รายงานสถานการณ์การค้า สหรัฐอเมริกา ณ เมืองไมอามี เดือน กรกฏาคม 2564

อัตราการขยายตัวเศรษฐกิจ (GDP Growth) กระทรวงพาณิชย์สหรัฐฯ (U.S. Department of Commerce) รายงานอัตราการขยายตัวผลิตภัณฑ์มวลรวมประชาชาติแท้จริงไตรมาสที่ 2 ปี 2564 (ประมาณการล่วงหน้า) ที่ระดับร้อยละ 6.5 เพิ่มขึ้นเล็กน้อยจากไตรมาสที่ 1 ปี 2564 ที่ระดับร้อยละ 6.3 (ปรับปรุง) โดยมีปัจจัยสนับสนุนหลักมาจากขยายตัวของการใช้จ่ายภาคประชาชน การลงทุนถาวรที่ไม่ใช่ที่อยู่อาศัย  การส่งออก และการใช้จ่ายภาครัฐท้องถิ่น ในขณะที่การลงทุนภาคเอกชน การนำเข้า การลงทุนถาวรทางที่อยู่อาศัย และการใช้จ่ายภาครัฐบาลกลางกลับหดตัวลง สถิติอัตราการขยายตัวเศรษฐกิจสหรัฐฯ ปี 2561 – 2564 (ไตรมาสที่ 1)

อัตราการว่างงาน  กระทรวงแรงงานสหรัฐฯ (U.S. Department of Labor) รายงาน อัตราการว่างงานในสหรัฐฯ ประจำเดือน มิถุนายน 2564 ปรับตัวเพิ่มขึ้นเล็กน้อยเป็นร้อยละ 5.9 โดยมีจำนวนผู้ว่างงานในระบบเศรษฐกิจทั้งสิ้น 9.5 ล้านคน ซึ่งยังถือว่าอยู่ในเกณฑ์ที่ดีเมื่อเทียบกับในช่วงเดือนเมษายน 2563 ที่เกิดการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสและส่งผลกระทบต่อการจ้างงานภายในประเทศ โดยรวมมีการจ้างงานที่ไม่ใช่การเกษตร (Nonfarm Payroll Employment) เพิ่มขึ้นทั้งสิ้น 850,000 ตำแหน่ง กลุ่มอุตสาหกรรมที่มีการจ้างงานเพิ่ม ได้แก่ อุตสาหกรรมการโรงแรมและการท่องเที่ยว 343,000 ตำแหน่ง อุตสาหกรรมการศึกษา 155,000 ตำแหน่ง อุตสาหกรรมการบริการทางธุรกิจ 72,000 ตำแหน่ง อุตสาหกรรมค้าปลีก 67,000 ตำแหน่ง อุตสาหกรรมบริการอื่น 56,000 ตำแหน่ง อุตสาหกรรมสังคมสงเคราะห์ 32,000 ตำแหน่ง อุตสาหกรรมค้าส่ง 21,000 ตำแหน่ง อุตสาหกรรมเหมืองแร่ 10,000 ตำแหน่ง อุตสาหกรรมการผลิต 15,000 ตำแหน่ง อุตสาหกรรมการขนส่งและคงคลังสินค้า 11,000 ตำแหน่ง ในขณะที่อุตสาหกรรมการก่อสร้างกลับมีการจ้างงานลดลง 7,000 ตำแหน่ง สถิติอัตราการว่างงานสหรัฐฯ ย้อนหลัง 12 เดือน

ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภค (Consumer Confidence Index: CCI) ผู้บริโภคชาวอเมริกันมีความเชื่อมั่นในสภาวะเศรษฐกิจของสหรัฐฯ ในเดือนกรกฎาคม 2564 รักษาตัวอยู่ในระดับดีขึ้นต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 5 โดยดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภค (Consumer Confidence Index) ปรับตัวเพิ่มขึ้นจากเดิม 128.9 ในเดือนมิถุนายน 2564 (ปีฐาน: ปี 2528 = 100) เป็น 129.1 ในเดือนกรกฎาคม 2564 ดัชนีความเชื่อมั่นในภาวะปัจจุบัน (Present Situation Index) ที่ปรับตัวเพิ่มขึ้นจากเดิม 160.3 ในเดือนมิถุนายน 2564 เป็น 160.3 ในเดือนกรกฎาคม 2564 ส่วนดัชนีความคาดหวังของผู้บริโภค (Expectations Index) ไม่เปลี่ยนแปลงมากนักจากเดิม 108.5 ในเดือนมิถุนายน 2564 เป็น 108.4 ในเดือนกรกฎาคม 2564

ภาวะการค้าสินค้าและบริการ สำนักสำมะโนประชากร (The Census Bureau) กระทรวงพาณิชย์ สหรัฐฯ รายงานสถิติดุลการค้า (ส่งออก – นำเข้า) สหรัฐฯ ประจำเดือนพฤษภาคม 2564 (ข้อมูลล่าสุด) สรุปได้ ดังนี้
– สหรัฐฯ ขาดดุลการค้า สุทธิ 71,779 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือขาดดุล การค้าเพิ่มขึ้นร้อยละ 3.1 เป็นมูลค่าทั้งสิ้น 2,169 ล้านดอลลาร์สหรัฐเมื่อเทียบกับเดือนที่ผ่านมา
– สหรัฐฯ มีมูลค่าการส่งออกสินค้าและบริการในเดือนพฤษภาคม 2564 ทั้งสิ้น 206,018 ล้านดอลลาร์สหรัฐ เพิ่มขึ้นร้อยละ 0.64 เป็นมูลค่าทั้งสิ้น 1,314 ล้านดอลลาร์สหรัฐจากเดือนที่แล้ว โดยแบ่งเป็นมูลค่าการส่งออกสินค้าเพิ่มขึ้นร้อยละ 0.3 เป็นมูลค่าทั้งสิ้น 440 ล้านดอลลาร์สหรัฐ และมูลค่าการส่งออกบริการเพิ่มขึ้นร้อยละ 1.47 เป็นมูลค่าทั้งสิ้น 875 ล้านดอลลาร์สหรัฐ โดยกลุ่มสินค้าและบริการที่สหรัฐฯ ส่งออกที่เพิ่มขึ้น คือ

1) สินค้าอุปโภคบริโภคโดยเฉพาะกลุ่มเวชภัณฑ์

2) สินค้ากลุ่มอาหารและเครื่องดื่ม

3) สินค้ากลุ่มยานยนต์และชิ้นส่วนยานยนต์

4) สินค้ากลุ่มทุน ได้แก่ อากาศยาน และชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ เป็นต้น
– สหรัฐฯ มีมูลค่าการนำเข้าสินค้าและบริการในเดือนพฤษภาคม 2564 ทั้งสิ้น 277,259 ล้านดอลลาร์สหรัฐ เพิ่มขึ้นร้อยละ 1.27 เป็นมูลค่าทั้งสิ้น 3,484 ล้านดอลลาร์สหรัฐ แบ่งเป็นมูลค่าการนำเข้าสินค้าเพิ่มขี้นร้อยละ 1.18 เป็นมูลค่าทั้งสิ้น 2,741 ล้านดอลลาร์สหรัฐ และมูลค่าการนำเข้าบริการเพิ่มขึ้นร้อยละ 1.77 เป็นมูลค่าทั้งสิ้น 742 ล้านดอลลาร์สหรัฐ โดยกลุ่มสินค้าที่สหรัฐฯ นำเข้าเพิ่มขึ้น คือ

1) สินค้าอุปกรณ์และวัตถุดิบสำหรับอุตสาหกรรมหนัก เช่น น้ำมันดิบ น่ำมันเชื้อเพลิง และไม้

2) สินค้าอาหารและเครื่องดื่ม

3) สินค้ากลุ่มทุน ได้แก่ ชิ้นส่วนอุปกรณ์คอมพิวเตอร์ และชิ้นส่วนอุปกรณ์สำหรับระบบโทรคมนาคม เป็นต้น

ภาวะการค้าปลีกของสหรัฐฯ สำนักสำมะโนประชากร (The Census Bureau) กระทรวงพาณิชย์ สหรัฐฯ รายงานภาวะการค้าปลีกและการบริการอาหารรายเดือนล่วงหน้า (Advance Monthly Sales for Retail and Food Services) สหรัฐฯ ประจำเดือนมิถุนายน 2564 สามารถสรุปได้ ดังนี้

  • มูลค่าการค้าปลีกสินค้าและอาหาร (Retail & Food Services) ปรับตัวเพิ่มข้นร้อยละ 0.6 เมื่อเทียบกับเดือนที่ผ่านมาเหลือมูลค่าทั้งสิ้น 621,340 ล้านดอลลาร์สหรัฐ
  • มูลค่าการค้าปลีก (Retail Trade Sales) เพิ่มขึ้นร้อยละ 0.3 เป็นมูลค่าทั้งสิ้น 550,782 ล้านดอลลาร์สหรัฐ
  • มูลค่าการค้าปลีกไม่ผ่านร้านค้า (Nonstore Retailers) เพิ่มขึ้น ร้อยละ 1.2 เป็นมูลค่าทั้งสิ้น 87,972 ล้านดอลลาร์สหรัฐ
    กลุ่มสินค้าและบริการที่มียอดค้าปลีกปรับตัวเพิ่มขึ้น ได้แก่ สินค้าเครื่องใช้ไฟฟ้าและอุปกรณ์อิเล็คทรอนิกส์ (+ร้อยละ 3.3) สินค้าเสื้อผ้าเครื่องนุ่งห่ม (+ร้อยละ 2.6) สินค้าน้ำมันเชื้อเพลิง (+ร้อยละ 2.5) บริการร้านอาหาร (+ร้อยละ 2.3) สินค้าทั่วไป (+ร้อยละ 1.9) สินค้าเพื่อสุขภาพและสุขอนามัยส่วนบุคคล (+ร้อยละ 1.6) และสินค้าอาหารและเครื่องดื่ม (+ร้อยละ 0.6) ตามลำดับ
    กลุ่มสินค้าและบริการที่มียอดค้าปลีกปรับตัวลดลง ได้แก่ สินค้าเฟอร์นิเจอร์ (-ร้อยละ 3.6) สินค้ายานพาหนะและชิ้นส่วนอะไหล่ (-ร้อยละ 2.0) สินค้าอุปกรณ์กีฬา (ร้อยละ -1.7) และสินค้าวัสดุอุปกรณ์ก่อสร้าง (-ร้อยละ 1.6) ตามลำดับ

ภาวะการค้าระหว่างไทยและสหรัฐฯ ในเดือนพฤษภาคม 2564 (ข้อมูลล่าสุด) ไทยและสหรัฐฯ มีมูลค่าการค้ารวมระหว่างกันเป็นมูลค่าทั้งสิ้น 5.37 พันล้านดอลลาร์สหรัฐขยายตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 52.29 เมื่อเทียบกับปีที่ผ่านมา โดยไทยมีดุลการค้าเกินดุลทั้งสิ้น 3.36 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ ขยายตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 58.09 เมื่อเทียบกับปีที่ผ่านมา

  • ไทยส่งออกไปสหรัฐฯ เป็นมูลค่าทั้งสิ้น 4.36 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ ขยายตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 54.47 เมื่อเทียบกับปีที่ผ่านมาโดยสินค้าส่งออกหลัก ได้แก่ เครื่องประมวลผลข้อมูล (+ร้อยละ 43.00) ยางรถยนต์ (+ร้อยละ 71.49) อุปกรณ์โทรศัพท์ (+ร้อยละ 11.96) เสื้อผ้าเครื่องนุ่งห่ม (+ร้อยละ 310.18) และเครื่องปรับอากาศ (-ร้อยละ 109.89)
  • ไทยนำเข้าจากสหรัฐฯ เป็นมูลค่าทั้งสิ้น 1.01 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ ขยายตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 43.51 เมื่อเทียบกับปีที่ผ่านมา โดยสินค้านำเข้าหลัก ได้แก่ แผงวงจรไฟฟ้า (+ร้อยละ 15.94) ชิ้นส่วนรถยนต์ (+ร้อยละ 413.08) เศษกระดาษ (+ร้อยละ 460.48) อุปกรณ์โทรศัพท์ (+ร้อยละ 51.20) ชิ้นส่วนเครื่องจักร (+ร้อยละ 234.51)
OMD KM

FREE
VIEW