รายงานสถานการณ์การค้าสาธารณรัฐอิตาลี ณ เมืองมิลาน เดือนสิงหาคม 2565

ถอดบทเรียนจากอิตาลี ผู้นำแห่งสินค้าบ่งชี้ภูมิศาสตร์

อิตาลีเป็นประเทศที่มีผลิตภัณฑ์อาหารเกษตรที่ได้รับการขึ้นทะเบียนสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ (Geographical Indications หรือ G.I.) ของสหภาพยูโรปจำนวนมากที่สุด รวมทั้งสิ้น 843 รายการ (แบ่งเป็นผลิตภัณฑ์อาหารเกษตร 317 รายการ และไวน์ 526 รายการ) หรือสัดส่วนกว่า 200 ของสินค้าบ่งขี้ทางภูมิศาสตร์ทั้งหมด ถือเป็นสินค้าที่มี บทบาทสำคัญของห่วงโซ่อุปทานสินค้าเกษตรอาหาร ยืนยันคุณภาพและความเป็นเอกลักษณ์ของสินค้า Made in Italy ในระดับโลก และแสดงให้เห็นถึงความสัมพันธ์อันแนบแน่นของความเป็นเลิศของสินค้าอาหารเกษตรของอิตาลีกับแหล่งกำเนิดอย่างแท้จริง

ระบบสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ของสหภาพยุโรป (ตามกฎระเบียบ EU 1151/2012) เป็นระบบการกำหนดและขึ้นทะเยี่ยนสินค้าคุณภาพที่ได้รับการรับรองโดยสหภาพยุโรป ซึ่งออกโดยหน่วยงานที่รับผิดชอบที่กำหนดโดยกระทรวงนโยบายเกษตรและป่าไม้ มีเป้าหมายเพื่อปกป้องคุณภาพ ส่งเสริมระบบการผลิตสินค้าอาหารเกษตร สนับสนุนเศรษฐกิจและความสามัคคีในพื้นที่ และการปกป้องสิ่งแวดล้อม นอกจากนี้ จะช่วยส่งเสริมให้ผู้ผลิตดูแลรักษาคุณภาพมาตรฐานสินค้าและในการรักษาภูมิปัญญาท้องถิ่นที่อาจประสบปัญหาในการแข่งขันกับสินค้ำที่ผลิตจากโรงงานครั้งละมากๆ ขณะเดียวกัน การรับรองจากสหภาพยุโรปยังเป็นหลักประกันสำหรับผู้บริโภคในด้านคุณภาพ มูลค่าของสินค้า การตรวจสอบย้อนกลับความปลอดภัยของอาหาร และให้ข้อมูลที่ชัดเจนแก่ผู้บริโภคเกี่ยวกับผลิตภัณฑ์ ว่ากระบวนการผลิตทั้งหมดดำเนินตามวิธีที่เชื่อมโยงกับคุณลักษณะเฉพาะของพื้นที่และเป็นไปตามระเบียบ

ทั้งนี้ สิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ของสหภาพยุโรปแบ่งออกเป็น 3 ประเภท ได้แก่ PGI (Protected Geographical Indication), PDO (Protected Designation of Origin) และ TSG (Traditional Specialty Guaranteed) PGI (Protected Geographical Indication) เป็นตราที่ระบุสินค้าที่มีแหล่งกำเนิดในพื้นที่ทางภูมิศาสตร์ เฉพาะ ซึ่งเมื่อเวลาผ่านไปได้สร้างความโดดเด่นในด้านคุณภาพและมีชื่อเสียง และมีการผลิตหรือผ่านกระบวนการผลิต อย่างน้อยหนึ่งขั้นตอนที่เป็นไปตามแบบฉบับในพื้นที่ทางภูมิศาสตร์นั้น PDO (Protected Designation of Origin) เป็นตราที่ระบุสินค้าที่มีแหล่งกำเนิดในพื้นที่ทางภูมิศาสตร์ เฉพาะ ซึ่งก่อให้เกิดคุณภาพหรือคุณลักษณะเฉพาะจากสภาพแวดล้อมทางภูมิศาสตร์เฉพาะ และปัจจัยทางธรรมชาติและมนุษย์ที่ถูกถ่ายทอด (เช่น เทคนิคงานฝีมือประจำถิ่น และมีขั้นตอนการผลิตในพื้นที่ทางภูมิศาสตร์นั้น โดยใช้ know-how ที่เป็นที่ยอมรับ โดยรวมแล้วปัจจัยเหล่านี้ก่อให้เกิดเป็นสินค้าที่มีเอกลักษณ์เฉพาะตัว ไม่สามารถเลียนแบบได้ และควรค่าแก่การปกป้อง TSG (Traditional Specialty Guaranteed) เป็นตราที่ระบุสินค้าที่เป็นไปตามวิธีการผลิตเฉพาะ ความชำนาญพิเศษ และสูตรดั้งเดิม โดยไม่คำนึงถึงพื้นที่ทางภูมิศาสตร์ของแหล่งผลิต

บทบาทที่แท้จริงของสินค้าบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ช้องอิตาลี สถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อ Covid-19 ได้ตั้งคำถามมากมายเกี่ยวกับระบบห่วงโซ่อุปทาน การผลิต การจำหน่าย และการบริโภคในอิตาลี และสินค้าบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ในภาคเกษตรอาหารและไวน์ได้แสดงให้เห็นบทบาทสำคัญ ซึ่งเป็นภาคที่มีผู้ประกอบการกว่า 2 แสนรายและ consortium (กิจการร่วมค้า) 286 แห่ง โดยจากรายงานการวิเคราะห์ XIX Ismea-Qualivita Report เกี่ยวกับสินค้าบ่งขี้ทางภูมิศาสตร์ของอิตาลี ซึ่งเผยแพรในเดือนกุมภาพันธ์ 2565 แสดงให้เห็นว่าในปี 2563 สิ่นค้าบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ของอิตาลี (PDO และ PG) มีมูลค่าการผลิตถึง 16.6 พันล้านยูโร (ลดลง -2.0% ซึ่งนับเป็นตัวเลขลดลงที่ต่ำมาก หากพิจารณาว่าก่อนหน้าการเกิดการแพร่ระบาดของเชื้อ Covid-19 ภาคสินค้าบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์มีการเติบโตติดต่อกันเป็นระยะเวลา 10 ปี) หรือเท่ากับ 19% ของผลประกอบการของอุตสาหกรรมเกษตรอาหารของอิตาลีทั้งหมด โดยแบ่งเป็นการผลิตไวน์ 9.3 พันล้านยูโร และการผลิตอาหารเกษตรมูลค่า 7.3 พันล้านยูโร (-3.8%) มีผู้ประกอบการกว่า 86,000 ราย consortium ที่ได้รับอนุญาต 165 แห่ง และหน่วยงานควบคุม 46 แห่ง มูลค่าการผลิต 7.3 พันล้านยูโร (-3.8%) โดยมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น +34% นับตั้งแต่ปี 2553 มูลค่าการบริโภคอยู่ที่ 15.2 พันล้านยูโร

ขณะที่การส่งออกสินค้าบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ของอิตาลีมีมูลค่าอยู่ที่ 9.5 พันล้านยูโร (-0.1%) หรือสัดส่วนเท่ากับ 20% ของการส่งออกของประเทศ ซึ่งได้รับผลกระทบจากการส่งออกไปยังประเทศนอกสหภาพยุโรปในระหว่างสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อ Covid-19 โดยแบ่งเป็นการส่งออกไวน์ 5.57 พันล้านยูโร (-1.3%) การส่งออกอาหารเกษตรมูลค่า 3.92 พันล้านยูโร (+1.6%) เพิ่มขึ้นกว่าหนึ่งเท่าตัวนับตั้งแต่ปี2553 (+104%) โดยประเทศส่งออกหลัก ได้แก่เยอรมนี (770 ล้านยูโร) สหรัฐอเมริกา (647 ล้านยูโร) ฝรั่งเศส (520 ล้านยูโร) และสหราชอาณาจักร (268 ล้านยูโร)

ทั้งนี้ หนึ่งในปัจจัยที่ช่วยส่งเสริมความเป็นเลิศของสินค้าบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ของอิตาลี นอกเหนือจากปัจจัยทางธรรมชาติและการถ่ายทอดภูมิความรู้จากรุ่นสู่รุ่นแล้ว ยังมีการนำนวัตกรรมเข้ามาใช้และการรวมตัวของผู้ผลิตเป็น consortium ที่มีบทบาทสำคัญในการตรวจสอบและควบคุมคุณภาพของสินค้า (ทั้งทางวิทยาศาสตร์ และความชำนาญในการแยกแยะคุณภาพด้วยการชิม)รวมถึงการตรวจสอบย้อนกลับ รวมทั้งมีการประกวดให้รางวัลผู้ผลิตประจำปี และการเข้ามามีบทบาทของกระทรวงนโยบายเกษตรและป่าไม้ในการควบคุมสินค้าให้เป็นไปตามกฎระเบียบของสหภาพยุโรปและการออกใบอนุญาต

อย่างไรก็ตาม สหภาพยุโรปมีแผนดำเนินการปฎิรูปการขึ้นทะเบียนสินค้าบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ภายในปี 2566 ซึ่งปัจจุบันสหภาพยุโรปมีจำนวนสินค้าบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์อยู่ที่ กว่า 3,400 รายการ มูลค่า 75 พันล้านยูโร เพื่อให้ขั้นตอนระบบทางราชการมีความคล่องตัวมากขึ้น (เช่น ลดเวลาการลงทะเบียน) การเน้นด้านความยั่งยืน และให้อำนาจที่มากขึ้นแก่สมาคมผู้ผลิต เพื่อสนับสนุนการเติบโตทางเศรษฐกิจของชุมชนและให้ได้รับการรับรองในระดับที่สูงขึ้น อย่างไรก็ตาม อิตาลีแสดงความไม่เห็นด้วยกับการปฏิรูปดังกล่าว และต้องการให้มีการเปลี่ยนแปลงของข้อเสนอ

ปัจจุบัน โดยได้แสดงความห็นเกี่ยวกับปัญหาบางประการที่ต้องได้รับแก้ไข เริ่มจากการเสริมสร้างความแข็งแกร่งของ consortium โดยรับประกันทรัพยากรเพื่อสู้กับปัญหาที่ต้องเผชิญ เข่น การแข่งขันกับผู้ค้าปลีกรายใหญ่ นอกจากนี้ อิตาลีขอให้มีการลดความซับซ้อนในขั้นตอนอย่างรอบคอบ เพื่อหลีกเลี่ยงไม่ให้ความเป็นเลิศของสินค้าที่ต่างกันอยู่ในระดับเดียวกัน เพื่อให้คุณค่าที่สำคัญที่สุดในมุมมองของการผลิตและคุณภาพสินค้า

ความคิดเห็นของ สคต.

ปัจจุบัน สินค้าสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ของไทยที่ได้ขึ้นทะเบียนเป็นสินค้าสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ในสหภาพยุโรปมีเพียง 3 รายการ คือ ข้าวหอมมะลิทุ่งกุลาร้องไห้ กาแฟดอยตุง และกาแฟดอยช้าง ซึ่งหากในอนาคตไทยสามารถผลักดันให้มีการจดทะเบียนรายการสินค้าอาหารที่เป็นสินค้าสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ในสหภาพยุโรปได้เพิ่มขึ้นโดยเฉพาะสินค้าผลไม้ (มะม่วง ทุเรียน สับปะรด) จะยิ่งเป็นการส่งเสริมให้ผู้บริโภคในยุโรปรู้จักผลไม้ไทยมากยิ่งขึ้นและโดยที่สินค้าเกษตรอาหารของไทย นับว่าเป็นหนึ่งในสินค้าที่มีคุณภาพและมีความเป็นเอกลักษณ์ในโลก ดังนั้น การส่งเสริมให้มีการจดทะเบียนสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์เพิ่มขึ้น โดยเริ่มจากการสนับสนุนการบริหารจัดการห่วงโซ่การผลิตที่ดี โดยอาจนำวิธีของอิตาลีมาใช้ เช่น บทบาทของ consortium ในการตรวจสอบและควบคุมคุณภาพของสินค้า และการตรวจสอบย้อนกลับ เพื่อสามารถเสริมสร้างความแข็งแกร่งของการผลิตในชุมชน สามารถรักษาคุณภาพสินค้า และสร้างมูลค่าสินค้าท้องถิ่นให้เติบโตและมีชื่อเสียงที่จะนำไปสู่การขยายการส่งออกในต่างประเทศได้ต่อไป

OMD KM

FREE
VIEW