รายงานสถานการณ์การค้า แคนาดา ณ นครแวนคูเวอร์ เดือน สิงหาคม 2564

1. เครื่องชี้วัดเศรษฐกิจแคนาดา

  • สินค้าส่งออกสำคัญ ได้แก่ น้ำมันดิบ ยานยนต์และส่วนประกอบ เครื่องยนต์กังหันไอพ่น อัญมณีและทองคำยังไม่ขึ้นรูป เครื่องโทรศัพท์และอุปกรณ์ เป็นต้น
  • สินค้านำเข้าสำคัญ ได้แก่ ยานยนต์และส่วนประกอบ เครื่องประมวลผลข้อมูล น้ำมันดิบ อุปกรณ์ไฟฟ้าและส่วนประกอบ อัญมณีและทองคำ เป็นต้น
  • ตลาดส่งออกสำคัญ 5 ประเทศแรก ได้แก่ สหรัฐอเมริกา จีน สหราชอาณาจักร ญี่ปุ่น และเม็กซิโก
  • แหล่งนำเข้าสำคัญ 5 ประเทศแรก คือ สหรัฐอเมริกา จีน เม็กซิโก เยอรมนี และญี่ปุ่น

2. สรุปภาวะเศรษฐกิจแคนาดา

  ภาพรวมเศรษฐกิจแคนาดามีแนวโน้มที่ดีขึ้น โดยเครื่องชี้การบริโภคภาคเอกชนปรับดีขึ้นตามการผ่อนคลายมาตรการควบคุมการระบาด COVID-19  รวมทั้งการกระจายฉีดวัคซีนมากขึ้นและจำนวนผู้ติดเชื้อไวรัสรายวันลดลง (ข้อมูลปัจจุบัน 23/8/2564 ชาวแคนาดาร้อยละ 66.1 ได้รับวัคซีนครบโดสแล้ว)  สอดคล้องกับการจ้างงานที่เพิ่มขึ้นในเกือบทุกสาขาโดยเฉพาะธุรกิจบริการท่องเที่ยวและร้านอาหาร จากการเริ่มเปิดชายแดนให้ชาวอเมริกันเดินทางเข้ามาในแคนาดาได้บ้าง ด้านการค้าระหว่างประเทศเกินดุลตามการฟื้นตัวส่งออกสินค้าหมวดพลังงานและผลิตภัณฑ์ป่าไม้เป็นสำคัญ อย่างไรก็ดี แม้ว่าสถานการณ์เศรษฐกิจในแคนาดาจะฟื้นตัวดีขึ้น แต่ยังมีความไม่แน่นอนในเรื่องของการแพร่ระบาดระลอกสี่ของ COVID-19  สายพันธุ์เดลต้าที่อาจมากระทบต่อการขยายตัวเศรษฐกิจได้อีกครั้ง

รายละเอียดของภาวะเศรษฐกิจแคนาดา มีดังนี้

  • ด้านเสถียรภาพเศรษฐกิจ ดัชนีราคาผู้บริโภค (อัตราเงินเฟ้อทั่วไป) เดือนกรกฎาคม 2564 อยู่ที่ 142.3 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนสูงขึ้นร้อยละ 3.7 (YoY) ขยายตัวแบบเร่งขึ้นจากเดือนก่อนหน้าที่สูงขึ้นร้อยละ 3.1 (YoY) โดยเฉพาะราคาหมวดเคหสถานสูงขึ้นร้อยละ 4.8 (YoY) จากราคาสินค้าก่อสร้างและซ่อมแซมบ้านปรับตัวเพิ่มขึ้นมาก และหมวดพลังงานโดยราคาน้ำมันปรับสูงขึ้นร้อยละ 30.9 (YoY) จากความต้องการใช้สูงมากกว่าปริมาณการผลิตจากกลุ่มโอเปกพลัส  นอกจากนั้นสินค้าที่มีการปรับราคาเพิ่มขึ้นแบบเร่งขึ้นจากเดือนก่อนหน้า ได้แก่ สินค้าคงทน (รถยนต์) เพิ่มขึ้นร้อยละ 5.5 เฟอร์นิเจอร์ (โซฟาผ้าบุ) เพิ่มขึ้นร้อยละ 13.4 อุปกรณ์วิดีโอ (โทรทัศน์) เพิ่มขึ้นร้อยละ 4.8 จากความต้องการเพิ่มขึ้นในขณะที่ชิ้นส่วนการผลิตชิปเชมิคอนดักเตอร์ยังคงขาดแคลน สำหรับหมวดอาหารสูงขึ้นร้อยละ 4.8 ตามการสูงขึ้นของราคาเนื้อสัตว์และผลิตภัณฑ์จากนม แต่มีปัจจัยทอนจากราคาผักและผลไม้สดลดลง  ทั้งนี้ เมื่อหักอาหารสดและพลังงานออกแล้ว เงินเฟ้อพื้นฐานขยายตัวที่ร้อยละ 2.8
  • การบริโภคภาคเอกชน อยู่ในแนวโน้มที่ดีขึ้นตามความเชื่อมั่นของผู้บริโภคที่ปรับตัวสูงขึ้น เป็นผลจากสถานการณ์การแพร่ระบาด COVID-19 ทยอยปรับตัวดีและการกระจายการฉีดวัคซีนในวงกว้างขึ้น โดยคาดการณ์การใช้จ่ายของผู้บริโภคจะเร่งขึ้นช่วงครึ่งปีหลังของปีในเกือบทุกหมวดการใช้จ่ายทั้งสินค้าคงทน สินค้าไม่คงทนและธุรกิจบริการ จากปัจจัยสนับสนุนเงินออมสะสมชาวแคนาดาในช่วงล็อกดาวน์ที่ประเมินว่าอยู่ที่ราว 1.78 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐ ซึ่งอาจเห็นผู้บริโภคกลับมาใช้สอยในระดับที่เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วได้ (Pent-up Demand)
  • ตลาดแรงงงาน เดือนกรกฎาคม 2564 ทยอยปรับดีขึ้น อัตราการว่างงานอยู่ที่ร้อยละ 7.5 ลดลง 0.3 จากเดือนก่อนหน้าที่อยู่ร้อยละ 7.8 จากการที่แต่ละรัฐเกือบทั่วประเทศผ่อนคลายมาตรการล็อกดาวน์และอนุญาตให้ธุรกิจหลายประเภทสามารถเปิดให้บริการได้ ในการนี้ การจ้างงานเพิ่มขึ้น 94,000 (+ร้อยละ 0.5) ตำแหน่ง ต่อเนื่องจากเดือนก่อนหน้า โดยส่วนมากเป็นการจ้างงานประเภทเต็มเวลา 83,000 ตำแหน่งและงานพาร์ทไทม์ 11,000 ตำแหน่ง โดยการจ้างงานเกิดขึ้นในสาขา ได้แก่ ธุรกิจโรงแรม-ร้านอาหาร (+35,000 ตำแหน่ง) สาขาการเงิน ประกันภัย/อสังหาริมทรัพย์/บริการผู้ให้เช่า  (+15,000 ตำแหน่ง) เป็นสำคัญ
  • สถานการณ์ส่งออกสินค้าของแคนาดา เดือนมิถุนายน 2564 ขยายตัวร้อยละ 8.7 จากเดือนก่อนหน้า คิดเป็นมูลค่า 53,761.7 ล้านดอลลาร์แคนาดา จากการส่งออกเพิ่มขึ้นเกือบทุกหมวดสินค้า โดยสินค้าที่ส่งออกเพิ่มขึ้นชัดเจน ได้แก่ (1) สินค้าหมวดพลังงาน เพิ่มขึ้นร้อยละ 22.9 ตามปริมาณการผลิตและราคาที่เพิ่มขึ้น คิดเป็นมูลค่าส่งออก 11,300 ล้านดอลลาร์แคนาดา นับเป็นมูลค่าส่งออกสูงสุดนับจากมีนาคม 2562 ประกอบด้วยน้ำมันดิบเพิ่มขึ้นร้อยละ 25.7 ผลิตภัณฑ์ปิโตรเลียมสำเร็จรูปเพิ่มขึ้นร้อยละ 37.1 และก๊าซธรรมชาติเพิ่มขึ้นร้อยละ 23.3 (2) สินค้าหมวดยานยนต์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ เพิ่มขึ้นร้อยละ 14.9 จากปัญหาการขาดแคลนชิ้นส่วนเซมิคอนดักเตอร์เริ่มฟื้นตัวดีขึ้น ส่งให้ปริมาณการผลิตรถยนต์สามารถปรับตัวเพิ่มขึ้นจากช่วงก่อนหน้า (3) สินค้าหมวดผลิตภัณฑ์โลหะและแร่อโลหะ เพิ่มขึ้นร้อยละ 12.7 โดยแยกเป็นหมวดย่อย ได้แก่ ทองคำที่ยังไม่ขึ้นรูป เงิน แพลทินัม เพิ่มขึ้นร้อยละ 23.2 และอะลูมิเนียมยังไม่ขึ้นรูป เพิ่มขึ้นร้อยละ 19.0 ในการนี้ส่งให้แคนาดามีดุลการค้าเกินดุล 3,230.8 ล้านดอลลาร์แคนาดา
  • สถานการณ์นำเข้าสินค้าของแคนาดา เดือนมิถุนายน 2564 ลดลงร้อยละ 1.0 จากเดือนก่อนหน้า คิดเป็นมูลค่า 50,530.9 ล้านดอลลาร์แคนาดา จากการนำเข้าลดลงหลายรายการ ได้แก่ (1) สินค้าหมวดอุปโภคบริโภค ลดลงร้อยละ 18.7 โดยรวมไปถึงโลหะมีค่าที่นำเข้าจากสหรัฐ อุปกรณ์ป้องกันส่วนบุคคล (PPE) และเสื้อผ้า รองเท้าและเครื่องแต่งกายอื่น ๆ เนื่องจากความต้องการในประเทศลดลงและอุปสรรคการขนส่งจากท่าเรือฝั่งเอเชียที่ล่าช้าจากสถานการณ์ ล็อกดาวน์เมืองในบางประเทศ (2) สินค้าหมวดยานยนต์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ ลดลงร้อยละ 3.8 จากการขาดแคลนเซมิคอนดักเตอร์ที่เป็นชิ้นส่วนสำคัญสำหรับการผลิตรถยนต์ ส่งให้ภาพรวมการนำเข้ารถยนต์นั่งโดยสารและรถบบรทุกขนาดเล็กไตรมาส 2/2564 ลดลงถึงร้อยละ 24.4 อย่างไรก็ดี ขณะเดียวกันสินค้าที่มีการนำเข้าเพิ่มขึ้นอยู่ในสินค้าหมวดเครื่องบิน และอุปกรณ์ชิ้นส่วนสำหรับการขนส่งอื่นๆ ขยายตัวร้อยละ 28.0 จากการนำเข้าเครื่องโดยสารและเครื่องบินคาร์โก้ในประเทศ
  • สถานการณ์การลงทุน จะเน้นไปในทิศทางการลงทุนด้านอสังหาริมทรัพย์ (residential investment) ในประเทศมากกว่าการลงทุนในเชิงธุรกิจ (business investment) จากความต้องการที่พักอาศัยเพิ่มขึ้นต่อเนื่องจากช่วงสถานการณ์ COVID-19 และอัตราดอกเบี้ยนโยบายระดับต่ำ ในขณะที่การลงทุนธุรกิจยังไม่ฟื้นตัวชัดเจน เพราะขาดแรงจูงใจการลงทุนในประเทศ โดยเฉพาะสิทธิ​ประโยชน์ทางภาษีที่ไม่ดึงดูดเทียบกับสหรัฐฯ และหลายประเทศในยุโรป
  •  บริษัทไทยไปลงทุนในแคนาดา ได้แก่ บริษัท ปต.สผ. (แคนาดา)  บริษัท CPF (ธุรกิจสุกรครบวงจร) บริษัท บุญรอดบริวเวอรี่ จำกัด (ตัวแทน)     

  3. สถานการณ์การค้าระหว่างประเทศไทยกับแคนาดา

4. สินค้าส่งออกหลักจากไทยไปแคนาดา (มกราคม – มิถุนายน 2564)

ที่สินค้ามูลค่า (ล้าน USD)สัดส่วน (%)ขยายตัว (%)
1เครื่องคอมพิวเตอร์ อุปกรณ์ และส่วนประกอบ165.1510.7444.54
2เครื่องโทรสาร โทรศัพท์ และอุปกรณ์84.145.47-2.26
3อาหารทะเลกระป๋อง71.534.65-8.10
4เครื่องปรับอากาศ58.333.79165.23
5วงจรรวมที่ใช้ในทางอิเล็กทรอนิกส์53.543.4842.60
6เครื่องทำน้ำร้อนไฟฟ้าและส่วน47.583.0939.11
7ยางรถยนต์46.022.9932.08
8ข้าว45.172.94-34.45
9อัญมณีและเครื่องประดับ43.752.8413.24
10เครื่องพิมพ์ใช้สำหรับการพิมพ์42.192.7457.93
 อื่น ๆ880.7857.2627.41
 รวม1,538.17100.0024.82

            5. สินค้านำเข้าหลักจากแคนาดามาไทย (มกราคม – มิถุนายน 2564)

ที่สินค้ามูลค่า (ล้าน USD)สัดส่วน (%)ขยายตัว (%)
1ปุ๋ย , โพแทสเซียม29.2439.9929.24
2ข้าวสาลีและเมสลิน46.0534.7546.05
3เยื่อไม้เคมีชนิดละลายได้14.4830.7214.48
4เยื่อไม้โซดา เยื่อไม้ซัลเฟต16.4529.3616.45
5ด้ายใยยาวสังเคราะห์ (นอกจากด้ายเย็บ)8.2924.058.29
6ถั่วเหลือง13.5020.4413.50
7สังกะสีที่ยังไม่ได้ขึ้นรูป 15.28 
8กรดโพลิคาร์บอกซิลิกและแอนไฮไดรด์10.2410.0610.24
9สิ่งของทั่วไปสำหรับช่วยเหลือบริจาค7.639.607.63
10วงจรอิเล็กทรอนิกส์8.807.318.80
 อื่น ๆ155.9741.316.45
 รวม377.53100.0025.35

6. ยุทธศาสตร์/กิจกรรมของสำนักงานฯ

  • โครงการจัดกิจกรรมส่งเสริมการขายสินค้าอาหารไทยร่วมกับผู้นำเข้า/ซูเปอร์มาร์เก็ตในพื้นที่ฝั่งตะวันตกของแคนาดา
  • โครงการส่งเสริมการขายสินค้าข้าวและผลิตภัณฑ์จากข้าวร่วมกับซูเปอร์มาร์เก็ตทางฝั่งตะวันตกของประเทศแคนาดา
  • โครงการประชาสัมพันธ์ผลิตภัณฑ์อาหารและข้าวของไทยผ่านสื่อออนไลน์หรือโซเชียลมิเดีย
  • การสำรวจร้านอาหารไทยในเขตอาณาที่ได้มาตรฐานเพื่อให้การรับรองและมอบตราสัญลักษณ์ Thai SELECT
  • การประชาสัมพันธ์เว็บไซต์และร้านอาหาร Thai SELECT ในสื่อโซเชียลมิเดียโดย Influencer ที่มีชื่อเสียง
  • การพบปะและสร้างความสัมพันธ์กับผู้นำเข้า ผู้ประกอบธุรกิจ ตลอดจนหน่วยงานที่เกี่ยวข้องด้านเศรษฐกิจและการค้า

OMD KM

FREE
VIEW