รายงานสถานการณ์การค้าสาธารณรัฐเคนยา ณ กรุงไนโรบี เดือนมิถุนายน 2565

ประเทศในแอฟริกาตะวันออกเริ่มประสบปัญหาขาดแคลนสินค้าด้านอาหารหลายรายการ เหตุจากสงครามรัสเชีย-ยูเครน เงินเฟ้อพุ่ง กระแสเงินสด USD และพลังงานแพง ประเทศไทยมีโอกาสแค่ไหน?

cooking oil
ภาพ: คนงานในโรงงานบริษัท Pwani Oil refinery ผู้ผลิตและแปรรูปน้ำมันปาล์มรายหนึ่งในเคนยา
ที่ต้องประกาศหยุดการผลิตชั่วคราว จากไม่มีเงิน USD มาชำระเงินให้กับผู้ส่งออกในการนำเข้าน้ำมันปาล์ม

สถานการณ์เศรษฐกิจในแอฟริกาตะวันออกหลายประเทศหลังเกิดเหตุการณ์สงครามระหว่างรัสเชียกับยูเครน มีผลกระทบอย่างยิ่งกับสภาพค่าครองชีพของประเทศในแอฟริกา ไม่ว่าจะเป็นภาวะเงินเฟ้อในอัตราที่สูง ภาวะราคาน้ำมันที่ปรับตัวสูงอย่างต่อเนื่องจนส่งผลให้ค่าขนส่งและราคาสินค้าต่างปรับตัวเพิ่มขึ้นอย่างไม่เคยเป็นมาก่อน ประกอบกับค่าเงินสกุลท้องถิ่นมีการอ่อนค่าลงเมื่อเทียบกับ USD หลังการประกาศการขึ้นดอกเบี้ยนโยบายของสหรัฐฯ ทำให้ค่าเงินในหลายประเทศ เช่น ค่าเงินเคนยาชิลลิ่งอ่อนค่าลงมาที่ระดับ 117 KES ต่อ USD ซึ่งเป็นระดับที่ต่ำมากที่สุดตั้งแต่เคยมีการใช้เงินสกุลนี้มาในประเทศเคนยา เป็นต้น

สินค้าใดที่ได้รับกระทบบ้าง?

ประเทศในแอฟริกาตะวันออกหลายประเทศต้องมีการนำเข้าสินค้าอาหารจากต่างประเทศในปริมาณที่สูง เช่น ข้าวสาลี แป้งข้าวโพด ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ นำมันปาล์ม เป็นต้น โดยแหล่งนำเข้าสำคัญคือ รัสเชียและยูเครน ที่เป็นแหล่งนำเข้าสินค้าดังกล่าวกว่าร้อยละ 35 ของการนำเข้าทั้งหมด สคต. จึงอยากสะท้อนปัญหาข้างต้นในประเทศต่างๆ พอสรุปได้ดังนี้

เคนยา

บริษัท Pwani Oil refinery และ Kapa Oil ได้ประกาศหยุดการผลิตน้ำมันปาล์มที่ใช้ปรุงอาหารชั่วคราว โดยอ้างว่า เกิดภาวะการขาดแคลนน้ำมันปาล์มดิบเพื่อใช้เป็นวัตถุดิบในการผลิต โดยมีแหล่งนำเข้าสำคัญจาก มาเลเชีย อินโดนีเชีย และไทย ตามลำดับ อย่างไรก็ดี บริษัทแจ้งคู่ค้าในเคนยา หากชำระค่าสินค้าเป็นเงิน USD จะได้รับการพิจารณาขายสินค้าก่อนผู้ที่ชำระเงินเป็นเงินท้องถิ่น อันเนื่องด้วย ปัจจุบันผู้นำเข้าในเคนยาต่างเรียกร้องให้รัฐบาลกลางเข้ามาดูแลเรื่องดังกล่าว เพราะเป็นอุปสรรคที่ไม่สามารถมีเงินไปนำเข้าสินค้าดังกล่าวจากต่างประเทศได้ แต่รัฐมนตรีกระทรวงการคลังเคนยาก็ยังปฎิเสธว่าไม่ได้มีปัญหาดังกล่าวตามที่บริษัทกล่าวอ้าง ตลอดจนรัฐบาลมีความเห็นว่า สภาพคล่องของเงิน USD ในประเทศยังอยู่ในระดับที่บริหารจัดการได้อยู่ อย่างไรก็ดี มีการคาดการณ์ว่าในเดือนมิถุนายนนี้ สภาพการขาดแคลนน้ำมันปาล์มในตลาดโลกน่าจะคลี่คลายขึ้นจากการที่อินโดนีเชียผู้ส่งออกรายใหญ่ของโลก ยกเลิกมาตรการห้ามส่งออกในเดือนที่ผ่านมาแล้ว

นอกจากนั้น สินค้าข้าวสาลี ที่เคนยานำเข้ามาจำนวนกว่าปีละ 300,000-400,000 ตัน ก็มีการปรับตัวสูงขึ้นจากเดิมประมาณถึง 50% จากราคาที่ขายกันในปี 2564 ทำให้ประชาชนโดยทั่วไปเดือนร้อนค่อนข้างมาก นอกจากนั้น เคนยายังมีปัญหาด้านการนำเข้าแป้งข้าวโพดที่มีการนำเข้ามาจากแทนซาเนีย ซึ่งเคนยาก็กล่าวหาว่า แทนซาเนียถือโอกาสในการส่งออกสินค้าที่ไม่มีคุณภาพให้เคนยา โดยอาศัยภาวะที่มีความขาดแคลนสินค้าเข้ามาทำกำไร อย่างไม่เคยมีมาก่อน

ในด้านราคาน้ำมัน มีนักวิเคราะห์กล่าวว่า ในทุกเดือนตั้งแต่เดือน มีนาคมที่ผ่านมา เคนยาต้องเสียเงินในการแทรกแซงตลาดน้ำมันในประเทศสูงถึงเดือนละ 76 ล้านเหรียญสหรัฐฯ (หรือประมาณ 2,600 ล้านบาท) ในการแทรกแซงราคาน้ำมันไม่ให้ปรับตัวสูงขึ้นจนเกินไป ส่งผลให้เกิดภาวะขาดดุลงบประมาณของรัฐบาลอย่างมาก

ในตลาดการเงินนั้น ค่าเงินเคนยาชิลลิ่งมีระดับอ่อนค่าลงมากจาก 113 KES ต่อ 1.00 USD เป็น 117 KES ในปัจจุบัน โดยมีสาเหตุจากที่มีความต้องการเงิน USD ในจำนวนที่สูงเนื่องจากภาคธุรกิจต่างๆ กลับมาเปิดได้ตามปกติ หลังจากมีการยกเลิกมาตรการควบคุมการระบาดของ COVID 19 ทำให้มีความต้องการนำเข้าสินค้าทุนเพิ่มขึ้น นอกจากนั้น ยังเกิดภาวะเงิน USD ขาดแคลนในตลาดเงินของเคนยา ส่งผลให้มีการคาดว่า เงิน KES ของเคนยาอาจทำสถิติอ่อนค่าไปถึง 120 KES ในช่วง 2-3 เดือนต่อจากนี้ ส่งผลให้ต้นทุนในการนำเข้าและการผลิตของหลายธุรกิจมีการปรับตัวสูงขึ้นมาก แม้รัฐบาลจะมีการขึ้นดอกเบี้ยนโยบายจากร้อยละ 6.8 ในปี 2564 เป็น 7.9 ในปัจจุบัน

แทนซาเนีย

สินค้าที่ได้รับผลกระทบมากคือน้ำมันปาล์ม เช่นเดียวกับเคนยา อย่างไรก็ดี แทนชาเนียยังมีทางเลือกที่สามารถหันไปใช้น้ำมันจากดอกทานตะวันที่แทนซาเนียสามารถผลิตได้พอสมควร ทำให้รัฐบาลประกาศเมื่อเดือนก่อนให้กระทรวงเกษตรแหล่งการส่งเสริมการปลูกดอกทานตะวันเพิ่มเติมให้ได้จำนวน 70,000 -100,000 เฮคตาร์ในการปลูกดอกทานตะวันเพื่อใช้ผลิตน้ำมันดังกล่าวทดแทนการนำเข้าน้ำมันปาล์มจากมาเลเชียหรืออินโดนีเชีย โดยให้ถือเป็นวาระแห่งชาติเลยที่เดียว 

ทั้งนี้ เชื่อว่าแทนชาเนียมีการใช้น้ำมันสำหรับปรุงอาหารสูงถึง 700,000 ตันต่อปี ขณะที่ผลิตเองได้เพียง 290,000 ตัน นอกนั้นต้องนำเข้ามาจากต่างประเทศ 

ในด้านการเงินก็เริ่มมีการขาดแคลนกระแสเงิน USD มากขึ้นเช่นเดียวกับเคนยา แต่สถานการณ์สินค้าด้านอาหารอาจไม่รุนแรงเท่าเนื่องจากแทนซาเนียมีภาคการผลิตที่เข้มแข็ง เช่น แป้งข้าวโพด ข้าว ที่สามารถผลิตได้จนในบางระยะเวลาสามารถส่งออกไปประเทศอื่นๆในแอฟริกาได้ ดังเช่น ข้าวที่แทนซาเนียส่งออกมาเคนยากว่า 150,000 ตันในปีที่ผ่านมา

ยูกานดา

มีสถานการณ์ที่คล้ายกับทุกประเทศ เพียงแต่ความรุนแรงด้านการขาดแคลนสินค้าอาหารจะเห็นได้ชัดเพียงน้ำมันปาล์มที่เริ่มมีการขาดแคลน แต่ยูกานดาก็มีทางเลือกที่จะใช้สินค้าน้ำมันมะพร้าวหรือน้ำมันจากดอกทานตะวันแทนได้ เนื่องจากมีวัตถุดิบมากกว่าเคนยา อย่างไรก็ดี ยูกานดามีปัญหาในการควบคุมราคาด้านพลังงานที่มีต้นทุนในการนำเข้าค่อนข้างสูง แม้จะมีน้ำมันดิบในประเทศจำนวนมากแต่ปัญหาจาก ไม่สามารถกลั่นเองได้ ทำให้แม้จะมีการส่งออกน้ำมันดิบได้แล้วก็ตาม แต่ก็ต้องมีการซื้อน้ำมันสำเร็จรูปในปริมาณที่สูง ส่งผลให้ราคาน้ำมันที่รัฐบาลพยายามให้มีการปรับตัวขึ้นอย่างช้าๆ มีการปรับตัวสูงขึ้นเป็นอย่างมาก ทำให้มีปัญหาเงินเฟ้อในระดับที่สูงกว่า 8% จนรัฐบาลต้องขึ้นดอกเบี้ยนโยบายจากร้อยละ 6.5 เป็น 7.85 ในปัจจุบัน เพื่อควบคุมให้เงินเฟ้อยังอยู่ในระดับที่บริหารจัดการได้

ความเห็นของ สคต.

ในช่วงเวลาที่ประเทศในแอฟริกาเริ่มได้รับผลกระทบจากภาวะเศรษฐกิจโลกที่มีปัญหาจากสงครามรัสเชีย-ยูเครน ปัญหาราคาพลังงานสูง และการขาดแคลนสินค้าอาหารหลายรายการนั้น ประเทศไทยที่ถือเป็นผู้ส่งออกด้านอาหารประเทศหนึ่งในโลกควรดำเนินนโยบายรุกตลาด เช่น 

  1. ส่งออกข้าวขาวไทยให้มากขึ้นเพื่อดึงตลาดข้าวที่เคยเสียไปให้กับอินเดียมากขึ้น และเสนอข้าวไทยเป็นทางเลือกเพิ่มเติมให้แก่ผู้บริโภค
  2. เร่งการขยายตลาดน้ำมันปาล์มหรือสร้างเครือข่ายกับผู้นำเข้าให้ไทยเป็นทางเลือกในการนำเข้าเป็น ลำดับที่ 3 รองจากมาเลเชียและอินโดนีเชีย 
  3. ปรับปรุงเงื่อนไขการชำระเงินอย่างระมัดระวังและรอบคอบมากขึ้น เนื่องด้วยผู้นำเข้าในแอฟริกาอาจมีปัญหาในการชำระเงินล่าช้าหรือผิดขำระมากขึ้นอันเนื่องจากการขาดแคลนเงิน USD ในหลายประเทศ 
  4. ควรเริ่มมีการศึกษาลู่ทางในการเข้ามาลงทุนในธุรกิจที่ไทยมีความสามารถ เช่น เกษตรแปรรูป โรงแรมการท่องเที่ยว ร้านอาหารและสปา การรักษาพยาบาล เป็นต้น เนื่องจาก ต้นทุนการนำเข้าสินค้ามาขายนั้น เริ่มสูงขึ้น อาจจะถึงเวลาที่ไทยควรเข้ามาลงทุนในอนาคตอันใกล้ เพื่อให้เข้าถึงตลาดแอฟริกาได้ง่ายขึ้น และได้สิทธิประโยชนด้านภาษีที่จะผลิตและส่งออกไปสหรัฐหรือยุโรปได้ง่ายขึ้นและไม่เสียภาษีในการนำเข้า

โดยสคต. ยังคาดการณ์ว่าการส่งออกของไทยมายังประเทศแอฟริกาตะวันออกยังน่าจะขยายตัวประมาณ 5% จากปี 2564 และน่าจะมีมูลค่าประมาณ 15,500 ล้านบาท

นักธุรกิจหรือผู้ส่งออกที่มีความสนใจจะทำการส่งออกสินค้าหรือเข้ามาลงทุนในตลาดเคนยาหรือแอฟริกาตะวันออก สามารถสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้กับ สคต. ณ กรุงไนโรบี ที่ email. info@ocanairobi.co.ke

ที่มา : The EastAfrican

OMD KM

FREE
VIEW