รายงานสถานการณ์การค้าแคนาดา ณ นครโทรอนโต เดือนสิงหาคม 2565

ทิศทางเงินเฟ้อในแคนาดาปรับลดลงในเดือนกรกฎาคม 2565 ที่ระดับ 7.6%

แคนาดาได้ประกาศตัวเลขเงินเฟ้อล่าสุดของเดือนกรกฎาคม 2565 ที่ระดับ 7.6% (year-over-year basis)
ลดลงจากเดือนก่อนที่ระดับ 8.1% เป็นผลมาจากราคาน้ำมันในตลาดโลกเริ่มปรับลดตั้งแต่ต้นเดือนกรกฎาคม 2565 อย่างไรก็ตามธนาคารกลางแคนาดายังคงกังวลกับอัตราเงินเฟ้อที่ยังคงอยู่ในระดับที่สูง และอาจมีความจำเป็นต้องใช้นโยบายปรับดอกเบี้ยอีกหลายครั้งในปีนี้เพื่อสกัดเงินเฟ้อ

จากตัวเลขสถิติ Consumer Price Index (CPI) ในภาพรวมราคาสินค้าส่วนใหญ่ในเดือนกรกฎาคม 2565 มีอัตราขยายเพิ่มขึ้นน้อยที่สุดนับตั้งแต่เดือนธันวาคม 2564 โดยตัวเลข CPI รายเดือน (month-on-month basis) ปรับขึ้นเพียง 0.1% ทั้งนี้ ราคาน้ำมันปรับลดลง 9.2% โดยเฉพาะในรัฐออนแทริโอ (ซึ่งเป็นรัฐเศรษฐกิจที่ใหญ่ที่สุดในแคนาดา) ได้ประกาศยกเลิกการจัดเก็บภาษีน้ำมัน (Excise Tax) ชั่วคราว จนถึงสิ้นปีนี้ ทำให้ราคาปลีกของสินค้าน้ำมันได้ปรับราคาลดลง 12.2 เซ็นต์/ลิตร (3.5 บาท/ลิตร) เป็นการช่วยเหลือ
ค่าครองชีพของประชาชน

นักวิเคราะห์มองว่าถึงแม้ว่าราคาน้ำมันเริ่มมีสัญญาณปรับตัวลดลง แต่ราคาสินค้าอาหารโดยเฉลี่ยยังคงปรับขึ้นเกือบ 10% ในเดือนกรกฎาคม 2565 ซึ่งเป็นอัตราที่พุ่งสูงสุดในรอบ 41 ปี โดยหากเจาะลงไปถึงแต่ละกลุ่มสินค้าจะพบว่า สินค้าประเภทเบเกอรี่เพิ่มขึ้น 13.6%เป็นผลจากราคาข้าวสาลีที่พุ่งสูงขึ้นเพราะการแซงชั่นการส่งออกสินค้าข้าวสาลีของรัสเซีย รวมทั้งการที่รัสเซียบล็อคการส่งออกจากยูเครนราคาไข่ไก่เพิ่มขึ้น 15.8% และราคาผลไม้เพิ่มขึ้น 11.7%

ค่าครองชีพที่สูงขึ้น ประเภทค่าเช่า ค่าผ่อนบ้าน ได้รับผลกระทบจากอัตราดอกเบี้ยที่ปรับสูงขึ้น โดยแคนาดาได้มีการปรับขึ้นดอกเบี้ย 4 ครั้งแล้วในปีนี้ โดยปัจจุบันอยู่ที่ระดับ 2.5% นอกจากนี้ ค่าใช้จ่ายอื่นๆ ที่สูงขึ้นมาจากช่วงฤดูร้อนเป็นช่วงที่ชาวแคนาดานิยมเดินทางพักร้อน ได้ส่งผลให้ราคาตั๋วเครื่องบินโดยเฉลี่ยปรับเพิ่มขึ้น 25% ในเดือนกรกฎาคม 2565 เมื่อเทียบกับเดือนก่อน ค่าที่พักโรงแรมเพิ่มขึ้นกว่า 50% ถ้าเทียบกับช่วงเดียวกันในปีก่อน

ค่าจ้างต่อชั่วโมงโดยเฉลี่ยปรับเพิ่มขึ้น 5.2% ในเดือนกรกฎาคม 2565 แต่นักวิเคราะห์มองว่าอัตราที่เพิ่มขึ้นของรายได้นั้นไม่เท่ากับอัตราเงินเฟ้อ และค่าครองชีพที่ปรับสูงขึ้น

ธนาคารกลางแคนาดาให้ความสำคัญกับตัวเลขเงินเฟ้อ โดยจะมีการประกาศนโยบายดอกเบี้ยครั้งต่อไปในวันที่ 7 กันยายน 2565 ซึ่งนักวิเคราะห์ส่วนใหญ่มองว่าอัตราดอกเบี้ยจะถูกปรับขึ้นอีกระหว่าง 0.5-0.75% ในเดือนหน้า

Tiff Mackem ผู้ว่าการธนาคารกลางแคนาดา มีความเห็นว่าอัตราเงินเฟ้อน่าจะเข้าสู่จุดสูงสุดแล้ว แต่ราคาสินค้าต่างๆ ยังจะไม่สามารถปรับลดลงในระยะใกล้นี้อาจต้องใช้เวลานานกว่าที่ราคาสินค้าและบริการจะปรับเข้าจุดสมดุลที่เหมาะสม นอกจากนี้ผู้ว่าการฯกล่าวว่า ธนาคารกลางยังคงต้องขึ้นดอกเบี้ยในอัตราที่สูงอีกเพื่อต้องการบีบให้อุปสงค์ในการใช้จ่ายลดลง และจะส่งผลให้อัตราเร่งของเงินเฟ้อลดลงเพื่อเข้าสู่กรอบอัตราเงินเฟ้อที่ระดับ 2% ตามที่ธนาคารกลางแคนาดาตั้งไว้ภายในสิ้นปี 2566

ปัจจัยเสี่ยงที่ธนาคารกลางแคนาดาเฝ้าจับตาอย่างใกล้ชิดมาจากปัญหาห่วงโซ่อุปทาน ภาวะเศรษฐกิจโลก ปัญหาภูมิรัฐศาสตร์ระหว่างประเทศ (Geopolitical conditions) ที่อาจส่งผลให้ราคาสินค้าและเงินเฟ้อมีความผันผวนได้อีก 6-12 เดือนข้างหน้า โดยนโยบายต่างๆ อาจต้องมีการปรับเพื่อให้เข้ากับสถานการณ์ที่เปลี่ยนไป

ความคิดเห็นสำนักงาน

ตัวเลขอัตราเงินเฟ้อรายเดือนล่าสุด ในเดือนกรกฎาคม 2565ส่งสัญญาณที่ดีต่อเศรษฐกิจแคนาดา โดยอัตราเงินเฟ้อเริ่มลดลงจากจุดสูงสุดในเดือนมิถุนายน 2565 ที่ระดับ 8.1% ส่งผลให้ความกังวล เรื่องการถดถอยทางเศรษฐกิจ (Recession) เริ่มผ่อนคลายมากขึ้นธนาคารกลางแคนาดาอาจชะลอการขึ้นอัตราดอกเบี้ยในช่วงครึ่งหลังของปี 2565 ทั้งนี้ โครงสร้างเศรษฐกิจแคนาดามีความยืดหยุ่น (Resilient economy) เนื่องจากแคนาดาได้รับผลดีจากราคาสินค้า โภคภัณฑ์ โดยการส่งออกไปทั่วโลก ในช่วง 6 เดือนแรกของปี 2565 มีมูลค่า 3 แสนล้านเหรียญสหรัฐฯ ขยายตัวได้สูงถึง 24.51% และได้ดุลการค้าจากทั่วโลกสูงเป็นประวัติการณ์ มูลค่า20.86 พันล้านเหรียญสหรัฐฯ เพิ่มสูงขึ้นถึง 267.19% โดยมีปัจจัยหลักมาจากการส่งออกสินค้าพลังงาน น้ำมันและก๊าซธรรมชาติ ซึ่งเป็นสินค้าส่งออกหลักของแคนาดา นอกจากนี้ แคนาดาค่อนข้างมีความมั่นคงทางอาหารเนื่องจากเป็นประเทศที่มีพื้นที่เพาะปลูกมหาศาล เป็นประเทศอันดับต้นๆ ของโลกในการส่งออกสินค้าธัญพืช อาทิ ข้าวสาลี ถั่วเหลืองคาโนล่า รวมทั้งมีเหมืองแร่ปุ๋ยโพแทชที่ใหญ่เป็นอันดับหนึ่งของโลกอย่างไรก็ตาม แคนาดายังคงต้องพึ่งพาการนำเข้าสินค้าอาหารบางชนิด อาทิ ข้าว ธัญพืชจากประเทศเมืองร้อน ผักผลไม้ (โดยเฉพาะในช่วงฤดูหนาว) เนื่องจากไม่สามารถเพาะปลูกในประเทศได้ ประกอบกับอากาศที่หนาวเย็นเกือบตลอดทั้งปี ไทยจึงเป็นแหล่งนำเข้าสินค้าสินค้า กลุ่มอาหารที่สำคัญแหล่งหนึ่งของแคนาดา โดยเฉพาะข้าว ที่ไทยเป็นแหล่งนำเข้าที่สำคัญของแคนาดารองจากสหรัฐฯ และโอกาสในการส่งออกสินค้าข้าวไทย รวมถึงสินค้าอื่นๆ มายังแคนาดายังสามารถขยายตัวได้อีกมากในอนาคต

โปรดติดตามความเคลื่อนไหวในการค้าระหว่างประเทศผ่าน
ช่องทางต่างๆ ของกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ
www.ditp.go.th และ www.thaitrade.com หรือโทรปรึกษาเรื่อง
การค้าระหว่างประเทศที่กรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ โทร.
1169 (หากโทรจากต่างประเทศ โปรดติดต่อที่ โทร. +66 2792 6900)

OMD KM

FREE
VIEW