รายงานสถานการณ์การค้าอียิปต์ เดือนมีนาคม 2565

กระทรวงวางแผนและการพัฒนาเศรษฐกิจของอียิปต์ได้ปรับประมาณการอัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจในปีงบประมาณ 2565/2566 (เริ่มจากวันที่ 1 กรกฎาคม 2565 – วันที่ 30 มิถุนายน 2566) จากเดิมที่ร้อยละ 5.7 ลงมาเหลือร้อยละ 5.5 ซึ่งส่วนหนึ่งเป็นผลจากความขัดแย้งระหว่างรัสเซียและยูเครน ซึ่งส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจระหว่างประเทศทั้งในด้านการค้า การลงทุน และอัตราเงินเฟ้อ

ในปีงบประมาณ 2565/2566 คาดว่าการลงทุนภาคสาธารณะของอียิปต์จะเพิ่มขึ้นร้อยละ 15.2 คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 78 ของการลงทุนทั้งหมด โดยกระทรวงการคลังของอียิปต์จะปรับโครงสร้างของงบประมาณประจำปี 2565/2566 เพื่อให้สอดรับกับสถานการณ์ของเศรษฐกิจโลกและภาวะเศรษฐกิจภายในประเทศที่เปลี่ยนแปลงไป โดยตั้งเป้างบประมาณเกินดุลที่ร้อยละ 2 เพิ่มจากปีงบประมาณ 2564/2565 ที่ร้อยละ 1.5 และตั้งเป้าหมายการลดสัดส่วนหนี้สาธารณะต่อ GDP ให้ต่ำกว่าร้อยละ 90 ในปีงบประมาณ 2565/2566

ทั้งนี้ จากการที่ธนาคารกลางอียิปต์ได้ประกาศมาตรการให้ผู้นำเข้าสินค้าของอียิปต์จะต้องเปิด Letters of Credit (L/C) ในการชำระค่าสินค้าที่นำเข้า ซึ่งได้เริ่มมีผลบังคับใช้ ตั้งแต่วันที่ 22 กุมภาพันธ์ 2565 โดยจะไม่รับการชำระเงินค่าสินค้าในรูปแบบอื่นทั้ง T/T, D/P และ D/A โดยมีข้อยกเว้นให้สำหรับสาขาบริษัทต่างชาติและบริษัทในเครือที่ตั้งอยู่ในอียิปต์ และกรณีที่การสั่งซื้อมีมูลค่าน้อยกว่า 5,000 เหรียญสหรัฐฯ รวมถึงยกเว้นให้สำหรับการสั่งซื้อสินค้าประเภท ยา วัคซีน เคมีภัณฑ์ เนื้อสัตว์ สัตว์ปีก ปลา ข้าวสาลี ชา นมผง นมสำหรับทารก เนย ข้าวโพด ถั่ว  

ล่าสุดเมื่อวันที่ 21 มีนาคม 2565 เงินปอนด์อียิปต์ได้ลดค่าต่ำสุดในรอบเกือบ 5 ปีเมื่อเทียบกับเงินเหรียญสหรัฐฯ โดยมีอัตรารับซื้อที่ EGP 18.1 ต่อ 1 USD และอัตราขายที่ EGP 18.2 ต่อ 1 USD ลดลงค่าลงจาก EGP 15.6 และ EGP 15.7 ตามลำดับจากเมื่อวันก่อนหน้า

ธนาคารกลางอียิปต์ให้เหตุผลถึงการลดค่าเงินดังกล่าวเพื่อรักษานักลงทุนต่างชาติและสร้างความเชื่อมั่นของตลาดการเงินทั่วโลกที่มีต่ออียิปต์ รวมทั้งรักษาสภาพคล่องของเงินตราต่างประเทศในตลาดท้องถิ่น ทั้งนี้ นักวิเคราะห์สถาบันจาก Fitch Ratings คาดว่าอียิปต์จะประสบปัญหารายได้จากการท่องเที่ยวที่ลดลง ระดับราคาอาหารที่ปรับตัวสูงขึ้น และความท้าทายทางการเงินจากการไหลออกของการลงทุนจากต่างประเทศ โดยเฉพาะในตลาดตราสารหนี้ของอียิปต์ ซึ่งส่วนหนึ่งเป็นผลกระทบจากการบุกยูเครนของรัสเซีย ทั้งนี้ ประเมินว่า การลงทุนจากต่างประเทศในตลาดตราสารหนี้ของอียิปต์มีมูลค่าสูงถึง 28,800 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ณ สิ้นปี 2564 ซึ่งคิดเป็นเกือบร้อยละ 56 ของทุนสำรองเงินตราต่างประเทศของอียิปต์

อียิปต์เป็นตลาดส่งออกหลักของไทยในภูมิภาคแอฟริกาตอนเหนือ ด้วยสัดส่วนของการส่งออกในปี 2564 คิดเป็นร้อยละ 68 ของการส่งออกของไทยมาภูมิภาคแอฟริกาตอนเหนือ รองลงไป ได้แก่ ลิเบีย (ร้อยละ 11) โมร็อกโก (ร้อยละ 6.7) ตูนีเซีย (ร้อยละ 5.7) และแอลจีเรีย (ร้อยละ 3.6)

ในขณะที่แหล่งนำเข้าของไทยจากภูมิภาคแอฟริกาตอนเหนือ ได้แก่ ลิเบีย (ร้อยละ 56) แอลจีเรีย (ร้อยละ 37.2) โมร็อกโก (ร้อยละ 3) อียิปต์ (ร้อยละ 2.7) และตูนีเซีย (ร้อยละ 0.9) ด้วยมูลค่าการนำเข้ารวมทั้งสิ้น 1,935 ล้านเหรียญสหรัฐฯ โดยสินค้านำเข้าหลัก ได้แก่ น้ำมันดิบ ซึ่งมีแหล่งนำเข้าหลักจาก ลิเบีย และแอลจีเรีย ส่งผลให้ไทยขาดดุลการค้ากับภูมิภาคแอฟริกาตอนเหนือ รวม 224 ล้านเหรียญสหรัฐฯ

สำหรับการส่งออกของไทยมาอียิปต์ในช่วง 2 เดือนแรกของปี 2565 ไทยส่งออกมาอียิปต์มูลค่า 186 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ขยายตัวร้อยละ 11 จากช่วงเดียวกันของปีก่อน โดยสินค้าอาหารทะเลกระป๋องและแปรรูป เป็นสินค้าส่งออกอันดับ 1 ด้วยมูลค่า 35.8 ล้านเหรียญสหรัฐฯ (เพิ่มขึ้นร้อยละ 10) รถยนต์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ มูลค่า 28 ล้านเหรียญสหรัฐฯ (ลดลงร้อยละ 2.4) และเคมีภัณฑ์ มูลค่า 22 ล้านเหรียญสหรัฐฯ (เพิ่มขึ้นร้อยละ 7)

ความคิดเห็นของ สคต.

สคต. ประเมินว่า การส่งออกของไทยในปี 2565 น่าจะมีความท้าทายมากขึ้นเนื่องจากมาตรการด้านการค้าของอียิปต์ที่ส่งผลกระทบต่อการส่งออก เช่น การจดทะเบียนโรงงานสำหรับสินค้านำเข้าบางรายการตามประกาศของกระทรวงการค้าฯ การเปิด Letter of Credit (L/C) เพื่อจ่ายชำระค่าสินค้าที่นำเข้า และการลงทะเบียนเพื่อนำเข้าสินค้าล่วงหน้า (Pre-registration) เป็นต้น จึงเป็นสิ่งที่ผู้ประกอบการจะต้องเรียนรู้และปรับตัวอย่างเหมาะสม

สำหรับการประกาศใช้มาตรการ L/C ในการนำเข้าสินค้าของธนาคารกลางอียิปต์น่าจะมีวัตถุประสงค์เพื่อช่วยให้ผู้นำเข้าสามารถปรับตัวได้ทันและลดผลกระทบที่อาจจะเกิดขึ้นจากการตกลงซื้อขายสินค้าระหว่างประเทศซึ่งจะต้องชำระค่าสินค้าเป็นสกุลเงินต่างประเทศ อย่างไรก็ดี ภายหลังจากการปรับลดค่าเงินปอนด์อียิปต์ตังกล่าวแล้ว ยังคงต้องติดตามว่า ธนาคารกลางอียิปต์จะยังคงมาตรการนี้ต่อไปหรือไม่ เนื่องจากจะส่งผลกระทบโดยตรงต่อต้นทุนสินค้านำเข้าที่สูงขึ้นทั้งจากค่าเงินปอนด์อียิปต์ที่ลดลง และค่าธรรมเนียมในการเปิด L/C ที่เพิ่มขึ้น

Leave a Comment

Your email address will not be published. Required fields are marked *

OMD KM

FREE
VIEW