฏิบัติให้สอดคล้องกับระเบียบ EU Packaging and Packaging Directive โดย CEN หรือ European Committee for Standardization เป็นองค์กรที่ออกแบบมาตรฐานสินค้า บริหารงานโดยภาคเอกชน มีสำนักงานใหญ่อยู่ในกรุงบรัสเซลส์ มาตรฐานด้านบรรจุภัณฑ์จาก CEN ที่สำคัญมี 6 มาตรฐาน ได้แก่
      (1) ระบบบริหารการใช้มาตรฐาน (Management System to Use of the Standards หรือ Umbrella Standard) ตามมาตรฐานที่ EN 13427:2004
      (2) การผลิตและส่วนประกอบบรรจุภัณฑ์ (Manufacturing & Composition of Packaging หรือ Prevention Standard) ตามมาตรฐานที่ EN 13428:2004
      (3) มาตรฐานการนำบรรจุภัณฑ์กลับมาใช้ใหม่ (Reusable Packaging Standard) EN 13429:2004
      (4) มาตรฐานการรีไซเคิล (Recycling Standard) EN 13430:2004
      (5) มาตรฐานการฟื้นฟูพลังงาน (Energy Recovery Standard) EN 13431:2004
      (6) มาตรฐานการฟื้นฟูอินทรีย์ (Organic Recovery Standard) EN 13432:2000
5.3  ข้อบังคับเกี่ยวกับวัสดุและผลิตภัณฑ์ที่สัมผัสกับอาหาร (Food Contact Material)
มีวัตถุประสงค์เพื่อป้องกันการถ่ายทอดของสารเคมีจากบรรจุภัณฑ์ลงไปสู่อาหารในระดับที่เป็นอันตรายต่อสุขภาพมนุษย์ หรือมีผลทำให้ส่วนประกอบของอาหารเปลี่ยนแปลง หรือมีผลทำลายรสชาติและกลิ่นของอาหาร ซึ่งวัสดุและผลิตภัณฑ์ที่สัมผัสกับอาหารจะต้องมีตราสัญลักษณ์ว่าใช้สำหรับบรรจุอาหารได้ เป็นรูปแก้วและส้อมคู่กัน ในข้อบังคับปัจจุบันมีมาตรการที่ครอบคลุมวัสดุ 17 กลุ่ม ได้แก่
      (1) Active food contact materials and articles หมายถึง วัสดุหรือสารที่ใช้เพื่อยืดอายุการวางจําหน่าย สินค้า หรือถนอมอาหาร
      (2) สารเหนียวที่มีคุณสมบัติยึดติด เช่น กาว (Adhesives)
      (3) เซรามิก (Ceramics) : สินค้าวัสดุสัมผัสอาหารที่ทําจากเซรามิกที่จะวางจําหน่ายในสหภาพยุโรป ต้องมีหนังสือ รับรอง (Document of Conformity) ซึ่งออกโดยผู้ผลิตหรือ ผู้จําหน่าย โดยต้องระบุรายละเอียดที่อยู่ของโรงงานผลิต ที่อยู่ผู้นําเข้า ลักษณะเฉพาะสินค้า วันที่ออกหนังสือ และการยืนยันว่าสินค้าดังกล่าวไม่มีการส่งผ่านสารอันตราย หรือสารตกค้าง จากวัสดุสัมผัสอาหารไปยังอาหาร หรือส่งผ่านสาร (เช่น ตะกั่ว แคดเมียม) ไม่เกินปริมาณที่กําหนด เป็นต้น (มาตรา 5) ทั้งนี้ หนังสือรับรองจะต้องแนบผลการตรวจสอบทางวิทยาศาสตร์จากหน่วยงานตรวจสอบหรือห้องทดลองที่เชื่อถือได้ ด้วย เพื่อแสดงต่อเจ้าหน้าที่ได้ทันทีเมื่อมีการเรียกตรวจ กฎระเบียบดังกล่าวมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 20 พฤษภาคม 2550
      (4) จุกคอร์ก (Cork)
      (5) ยาง (Rubbers)
      (6) แก้ว (Glass)
      (7) Ion exchange resins
      (8) โลหะและโลหะผสม (metals and alloys)
      (9) กระดาษ (paper and board)
      (10) พลาสติก (plastics)
      (11) หมึกพิมพ์ (printing inks)
      (12) แผ่นเซลลูโลสที่ทําขึ้นใหม่ (Regenerated cellulose film)
      (13) ซิลิโคน (silicones textiles)
      (14) สิ่งทอ (textile)
      (15) สารเคลือบ (vanishes and coatings)
      (16) แวกซ์ (waxes)
      (17) ไม้ (wood)

นอกจากนี้ ยังมีข้อบังคับเกี่ยวกับกระบวนการในการขออนุญาตการใช้สารเคมีในวัสดุที่สัมผัสกับอาหาร โดยหน่วยงานที่มีหน้าที่ประเมินในเรื่องดังกล่าวคือ European Food Safety Authority (EFSA) ซึ่งได้รับความเห็นจากผู้เชี่ยวชาญในแต่ละประเทศสมาชิกสหภาพยุโรปภายใต้คณะกรรมการ Standing Committee on the Food Chain and Animal Health (SCFCAH) และในข้อบังคับนี้ยังระบุอีกด้วยว่า นับตั้งแต่วันที่ 26 ตุลาคม 2549 เป็นต้นไป วัสดุที่สัมผัสกับอาหารและผลิตภัณฑ์จะต้องสามารถตรวจสอบย้อนหลังได้ตลอดห่วงโซ่การผลิต

5.4  พระราชบัญญัติว่าด้วยบรรจุภัณฑ์ (The New German Packaging Act)

พระราชบัญญัติสำหรับบรรจุภัณฑ์ฉบับใหม่ ได้มีการกล่าวถึงกฎระเบียบว่าด้วยการยกเลิกการใช้พลาสติกแบบใช้ครั้งเดียวทิ้ง (Single Use Plastic – SUP) ซึ่งประเทศเยอรมนีเริ่มบังคับใช้กฎระเบียบดังกล่าวตั้งแต่วันที่ 3 กรกฎาคม 2564 เป็นต้นไป กฎระเบียบดังกล่าวได้ระบุถึงการยกเลิกการใช้ผลิตภัณฑ์ SUP ประเภทที่มีผลิตภัณฑ์ทางเลือกอื่น ๆ ในตลาดที่สามารถใช้ทดแทนกันได้ เนื่องจากความสะดวกสบายจากการบริโภคผลิตภัณฑ์พลาสติกแบบใช้ครั้งเดียวทิ้งนั้น ได้สร้างขยะที่มากขึ้นในแต่ละปี ซึ่งส่งผลเสียต่อสิ่งแวดล้อมอย่างต่อเนื่อง โดยผู้ที่จะต้องปฏิบัติตามกฎระเบียบใหม่นี้ ได้แก่ ร้านค้าปลีกออนไลน์ที่นำผลิตภัณฑ์บรรจุภัณฑ์ที่เป็นขยะพลาสติกเข้ามาสู่ตลาดเยอรมันและผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องจะต้องมีส่วนในการรับผิดชอบในการรีไซเคิลวัสดุบรรจุภัณฑ์ทั้งหมด ทั้งนี้ กฎระเบียบใหม่มีขึ้นเพื่อให้สอดคล้องกับระเบียบของสหภาพยุโรป EU Packaging and Packaging Waste Directive โดยมีจุดมุ่งหมายเพื่อปรับปรุงระบบอย่างครบวงจรสำหรับการกำจัดขยะในประเทศอย่างยั่งยืนและกำจัดปัญหาเรื่องการแข่งขันทางการค้าที่ไม่เป็นธรรม โดยสหภาพยุโรป เตรียมแบนพลาสติกแบบใช้ครั้งเดียว ภายในปี 2564 ดังนี้
      (1) ช้อนส้อมพลาสติกแบบใช้ครั้งเดียว (ส้อม มีด ช้อน และตะเกียบ)
      (2) จานพลาสติกแบบใช้ครั้งเดียว
      (3) หลอดพลาสติก
      (4) ก้านสำลีที่ทำจากพลาสติก
      (5) แท่งลูกโป่งพลาสติก
      (6) ภาชนะใส่อาหารและเครื่องดื่มที่ทำจากสารโพลีสไตรีน และพลาสติกที่มีส่วนผสมของสารประเภทอ๊อกโซ (OXO)

โดยประเทศสมาชิกจะต้องบรรลุเป้าหมายในการเก็บขวดพลาสติกให้ได้ร้อยละ 90 ภายในปี    พ.ศ. 2572 และจะต้องรีไซเคิลขวดพลาสติกได้อย่างน้อยร้อยละ 25 ภายในปี พ.ศ. 2568 และร้อยละ 30 ภายในปี พ.ศ. 2573 โดยผู้ผลิตต้องร่วมรับผิดชอบค่าใช้จ่ายในส่วนนี้ด้วย

ผู้ที่สนใจสามารถศึกษากฎระเบียบเกี่ยวกับบรรจุภัณฑ์เพิ่มเติมได้ที่เว็บไซต์
https://verpackungsgesetz-info.de/en/
https://www.verpackungsregister.org/

5.5 ฉลากเพื่อสิ่งแวดล้อม
– Forest Stewardship Council หรือ FSC เป็นองค์กรที่ไม่หวังผลกำไรซึ่งอยู่ภายใต้ความร่วมมือของหน่วยงานต่าง ๆ จากทั่วโลกและเป็นหน่วยงานที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับสิ่งแวดล้อม โดยองค์กร FSC มีหน้าที่จัดทำระบบการให้การรับรองผลิตภัณฑ์ที่ทำจากไม้ เพื่อให้ผู้บริโภคทราบว่าสินค้าของผู้จำหน่ายได้ใช้ไม้จากป่าธรรมชาติหรือป่าปลูกที่มีการจัดการป่าอย่างยั่งยืนและมีความรับผิดชอบต่อสังคม ถูกต้องตามมาตรฐานที่เป็นที่ยอมรับในระดับนานาชาติ
– Program for the Endorsement of Forest Certification Scheme หรือ “PEFC” เป็นองค์กรระดับนานาชาติที่ไม่หวังผลกำไร และมีวัตถุประสงค์เพื่อส่งเสริมการจัดการป่าไม้อย่างยั่งยืน เช่นเดียวกันกับ FSC
– TÜV SÜD เป็นบริษัทสำหรับนวัตกรรมด้านความปลอดภัย ความมั่นคง และความยั่งยืน โดยทางองค์กรดังกล่าว มีการให้บริการทดลอง การรับรอง การทดสอบสินค้า รวมถึงให้คำปรึกษา นอกจากนี้ ทางบริษัทยังมีส่วนช่วยเหลือในการเพิ่มมูลค่าของสินค้า โดยการช่วยเพิ่มโอกาสทางการค้าและบริหารความเสี่ยงแก่ลูกค้า
– EU-Eco Label หรือที่เรียกว่า EU – Flower ของสหภาพยุโรป เป็นตราสัญลักษณ์ฉลากสิ่งแวดล้อมของทุกประเทศในสหภาพยุโรปที่แสดงให้เห็นว่า สินค้าเหล่านั้นมีการผลิตและได้รับการรับรองแล้วว่ามีวงจรชีวิต (Life Cycle) ที่ใส่ใจต่อสิ่งแวดล้อมและพยายามลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมตั้งแต่การเลือกวัตถุดิบในการผลิต กระบวนการผลิต และผลกระทบของคุณภาพสินค้าต่อผู้บริโภค เช่น การรักษาคุณภาพน้ำ อากาศ ดิน และเสียง รวมทั้งเรื่องการประหยัดพลังงาน โดยพิจารณาตั้งแต่จุดเริ่มต้นของการผลิตทั้งในเรื่องวัตถุดิบ กระบวนการผลิต การบรรจุหีบห่อ การใช้งาน จนถึงขั้นตอนสุดท้ายซึ่งเป็นการกำจัดกากเหลือใช้หรือการนำกลับมาใช้ใหม
– Carbon Reduction Label เป็นฉลากเพื่อรับรองว่าคาร์บอนฟุ๊ตปริ๊นท์ของผลิตภัณฑ์นั้น ๆ ได้รับการรับตรวจวัดและรับรองตามมาตรฐาน PAS2050 และ Footprint Expert™ ทั้งนี้ ยังแสดงถึงความเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมของผลิตภัณฑ์ ซึ่งฉลากดังกล่าวจะเป็นการรับรองการลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ในอีกสองปีข้างหน้า

6. โอกาสทางการค้าของประเทศไทย

6.1 เยอรมนีและสหภาพยุโรปมีแนวโน้มที่จะเข้มงวดมากยิ่งขึ้นในการบังคับใช้กฎระเบียบและมาตรฐานบรรจุภัณฑ์พลาสติก เพื่อลด ละ เลิกการใช้พลาสติกแบบใช้ครั้งเดียวทิ้ง เปลี่ยนไปสู่การใช้พลาสติกที่ผลิตจากวัสดุธรรมชาติหรือรีไซเคิลเพิ่มขึ้น  นับเป็นโอกาสสำหรับผู้ผลิตไทยสินค้าบรรจุภัณฑ์ที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมและเป็นความท้าทายสำหรับสินค้าบรรจุภัณฑ์พลาสติกทั้งแบบที่ใช้สำหรับอาหารและไม่ใช่อาหาร (non-food) โดยผู้ประกอบการไทยควรเตรียมความพร้อมในการรับมือกับต้นทุนที่เพิ่มสูงขึ้นจากการเปลี่ยนไปผลิตบรรจุภัณฑ์ที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม และเร่งพัฒนาผลิตภัณฑ์ที่สามารถย่อยสลายได้เพื่อรองรับความต้องการของตลาด ทั้งนี้ ผู้ประกอบการไทยมีความได้เปรียบด้านทรัพยากรที่ไทยสามารถผลิตภาชนะทดแทนจากวัสดุธรรมชาติได้หลากหลาย เช่น ใบตอง ใบทองกวาว กาบหมาก ผักตบชวา ชานอ้อย ใยพืช และฟางข้าวสาลี  นอกจากนี้ ควรเร่งพัฒนาเทคโนโลยีการผลิตสินค้าบรรจุภัณฑ์จากวัสดุทางเลือกให้มีมาตรฐานและมีความคงทนเพื่อรองรับการใช้งานในรูปแบบที่แตกต่างกันออกไป

6.2 จากการยกเลิกการใช้พลาสติกแบบใช้ครั้งเดียวทิ้ง ทำให้มีความต้องการผลิตภัณฑ์ที่ทำมาจากไฟเบอร์ธรรมชาติแทนบรรจุภัณฑ์พลาสติกเพิ่มมากขึ้น โดยสมาชิกเกือบร้อยละ 89 ของสมาคมอุตสาหกรรมบรรจุภัณฑ์กระดาษและพลาสติกแบบยืดหยุ่นของเยอรมนี (Industrieverband Papier- und Folienverpackung e.V.- IPV) เล็งเห็นความต้องการนวัตกรรมที่ใช้ไฟเบอร์ในการผลิตในกลุ่มลูกค้ามากขึ้น ทั้งนี้ ผู้ประกอบการไทยสามารถศึกษาตัวอย่างและพัฒนาเทคโนโลยีบรรจุภัณฑ์แบบใหม่เพื่อเพิ่มโอกาสทางการแข่งขัน  โดยนวัตกรรมในปัจจุบันที่น่าสนใจ เช่น การใช้วัตถุดิบจากเยื่อทางเลือก (alternative fibre-based raw materials) ในการผลิตบรรจุภัณฑ์กระดาษ อย่างการใช้ขี้เลื่อยจากโรงเลื่อยมาผลิตแผ่นกระดาษแข็งและกระดาษคราฟท์ การใช้เศษเหลือจากหน่อไม้ฝรั่งในการผลิตกระดาษและบรรจุภัณฑ์ โดยผู้ประกอบการไทยสามารถศึกษาแนวทางได้จากโครงการวิจัยของ Munich University of Applied Sciences นอกจากนี้ ยังมีตัวอย่างจากผู้ประกอบการชาวฟินแลนด์เจ้าของบริษัท Fazer Bakery ที่ได้แปรรูปวัตถุดิบเหลือใช้ให้เป็นบรรจุภัณฑ์ เช่น ถุงขนมปังที่ทำจากเปลือกข้าวโอ๊ตซึ่งเป็นผลพลอยได้จากการสีข้าวโอ๊ต เป็นต้น อย่างไรก็ตาม ผู้ประกอบการไทยควรหาวัตถุดิบทางเลือกจากแหล่งอื่นเพิ่มเติม ซึ่งหากใช้วัสดุธรรมชาติที่ทางไทยมีความได้เปรียบ จะสามารถนำไปสู่การขยายตลาดเข้าสู่เยอรมนีและเพิ่มส่วนแบ่งตลาด รวมถึงเป็นการเพิ่มมูลค่าให้กับผลิตภัณฑ์และสร้างภาพลักษณ์ที่ดีให้กับสินค้าไทย ด้วยการส่งเสริมผลิตภัณฑ์เพื่อสิ่งแวดล้อมซึ่งกำลังเป็นแนวโน้มที่สำคัญในปัจจุบัน

6.3 เพื่อเพิ่มโอกาสในการขยายฐานลูกค้า ผู้ประกอบการไทยควรศึกษาเรื่องตรารับรองสินค้าบรรจุภัณฑ์เพื่อสิ่งแวดล้อม เช่น ตรา FSC ตรา PEFC ตรา TÜV SÜD ตรา EU-Eco Label หรือ ตรา Carbon Reduction Label เป็นต้น และติดตามกฎหมายบรรจุภัณฑ์ อาทิ พระราชบัญญัติว่าด้วยบรรจุภัณฑ์ (The New German Packaging Act) มาตรฐานบรรจุภัณฑ์ CEN หรือกฎหมายตรวจสอบห่วงโซ่อุปทาน (Supply Chain Law) โดยควรคำนึงและตรวจสอบกระบวนผลิตของทางบริษัทและผู้จัดหา ให้ตรงกับหลักสิทธิมนุษยชนและปฏิบัติตามแนวทางของสหประชาชาติว่าด้วยธุรกิจและสิทธิมนุษยชน (UN Guiding Principles on Business and Human Rights) นอกจากนี้ ผู้ประกอบการควรเข้าร่วมงานแสดงสินค้าในต่างประเทศ เช่น งานแสดงสินค้า FACHPACK  งานแสดงสินค้า INTERPACK เป็นต้น เพื่อสำรวจตลาด ศึกษานวัตกรรม และนำไปปรับใช้กับบริษัทของตน อย่างไรก็ตาม การศึกษาภาพรวมสภาวะตลาดสินค้าบรรจุภัณฑ์ในประเทศเยอรมนีอย่างต่อเนื่อง สามารถเพิ่มโอกาสและวิสัยทัศน์ทางการค้าจากแนวโน้มของผู้บริโภค เช่น ความต้องการในสินค้าบรรจุภัณฑ์เพื่อความยั่งยืนที่มีขนาดเล็กและพกพาสะดวก บรรจุภัณฑ์แก้ว หรือ บรรจุภัณฑ์แบบอ่อนตัว โดยผู้ประกอบการสามารถศึกษาสภาวะตลาดและแนวโน้มเหล่านี้ เพื่อนำไปปรับเปลี่ยนผลิตภัณฑ์ของตนเพื่อให้ตรงกับความต้องการของตลาด

OMD KM

FREE
VIEW