รายงานสถานการณ์การค้าสาธารณรัฐไต้หวัน ณ กรุงมะนิลา(ส่วนที่ 2) เดือนธันวาคม 2565

ใกล้หมดยุคโลกาภิวัฒน์และการค้าเสรีของการค้าและการลงทุนทั่วโลก

เมื่อวันที่ 6 ธันวาคมที่ผ่านมา นายมอร์ริส จาง ผู้ก่อตั้งบริษัท Taiwan Semiconductor Manufacturing Co., Ltd. (TSMC) ผู้ผลิตชิปเซมิคอนดักเตอร์รายใหญ่ที่สุดของโลก ได้กล่าวระหว่างเดินทางไปร่วมพิธีติดตั้งเครื่องจักรเครื่องแรกภายในโรงงาน TSMC ที่รัฐแอริโซนาของสหรัฐฯ ว่าภูมิรัฐศาสตร์ปัจจุบัน ได้เปลี่ยนโฉมอุตสาหกรรมเซมิคอนดักเตอร์ไปอย่างสิ้นเชิง “ใกล้หมดยุคโลกาภิวัฒน์และการค้าเสรี และจะไม่กลับมาเป็นเหมือนเดิมอีกต่อไป”

การก่อตั้งโรงงานผลิตชิปในรัฐแอริโซนาเป็นการสร้างโรงงานผลิตชิปที่ทันสมัยแห่งแรกในรอบ 20 กว่าปีของ TSMC นายมอริสฯ กล่าวว่า การติดตั้งเครื่องจักรครั้งนี้เป็นเพียงก้าวแรกสู่ความสำเร็จ ที่ยังต้องเผชิญกับปัญหาและความท้าทายอีกมาก TSMC ได้เริ่มลงทุนในสหรัฐฯ เมื่อปี 1995 ซึ่งขณะนั้นก่อตั้งบริษัทได้เพียง 8 ปี และ 27 ปีที่ผ่านมา อุตสาหกรรมเซมิคอนดักเตอร์ได้ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ จากความเปลี่ยนแปลงทางภูมิรัฐศาสตร์ ทำให้ยุคของโลกาภิวัฒน์และการค้าเสรีใกล้จะจบสิ้น ปัจจุบัน ทั่วโลกต่างกังวลกับความสัมพันธ์อันตึงเครียดระหว่างสหรัฐฯ – จีน ทำให้ห่วงโซ่อุปทานแบ่งเป็น 2 ฝ่าย โดยมาตรการกีดกันล่าสุดของสหรัฐฯ ที่ออกมาเมื่อเดือนตุลาคม 2565 ทำให้ TSMC และผู้ประกอบการในอุตสาหกรรมเซมิคอนดักเตอร์มีความยากลำบากในการทำธุรกิจกับจีน ส่งผลเป็นลูกโซ่ต่ออุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ทั่วโลก การได้รับการอุดหนุนจากรัฐบาลสหรัฐฯ ของ TSMC สะท้อนถึงความกังวลของสหรัฐฯ ต่อการที่จีนอาจกำลังเข้าครอบครองไต้หวัน และความต้องการที่จะ localized หรือพึ่งพาการใช้วัตถุดิบในประเทศ

คำกล่าวของนายมอร์ริส จาง เกี่ยวกับการล่มสลายของระบบโลกาภิวัฒน์ เริ่มแสดงผลให้เห็นอย่างชัดเจนมากขึ้น ผ่านมูลค่าการนำเข้าส่งออกของไต้หวันในช่วงไตรมาสที่ 4 ของปี 2565 จากเดิมที่ไตรมาส 4 เป็นช่วง High Season ของการส่งออกชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ของไต้หวัน แต่ปีนี้กลับมีทีท่าว่าจะมีการหดตัวเป็นครั้งแรกในรอบ 2 ปีครึ่ง โดยมูลค่าการส่งออกรวมของไต้หวันเดือนพฤศจิกายนหดตัวเป็นเดือนที่ 3 ติดต่อกัน และคาดการณ์ว่าตัวเลขเดือนธันวาคมอาจหดตัวต่อเนื่อง ทำให้มูลค่าส่งออกของไต้หวันในไตรมาส 4 มีแนวโน้มลดลง สาเหตุมาจากทั่วโลกยังมีปัญหาภาวะเงินเฟ้อ ทำให้แต่ละประเทศต้องปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย ส่งผลให้ความต้องการบริโภคในตลาดลดลง ประกอบกับนโยบาย ซีโร่โควิดของจีนส่งผลกระทบต่อภาคการผลิตเป็นอย่างมาก มีผลต่อเนื่องต่ออุตสาหกรรมต่าง ๆ แม้แต่การส่งออกชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์หดตัวเป็นครั้งแรกในรอบ 42 เดือน เนื่องจากผู้ประกอบการชะลอการสั่งซื้อและหันไปเร่งระบายสต็อกสินค้าที่เก็บไว้ในช่วงที่ผ่านมา ซึ่งส่วนใหญ่เชื่อว่าต้องรอถึงครึ่งปีแรกของปีหน้ากว่าจะกลับมาอยู่ในภาวะปกติอีกครั้ง

ข้อเสนอแนะและข้อคิดเห็นของ สคต.

ประเทศไทยเป็นส่วนหนึ่งของห่วงโซ่อุปทานการผลิตของโลก ซึ่งสินค้าชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์เป็นสินค้าส่งออกและนำเข้าสำคัญระหว่างการค้าไทยและไต้หวัน การหดตัวของการส่งออกชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ของไต้หวันจึงมีผลต่อการนำเข้าสินค้ากลุ่มดังกล่าวจากไทยด้วย โดยมูลค่าการนำเข้าชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์จากไทยของไต้หวันในเดือนพฤศจิกายน 2565 หดตัวลงร้อยละ 10.5 ในขณะที่มูลค่านำเข้าชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์รวมของไต้หวันหดตัวลงร้อยละ 16.4 อย่างไรก็ดี เนื่องจากในช่วง 3 ไตรมาสที่ผ่านมามูลค่านำเข้าชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์จากไทยเพิ่มสูงมาก ทำให้มูลค่านำเข้าชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ในช่วง 11 เดือนแรกยังขยายตัวร้อยละ 24.29 จึงคาดว่ามูลค่านำเข้าจากไทยตลอดทั้งปีน่าจะมีการขยายตัวในแดนบวก ทั้งนี้ นักวิเคราะห์ส่วนใหญ่ต่างเห็นว่า การที่ผู้ประกอบการไต้หวันมีบทบาทสำคัญในห่วงโซ่อุปทานของทุกฝ่าย ทำให้การหดตัวของมูลค่าส่งออกและนำเข้าของไต้หวันในช่วงไตรมาสที่ 4 นี้ ถือเป็นสิ่งบ่งชี้ว่าเศรษฐกิจโลกปีหน้า อาจเข้าสู่ภาวะชะลอตัวอย่างชัดเจน ผู้ประกอบการจึงควรติดตามและวางแผนรับมือเพื่อผ่อนคลายผลกระทบที่อาจจะเกิดขึ้น

OMD KM

FREE
VIEW