รายงานสถานการณ์การค้าสาธารณรัฐอิสลามอิหร่าน ณ กรุงเตหะราน เดือนกรกฎาคม 2565

ข้าวหอมมะลิไทยกำลังหวนคืนสู่ตลาดอิหร่านอีกครั้งหลังเวลาผ่านไป 7 ปี 

ปัจจุบัน สถานการณ์ตลาดข้าวในประเทศอิหร่านยังคงอยู่ในภาวะผันผวนซึ่งเกิดขึ้นนับตั้งแต่ปี 2019 เป็นต้นมา โดยพบว่าราคาข้าวในตลาดอิหร่านยังคงขยับตัวสูงขึ้นอย่างต่อเนื่องแบบรายเดือน แม้ว่ารัฐบาลจะเข้ามาแซกแซงราคาแล้วก็ตาม แต่ในทางปฎิบัติพบว่ารัฐบาลยังไม่สามารถเข้ามาควบคุมราคาได้อย่างมีประสิทธิภาพเท่าที่ควร เนื่องจากปริมาณข้าวในตลาดค่อนข้างน้อย ประกอบกับรัฐบาลประสบปัญหาด้านการนำเข้าข้าว ส่งผลให้มีความจำเป็นต้องนำข้าวที่เหลือในคลังสำรองออกมาจำหน่ายในราคาถูกเพื่อพยุงราคาข้าวในประเทศและบรรเทาความเดือนร้อนให้กับผู้มีรายได้น้อย 

ดังนั้น เพื่อเป็นการแก้ไขปัญหาการขาดแคลนข้าวและข้าวราคาสูง หลังวันขึ้นปีใหม่ในเดือนมีนาคม 2022 ที่ผ่านมารัฐบาลอิหร่านจึงได้เปิดไฟเขียวให้ภาคเอกชนเป็นผู้จัดหาและนำเข้าข้าวจากต่างประเทศโดยเร่งด่วน เพื่อให้ทันกับเทศกาลมะฮะรัม (พิธีกรรมไว้อาลัยให้กับบุคคลสำคัญทางศาสนาตามความเชื่อทางวัฒนธรรมที่ใช้เวลานานประมาณ 2 เดือน ระหว่างกรกฎาคมถึงสิงหาคมของทุกปี) โดยช่วงดังกล่าวจะเป็นอีกหนึ่งช่วงเวลาของปีที่มีการทำบุญบริจาคทานให้กับผู้ยากไร้และผู้ล่วงลับ ส่งผลให้ตลาดผู้บริโภคมีความต้องการข้าวในปริมาณสูง

นาย Masih Keshavarz เลขาธิการสมาคมผู้นำเข้าข้าวอิหร่าน (Iranian Rice Importers Association) ได้ให้สัมภาษณ์กับสำนักข่าวท้องถิ่นอิหร่าน Tejarat News Agency ว่า ข้าวที่ภาคเอกชนอิหร่านอยู่ระหว่างขั้นตอนการนำเข้านี้จะเป็นข้าวหอมชั้นหนึ่งและมีคุณภาพสูง เป็นข้าวพันธ์ Jasmine และ Homali ที่มีคุณสมบัติในแง่ของกลิ่นและรสชาติที่ใกล้เคียงกับข้าวหอมพันธ์ Tarom ของอิหร่าน ที่ได้รับความนิยมสูงและขึ้นชื่อ โดยข้าวหอมมะลินี้จะจัดส่งมาถึงอิหร่านในอีกประมาณ 1 เดือนข้างหน้า มีแหล่งนำเข้าสำคัญมาจากประเทศไทย อินเดีย และปากีสถาน นำเข้าในราคากิโลกรัมละประมาณ 1 เหรียญดอลลาร์สหรัฐฯ เท่ากับราคาแลกเปลี่ยนในตลาดเสรีซึ่งปัจจุบันอยู่ที่ประมาณ 300,000 เรียลต่อ 1 เหรียญดอลล่าร์ฯ โดยคาดว่าจะขายให้ผู้บริโภคได้ในราคากิโลกรัมละประมาณ 400,000 เรียล (1.33 เหรียญดอลล่าร์หรือประมาณ 47 บาท/กิโลกรัม)

ทั้งนี้ ในส่วนของนาย Kazem Ali  Hasani เลขาธิการสหภาพผู้ค้าส่งอาหารกรุงเตหะราน (Union of Food  Wholesalers in Tehran ) ให้ข้อมูลว่าปัจจุบันสหภาพฯ ได้จำหน่ายข้าวขาวของไทย นำเข้าโดยหน่วยงานจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐ หรือ Government Trading Corporation (GTC ) ในราคากิโลกรัมละ 125,000 เรียล (ประมาณ 15 บาท) หมดลงแล้ว ส่วนข้าวนำเข้าชนิดอื่นๆที่คงเหลือในโกดังของรัฐ สหภาพฯ จะนำออกจำหน่ายในราคาประมาณกิโลกรัมละ 240,000 ถึง 370,000 เรียล (28-43 บาท)

จากข้อมูลสถิติของกรมศุลกากรอิหร่านพบว่าตั้งแต่ต้นปีงบประมาณ 2022 เป็นต้นมา (เริ่ม 21 มี.ค. 2022) อิหร่านนำเข้าข้าวจากต่างประเทศแล้วปริมาณ 390,000 ตัน โดยเป็นการนำเข้าของภาคเอกชนปริมาณ 355,000 ตันและนำเข้าโดยรัฐ (ผ่านบริษัทตัวแทนเอกชน) ปริมาณ 35,000 ตัน ซึ่งปริมาณนำเข้าดังกล่าวยังไม่สามารถตอบสนองความต้องการของตลาดได้ เพราะความต้องการข้าวจากต่างประเทศของอิหร่านในความเป็นจริงจะอยู่ที่ประมาณเดือนละ 160,000 ตัน 

อย่างไรก็ตาม เป็นที่เข้าใจว่าการนำเข้าข้าวหอมมะลิจากไทยของอิหร่านตามข้อมูลของสมาคมผู้นำเข้าข้าวอิหร่านน่าจะเป็นการนำเข้าเพื่อรักษาปริมาณสำรองความมั่นคงทางอาหารของอิหร่านเป็นหลัก เพราะที่ผ่านมารัฐบาลได้นำข้าวนำเข้าออกมาจำหน่ายจนหมดแล้วเพื่อวัตถุประสงค์ในการควบคุมปริมาณและราคาในตลาด โดยข้าวนำเข้าเหล่านี้ รวมถึงข้าวจากไทย จะมีข้อความบนบรรจุภัณฑ์เป็นภาษาท้องถิ่นว่า “เพื่อวัตถุประสงค์ในการควบคุมสมดุลในตลาดเท่านั้น”

ทั้งนี้ เป็นที่น่าสังเกตุว่า ข้าวสารหรือข้าวหอมที่อิหร่านนำเข้าจากต่างประเทศ จะไม่ถูกนำเข้าในรูปของบรรจุภัณฑ์ที่ใช้ในประเทศแหล่งกำเนิด แต่จะมีการบรรจุลงในถุงพลาสติกทึบหนาหรือถุงผ้า ผนึกยี่ห้อของบริษัทผู้นำเข้า และเขียนรายละเอียดเป็นภาษาฟาร์ซีอีกครั้ง อิหร่านนิยมบรรจุข้าวเพื่อจำหน่ายในตลาดในถุงขนาด 10 กิโลกรัม ซึ่งผู้บริโภคจะไม่สามารถมองเห็นรูปลักษณะเมล็ดข้าว ขนาด สี และสัมผัสได้แต่อย่างใด

อนึ่ง ข้าวหอมมะลิไทยเข้ามาตีตลาดอิหร่านครั้งแรกในปี 2016 ซึ่งเป็นช่วงหลังการบรรลุการเจรจาข้อตกลงแผนปฏิบัติการเบ็ดเสร็จร่วม (JCPOA) เมื่อวันที่ 14 กรกฎาคม 2015 ระหว่างประเทศอิหร่านกับประเทศ  P5+1 โดยปริมาณการนำเข้าข้าวหอมมะลิในครั้งนั้นมีจำนวนจำกัดและสามารถหาซื้อได้จากร้านค้าเฉพาะหรือสั่งซื้อทางอินเตอร์เนตเท่านั้น ภายหลังการคว่ำบาตรรอบใหม่ในปี 2018 ส่งผลให้เศรษฐกิจของอิหร่านถดถอยอย่างต่อเนื่องและย่ำแย่ลงอย่างเห็นได้ชัดหลังการแพร่ระบาดของโควิด 19 ราคาข้าวในตลาดอิหร่านจึงได้ทะยอยขยับตัวสูง โดยเฉพาะข้าวที่ผลิตได้ในประเทศซึ่งเป็นที่นิยมของคนอิหร่านและมีราคาแพงมากกว่าข้าวนำเข้าจากต่างประเทศหลายเท่าตัว ด้วยเหตุนี้เพื่อเป็นการตรีงราคาข้าวในตลาด รัฐบาลอิหร่านจึงหาแหล่งนำเข้าข้าวที่มีราคาถูกจากต่างประเทศมาเพื่อตอบสนองความต้องการภายในประเทศ เช่น ไทย เป็นต้น ที่ผ่านมารัฐบาลได้นำเข้าข้าวขาวเกรด B แต่ไม่ได้รับการตอบรับเท่าที่ควรเมื่อเทียบกับข้าวบาสมาติของอินเดียและปากีสถาน ถึงแม้ว่าข้าวไทยจะมีราคาถูกกว่าก็ตาม

ความเห็นสำนักงาน

ผู้บริโภคอิหร่านจำนวนมากยังคงรู้จักข้าวไทยในนามของข้าวคนจนเนื่องจากมีรสชาติไม่เป็นที่นิยมของผู้บริโภค ซึ่งตลอดระยะเวลากว่า 40 ปีที่ผ่านมา อิหร่านจะนิยมนำเข้าข้าวไทยที่มีราคาถูก เป็นข้าวขาวเกรดบีเป็นส่วนใหญ่ โดยนำเข้ามากที่สุดในช่วงสงครามอิรัก-อิหร่านที่รัฐบาลใช้ข้าวไทยในการเลี้ยงทหารในกองทัพ จากนั้นเป็นต้นมา ข้าวราคาถูกจากไทยก็จะถูกนำเข้าเพื่อแจกจ่ายและจำหน่ายในราคาถูกให้กับกลุ่มผู้บริโภคที่มีรายได้น้อยเป็นหลัก ด้วยเหตุนี้ ในมุมมองของผู้บริโภคชาวอิหร่านโดยรวมข้าวไทยจึงมีภาพพจน์ที่ไม่สู้ดีนัก ซึ่งข้าวหอมมะลิที่อิหร่านจะนำเข้าจากไทยในเวลาอันใกล้นี้ อาจใช้เวลาพอสมควรในการสร้างความรับรู้และภาพลักษณ์ในตลาดอิหร่าน ซึ่งในอดีตก็พบว่าได้รับการตอบรับค่อนข้างดี แต่ยังไม่เป็นที่นิยมและรู้จักอย่างแพร่ในกลุ่มผู้บริโภคหลัก ประกอบกับบรรจุภัณฑ์ข้าวที่มีจำหน่ายในตลาดเป็นชนิดที่ผู้บริโภคจะไม่สามารถสัมผัสกับข้าวได้โดยตรง ซึ่งหากผู้บริโภคยังไม่นำมาหุง ก็จะไม่สามารถรับรู้ถึงรสชาติและคุณภาพของข้าวหอมมะลิได้แต่อย่างใด ดังนั้น การส่งเสริมภาพลักษณ์ที่ดีของข้าวหอมมะลิไทยในตลาดอิหร่านจึงยังคงมีความจำเป็น โดยเฉพาะในอนาคตที่กฎระเบียบด้านการทำกิจกรรมทางการค้าของหน่ยงานต่างประเทศในอิหร่านผ่อนคลายลง

OMD KM

FREE
VIEW